ทุกวันที่ 8 เมษายน ของทุกปี ถือเป็นหนึ่งในวันสำคัญของประเทศไทย และคนไทยทั้งชาติ เนื่องจากเป็นวันคล้าย "วันสถาปนากระทรวงกลาโหม" กระทรวงสำคัญที่มีหน้าที่ดูแลชาติ ศาสน์ กษัตริย์ และประชาชน โดยในปี 2567 นี้ กระทรวงกลาโหม จะมีอายุครบ 137 ปี
การสถาปนากระทรวงกลาโหม เกิดขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว หรือ รัชกาลที่ 5 ที่ทรงปฏิรูปประเทศไทยในหลายด้าน เพื่อให้ทัดเทียมบรรดาอารยะประเทศ หนึ่งในนั้นคือด้าน "กิจการทหาร" โดยได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม สถาปนากรมยุทธนาธิการขึ้นที่โรงทหารหน้า เมื่อวันที่ 8 เมษายน 2430 ถือเป็นวันเริ่มต้นของกิจการทหารไทยยุคใหม่
วันดังกล่าว พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้ประกาศพระบรมราชโองการ ชื่อว่า "ประกาศจัดการทหารเพื่อสถาปนากรมยุทธนาธิการขึ้นที่โรงทหารหน้า" หรือศาลาว่าการกลาโหมในปัจจุบัน โดยมีพระราชประสงค์ที่จะรวมกรมทหารบกและกรมทหารเรือไว้ด้วยกัน เพื่อสร้างเอกภาพและศักยภาพในการบังคับบัญชา และบริหารจัดการทหารให้มีรูปแบบเป็นสากล นับตั้งแต่นั้นมา จึงได้ถือเอาวันที่ 8 เมษายนของทุกปี เป็นวันคล้ายวันสถาปนากระทรวงกลาโหม
ปัจจุบนัน กระทรวงกลาโหม มีหน่วยงานในสังกัด และแบ่งส่วนราชการระดับกรมออกเป็น 5 หน่วยงาน ตามพระราชบัญญัติจัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม พ.ศ. 2551 และพระราชบัญญัติจัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2556 ดังนี้
สำนักงานรัฐมนตรี
สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม
กองทัพไทย
หน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์
นอกจากนี้ กระทรวงกลาโหม ยังมีหน่วยงานในกำกับดูแล ประเภทองค์การมหาชน รัฐวิสาหกิจ และองค์การของรัฐ ประกอบด้วย
องค์การมหาชน
รัฐวิสาหกิจ
องค์การของรัฐ แต่ ไม่ใช่รัฐวิสาหกิจ
รวมถึงหน่วยงานในอดีต อย่าง
กระทรวงกลาโหม 137 ปี พัฒนากิจการไปถึงไหน
ตั้งแต่อดีต กระทรวงกลาโหม มีบทบาทสำคัญในด้านการรักษาอธิปไตยและความมั่นคงของรัฐ ที่ผ่านมาได้มีการพัฒนาความพร้อม ให้สามารถรับมือกับภัยคุกคาม และภัยพิบัติได้ทุกรูปแบบ ควบคู่ไปกับการป้องกันและแก้ไขปัญหาด้านความมั่นคง ที่มีอยู่ในปัจจุบันและในอนาคต โดยสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติด้านความมั่นคง และแผนการปฏิรูปประเทศ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายสำคัญในภาพรวม คือ “ประเทศชาติมั่นคง ประชาชนมีความสุข” ตลอดจนมุ่งสู่การเป็นกองทัพชั้นนำ
อย่างไรก็ตามจากสภาพสังคมและเศรษฐกิจที่เปลี่ยนไปจากอดีต การสู้รบ ศึกสงคราม ลดลง ภัยแห่งความมั่นคงเปลี่ยนแปลงรูปแบบตามยุคสมัย รวมถึงมีการนำเสนอแง่มุมด้านต่าง ๆ ของทหาร โดยเฉพาะแง่มุมบทบาทและหน้าที่ของทหารและกระทรวงกลาโหม และยังมีเรื่องอื้อฉาวต่าง ๆ ผ่านสื่อต่าง ๆ มากขึ้น จึงทำให้ถูกตั้งคำถามจากผู้คนในสังคมจำนวนไม่น้อยว่า "ทหารและกองทัพมีไว้ทำไม" เนื่องจากในแต่ละปี กระทรวงกลาโหมเป็นกระทรวงที่ได้รับงบประมาณเป็นลำดับต้น ๆ และยังเกี่ยวข้องกับกฎหมายที่ส่งผลต่อความเป็นอยู่ของประชาชนอีกหลายฉบับ และที่ถูกพูดถึงเป็นอย่างมากในปัจจุบัน คือคำถามเรื่อง "การปฏิรูปกองทัพ" และ "การเกณฑ์ทหาร"
ที่ผ่านมา กระทรวงกลาโหม ได้มีความพยายามการปรับตัว ผ่านแผนการปรับปรุงโครงสร้างหน่วยขึ้นตรงกระทรวงกลาโหม-เหล่าทัพ รวมถึงด้านกำลังพล เพื่อรองรับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี โดยปรับปรุงโครงสร้างให้มีขนาดกะทัดรัด คล่องตัว ทันสมัย เช่น การยุติแผนการเสริมสร้างกองพลทหารราบที่ 7 และกองพลทหารม้าที่ 3 ของกองทัพบก การปรับลดกำลังทหารพราน ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ จำนวน 1,656 อัตรา
การปรับลดนายทหารชั้นยศสูง เพื่อลดงบประมาณด้านกำลังพล โดยในห้วงปี 2570 ให้เหลือ 50% ตามแผนที่กำหนด รวมถึงการปิดการบรรจุกำลังพล และลดกำลังพลในปี 2560-2564 ไปแล้วกว่า 8,000 นาย และเมื่อถึงปี 2570 จะสามารถปรับลดกำลังลงได้ประมาณ 12,000 นาย
ส่วนการตรวจเลือกทหารกองเกิน เข้าเป็นทหารกองประจำการนั้น จำนวนที่ตรวจเลือกในแต่ละปี จะสอดคล้องกับโครงสร้างการจัดและภารกิจของกองทัพ ปัจจุบันมีความต้องการพลทหารปีละประมาณ 90,000 นาย และกำลังปรับลดลงอย่างต่อเนื่อง ขณะที่จำนวนนี้มีผู้สมัครใจเข้าเป็นทหาร เพิ่มมากขึ้น ถือเป็นสัญญาณที่ดีในการพัฒนาไปสู่การใช้ระบบการสมัครใจเข้าเป็นทหารได้ในอนาคต
ในปี 2567 นี้แผนการปรับโครงสร้างในระยะเร่งด่วนคือการ “ลดกำลังพล-ยุบหน่วย-ปิดตำแหน่ง 700 อัตรา" โดยเมื่อวันที่ 21 มี.ค. 2567 ที่ผ่านมา นายสุทิน คลังแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม คนปัจจุบัน เปิดเผยว่า ที่ประชุมสภากลาโหมได้ให้ความเห็นชอบ ข้อเสนอของคณะทำงานด้านการปฏิรูปกองทัพ ส่วนที่สำคัญคือการปรับลดกำลังพลในระยะแรก ซึ่งเป็นระยะเร่งด่วน ระหว่างปีงบประมาณ พ.ศ.2568 – 2570 และปิดอัตราที่ไม่จำเป็น รวมทั้งอัตราที่เกษียณ รวมแล้วกว่า 700 อัตรา นอกจากนั้น มีการยุบรวมหรือควบรวมองค์กรหรือหน่วยงานที่มีภารกิจใกล้เคียงกัน รวมทั้งการยุบหน่วยงาน ส่งผลให้งบประมาณลดลง
ตามแผนการปรับปรุงโครงสร้างการจัดส่วนราชการของหน่วยขึ้นตรงกระทรวงกลาโหม-เหล่าทัพ ในระยะเร่งด่วน ปีงบประมาณ พ.ศ.2568 - 2570 ประกอบด้วย
ปิดอัตรา : โดยไม่บรรจุกำลังพลในตำแหน่ง และสามารถเปิดบรรจุเมื่อมีความจำเป็นทางด้านยุทธการ หน่วยขึ้นตรงกระทรวงกลาโหม 700 กว่าอัตรา งบประมาณลดลง 34 ล้านกว่าบาท โดยระยะเวลาขึ้นอยู่กับแผนการบริหารจัดการกำลังพล
การควบรวมหน่วย : ที่มีภารกิจซ้ำซ้อนกับหน่วยงานอื่น
สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม
ควบรวมสำนักงานเลขานุการคณะกรรมการกำลังพลสำรอง กับ กองการสัสดี กรมสรรพกำลังกลาโหม
ปรับปรุงโครงสร้างกรมเทคโนโลยีสารสนเทศและอวกาศกลาโหม ให้สอดคล้องกับ ศูนย์ไซเบอร์ทหาร และเพิ่มการตรวจรักษาด้านจิตเวช
แปรสภาพสำนักงานอาเซียน สำนักนโยบายและแผนกลาโหม เป็น สำนักงานความร่วมมือระหว่างประเทศและอาเซียน
กองบัญชาการกองทัพไทย
แปรสภาพศูนย์ประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริและความมั่นคง เป็น สำนักงานพัฒนาโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ หน่วยบัญชาการทหารพัฒนา
แปรสภาพศูนย์ไซเบอร์ทหาร เป็น หน่วยบัญชาการไซเบอร์ทหาร
กองทัพอากาศ
จัดตั้ง สำนักจัดหายุทโธปกรณ์ กรมส่งกำลังบำรุงทหารอากาศ และสำนักการฝึก กรมยุทธการทหารอากาศ โดยปรับเกลี่ยจาก สำนักงานประสานภารกิจด้านความมั่นคงกับกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร
เพิ่มขีดความสามารถในการรักษาพยาบาลของโรงพยาบาลภูมิพลอดุลยเดช กรมแพทย์ทหารอากาศ
ควบรวมศูนย์ไซเบอร์กองทัพอากาศ กับ กรมเทคโนโลยีเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารทหารอากาศ
จัดตั้งศูนย์การฝึกกองทัพอากาศน้ำพอง
โอนภารกิจการตรวจสอบมาตรฐานการบินของกรมจเรทหารอากาศ ให้ สำนักงานการบินกองทัพอากาศ
ปรับโครงสร้างกรมช่างทหารอากาศ, กรมสื่อสารอิเล็กทรอนิกส์ทหารอากาศ และกรมสรรพาวุธทหารอากาศรองรับสหวิทยาการ
ทั้งนี้ การยุบหน่วย ที่หมดความจำเป็น คือ สำนักงานประสานภารกิจด้านความมั่นคงกับกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ศูนย์ประสานภารกิจทางทหาร สำนักนโยบายและแผนกลาโหม
นอกจากนี้แผนการปฏิรูปกองทัพ ยังตั้งเป้าลดจำนวนนายพลของกองทัพไทยทั้งสามเหล่าทัพ ซึ่งคาดการณ์ว่า มีราว 1,000 นาย ให้เหลือประมาณครึ่งหนึ่งภายในปี 2570 และใช้ระบบการเกณฑ์ทหารโดยสมัครใจทั้งหมด ภายในเดือนกันยายน 2570 จากเดิมที่เคยกำหนดไว้ปีละ 200,000 แสนนาย ปัจจุบันลดลงมาเหลือปีละ 85,000 นาย ส่วนจะลดลงกว่านี้อีกได้หรือไม่ ก็ต้องขึ้นอยู่กับสถานการณ์ เพื่อให้กองทัพมีขนาดที่เหมาะสม สอดคล้องกับสภาวะแวดล้อมด้านความมั่นคง และเทคโนโลยีที่มีความทันสมัยมากขึ้น
นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ย้ำกับสื่อมวลชนหลังเข้ารับตำแหน่งว่า จะไม่ใช้คำว่าปฏิรูปกองทัพ แต่จะใช้คำว่า พัฒนากองทัพร่วมกัน ซึ่งสอดคล้องกับเนื้อหาที่ปรากฏในเอกสารคำแถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรีว่า รัฐบาลจะร่วมกันพัฒนากองทัพ ให้เป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาศักยภาพของประเทศพร้อมกับประชาชน ทั้งการเปลี่ยนรูปแบบเกณฑ์ทหารเป็นสมัครใจ, ปรับปรุงการฝึกนักศึกษาวิชาทหารฯ เป็นแบบสร้างสรรค์ รวมถึงการปรับลดกำลังพลนายทหารระดับสูง ฯลฯ
ขณะที่ เว็บไซต์พรรคเพื่อไทย พรรคแกนนำรัฐบาล ได้ระบุนโยบายหลักของพรรค เกี่ยวกับการปฏิรูปกองทัพไว้อย่างชัดเจนว่า เพื่อให้เป็นทหารมืออาชีพ ป้องกันการก้าวก่ายแทรกแซงทางการเมือง และการบริหารราชการแผ่นดิน ให้มีความเป็นทหารอาชีพ และแก้ไขกฎหมายยกเลิกการเกณฑ์ทหาร ให้เข้ารับราชการทหารโดยสมัครใจ
ดังนั้นจึงต้องติดตามว่าผ่านไป 137 ปี กิจการทหารไทยยุคใหม่ จะมีทิศทางและการดำเนินงานของกระทรวงกลาโหมในอนาคต จะเป็นไปตามแผนการปฏิรูป ที่ได้มีการวางไว้หรือไม่อย่างไร และความสัมพันธ์ระหว่างกองทัพกับการเมืองจะเป็นไปในรูปแบบไหน รวมถึงทหารจะได้ทำหน้าที่ทหารอย่างแท้จริง โดยไม่ยุ่งเกี่ยวกับการเมืองได้จริงหรือไม่