svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

ปรากฏการณ์จาก "อนาคตใหม่" สู่ "ก้าวไกล" กับการต่อสู้ยุบพรรคและบทลงเอย

07 เมษายน 2567
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ในทางการเมืองต้องยอมรับว่าเป็นเรื่องให้ต้องตามติด ภายหลังศาลรัฐธรรมนูญได้รับพิจารณายุบ "พรรคก้าวไกล" ไว้เป็นที่เรียบร้อยเมื่อวันที่ 3 เม.ย. ที่ผ่านมา จากประเด็นล้มล้างการปกครอง พร้อมกับคำถามที่ว่าจะกลายเป็นเดจาวูซ้ำรอยแบบ "พรรคอนาคตใหม่" หรือไม่

เทียบ "อนาคตใหม่-ก้าวไกล"

"พรรคก้าวไกล" กำลังถูกมองว่าอาจจะซ้ำรอยเฉกเช่น "พรรคอนาคตใหม่" ซึ่งเป็นสารตั้งต้นพรรคส้ม ที่เคยถูกสั่งให้ยุบพรรคมาแล้ว พร้อมทั้งตัดสิทธิทางการเมืองกรรมการบริหารพรรคไปก่อนหน้านี้

ย้อนกลับไปยังกรณียุบพรรคอนาคตใหม่ สืบเนื่องมาจากการกู้ยืมเงิน "นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ" หัวหน้าพรรคขณะนั้น เพื่อนำมาใช้ดำเนินกิจกรรมทางการเมือง รวมทั้งสิ้น 191.2 ล้านบาท โดยแบ่งเป็น 2 สัญญา คือ

  • สัญญาที่หนึ่ง 161.2 ล้านบาท
  • สัญญาที่สอง 30 ล้านบาท

โดยกรณีของพรรคอนาคตใหม่ ที่ศาลรัฐธรรมนูญรับไว้ดำเนินการตามมาตรา 92 วรรคหนึ่ง (3) ประกอบมาตรา 72 พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง 2560 กรณีที่อนาคตใหม่ กระทำการฝ่าฝืน มาตรา 72  พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง 2560

หากนับเฉพาะที่ศาลรัฐธรรมนูญรับเรื่องจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ให้วินิจฉัยยุบพรรค ในวันที่ 25 ธ.ค. 2562 พร้อมทั้งให้ชี้แจงข้อกล่าวหาภายใน 15 วัน นับตั้งแต่วันที่ได้สำเนาคำร้อง

จากนั้นในวันที่ 27 ม.ค. 2563 ทางทีมทนายความพรรคอนาคตใหม่ ได้ส่งเอกสารชี้แจงต่อศาลรัฐธรรมนูญ

กระทั่งวันที่ 5 ก.พ. 2563 ศาลรัฐธรรมนูญได้ออกเอกสารข่าวประชาสัมพันธ์นัดอ่านคำวินิจฉัยยุบพรรคอนาคตหรือไม่

วันที่ 12 ก.พ. 2563 พรรคอนาคตใหม่ได้ส่งเอกสารพยานทั้ง 17 ปาก ต่อศาลรัฐธรรมนูญ แต่ศาลได้ขยายเวลาให้ส่งใหม่เป็นวันที่ 17 ก.พ. 2563 เนื่องจากจัดเตรียมคำชี้แจงไม่ทัน เพราะพรรคได้รับเอกสารอย่างเป็นทางการในวันที่ 6 ก.พ. 63  

กระทั่งวันที่ 21 ก.พ. 2563 ซึ่งเป็นวันกำหนดชี้ชะตาของศาลรัฐธรรมนูญ โดยมีมติ 7 ต่อ 2 เห็นควรยุบพรรค และให้ตัดสิทธิกรรมการบริหารพรรคทั้ง 16 คน เป็นเวลา 10 ปี รวมถึงไม่สามารถตั้งพรรคการเมืองใหม่ได้ โดยใช้เวลาพิจารณาประมาณ 2 เดือน ถึงจะมีคำพิพากษา

เวลากับชะตา "ก้าวไกล"

และเมื่อมาดูในส่วนของพรรคก้าวไกล ที่ศาลรัฐธรรมนูญมีมติรับคำร้องไป เมื่อวันที่ 3 เม.ย. 2567 ตามที่ กกต. ยื่นเรื่องมา และก้าวไกล ต้องชี้แจงเรื่องดังกล่าวภายใน 15 วัน 

ดังนั้น ถ้าหากนับระยะเวลาและกระบวนการในการพิจารณาต่างๆ เมื่อเทียบกับการยุบ "พรรคอนาคตใหม่" ก็จะมีคำตอบเกี่ยวกับเรื่องนี้

ทว่า ฐานความผิดของก้าวไกลครั้งนี้เกี่ยวกับหาเสียงแก้ไข ม.112 ที่ศาลรัฐธรรมนูญเคยตัดสินไปช่วงต้นปี คือ เมื่อวันที่ 31 ม.ค. ที่ผ่านมา ถือเป็นการ "ล้มล้างการปกครอง" พร้อมสั่งให้ยุติการกระทำ

ซึ่งเนื้อหาและกระบวนการพิจารณา โดยเฉพาะขั้นตอนการเรียกสอบพยานอาจกินเวลาเพิ่มขึ้น ซึ่งคาดว่าอีก 2 เดือน คือ ช่วงราวๆ เดือน ส.ค. ถึงจะรู้คำตอบในเรื่องนี้ ว่าผลออกมาเป็นเช่นไร

หากเป็นไปในทิศทางลบ จะส่งผลต่อคณะกรรมการบริหารพรรค ชุดที่เสนอนโยบายหาเสียงแก้ไข ม.112 ให้ได้รับผลกระทบทางการเมืองอย่างเลี่ยงได้ยาก ซึ่งประกอบด้วย 

  1. นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรค
  2. นายชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรค
  3. นายณธีภัสร์ กุลเศรษฐสิทธิ์ เหรัญญิกพรรค
  4. นายณกรณ์พงศ์ ศุภนิมิตรตระกูล นายทะเบียนสมาชิกพรรค
  5. นายปดิพัทธ์ สันติภาดา กก.บห. สัดส่วนภาคเหนือ
  6. นายสมชาย ฝั่งชลจิตร กก.บห. สัดส่วนภาคใต้
  7. นางอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล กก.บห. สัดส่วนภาคกลาง
  8. น.ส.เบญจา แสงจันทร์ กก.บห. สัดส่วนภาคตะวันออก
  9. นายอภิชาติ ศิริสุนทร กก.บห. สัดส่วนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
  10. นายสุเทพ อู่อ้น กก.บห.พรรค สัดส่วนปีกแรงงาน
  11. นายอภิสิทธิ์ พรมฤทธิ์ กก.บห.พรรค สัดส่วนภาคเหนือ

ยุบพรรคไม่ใช่เรื่องใหม่

และแน่นอนว่าคดียุบพรรคภายใต้รัฐธรรมนูญ 2560 เกิดขึ้นมาแล้วก่อนหน้านี้ อย่าง "พรรคไทยรักษาชาติ" กับการเสนอชื่อแคนดิเดตนายกฯ

หากนั่งไทม์แมชชีนย้อนกลับไปอีกบนหน้าประวัติศาสตร์การเมืองไทย ก็จะเห็นได้ว่าการยุบพรรคนั้นไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะเคยเกิดขึ้นมาแล้ว

ก่อนมีรัฐธรรมนูญปี 2540 การยุบพรรคการเมืองส่วนใหญ่หรือเกือบทั้งหมด เกิดขึ้นเพราะคำสั่งของคณะนายทหารที่เข้ายึดอำนาจการปกครอง หรือทำรัฐประหารนั่นเอง

  • เมื่อยึดอำนาจ ก็ต้องฉีกรัฐธรรมนูญ และยุบพรรคการเมือง หรือยกเลิกกฎหมายว่าด้วยพรรคการเมือง ส่งผลให้พรรคการเมืองถูกยุบไปโดยปริยาย 
  • การยุบพรรคด้วยเหตุผลอื่นก็มีอยู่บ้าง ส่วนใหญ่เป็นเรื่่องของการไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขของกฎหมายพรรคการเมือง เช่น ไม่ส่งผู้สมัครรับเลือกตั้ง หรือส่งไม่ครบตามจำนวนที่กฎหมายกำหนด (บางยุคบางสมัยเคยบังคับ) โดยองค์กรที่มีอำนาจตัดสินคดียุบพรรคการเมือง คือ ศาลฎีกา 

หลังมีรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 มีการโอนอำนาจการสั่งยุบพรรค จากศาลฎีกา เป็นศาลรัฐธรรมนูญ โดยเหตุแห่งปัจจัยของการยุบพรรคตามรัฐธรรมนูญปี 2540 และฉบับต่อๆ มา คือ 

  1. ไม่ดำเนินกิจการให้เป็นไปตามกฎหมายบัญญัติ (ผิดเงื่อนไข เป็นเรื่องเทคนิคกฎหมาย) 
  2. กระทำการเข้าข่ายล้มล้างการปกครอง เป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตย หรือเป็นภัยต่อความมั่นคง

ภายหลังมีการขยายเงื่อนไขข้อสองให้กว้างและเยอะขึ้น เช่น เรื่องเงินบริจาค หรือการครอบงำพรรค ซึ่งปรากฏใน พ.ร.ป.พรรคการเมือง 2560 ฉบับปัจจุบัน 

เปิดสถิติยุบพรรคการเมือง 

นับตั้งแต่มีรัฐธรรมนูญปี 2540 เป็นต้นมา ซึ่งโอนอำนาจสั่งยุบพรรค จากศาลฎีกา เป็นศาลรัฐธรรมนูญ / ศาลสั่งยุบพรรคมาแล้ว 110 พรรค แยกเป็น 

  • รัฐธรรมนูญ 2540 - ยุบไปทั้งหมด 91 พรรค 
  • รัฐธรรมนูญ 2550 - ยุบไปทั้งหมด 16 พรรค 
  • รัฐธรรมนูญ 2560 - ยุบไปแล้ว 2 พรรค

4 สาเหตุให้ต้องยุบ 

1.กระทำผิดหลักเกณฑ์ ข้อกำหนด และคุณสมบัติความเป็นพรรคการเมืองตามกฎหมาย รวม 101 พรรค 

2.กระทำการเข้าข่ายล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือเพื่อให้ได้มาซึ่งอํานาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ จำนวน 4 พรรค คือ

  • พรรคไทยรักไทย
  • พรรคมัชฌิมาธิปไตย
  • พรรคชาติไทย
  • พรรคพลังประชาชน 

3.กระทำการอันอาจเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข จำนวน 4 พรรค คือ

  • พรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า
  • พรรคพัฒนาชาติไทย
  • พรรคแผ่นดินไท
  • พรรคไทยรักษาชาติ 

4.รับบริจาคเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดโดยมิชอบด้วยกฎหมาย ได้แก่ พรรคอนาคตไทย

ทั้งหมด คือ ภาพรวมบนเวทีการเมืองไทยกับเรื่องราวการยุบพรรค และโดยเฉพาะประเด็น "ล้มล้างการปกครอง" ที่ก้าวไกลจะฝ่าฟันพ้นอุปสรรคไปได้หรือไม่ หรือต้องลงเอยแบบเดียวกับ "อนาคตใหม่" อีกไม่นานนี้มีคำตอบ  

logoline