svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

จับตาแบ่งเวลาอภิปรายทั่วไปจบยังไงหลัง "พิเชษฐ์" นัดหารือ 3 ฝ่ายพรุ่งนี้

02 เมษายน 2567
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

"พิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน" นัด 3 ฝ่ายถกแบ่งเวลาอภิปรายทั่วไปใหม่เช้าพรุ่งนี้ ชี้ต้องจบก่อนเริ่ม ย้ำ 2 วันเท่านั้นไม่มีขยายเพิ่ม ด้าน "ปกรณ์วุฒิ" ถามกลับจะลดเวลาฝ่ายค้านเป็นธรรมหรือไม่ ย้ำรัฐเสนอเองก็ควรรับผิดชอบ ยันเวลาต้องเท่าเดิม 22 ชม.

2 เมษายน 2567 ต้องมาจับตากันดูว่าจะหาบทสรุปกันอย่างไร หลัง "นายวิสุทธิ์ ไชยณรุณ" ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล หรือ วิปรัฐบาล จะหารือกับทางฝ่ายค้านเพื่อกำหนดเวลาในการอภิปรายใหม่ โดยจะขอเวลาเพิ่มให้กับนายกฯและรัฐมนตรี ในการชี้แจงในการอภิปรายทั่วไปโดยไม่ลงมติ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 152 ระหว่างวันที่ 3-4 เม.ย.นี้

โดย "นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน" รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 2 เปิดเผยว่า วันที่ 3 เม.ย. เวลา 08:00 น. ได้นัด 3 ฝ่าย ซึ่งประกอบด้วย วิปรัฐบาล วิปฝ่ายค้าน และตัวแทนของคณะรัฐมนตรี (ครม.) พูดคุยเรื่องกรอบเวลาในการอภิปรายทั่วไปกันอีกครั้ง หลังวิปรัฐบาลเสนอปรับเวลา

ทั้งนี้ โดยจะเพิ่มเวลารัฐบาลเป็น 10 ชั่วโมง จาก 6 ชั่วโมง และฝ่ายค้านเหลือ 18 ชั่วโมง จากเดิม 22 ชั่วโมง ซึ่งจะใช้เวลาพูดคุยประมาณ 1 ชั่วโมงให้จบ แสดงเหตุผลกัน และตนเป็นคนกลาง โดยไม่เข้าข้างฝ่ายใด รวมถึงรัฐบาล แต่อยากให้เกิดการพูดคุยเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมจึงพยายามประสานทุกฝ่าย โดยส่งหนังสือเชิญให้มาร่วมประชุมโดยเฉพาะฝ่ายค้าน

อย่างไรก็ตาม อยากให้ทุกอย่างเป็นไปด้วยความราบรื่น ไม่อยากให้เกิดความวุ่นวายตั้งแต่วันแรก แล้วมีการใช้เสียงข้างมาก เพราะจะลำบากและไม่อยากให้เกิดบรรยากาศเช่นนี้

ส่วนกรอบเวลาในการอภิปราย ยืนยันที่ 2 วัน ไม่สามารถขยายเพิ่มได้ เพราะทั้ง สส. และรัฐมนตรี ต่างก็กำหนดภารกิจส่วนตัวของแต่ละคนกันไปหมดแล้ว และรัฐมนตรีก็มีงานกันหมดแล้ว ทุกคนก็รับทราบ ว่าจะอภิปรายเพียง 2 วัน คือ วันที่ 3 และ 4 เม.ย. ดังนั้น วันที่ 5 เม.ย. แต่ละคนก็มีภารกิจของตัวเองกันไปแล้ว ต้องจบภายใน 2 วัน

 

"จะเอายังไงกันก็ว่ามา ประธานก็พร้อมที่จะช่วยเหลือ ให้มันไปได้ เดี๋ยวให้ทะเลาะกันเต็มที่ก่อน จบกันภายใน 1 ชั่วโมง แล้วต่างคนต่างยอมรับ เอาความยุติธรรมเป็นที่ตั้ง ไม่รู้จะลงตัวอย่างไร เดี๋ยวจะพยายามให้ฝ่ายค้านมาคุยก่อน ตอนนี้ก็ส่งหนังสือเชิญประชุมกันไปหมด แต่ต้องคุยส่วนตัวว่าให้มาหน่อย" นายพิเชษฐ์ กล่าว


ขณะเดียวกัน ยืนยันด้วยว่าไม่รู้สึกลำบากใจที่จะต้องเป็นผู้ประสานวิปทุกฝ่ายในครั้งนี้ เพราะตนไม่ได้เป็นพวกใคร จึงไม่ลำบากใจ ส่วนจะมีมาตรการในการหาข้อสรุปอย่างไรหากตกลงกันไม่ได้นั้น ก็ต้องรอดู ว่าผลการหารือจะออกมาทิศทางไหน และหาข้อสรุปเอา โดยจะให้เวลาตั้งแต่ 08:00 - 09:00 น. เพียง 1 ชั่วโมงในการหาข้อสรุป

อย่างไรก็ตาม ถ้าตกลงกันไม่ได้ ก็ไม่รู้ว่าจะยังไง พร้อมเห็นว่าความขัดแย้งแบบนี้ ในฐานะที่อยู่การเมืองมานานไม่ควรจะเกิดขึ้น แต่อย่างไรก็ตามวันพรุ่งนี้ (3เม.ย.) จะต้องมีการเริ่มอภิปรายทั่วไป แบบไม่ลงมติตามรัฐธรรมนูญมาตรา 152 วันแรก

 

ขณะที่ "นายปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล" ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน หรือ วิปฝ่ายค้าน กล่าวว่า ฝ่ายค้านยังหารือกันอยู่ว่าจะไปร่วมประชุมตกลงกรอบเวลาดังกล่าวหรือไม่ เพราะขณะนี้ทุกคนอยู่ระหว่างการเตรียมพร้อมสำหรับการอภิปรายทั่วไป และคิดว่าการตกลงให้เวลาฝ่ายค้าน 22 ชั่วโมง และ ครม. 6 ชั่วโมง เป็นข้อตกลงที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 23 มี.ค. ที่ผ่านมา และฝ่ายรัฐบาลเป็นคนยื่นข้อเสนอนี้เอง ประเมินเองว่าจะใช้เวลาตามนี้ ซึ่งตนก็ไม่ได้ขอเพิ่ม

 

"ถามว่าจะมีการปรับเปลี่ยนกรอบใหม่ได้หรือไม่ ก็ต้องบอกว่าเปลี่ยนได้ หากมาปรับเปลี่ยนหลังวันที่ 23 มี.ค. ในไม่กี่วัน แต่การจะมาเปลี่ยนข้อตกลง 1 ชั่วโมง ก่อนที่จะมีการอภิปราย ซึ่งฝ่ายค้านได้มีการเตรียมการและเตรียมผู้อภิปรายกันมาหมดแล้ว 22 ชั่วโมง แล้วอยู่ๆจะมาตัดเวลาในการอภิปรายของฝ่ายค้านออก 4 ชั่วโมง ภายในระยะเวลา 1 ชั่วโมงก่อนการอภิปราย คิดว่าเป็นเรื่องที่ไม่มีความยุติธรรมและไม่มีความชอบธรรมใดๆเลย ที่จะทำแบบนั้น" ประธานวิปฝ่ายค้าน กล่าว

 

ทั้งนี้ ตนต้องขอเรียกร้องไปยังประธานด้วยว่า เหตุการณ์แบบนี้ไม่ควรจะเกิดขึ้น และประธานก็ควรต้องวางตัวเป็นกลาง ว่าการเปลี่ยนข้อตกลงก่อน 1 ชั่วโมง ที่จะมีการอภิปรายจริง โดยที่เป็นกรอบเวลาที่เป็นข้อตกลงร่วมทุกฝ่าย ดังนั้น เป็นธรรมกับฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งและฝ่ายค้านหรือไม่

สำหรับกรณีที่ประธานวิปรัฐบาลบอกว่าเป็นการปรับเปลี่ยนเพื่อความเป็นธรรมเพื่อให้รัฐบาลมีเวลาในการชี้แจงได้ครบถ้วนนั้น ซึ่งหากคำนึงถึงความเป็นธรรม ก็ต้องถามกลับไปว่า การตัดเวลาของฝ่ายค้านลงไป 4 ชั่วโมง ซึ่งเทียบเท่า 1 ใน 5 ของเวลาที่ตกลงกันไว้ในตอนแรก เป็นธรรมกับฝ่ายค้านหรือไม่ และฝ่ายรัฐบาลเป็นคนเสนอเวลามาเอง

 

"ขอย้ำว่าในที่ประชุมวันนั้น ผมยังหันกลับไปถามกับฝ่ายรัฐบาล คนหนึ่งอย่างไม่เป็นทางการด้วยซ้ำว่าระยะเวลา 6 ชั่วโมงในการชี้แจงพอจริงหรือ และในเมื่อทางรัฐบาลยืนยันว่าพอ ทางฝ่ายค้านก็ตกลงไปตามนั้น แต่การจะมาเพิ่งคิดได้ทีหลังว่าอาจจะไม่พอ ผมก็ยินดีที่จะเพิ่มเวลาให้โดยที่เลิกประชุมดึกกว่าเดิม ทั้ง 2 วันก็ได้ ไม่มีปัญหาและฝ่ายค้านก็อยากจะได้คำตอบที่ชัดเจนจากรัฐบาลเช่นกัน ซึ่งเราไม่มีปัญหาเลย หาก ครม. จะใช้เวลา ชี้แจงเยอะ แต่จะมาตัดเวลาฝ่ายค้านแล้วมาตกลงกัน 1 ชั่วโมง ก่อนที่จะอภิปรายนั้น คิดว่าทำไม่ได้ จึงขอยืนยันเวลาของฝ่ายค้านที่ 22 ชั่วโมงเนื่องจากได้มีการจัดสรรเวลา กับพรรคร่วมฝ่ายค้านกันแล้ว" นายปกรณ์วุฒิ กล่าว 

 

ส่วนหากตกลงกันไม่ได้แล้วรัฐบาลใช้เสียงข้างมากลงมติเรื่องกรอบเวลาจะทำอย่างไรนั้น ก็ต้องเจรจากันก่อนอยู่แล้ว และต้องยอมรับว่า หากลงมติกัน ไม่มีวันที่ฝ่ายค้านจะชนะ และขอให้จับตาดูว่าจะเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ ที่เวทีตรวจสอบรัฐบาลของฝ่ายค้าน ที่มีอยู่เพียงไม่กี่เวที จะมาใช้เสียงข้างมากลากไป เพื่อจะมาเปลี่ยนจำนวนเวลาในการอภิปราย คิดว่าประวัติศาสตร์ทางการเมืองไทยในระบบรัฐสภาไม่เคยมีแบบนี้ ถ้ารัฐบาลภายใต้การนำของพรรคเพื่อไทยจะมาปิดกั้น ขัดขวางระบบการตรวจสอบของรัฐสภาแบบนี้เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์นั้น ตนคิดว่าไม่สง่างามเลย

เมื่อถามว่า จะมีการเตรียมตั้งรับอย่างไรนั้น นายปกรณ์วุฒิ กล่าวว่า ก็คงต้องมีการเจรจากัน และอาจจะต้องมีการพูดคุยเจรจากันในห้องประชุมใหญ่ก่อนที่จะเริ่มอภิปรายว่าตกลงจะเอาอย่างไร แต่การคุยตอนเช้าก่อนประชุมนั้น ตนคงไม่สะดวกที่จะเข้าร่วม แต่ก็มีวิปพรรครัฐบาลหลายคน ซึ่งยังคงประเมินกันอยู่

อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าในวันพรุ่งนี้หากฝ่ายค้านไม่เข้าร่วมประชุมวิป 3 ฝ่าย ก็อยากให้สาธารณะชนได้ทราบไว้ก่อนว่า เอกสารใดๆที่ออกมา ไม่มีส่วนร่วมของทางฝ่ายค้าน และเป็นการพูดคุยตกลงกันเองของฝ่ายรัฐบาล ที่จะขัดขวางการตรวจสอบของฝ่ายค้าน

ขณะที่ "นายปิยรัฐ จงเทพ" สส.กรุงเทพ พรรคก้าวไกล กล่าวว่า แม้ตนจะไม่ได้เป็นหนึ่งในผู้อภิปรายและไม่ทราบเนื้อหาทั้งหมด แต่ยังอยากให้ประชาชนได้ติดตาม เพราะประเด็นครอบคลุม การทำงานของรัฐบาลแน่นอน

ส่วนที่มีกระแสข่าวว่าพรรคประชาธิปัตย์จะเอนเอียงไปอยู่ฝั่งรัฐบาล จะ กระทบกับเสถียรภาพ การทำงานของฝ่ายค้านหรือไม่นั้น ซึ่งเรื่องนี้ขอให้รอฟังเช่นเดียวกัน และไม่แน่ใจว่าที่บอกว่าเอนเอียงจะเอนเอียงในเรื่องใด ซึ่งแน่นอนว่ามาตรา 152 ไม่ได้ลงมติอยู่แล้ว คงไม่มีใครที่จะยกมือให้ผ่านหรือไม่ให้ผ่าน ฉะนั้น การซักถามก็เป็นประโยชน์กับรัฐบาลด้วยซ้ำไป และเชื่อว่าหากรัฐมนตรีตอบได้ ก็จะเป็นประโยชน์กับประชาชนร่วมกัน

ส่วนที่มีการตั้งคำถามว่าหัวข้อที่พรรคก้าวไกลคิดไม่สร้างสรรค์นั้น มองว่า จะสร้างสรรค์หรือไม่ อยู่ที่เนื้อหา หัวข้อมีไว้เพื่อให้ติดตาม ดังนั้น ขอให้ฟังเนื้อหาทั้งหมดในวันที่ 3-4 เม.ย.นี้

สำหรับประเด็นการพูดถึง "นายทักษิณ ชินวัตร" อดีตนายกรัฐมนตรี ซึ่งจริง ๆ เรื่องนี้ไม่ต้องพูดก็ได้ เพราะ "นายรังสิมันต์ โรม" สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ได้ตั้งกระทู้ถามในสภาจัดหนักไปแล้ว ถ้าจะพูดต่อไป ก็คงจะเป็นเรื่องรายละเอียด ซึ่งในหัวข้อกระบวนการยุติธรรมก็มีการพูดถึงเรื่องนี้อยู่แล้ว

logoline