svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

"ยุบพรรค" ขวากหนามฉุดรั้งพัฒนา "การเมืองไทย"

27 มีนาคม 2567
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ประเด็นยุบพรรคการเมืองนั้น ถือเป็นอีกหนึ่งฝันร้ายทางการเมืองให้กับบรรดา สส. และโดยเฉพาะเหล่ากรรมการบริหารพรรค ที่อาจถูกตัดสิทธิทางการเมืองเป็นเวลา 10 ปี หรืออาจตลอดชีพ

โดยสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้มีการจัดเสวนาหัวข้อ "พรรคการเมืองสร้างชาติ" ณ อิมแพ็ค ฟอรั่ม เมืองทองธานี ซึ่งมีบรรดาหัวหน้าพรรค และตัวแทนจากพรรคการเมืองเข้าร่วมงานดังกล่าว

สลายพรรคทำการเมืองอ่อนแอ

"ชัยธวัช ตุลาธน" หัวหน้าพรรคก้าวไกล ได้พูดช่วงหนึ่งโดยเฉพาะประเด็นที่มีการบอกว่าพฤติกรรมของพรรค ล้มล้างการปกครอง และถูกยุบพรรค ซึ่งในแง่นี้หมายความว่า พรรคการเมืองพรรคนี้ไม่น่าจะมีบทบาทให้การเมืองดีและสร้างชาติ ทั้งยังถูกมองว่าเป็นพรรคการเมืองทำลายชาติ เป็นพรรคการเมืองที่ไม่ดี ซึ่งมีนัยยะที่เป็นประเด็นสำคัญอยู่

ทั้งนี้ ในระบอบประชาธิปไตย พรรคการเมืองเป็นตัวแทนที่สำคัญ อย่าเพิ่งถกเถียงกันว่าเป็นมากน้อยเพียงใด แต่ถือว่าเป็นช่องทางหนึ่งที่สำคัญมากๆในการแสดงออกซึ่งอำนาจและเจตจำนงของประชาชนผ่านการเลือกตั้ง ดังนั้น ในแง่นี้การทำให้พรรคการเมืองอ่อนแอ ไม่ว่าจะด้วยวิธีการใดก็ตาม หรือกดทับพรรคการเมืองเอาไว้ ก็เป็นการทำให้ลดทอนอำนาจ และการแสดงเจตจำนงของประชาชนผ่านการเลือกตั้งอีกด้วย

 

"พรรคการเมืองมีความสำคัญมากในการสร้างชาติ ในฐานะผู้มีบทบาททางตรง ในการกำหนดนโยบายสาธารณะ รวมถึงการออกกฎหมาย พรรคก้าวไกลเองพยายามพัฒนาบุคลากร และตัวแทนของพรรคให้มีบทบาทสำคัญมากขึ้น เพราะไม่ว่าจะพูดถึงการกำหนดนโยบายสาธารณะ เราระดมสมองจากนักกฎหมาย และผู้เชี่ยวชาญ แต่ในเมืองไทย เราไม่เคยเห็นพัฒนาการทางการเมือง ไม่เคยเห็นการถกเถียงทางการเมืองกันอย่างจริงจัง ดังนั้น ผมคิดว่าควรจะมีได้แล้ว"


 

ต้องส่งเสริมยกระดับพัฒนาการเมือง

ขณะเดียวกัน การพัฒนาการเมืองให้เอื้อต่อการเติบโตและสร้างความเข้มแข็งให้กับพรรคการเมือง หากจะทำให้ฟรีและแฟร์ ก็ต้องส่งเสริมให้การแข่งขันและการยกระดับให้ต่อเนื่อง ซึ่งประชาชนแต่ละคนมีความคิด มีความเชื่อ ความนิยมในนโยบายไม่เหมือนกัน

แต่โดยรวมทำให้การเมืองพัฒนาได้ด้วยการออกแบบ ซึ่งเชื่อว่าจะเอื้อต่อการส่งเสริมการยกระดับ และการแข่งขันในเชิงนโยบาย และที่อยากเห็น คือ ควรจะมีอุดมการณ์และแนวคิดที่อยู่ตรงกลาง ระหว่างเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งหวังว่าในอนาคตอันใกล้ จะเดินทางไปถึงจุดนั้นได้

3 หลักการพื้นฐานทำการเมืองให้ดี

"ชัยธวัช" ยังขยายความต่อว่า การเมืองดีต้องวางอยู่บนหลักการพื้นฐานง่ายๆ คือ

  1. อำนาจสูงสุดเป็นของประชาชน
  2. สิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานต้องได้รับการคุ้มครอง
  3. กฎกติกาฟรีและแฟร์หรือไม่


ทั้งนี้ หากออกแบบการเมืองที่คิดว่าการเมืองดีคือแบบนี้ ก็จะออกกฎกติกาที่เชื่อว่า จะเอื้อต่อการพัฒนาทางการเมือง เพราะเชื่อว่าประชาชนเรียนรู้ได้ แต่หากการเมืองดี คือ การยุบพรรคการเมืองกันอย่างเป็นปกติ พรรคการเมืองถูกสั่งว่าหาเสียงแบบนี้ไม่ได้และอันตรายไป จนถึงการยุบพรรค และกฎพรรคการเมืองนั้นยุบยิบไปหมด การใช้งบประมาณ ไม่เอื้อต่อการสร้างพรรคการเมืองที่เข้มแข็งเลย ขอเงินยาก

 

"หากเราออกแบบกฎกติกาพรรคการเมืองด้วยพื้นฐานที่เรียกว่า เป็นการเมืองที่ไม่ไว้ใจประชาชน และต้องการพยายามควบคุมอำนาจ และสถาบันทางการเมืองที่ยึดโยงกับประชาชน ให้อยู่ภายใต้อำนาจที่ไม่ได้ยึดโยงกับประชาชน แต่เป็นคุณพ่อรู้ดีไปหมด ว่าการเมืองที่ดีควรเป็นอย่างไร อันนี้ถือเป็นใจกลางสำคัญมากๆ ที่การเมืองไทยยังไม่จบ ว่าจะมีคำตอบจากเรื่องนี้อย่างไร"

อย่าให้การยุบพรรคกลายเป็นเรื่องชินชา

อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่าในช่วงที่ยุบพรรคอนาคตใหม่ เรื่องการยุบพรรคหรือสิทธิทางการเมือง หรือต้องโทษจำคุก เป็นเรื่องไม่ปกติ แต่กลายเป็นเรื่องปกติของการเมืองไทย หรือทำให้กลายเป็นเรื่องชินชา ส่วนการยื่นยุบพรรคก้าวไกลในครั้งนี้ ยอมรับว่าผู้ปรารถนาดีมีเยอะ แต่เชื่อว่าเป็นบทเรียนทำให้พวกเรารู้ว่า จะต้องทำอย่างไรในรักษาอุดมการณ์

ชัยธวัช เล่าย้อนไปถึงการยุบพรรคอนาคตใหม่ ไม่ใช่เรื่องการยุบโดยนโยบาย แต่มีธงทางการเมืองมาก่อนแล้ว เพียงแต่ว่ามาหาเหตุผลระหว่างทางเท่านั้นเอง ส่วนหลังการเลือกตั้งปี 62 ก็มีคนของผู้มีอำนาจมาแสดงเจตนารมณ์ว่าชอบพรรคอนาคตใหม่ อยากจะให้อยู่ต่อ ขอแบบนั้นแบบนี้ โดยมีเงื่อนไข ยังไงก็ได้ ที่จะไม่ให้ธนาธรเข้าสภา

 

"ผมก็นึกไม่ออกว่าจะทำอย่างไร แต่สุดท้ายก็ทำได้ จึงเชื่อว่าการยุบพรรคก้าวไกลมีธงทางการเมือง หากเราจะทำให้ระบบประชาธิปไตยเข้มแข็ง พรรคการเมืองจะต้องเกิดง่ายตายยาก เมื่อเราเป็นเสรีระบอบประชาธิปไตยแล้ว เราก็ไม่ควรที่จะต้องทำลายระบอบของตัวเอง"  

 

ชัยธวัช ยังย้ำว่า สุดท้ายแล้ว เชื่อว่าทุกคนมีประสบการณ์ การยุบพรรคไม่ใช่ทางออกทางการเมือง ต้องมาหาคำตอบในระดับแกรนด์ดีไซน์ ว่าจะอยู่กันอย่างไร แม้จะเห็นไม่ตรงกัน และเอื้อให้เกิดการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง และสามารถเกิดการแข่งขันในระบอบอย่างสร้างสรรค์

รัฐธรรมนูญจำกัดพรรคการเมือง

ขณะที่ "ชูศักดิ์ ศิรินิล" รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ตอบคำถามเรื่องพรรคการเมืองเอื้อประโยชน์ให้การเมืองไทยได้อย่างไร โดยมองว่าพรรคการเมืองทุกพรรคที่ก่อตั้งขึ้น มีเจตนาว่าต้องการเข้ามาบริหารบ้านเมือง และนำนโยบายเข้ามาใช้ให้เกิดประโยชน์กับประชาชน คงไม่มีพรรคการเมืองใดที่ตั้งขึ้นแล้วอยากเป็นฝ่ายค้าน ซึ่งพรรคการเมืองได้ตั้งขึ้นและถูกกำกับโดยรัฐธรรมนูญ อีกทั้ง บริบทของรัฐธรรมนูญมีความเข้มงวดในการควบคุมพรรคการเมือง

 

"ซึ่งทางพรรคการเมืองมองว่า มีเจตนาในจัดตั้งพรรคขึ้นก็จริง แต่เราถูกจำกัด หลายประการในข้อกฎหมาย แน่นอนว่าเราไม่สามารถเรียกร้องอะไรได้ ทางออกที่จะดีสุด คือ การแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เป็นพรรคการเมืองที่เป็นประชาธิปไตย แทนที่จะบริหารชาติบ้านเมือง แต่กลับถูกมองว่ามาบริหารอำนาจ บางครั้งก็ถูกยุบพรรค ความต่อเนื่องในการบริหารชาติบ้านเมือง และดำเนินกิจกรรมทางการเมืองก็ไม่เกิดขึ้น"


รื้อรัฐธรรมนูญสกัดการยุบพรรคง่ายๆ

ทั้งนี้ ลึกๆ ส่วนตัวไม่ค่อยเห็นด้วยในเรื่องการยุบพรรคการเมืองที่เกิดขึ้นโดยง่าย ซึ่งเคยเสนอให้แก้ไขรัฐธรรมนูญในหลายเรื่อง โดยเฉพาะมาตรา 92 (2) และ (3) แต่ท้ายที่สุดแล้วก็แก้ไม่สำเร็จ ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องใหญ่ ขณะที่พรรคการเมืองก็ควรสร้างนักการเมืองมืออาชีพ ให้ขึ้นมาบริหารพรรคการเมือง แต่ปัจจุบันยังไม่มี 100 เปอร์เซ็น เพราะส่วนมากทุกคนก็มีอาชีพหลักควบคู่ไปด้วย อย่างการเป็นนักธุรกิจ

อย่างไรก็ตาม ท้ายที่สุดการที่พรรคการเมือง ถูกควบคุมกำกับด้วยกฎหมาย แต่มองว่าควรจัดทำรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวกับพรรคการเมืองให้เป็นประชาธิปไตย และมีความมั่นคงมากกว่าที่เป็นอยู่

ต้องไปถาม "มีชัย ฤชุพันธุ์" เจตนารมณ์ครอบงำ

ส่วนที่มีคนมองว่าผู้ก่อตั้งพรรคการเมือง เข้าไปพูดคุยกับ สส.ภายในที่ทำการพรรค จะเป็นการครอบงำนั้น ก่อนหน้านี้ไม่มีเรื่องของการครอบงำพรรคการเมือง แต่ในยุคของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือ สนช. ที่มี "มีชัย ฤชุพันธุ์" เป็นประธาน เมื่อไปย้อนดูเจตนารมณ์ในการกันพรรคเพื่อไทย ไม่ให้อดีตผู้ก่อตั้งพรรคคนหนึ่ง มีบทบาททางการเมือง ต้องไปดูคนที่ร่างกฎหมาย มีเจตนาอะไร

 

"รัฐธรรมนูญปี 2560 มีหลายอย่างซ่อนเงื่อนอยู่ เพราะที่ผ่านมา สส. มีอำนาจในการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี วาระ 5 ปีแรก แต่ที่ผ่านมา สส. เท่านั้นที่มีอำนาจแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี มีบุคคลทางการเมืองต้องห้ามทางการเมืองตลอดชีวิต หมายความว่า หากไปทำผิดในคดีอะไรบางมาตรา จะรอการลงโทษ หรือมีโทษนิดเดียวแต่สุดท้ายก็ห้ามลง สส.ตลอดชีวิต ซึ่งบางคนมีความรู้ความสามารถ แต่ท้ายที่สุดเขาก็ไม่มีโอกาสกลับเข้ามาทำการเมืองอีกเลย ต้องย้อนไปดูว่าคนชนชั้นใดออกกฏหมาย ก็ย่อมออกกฎหมายปกครองคนชนชั้นนั้น ซึ่งกฎหมายรัฐธรรมนูญฉบับที่ออกมา ไปดูเจตนาแล้ว ส่วนใหญ่ก็จะเป็นแบบนี้"
 


"ภราดร" ชี้การเมืองจะดีได้ต้องเริ่มจากกติกา

ด้าน "ภราดร ปริศนานันทกุล" สส.อ่างทอง และรองหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย มองว่า การเมืองหรือพรรคการเมืองจะดีหรือไม่ดี ต้องเริ่มต้นจากกติกา พรรคการเมืองจะดีได้ กติกาก็ต้องดีก่อน พรรคการเมืองเป็นบ้านของสมาชิก และทำหน้าที่ในการนำเสนอแนวทางความคิดของตัวเองสู่สาธารณะ แล้วให้สาธารณะวิพากษ์วิจารณ์เห็นตัวตนของพรรค ต้องมีการสอบถามว่าประชาชนต้องการอะไร แล้วเอาความต้องการนั้น มาเป็นแก่น เป็นหลักคิดนำเสนอต่อสังคมอีกครั้ง แล้วลงสู่สนามเลือกตั้ง เพื่อให้ประชาชนเลือกเข้าสู่การเป็นคณะบริหาร

ทั้งนี้ คือสิ่งที่สังคมไทยปรารถนาที่จะเห็น แต่ที่ผ่านมาพรรคการเมืองถูกกดทับ ถูกบีบคั้น ถูกทำให้รู้สึกว่านักการเมืองและพรรคการเมืองเป็นสิ่งชั่วร้าย เป็นสิ่งที่สังคมไม่ปรารถนา จึงออกกติกามาเหมือนกับว่า พยายามที่จะเข่นฆ่านักการเมืองและพรรคการเมือง ไม่ให้พรรคการเมืองเติบโต

พรรคการเมืองควรถูกยุบจากน้ำมือประชาชน

ทั้งนี้ โดยเฉพาะในรัฐธรรมนูญปี 2550 และฉบับ 2560 ที่มีกติกาในการยุบพรรค ซึ่งคิดว่าไม่มีใครเห็นด้วยกับการยุบพรรคการเมือง จากกติกาที่เขียนว่าจะต้องยุบจาก เหตุผล 1 2 3 แต่พรรคการเมืองควรจะต้องยุบพรรคจากประชาชน เพราะเกิดมาจากประชาชน ในอดีตหลายพรรคการเมืองที่เกิดมา ปัจจุบันก็ไม่มีสถานะแล้ว เพราะประชาชนไม่เลือก

 

"หลายคนผ่านประสบการณ์ถูกยุบพรรคมาแล้วทั้งสิ้น อาจารย์ชูศักดิ์ ศิรินิล 2 ครั้ง นายชัยธวัช ตุลาธน 1 ครั้ง ส่วนผม 1 ครั้ง และกำลังสุ่มเสี่ยงอีก 1 ครั้ง ฉะนั้นถือว่าเป็นความเจ็บปวดในฐานะคนการเมือง ที่ต้องมาทำการเมือง โดยมีความระแวงว่าจะถูกยุบพรรคจากการทำงานการเมืองหรือไม่"


อยากเห็นการแข่งขันเชิงนโยบายมากกว่าแบ่งแยก

ภราดร ยอมรับว่า อยากเห็นพรรคการเมืองมาแข่งกันนำเสนอมุมมอง ทัศนคติทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคม การศึกษา จะเดินหน้าพัฒนาประเทศผ่านนโยบายต่างๆ แต่จะเห็นว่าในปี 2562 และ 2566 ที่มีการเลือกตั้ง พรรคการเมืองไม่ได้แข่งในเรื่องเหล่านี้ แต่กลับแข่งกันว่าเป็นพวกของใคร เป็นฝ่ายเผด็จการ หรือฝั่งประชาธิปไตย ซึ่งนี่เป็นเรื่องพื้นฐานมาก มันมีที่ไหน ที่พรรคการเมืองอยู่ฝั่งเผด็จการ เพราะทุกคนก็มาจากการเลือกตั้ง ทุกอย่างอยู่ที่กติกา

แก้ไขรัฐธรรมนูญให้เป็นสากลจาก สสร.

 

"อย่างที่อาจารย์ชูศักดิ์บอกว่า ชนใดเขียนกฎหมายก็เพื่อชนชั้นนั้น รัฐธรรมนูญปี 2560 ก็มาจากผู้ที่ทำรัฐประหารเมื่อปี 2557 เขียนกฎหมาย เขียนรัฐธรรมนูญ เพื่อประโยชน์การเลือกตั้งปี 2562 กติกาจึงบิดเบี้ยวมาจนถึงทุกวันนี้ ดังนั้น คิดว่าสิ่งที่พรรคการเมืองเห็นตรงกันว่าประเด็นแรกที่จะต้องทำคือการแก้ไขกติกาให้เป็นสากล แก้ไขรัฐธรรมนูญให้มีที่มาจากประชาชน ผ่าน สสร. ที่มาจากประชาชน นี่คือเรื่องสำคัญที่เป็นหัวใจของการเลือกตั้งรอบนี้ และอนาคตต่อไป"

 

ขณะเดียวกัน หากกติกาเข้มแข็งเป็นสากล ซึ่งยังไม่รู้ว่าสุดท้ายจะออกมาแบบไหน แต่แน่นอนว่า เมื่อมาจากประชาชนย่อมดีกว่ารัฐธรรมนูญที่มาจากเผด็จการ ทั้งฉบับ 2550 และ 2560 ดังนั้น เมื่อกติกาดี พรรคการเมืองดีก็นำไปสู่การเมืองที่ดี 

 

"พรรคการเมืองต่อไปนี้ ถ้าเป็นกติกาใหม่ เราจะไม่ต่อสู้การเมืองบนคำว่าเผด็จการ หรือคำว่าประชาธิปไตย แต่จะมาต่อสู้กัน ว่าเราเป็นพรรคการเมืองแบบอนุรักษ์นิยม เป็นพรรคการเมืองเสรี เราจะทำเศรษฐกิจแบบทุนเสรี แบบสังคมนิยม อะไรก็แล้วแต่ นี่คือช่องทางการนำเสนอของพรรคการเมือง ที่จะเสนอต่อประชาชนให้ได้เลือก ในสิ่งที่เขาควรจะเลือก ไม่ใช่ว่ามาเลือกว่าเป็นเผด็จการประยุทธ์ หรือไม่ประยุทธ์ หรือมีลุงไม่มีเราอะไรแบบนี้"


เชื่อมีการตั้งธงเพื่อยุบพรรคการเมือง

นอกจากนี้ พฤติกรรมการกระทำของพรรคการเมืองต่างๆ จะมีผลต่ออนาคต ที่ประชาชนจะเป็นผู้ตัดสินผ่านการเลือกตั้ง แต่ไม่ได้หมายความว่านักการเมืองตรวจสอบไม่ได้ องค์กรอิสระยังมีหน้าที่ในการตรวจสอบนักการเมืองอยู่แต่ต้องเป็นไปตามกฎหมายที่พอเหมาะพอสม ไม่ใช่ว่ามีธงการเมืองที่จะกลั่นแกล้งกัน อย่างเรื่องของการยุบพรรค เชื่อว่าในทุกครั้งมีธงทางการเมือง และเชื่อว่าสังคมก็เห็นแบบนั้นเหมือนกัน แต่ไม่ได้หมายความว่าพรรคการเมืองถูกตรวจสอบโดยองค์กรอิสระไม่ได้ แต่ต้องเป็นไปตามกฎหมาย และการตรวจสอบที่เข้มแข็งที่สุดคือการตรวจสอบโดยประชาชน

สำหรับพรรคการเมืองที่ไม่รักษาคำพูดตอนหาเสียง จะมีบทลงโทษอย่างไรนั้น มองว่าหากไม่ทำตาม ก็จะส่งผลต่อการเลือกตั้งครั้งต่อไป ยกตัวอย่าง พรรคภูมิใจไทยกับนโยบายกัญชา ซึ่งระบุว่าจะทำกัญชาให้เป็นกัญชาทางการแพทย์ ซึ่งในช่วง 4 ปีที่ "อนุทิน ชาญวีรกูล" เป็นรมว.สาธารณสุข ก็ทำให้เป็นกัญชาเสรีทางการแพทย์และสำเร็จไปส่วนหนึ่ง

สังคมคือบทลงโทษใครไม่ทำตามหาเสียง

ทั้งนี้ แต่สิ่งที่ปรากฏออกมา มีการเขียนกฎหมายเพื่อที่จะให้มีการควบคุมความเสรีของกัญชา เกี่ยวกับเรื่องของการสันทนาการ ซึ่งพรรคประกาศว่าไม่เห็นด้วยอยู่แล้ว แต่กฎหมายนั้นไม่สำเร็จ เพราะอะไรก็แล้วแต่ พรรคร่วมรัฐบาลขณะนั้นทำให้องค์ประชุมไม่ครบ ไม่เห็นด้วย พยายามเตะถ่วงให้กฎหมายนี้ไม่ผ่าน ก็มีผลกระทบ มาถึงการเลือกตั้งว่าภูมิใจไทยทำให้กัญชาเสรีมากเกินไป ซึ่งไม่ใช่เจตนารมณ์ของพรรค เนื่องจากกฎหมายไม่แล้วเสร็จ ทำให้พรรคการเมืองอื่นนำมาโจมตีในสนามเลือกตั้ง เพราะฉะนั้นคิดว่าการพูดแล้วไม่สามารถทำตามที่หาเสียงได้ แม้บทลงโทษทางกฎหมายไม่มี แต่ก็จะถูกบทลงโทษทางสังคมต่อไป ส่งผลต่อพรรคการเมืองในอนาคต
 

logoline