svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

กกต. เปิดอบรมสื่อมวลชนทำความเข้าใจเลือกตั้งวุฒิสภาปี 67

"กกต." จัดอบรมสื่อให้ความรู้การเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภาปี 67 จาก 20 กลุ่มอาชีพ ยันเดินหน้าเลือก สว. ให้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม ฝากผู้จะสมัครศึกษาคุณสมบัติให้ดีก่อนเลือกกลุ่มอาชีพ 

4 มีนาคม 2567 เหลืออีกเพียง 2 เดือน ก็จะเข้าสู่โหมดการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภาแทนชุดเก่า ซึ่งจะหมดวาระในปีนี้ โดยคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้มีการจัดประชุมเพื่ออบรมเรื่องนี้แก่สื่อมวลชนเกี่ยวกับสาระรอบรู้เรื่องสมาชิกวุฒิสภาปี 2567 

สว.ชุดใหม่มาจาก 20 กลุ่มอาชีพ

โดย "นายอิทธิพร บุญประคอง" ประธาน กกต. กล่าวถึงการจัดประชุมครั้งนี้เพื่อให้สื่อมวลชนรับรู้และเข้าใจการเลือก สว. อย่างถูกต้องและมีประสิทธิภาพ และร่วมกันเผยแพร่ให้เครือข่ายและประชาชนได้รับทราบข้อมูลข่าวสารได้อย่างกว้างขวาง ซึ่งในการเลือก สว. มาจาก 20 กลุ่มอาชีพ เพื่อให้ได้สมาชิกวุฒิสภา 200 คน

ทั้งนี้ จะเป็นการเลือกกันเองทั้งในระดับอำเภอ จังหวัด และประเทศ ซึ่งเป็นกระบวนการเลือกที่มีความแตกต่างไปจากกระบวนการเลือกครั้งที่ผ่านมา ดังนั้น การประชุมให้ความรู้ครั้งนี้ จึงเป็นเสมือนจุดเริ่มต้นในการเตรียมความพร้อมให้กับประชาชน และผู้ที่สนใจสมัครรับเลือก สว. ให้ได้รับความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับการเลือก สว.

 

"ยืนยันว่าสำนักงาน กกต. และภาคีเครือข่ายที่เข้ามาร่วมในการเลือก สว. ครั้งนี้ มีความพร้อมเดินหน้าในการเลือก สว. ให้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรมเป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมายและพร้อมอำนวยความสะดวกให้กับประชาชนที่สนใจสมัครทุกคนทุกกลุ่มอย่างเท่าเทียมกัน" ประธาน กกต. ระบุ

เลือกครั้งนี้ต่างจากเดิม

สำหรับการเลือกตั้ง สว. ตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2560 ครั้งนี้ไม่ใช่ครั้งแรก ซึ่งเคยมีการเลือกตั้งมาแล้วเมื่อปลายปี 61 แต่การเลือกตั้ง สว. ขณะนั้น เป็นการเลือกตั้งตามบทเฉพาะกาล ที่มีการเลือกตั้งกันเองเพียงครั้งเดียว และ แบ่งเป็น 10 กลุ่มอาชีพ จาก 20 กลุ่มอาชีพ แต่ครั้งนี้เป็นการเลือกกันเอง 3 ระดับ คือ อำเภอ จังหวัด และประเทศ 

อย่างไรก็ตาม วาระของ สว. จะสิ้นสุดวันที่ 10 พ.ค. และเมื่อมีพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือก สว. ใช้บังคับ กกต.จะเปิดรับสมัครภายใน 15 วัน และกำหนดวันรับสมัครไม่น้อยกว่า 5 วัน แต่ไม่เกิน 7 วัน จากนั้นจะจัดให้มีการเลือกระดับอำเภอ จังหวัด และประเทศ ตามลำดับ ก่อนที่จะประกาศผลหลังวันเลือก สว. ไม่น้อยกว่า 5 วัน โดยคาดว่าจะรู้ผลได้ในราวเดือนก.ค.นี้ 

ขอผู้สมัครศึกษารายละเอียดให้ดี

อย่างไรก็ตาม จึงขอฝากไปยังผู้สมัคร ศึกษาคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามให้ดี ๆ และสำรวจตนเองว่ามีพฤติกรรมหรือเชี่ยวชาญในกลุ่มอาชีพใด เพื่อเป็นป้องกัน และให้การสมัครถูกกลุ่ม โดยขอให้ศึกษารูปแบบหลักเกณฑ์วิธีการและกำหนดโทษตามพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่ง สว. ที่มีการออกระเบียบแก้ไขรองรับมาแล้ว หากมีข้อสงสัยสามารถสอบถามได้ จากสำนักงานคณะกรรมการประจำจังหวัด หรือสอบถามข้อมูลเบื้องต้นได้จากสายด่วน 1444 หรือ Application Smart Word 

ส่วนการเลือก สว. ครั้งนี้ ได้มีการแต่งตั้งผู้ตรวจการเลือกตั้ง เพื่อปฏิบัติหน้าที่ ตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ผู้ดำเนินการเลือก สว. มีการกระทำใดที่เป็นการฝ่าฝืนพ.ร.ป.สว.หรือไม่ และมีการกระทำใดให้การเลือก สว. ครั้งนี้ไม่สุจริต หรือไม่ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากชุดปฏิบัติการข่าวและชุดเคลื่อนที่เร็ว และขอความร่วมมือประชาชนให้ช่วยสอดส่องการกระทำความผิดหากพบการกระทำความผิดก็สามารถแจ้งมาที่คณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัดได้ โดยผู้ที่ชี้เบาะแส และพิสูจน์แล้วว่าการเลือกนั้นไม่สุจริตและเที่ยงธรรม จะได้รับรางวัลสูงสุด 1 ล้านบาท

"แสวง" ย้ำ "สภาสูง" ต้องได้คนตาม รธน. ออกแบบ

ขณะที่ "นายแสวง บุญมี" เลขาธิการ กกต. กล่าวยอมรับว่า ขั้นตอนในการเลือก สว. มีรายละเอียดซับซ้อนมาก กกต. จึงต้องประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนเข้าใจง่าย และจะต้องสร้างความมั่นใจให้คนในชาติ ว่าจะได้ สว. ตามที่ออกแบบไว้  โดย สว. ที่จะได้มาต้องมีความเป็นกลาง ผู้สมัครต้องไม่มาจากพรรคการเมือง ไม่ได้เกิดจากคะแนนนิยมในการเลือกเหมือน สส. แต่เกิดจากผู้ทรงคุณวุฒิ ดังนั้น การเลือกก็จะเป็นการเลือกกันเอง และต้องไม่ฮั้วกันหรือจัดตั้งกันมา ซึ่งเป็นเรื่องที่สำนักงาน กกต. ต้องป้องกัน

ส่วนจะดีหรือร้ายก็อยู่ที่ผู้สมัคร ถ้าประชาชนคิดว่าตัวเองมีคุณสมบัติ ก็สมัครเข้ามาได้ เพราะจะเป็นทั้งผู้เลือกและผู้ถูกเลือก อย่างไรก็ตาม การเลือกตั้งครั้งนี้ไม่มีการหาเสียง แต่ใช้คำว่าแนะนำตัว และมีขอบเขตในการแนะนำตัว เพราะทุกคนที่มาสมัคร เป็นผู้ทรงคุณวุฒิอยู่แล้ว ก็สามารถแนะนำผ่านกระดาษและโซเชียลส่วนตัว 

เตรียมงบ 1,000 ล้านจัดการเลือกตั้ง

นอกจากนี้ กกต.มีการตั้งผู้ตรวจการเลือกตั้งขึ้นมา เพื่อสอดส่องตรวจตราดูว่าผู้สมัครทำอะไรเกินกฎหมาย หรือมีใครอยู่เบื้องหลังหรือไม่ ในอำเภอเล็ก ๆ ก็ตรวจสอบได้ แต่อำเภอใหญ่ ๆ ก็ยากหน่อย แต่ก็ไม่เกินกำลังที่สำนักงานจะทำได้ ดังนั้น จึงอยากให้ความมั่นใจว่า กกต. จะดูแลให้ดีที่สุด

อย่างไรก็ดี กกต.มีความพร้อม ด้านงบประมาณ 1,000 ล้านบาท ที่รัฐบาลอนุมัติ ซึ่งไม่สูงมากและคาดว่าจะได้ สว. ภายใน 57 หรือ 59 วัน โดยไม่ได้มีการกำหนดระยะเวลาเหมือนเลือกตั้ง สส. ซึ่งก็ใช้เวลาพอ ๆ กัน โดยในแต่ละอำเภอจะให้นายอำเภอเป็นประธานการเลือก จึงมั่นใจได้ว่า จะดูแลพื้นที่ได้เป็นอย่างดี

ยอมรับหนักใจเลือกแบบไขว้

ส่วนในระดับประเทศที่เป็นการเลือกแบบไขว้ ก็หนักใจแทนผู้สมัคร เนื่องจากอาจมีผู้สมัครหลายคนที่ไม่เป็นที่รู้จัก แต่สำนักงาน กกต. ก็จะทำงานอย่างเต็มที่เพื่อให้ยุติธรรมและเท่าเทียมกันทุกคน

 

"ขอให้ความมั่นใจว่า กกต. จะให้ได้ สว. ตามที่รัฐธรรมนูญออกแบบไว้ จะไม่บอกว่าได้ดีที่สุด แต่จะทำให้ได้ตามที่ออกแบบไว้ตั้งแต่วันนี้ไปได้สวครบ200 คน จะทำให้โปร่งใส ในทุกขั้นตอน เป็นที่ยอมรับของผู้เข้าแข่งขันและคนเฝ้าดู" นายแสวง ระบุ 

 

"ปกรณ์" ยอมรับตีความผู้สมัครอยู่กลุ่มไหนทำได้ยาก

ด้าน "นายปกรณ์ มหรรณพ" กกต. กล่าวตอนหนึ่งว่า มีปัญหาความห่วงใยของผู้บริหารที่อยากจะฝากไปถึงฝ่ายปฏิบัติของ กกต. และผู้เกี่ยวข้อง ซึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญ คือ การสมัครเข้ารับการเลือกเป็น สว. จุดสำคัญแรก คือ ผู้ที่มาสมัครจะอยู่ใน 20 กลุ่มนั้นหรือไม่ และอยู่ในกลุ่มใด เป็นความยากลำบากอย่างยิ่งของผู้ปฏิบัติงานระดับอำเภอ ซึ่งมีนายอำเภอเป็นประธานเลขาระดับอำเภอ ซึ่งเลขา คือ พนักงานกกต.หรือข้าราชการของอำเภอ

นายปกรณ์ กล่าวต่อว่า โดยผู้เกี่ยวข้องกำลังประสานว่า ทำอย่างไรถึงจะให้การทำงานระดับอำเภอนี้ เป็นแนวทางเดียวกัน เช่น

1.สมมุติเมื่อมีผู้มาสมัครแล้วผู้นั้นกล่าวอ้างว่าอยู่ในกลุ่มที่ 10 มีหลักฐานครบ ทำอย่างไรกรรมการระดับอำเภอที่ จ.นครราชสีมา ซึ่งมี 32 อำเภอ จะปฏิบัติได้ในลักษณะเดียวกัน และปฏิบัติได้เหมือนกันทั้งกับอำเภอที่ จ.สงขลา อำเภอที่จ.อุบลราชธานี อำเภอที่จ.เชียงใหม่ โดย 900 กว่าอำเภอทั่วประเทศ ผู้ที่จะเป็นจักรกลสำคัญ คือ นายอำเภอ เลขา รวมทั้งกรรมการที่ต้องร่วมกันวินิจฉัยว่า ผู้สมัครอยู่ในกลุ่มนั้นจริงหรือไม่

2.ทำอย่างไรการตรวจคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของผู้ที่จะมาสมัครซึ่งคาดว่าจะมีจำนวนผู้สมัครหลายหมื่นคน โดย 900 กว่าอำเภอๆ ละ 20 กลุ่ม รวมแล้ว 18,000 กว่ากลุ่ม ถ้ามีผู้สมัครเพียงแค่กลุ่มละ 5-10 คน รวมแล้วก็เป็นแสนคน มากกว่าสมัคร สส. เป็นจำนวนมาก การตรวจสอบคุณสมบัติ ลักษณะต้องห้ามทำอย่างไรจะตรวจสอบได้เสร็จอย่างรวดเร็ว มีเวลาเพียงแค่ 5-7 วัน แต่เมื่อนึกถึงจำนวนผู้สมัครคน ที่เป็นตัวจักสำคัญคือนายอำเภอและคณะกรรมการระดับอำเภอ

ทั้งนี้ ถ้าอำเภอไหน จังหวัดไหน พนักงาน กกต. ไม่ได้ไปเป็นเลขา ซึ่งโดยสภาพความเป็นจริงแล้วพนักงาน กกต. ไม่สามารถไปเป็นเลขาได้หมด เช่นกรณี จ.นครราชสีมา มี 32 อำเภอ มีพนักงาน กกต. ที่ทำหน้าที่เลขาได้ไม่ถึง 10 คน นี่คือปัญหาและอุปสรรคคณะกรรมการระดับอำเภอ ซึ่งมีนายอำเภอเป็นประธาน จะต้องวินิจฉัยคุณสมบัติและลักษณะต้องห้าม ซึ่งจะต้องมาดูว่าเคยกระทำความผิดหรือไม่ เคยต้องโทษจำคุกหรือไม่ โทษจำคุกนั้นเป็นลักษณะใด เป็นเรื่องข้อกฎหมายที่ยุ่งยากมาก

เร่งเคลียร์ปมแบบไหนถือหุ้นสื่อ

อย่างไรก็ตาม แต่ที่ยุ่งยากมากกว่าเหมือนที่เป็นข่าวตลอดเวลา คือ เป็นเจ้าของหรือถือหุ้นในกิจการสื่อมวลชนหรือไม่ คณะกรรมการระดับอำเภอต้องวินิจฉัยดำเนินการให้เสร็จภายใน 7 วัน ทุกส่วนที่เกี่ยวข้อง กกต. กับสำนักทะเบียนพยายามร่วมมือกันทำงานในจุดนี้ กกต.อนุมัติเงินให้สำนักทะเบียนกลางไป 20 กว่าล้านบาทเป็นการเร่งด่วน เพื่อสำนักทะเบียนจะดำเนินการพิจารณาใบสมัครตรวจสอบเลขทะเบียน ภูมิลำเนา ส่วนที่เกี่ยวข้องต่างๆทางทะเบียนอย่างรวดเร็ว

 

"แต่สิ่งที่เป็นปัญหา คือ พวกนี้เคยต้องโทษหรือไม่ เคยกระทำความผิดที่เกี่ยวข้องกับคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามกำหนดหรือไม่ ถือหุ้นสื่อหรือไม่ ซึ่งเรากำลังดำเนินการอย่างเร่งด่วน ประสานขอความร่วมมือจากเรือนจำ ศาลทั่วประเทศ  สำนักทะเบียนต่างๆเพื่อขอทราบสิ่งนี้ เพื่อให้การวินิจฉัยคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของผู้สมัคร สว. ไม่เกิดปัญหา แม้จะมีปัญหาในการตีความ ก็กำลังให้ฝ่ายกฎหมายเราถือข้อวินิจฉัยให้เป็นที่ยุติตามที่ศาลรัฐธรรมนูญได้ออกคำวินิจฉัยอย่างเป็นทางการมาเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา เพื่อให้ปัญหานี้ เราได้ถือปฏิบัติเป็นอย่างเดียวกันลักษณะเดียวกันทั่วประเทศ 900 กว่าอำเภอ  นี่เป็นปัญหาเร่งด่วนที่เรากำลังรีบดำเนินการ" นายปกรณ์ ระบุ

 

อย่างไรก็ตาม ขอฝากไปผู้ปฏิบัติทุกจังหวัดทั่วประเทศด้วยความห่วงใยว่าสิ่งที่ทำต้องยึดกฎหมาย กฎระเบียบเป็นหลัก ขั้นตอนต่างๆ และระยะเวลาสิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องสำคัญ ขอให้ปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด เพื่อให้การปฏิบัติงานครั้งนี้เรียบร้อย ผู้ที่จะสมัครรับเลือกเป็น สว. ยอมรับไม่โต้แย้งคัดค้าน