ต้องยอมรับว่าโลกยุคปัจจุบันมีความเปลี่ยนแปลงไปอย่างก้าวกระโดด ทำให้จำเป็นต้องมีการปรับปรุงกฎหมายให้สอดคล้องต่อสิทธิแรงงาน เพื่อใช้ชีวิตท่ามกลางสภาวะทางเศรษฐกิจที่มีการปรับตัวสูงขึ้น อีกทั้ง เป็นการยกระดับคุณภาพชีวิตแรงงาน จึงเป็นเหตุผลที่ต้องมีการปรับปรุง พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 ที่ใช้อยู่ให้ทันสมัยมากยิ่งขึ้น
สาระสำคัญของร่างกฎหมายใหม่
1.โดยเป็นการแก้ไขร่างเดิมในมาตรา 5 เกี่ยวกับนิยามคำว่า “นายจ้าง-ลูกจ้าง-วันลา” เพื่อขยายขอบเขตคลอบคลุมมากขึ้น โดยเฉพาะ “นายจ้าง” ให้หมายถึงการจ้างงานด้วยสัญญาต่างๆ ให้ได้รับค่าตอบแทน รวมถึงผู้ประกอบการหรือภาครัฐ ส่วน "ลูกจ้าง" ที่ปรากฏและไม่ปรากฏเป็นลายลักษณ์อักษร คือ "ผู้รับจ้าง" รวมถึงวันลา
2.แก้ไขมาตรา 5 คือ เพิ่มนิยาม "การจ้างงานรายเดือน" ให้ได้รับค่าจ้างในวันหยุดประจำสัปดาห์ วันหยุดตามประเพณี วันหยุดพักผ่อนประจำปี และวันลาป่วย ตามที่กฎหมายกำหนด
3.เป็นการแก้ไขมาตรา 15 โดยการจ้างงานต้องมีความเท่าเทียม การปฏิบัติของนายจ้างต่อลูกจ้างต้องไม่เลือกปฏิบัติ กีดกัน แบ่งแยก จำกัดสิทธิ ด้วยเหตุความต่างทางถิ่นกำเนิด ภาษา เชื้อชาติ เพศ อายุ ความพิการ ความเชื่อทางศาสนา หรือความเห็นทางการเมือง
4.แก้ไขมาตรา 23 โดยให้เวลาทำงานของลูกจ้างจากเดิมหนึ่งสัปดาห์ต้องไม่เกิน 48 ชั่วโมง เว้นแต่เป็นอันตรายต่อสุขภาพและความปลอดภัยลูกจ้าง โดยเมื่อรวมเวลาทั้งหนึ่งสัปดาห์ต้องไม่เกิน 35 ชั่วโมง
5.เพิ่มบทบัญญัติในมาตรา 23/2 ให้การจ้างงานรายวันและรายเดือน ซึ่งนายจ้างจะต้องจ้างเป็นรายเดือนทั้งหมดโดยไม่เลือกปฏิบัติ เว้นแต่ลักษณะงานที่มีความเฉพาะ เช่น เกษตร ก่อสร้าง งานที่ไม่ต่อเนื่อง ให้ใช้สัญญาจ้างแบบกำหนดระยะเวลา และไม่ต่ำว่าค่าจ้างขั้นต่ำ พร้อมทั้งได้รับสวัสดิการเท่ากับพนักงานระบบอื่น โดยผู้ทำงานรายวันหรือรายชิ้น ต้องมีสัญญาจ้างงาน และได้รับผลตอบแทนไม่ต่ำกว่าพนักงานรายเดือน
6.เป็นแก้ไขเพิ่มเติมในมาตรา 28 โดยนายจ้างต้องจัดให้ลูกจ้างมีวันหยุดประจำสัปดาห์ไม่น้อยกว่า 2 วัน โดยมีระยะห่างไม่เกิน 5 วัน
7.แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 30 กำหนดให้ลูกจ้างที่ทำงานติดต่อกันครบ 120 วัน มีสิทธิลาหยุดประจำปีไม่น้อยกว่า 10 วันทำงาน และกำหนดให้นายจ้างอาจกำหนดวันลาหยุดประจำปีให้ลูกจ้างมากกว่า 10 วันก็ได้ หรือคำนวณตามส่วนกรณีลูกจ้างยังทำงานไม่ครบ 120 วัน
8.แก้ไขมาตรา 32 ให้ลูกจ้างสามารถลาไปดูแลบุคคลในครอบครัว หรือบุคคลที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิด ที่รักษาในโรงพยาบาลในฐานะผู้ป่วยใน หรือผู้ป่วยต้องการดูแลทางจิตใจหรือร่างกาย ปีละไม่เกิน 15 วันทำงาน
9.เพิ่มเติมมาตรา 39/2 โดยนายจ้างต้องจัดสถานที่ให้เหมาะสมแก่ลูกจ้างสามารถให้นมบุตรหรือเก็บน้ำนมในที่ทำงาน ไม่น้อยกว่า 2 ครั้ง ครั้งละ 30 นาที ในช่วงเวลา 8 ชั่วโมงของการทำงาน ตลอดระยะ 1 ปีหลังคลอด
10.แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 87 ให้มีการพิจารณาปรับค่าจ้างขั้นต่ำให้เหมาะสมต่อค่าครองชีพและเพียงพอต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิต
ทั้งหมดต้องมาลุ้นกันว่า สภาจะให้ความเห็นชอบรับร่างดังกล่าวไว้พิจารณาหรือไม่ เพื่อปกป้องสิทธิให้กับผู้ใช้แรงงาน