svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

ป.ป.ช.ยังไม่ฟัน 44 สส.ก้าวไกลผิดหรือถูกหลังร่วมลงชื่อแก้มาตรา 112

25 กุมภาพันธ์ 2567
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

"นิวัติไชย เกษมมงคล" ยัน ป.ป.ช. ยังไม่ฟันธง "44 สส.ก้าวไกล" ร่วมลงชื่อเสนอแก้ไข ม.112 ผิดหรือถูก ต้องรอคำชี้แจงเป็นรายบุคคล เพื่อให้เกิดความธรรมต่อทุกฝ่าย

25 กุมภาพันธ์ 2567 ยังคงต้องจับตาโดยเฉพาะ "พิธา ลิ้มเจริญรัตน์" ประธานที่ปรึกษาพรรคก้าวไกล ในฐานะอดีตหัวหน้าพรรค และพรรคก้าวไกล ในฐานะผู้ถูกร้องเรียนที่ 1 และ 2 หลังศาลรัฐธรรมนูญ ได้มีคำวินิจฉัยเป็นเอกฉันท์ เมื่อวันที่ 31 ม.ค. ที่ผ่านมา ให้นโยบายหาเสียงแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ถือเป็นการกระทำที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรคหนึ่ง รวมถึงมีคำสั่งให้ "พิธา" และ "ก้าวไกล" ดำเนินการตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรคสอง คือ ให้ยุติการกระทำ

ก่อนที่ต่อมาบรรดานักร้อง อย่าง "เรืองไกร ลีกิจวัฒนะ" สมาชิกพรรคพลังประชารัฐ และ "ธีรยุทธ สุวรรณเกษร" ทนายความอิสระ ซึ่งเป็นผู้ยื่นร้องเรียนประเด็นต่อศาลรัฐธรรมนูญ ต่างพร้อมใจ นำคำวินิจฉัยไปยื่นต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เพื่อส่งเรื่องต่อไปยังศาลรัฐธรรมนูญ มีคำสั่งยุบพรรค

ทว่า เรื่องดังกล่าวยังไม่จบเพียงเท่านั้น เพราะเชื่อมไปถึง 44 สส.พรรคก้าวไกล ที่ได้ร่วมลงชื่อเสนอต่อประธานสภาฯ เพื่อดำเนินการในเรื่องนี้

ซึ่งเมื่อวันที่ 23 ก.พ.ที่ผ่าน "ธีรยุทธ" ได้นำคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ มายื่นกับคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช. เพื่อใช้ประกอบคำร้องที่ได้ยื่นเมื่อวันที่ 2 ก.พ. 2567 ที่ขอให้ตรวจสอบและเอาผิดจริยธรรม "พิธา"   และ 44 สส.ก้าวไกล ที่ร่วมลงชื่อสนับสนุนเสนอร่างแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112

 

โดย "นิวัฒน์ไชย เกษมมงคล" เลขาธิการ ป.ป.ช. เปิดเผยถึงความคืบหน้าการตรวจสอบคำร้องให้ตรวจสอบจริยธรรมร้ายแรง 44 สส.พรรคก้าวไกล ว่า เมื่อมีการร้องเรียนเข้ามา ก็ต้องมีการตั้งเรื่อง โดยไปดูคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งศาลรัฐธรรม ระบุว่า ภายใน 30 วันจะออกคำวินิจฉัยฉบับเต็ม ที่ต้องเอามาประกอบ

ทั้งนี้ การพิจารณาประกอบด้วย   

  1. การกระทำของพิธา อดีตหัวหน้าพรรคก้าวไกล อยู่ในตำแหน่งอะไร ดำรงตำแหน่ง สส. กรรมการบริหารพรรค เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือไม่ ถ้าเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ เป็นการกระทำในหน้าที่หรือไม่ ถ้าเป็นหน้าที่กระทำผิดรัฐธรรมนูญหรือไม่ อันนี้อาจจะเป็นเรื่องผิดทางอาญา ประเด็นแรก อยู่ในหน้าที่หรือไม่ ป.ป.ช. ที่ต้องดำเนินการ
  2. แม้จะไม่ใช่ความผิดตำแหน่งหน้าที่ แต่การกระทำนั้นส่อให้เห็นถึงการผิดจริยธรรมอย่างร้ายแรงก็อยู่ในหน้าที่ ป.ป.ช. ที่จะพิจารณาวินิจฉัย แล้วก็ส่งคำร้องให้ทางศาลฎีกาไปตัดสิน เพราะฉะนั้นก็ต้องดูตรงนี้ก่อน  

"เมื่อการตรวจสอบว่าเท็จจริง ก็ต้องฟังความทั้ง 2 ด้าน ในกรณีที่มีมูล ป.ป.ช. ต้องเชิญคุณพิธากับบุคคลที่เกี่ยวข้องเข้ามาพิจารณา ซึ่งการพิจารณาก็ต้องพิจารณาเป็นรายบุคคล จะเหมารวมไม่ได้ ต้องดูการกระทำแต่ละท่าน ว่าใครมีบทบาทหน้าที่อย่างไรใครเกี่ยวข้องไม่เกี่ยวข้องบ้าง" นายนิวัติไชย กล่าว 

 

นอกจากนี้ ในกรณีพิจารณาเป็นรายบุคคลไม่เหมาเข่งความผิดนั้น เช่น ถ้าระบุว่า 44 คน มีการเข้าชื่อเสนอแก้ไขมาตรา 112 ก็ต้องซักถาม 44 คน อยู่ๆจะเหมารวมว่า 44 คน เมื่อลงชื่อผิด แบบนั้นไม่ได้ เพราะกระบวนการทำงาน ป.ป.ช. ต้องเปิดโอกาสให้ผู้ถูกกล่าวหาชี้แจงทุกคน ยกอย่างเช่น ในจำนวน 44 คน เต็มใจลงชื่อให้แก้ไขหรือมีการบังคับขู่เข็ญ หรือแม้กระทั่งคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ป.ป.ช. ก็ไม่เคยเหมารวม

 

ทั้งนี้ มิฉะนั้น ทุกคนใน ครม. ก็โดนชี้มูลหมด ถ้าเสนอโครงการอะไรที่ทุจริต ก็ต้องดูว่าใครเสนอ และคนที่ลงมติเห็นชอบหรืออนุมัติ อนุญาต รู้เห็นอย่างไร บางครั้งเสนอมาไม่ทันดู เขาก็บอกว่าไม่รู้เหมือนกัน เพราะ ครม. มีมติปุ๊บ ก็ไปดูไม่ทันก็มี จึงต้องดูถึงเจตนาจริงๆ

 

"ผมยกตัวอย่างคุณเข้าชื่อ คุณรู้หรือเปล่า เข้าชื่อในเรื่องอะไรใช่หรือไม่ เพราะบางคนมาให้เซ็น กับเซ็น อ่านยังไม่เคยอ่านเลย เนื้อหายังไม่รู้เลย คิดว่ามีหลายคนก็จะเป็นอย่างงั้น  แต่เรายังไม่รู้ข้อเท็จจริงว่า เป็นอย่างนั้นหรือไม่ ป.ป.ช. ก็ต้องต้องตรวจสอบ แล้วถ้าเกิดข้อเท็จจริง ฟังได้ว่ามีการนำเอกสารหน้าหลังมาให้เซ็น โดยที่เจ้าตัวไม่รู้เลยเรื่องอะไร ทำนองว่า ขอชื่อหน่อย ก็ไปลงชื่อเหมือนที่ให้ประชาชนเข้าชื่อ 20,000 กว่าราย ถามว่ารู้ทุก ๆ คนไหม  บางคนไม่รู้หรอก ตั้งโต๊ะขอชื่อหน่อย ถ้างั้นประชาชนทุกคนก็ผิดหมดเป็นไปไม่ได้หรอก" นิวัติไชย กล่าว 

 

ทั้งนี้ ต้องดูว่าบทบาทหน้าที่ สส. ตามรัฐธรรมนูญด้วย เกี่ยวกับหน้าที่ปกป้ององค์กรปกป้องสถาบันมีหน้าที่หรือไม่ ถือว่าเป็นความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่หรือไม่ คือ เป็นเจ้าหน้าที่รัฐไหม เป็น สส.มีหน้าที่ไหม กระทำการห้ามขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือผิดรัฐธรรมนูญ เรื่องนี้เป็นหน้าที่ของ สส. อย่างหนึ่ง ที่ว่าฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญ  

อย่างไรก็ดี เพราะฉะนั้นก็ต้องดูว่าถ้าฝ่าฝืน เป็นหน้าที่ สส. ไหมที่ต้องรักษารัฐธรรมนูญ แต่ถ้าไปกระทำเป็นการขัดแย้ง อาจจะเป็นความผิดอาญาด้วยซ้ำไป ดังนั้น ยังไม่ได้บอกว่าผิด ต้องไปดูก่อนว่าการกระทำเป็นอย่างไร  

ส่วนกรอบเวลาในการพิจารณาคำร้อง 44 สส.พรรคก้าวไกลในเรื่องจริยธรรมนั้น ขึ้นอยู่ที่ความร่วมมือของบุคคลกับเอกสารที่เกี่ยวข้อง ไม่ได้อยู่ที่ ป.ป.ช. เพราะบางครั้งขอไปแล้ว   3-4 เดือน ยังไม่ให้มาหรือเชิญไปแล้วไม่มาก็มี ฉะนั้นในเรื่องเวลาขึ้นอยู่กับส่วนประกอบอื่นด้วย แต่ ป.ป.ช.ทำทุกครั้ง ทำทุกมิติ ไม่ได้ชะลอ ไม่ได้ไปถ่วงเวลา เรื่องที่ช้า ๆ บางครั้งไม่ได้รับความร่วมมือจากหน่วยงาน ไม่ได้รับการชี้แจง ป.ป.ช. จึงสรุปไม่ได้ ดังนั้น ต้องรอการชี้แจง ถึงจะฟังได้ว่าอะไรถูกอะไรผิด

สำหรับกระบวนการไต่สวนมีกรอบเวลา 2 ปี แต่ในเรื่องของจริยธรรม เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการไต่สวนด้วย ก็อาจจะครอบคลุมเวลา 2 ปี ไปด้วย  

 

logoline