svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

เส้นทาง 20 ปี “ผีทักษิณ” จากวันลี้ภัยถึงได้กลับบ้าน ในมุมมองคน 3 รุ่น

25 กุมภาพันธ์ 2567
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

เส้นทาง 20 ปีของ “ผีทักษิณ” ระหว่างปี 2548-2567 จากวันลี้ภัยถึงได้กลับบ้าน ในมุมมองของแกนนำนักเคลื่อนไหว 3 คน 3 รุ่น

การเมืองไทยในรอบ 20 ปีที่ผ่านมา ยังคงหมุนวนอยู่รอบตัวชายที่ชื่อ “ทักษิณ ชินวัตร” อย่างปราศจากข้อสงสัย

นับตั้งแต่ช่วงปี 2548 ที่พรรคไทยรักไทย (ทรท.) นำโดยทักษิณได้รับเสียง สส. จากประชาชนชาวไทยมากกว่า 377 ที่นั่งจากทั้งหมด 500 ที่นั่ง นำไปสู่การรัฐประหารในปี 2549 โดยผู้นำกองทัพอย่าง พล.อ.สนธิ บุญรัตนกลิน ภายใต้ชื่อคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) ที่ให้เหตุผลว่า เกิดจากการที่รัฐบาล ทรท. บริหารราชการแผ่นดินส่อไปในทางทุจริต และสร้างความขัดแย้งแบ่งฝ่ายในหมู่ประชาชน

แม้หลังจากนั้นจะต้องลี้ภัยในต่างแดนเป็นส่วนใหญ่

แต่ตัวทักษิณเองก็ยังคงมีบทบาทในฐานะ “ตัวละครสำคัญ” ใน “สงครามสีเสื้อ”

 

ในปี 2554 มีการเปิดตัว “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” น้องสาวคนเล็กของทักษิณ เป็น สส.บัญชีรายชื่ออันดับที่ 1 ของพรรคเพื่อไทย (พท.) ที่ใช้เวลาในการหาเสียง 49 วันก่อนจะคว้าชัยชนะในการเลือกตั้ง ได้ สส.ไปถึง 265 ที่นั่ง จากทั้งหมด 500 ที่นั่ง กลายเป็นนายกฯ หญิงคนแรกของไทย และนายกฯ อีกคนจากตระกูลชินวัตร

ตามมาด้วยการรัฐประหารล้มรัฐบาลของยิ่งลักษณ์ในปี 2557 คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่อ้างว่า การผลักดันร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมแก่ผู้ซึ่งทำความผิดเนื่องจากการชุมนุมทางการเมือง เป็นการเอื้อประโยชน์อย่างชัดเจนให้กับคนชื่อทักษิณ

หรือในการเลือกตั้งครั้งล่าสุดในปี 2566 ก็มีการวางชื่อ “อุ๊งอิ๊งค์-แพทองธาร ชินวัตร” ลูกสาวคนเล็กของครอบครัวทักษิณและคุณหญิงพจมาน ดามาพงศ์ (ชินวัตร) เป็นหนึ่งในแคนดิเดตนายกฯ จาก พท. ตามมาด้วยการที่ทักษิณเดินทางกลับมาสู่ผืนแผ่นดินเกิดอีกครั้ง ช่วงเวลาปลายปีเดียวกัน

การ “คงอยู่” ในหลายช่วงเวลา ต่างกรรม ต่างวาระ

กลายเป็น “ผีทักษิณ” ที่ตามหลอกหลอนไม่เคยหายไป

ในมุมมองของคน 3 รุ่น 3 ห้วงเวลาการชุมนุม มองการเมืองไทยที่วนอยู่รอบตัวชายวัย 75 ปีที่ชื่อทักษิณ ชินวัตร อย่างไรบ้าง

โดยเฉพาะนับตั้งแต่วันที่เขาจะกลับคืนสู่สังคมไทยอีกครั้ง หลังจากวันที่ 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2567

 

เส้นทาง 20 ปี “ผีทักษิณ” จากวันลี้ภัยถึงได้กลับบ้าน ในมุมมองคน 3 รุ่น

 

1.

นพ.ตุลย์ สิทธิสมวงศ์, แกนนำกลุ่มคนเสื้อหลากสี ปี 2553

“(20 ปีที่ผ่านมา)เป็นช่วงอำนาจของทักษิณ ...การเมืองไทยยังเป็นของเขาอยู่”

คือบทสรุปการเมืองไทยในรอบหลายสิบปีหลัง ในมุมมองของ นพ.ตุลย์ สิทธิสมวงศ์ หรือ “หมอตุลย์” ผู้เคยขึ้นเวทีของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) หรือ “เสื้อเหลือง” และเป็นแกนนำ “กลุ่มคนเสื้อหลากสี” ในเวลาต่อมา

นพ.ตุลย์ย้อนการเข้ามามีบทบาททางการเมืองของทักษิณ ตั้งแต่สมัยธุรกิจเข้ารับสัมปทานธุรกิจดาวเทียมเชิงพาณิชย์ไทยคมในปี 2534 เป็นการสร้างฐานอำนาจทางเศรษฐกิจและการเมือง

ก่อนจะเข้าสู่การเมือง ในฐานะ รมว.ต่างประเทศ ในรัฐบาลชวน หลีกภัย เมื่อปี 2537 และรองนายกฯ ในรัฐบาลบรรหาร ศิลปอาชา เมื่อปี 2538

ทักษิณใช้ประโยชน์จากข้อกำหนดในรัฐธรรมนูญปี 2540 ที่บังคับให้ สส.ต้องสังกัดพรรคการเมือง สั่งสมกำลังอำนาจทางการเมือง กวาดต้าน สส.เข้ามาสังกัดพรรคการเมืองของตนเองอย่าง “พรรคไทยรักไทย” จนขึ้นสู่เก้าอี้นายกฯ คนที่ 23 ของไทยสำเร็จ ในการเลือกตั้งปี 2544 และยอกย้ำชัยชนะอย่างถล่มทลายในการเลือกตั้งปี 2548

 

เส้นทาง 20 ปี “ผีทักษิณ” จากวันลี้ภัยถึงได้กลับบ้าน ในมุมมองคน 3 รุ่น

 

รัฐประหาร 2 ครั้งหลังสุด นพ.ตุลย์ชี้ว่า มีทักษิณ “เป็นต้นเหตุ” !

การรัฐประหารในวันที่ 19 กันยายน พ.ศ.2549 นพ.ตุลย์ระบุว่า เกิดจากการที่ทักษิณพยายามจะปลด “พล.อ.สนธิ บุญรัตนกลิน” ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ในเวลานั้นออกจากตำแหน่ง

“หลายคนไม่รู้ว่าทำไมต้องปฏิวัติในปี 2549 มันเป็นเพราะทักษิณจะย้ายสนธิ (พล.อ.สนธิ บุญรัตนกลิน) ถ้าไม่ปฏิวัติก่อน วันที่ 1 ตุลาฯ ก็เปลี่ยน ผบ.ทบ. เพราะเขาไม่ไว้ใจสนธิ”

หรือว่าในช่วงของความขัดแย้งระหว่างกลุ่มเสื้อเหลือง-เสื้อแดง ก็มีส่วนเกี่ยวข้องกับทักษิณอย่างแยกจากกันไม่ออก เพราะมีความชัดเจนว่าการเคลื่อนไหวในสมัยนั้นคือเรื่องการผลักดันให้ทักษิณกลับมามีอำนาจทางการเมืองอีกครั้ง

มาจนถึงของการปฏิวัติอีกครั้งในปี 2557 โดย พล.อ.ประยุทธ์ แกนนำกลุ่มคนเสื้อหลากสีก็ยังชี้นิ้วไปที่ทักษิณและครอบครัวว่า เป็นปัจจัยหลักของการรัฐประหารในรอบนี้ ผ่านการผลักดันให้รัฐบาลยิ่งลักษณ์ นำเสนอ ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฉบับสุดซอย

แต่อย่างไรก็ตาม ใช่ว่าภายหลังจากช่วงเวลาที่น้องสาวของตนเองถูกยึดอำนาจสูงสุดในการบริหารประเทศ ทักษิณจะเลือนหายไปกับกาลเวลา ใต้สมัยการปกครองของรัฐบาล คสช. ทักษิณก็ยังคงมีบทบาทในตำแหน่ง “คนเบื้องหลัง” อันเกิดจากความสัมพันธ์ใกล้ชิดระหว่างตัวทักษิณกับ “พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ” รองหัวหน้า คสช. และรองนายกฯ ในสมัยของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์

“อย่าลืมประวิตรก็อยู่กับรัฐบาลทักษิณมาตลอด เขาก็ทำอะไรก็ต้องคุยกัน เจรจาต่อรอง ผมเชื่ออย่างนั้น ยังคงเกี่ยวพันไม่ว่าก็ทางใดก็ทางหนึ่ง อย่าง พ.ร.บ.ราชทัณฑ์ พ.ศ.2560 ออกในสมัยใคร รวมทั้งการตัดสินคดีความของทักษิณที่แปลกๆ ลงโทษเบาๆ หลายคดี”

 

เส้นทาง 20 ปี “ผีทักษิณ” จากวันลี้ภัยถึงได้กลับบ้าน ในมุมมองคน 3 รุ่น

 

และการเลือกตั้งในปี 2566 เรียกได้ว่าไม่ต้องเดาให้เสียเวลาว่าทักษิณยังคงมีอำนาจอยู่ใน พท. เมื่อแคนดิเดตนายกฯ ของพรรคปรากฏชื่อ “แพทองธาร ชินวัตร” จนเรียกได้ว่าการเมืองไทยก็ยังคง “พายเรือในอ่าง” ของตระกูลชินวัตร

ต่อให้การเลือกตั้งในครั้งล่าสุด จะได้ผลลัพธ์ที่ “หักปากกาเซียน” จากชัยชนะที่ไม่มีใครคาดถึงของพรรคก้าวไกล (กก.)

แต่ในท้ายที่สุดแล้วพรรคที่ได้เป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลก็ยังคงเป็น พท. ของทักษิณอยู่ดี

และนี่เป็นอีกหนึ่งบทพิสูจน์ว่า ทักษิณยังคงเป็นผู้วางแผนเส้นทางการเมืองไทยอยู่เช่นเดิม

กระทั่ง ในอนาคต กก. อาจได้ขึ้นมาเป็นรัฐบาล นพ.ตุลย์ก็ยังเชื่อว่า ทักษิณจะอยู่เบื้องหลัง หลังปรากฏว่ามีการไปพูดคุยนอกรอบกับ “ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ” อดีตหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ที่ปัจจุบันเป็นประธานคณะก้าวหน้า

กล่าวโดยสรุปได้ว่า ในมุมของ นพ.ตุลย์ การเมืองไทยก็ยังคงวนเวียนอยู่กับวังวนของการต่างตอบแทนระหว่างกลุ่มนักการเมือง อย่างที่หากใครเลือกรับใช้ทักษิณ ก็จะได้รับการตอบแทนอย่างเต็มที่ และประชาชนยังคงเป็นเบี้ยในการแสวงหาอำนาจหรือผลประโยชน์ เป็นเหยื่อที่ไม่มีวันหลุดพ้นของกลุ่มนักการเมืองต่อไป

“ผมอยากให้ประเทศนี้มีโอกาสที่จะดีขึ้น ประชาชนจะต้องดีขึ้น ตราบใดที่เรายังไม่ได้นักการเมืองและตัวแทนประชาชนที่ดี ประเทศนี้จะตกอยู่อย่างนี้ไปอีกเป็น 100 ปีข้างหน้า ...ทั้งหมดทั้งสิ้นอย่าไปโทษนักการเมือง พวกคุณเองต่างหากที่ไปเสกแล้วทำให้นักการเมืองพวกนี้แกร่งขึ้นมา ถ้าเกิดขึ้นคุณอยากเปลี่ยนประเทศก็ต้องเลือกและตรวจสอบ”

 

เส้นทาง 20 ปี “ผีทักษิณ” จากวันลี้ภัยถึงได้กลับบ้าน ในมุมมองคน 3 รุ่น

 

หากถามว่าคนชื่อ “ทักษิณ ชินวัตร” จะหายไปจากสังคมการเมืองไทยเมื่อไหร่ นายแพทย์ตุลย์ตอบโดยทันทีว่า

“ก็ตอนที่เขาตายมั้ง ...มันไม่มีทางที่ผีทักษิณจะหายไปก่อนเขาตาย ไม่มีทาง เพราะว่ามันมีทั้งผีและผู้ช่วยผี หมอผีก็ช่วยไม่ได้ เพราะรู้สึกว่าหมอผีก็ถูกซื้อ”

 

2.

จ่านิว-สิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์, ผู้คัดค้านการรัฐประหารปี 2557 ปัจจุบันเป็นสมาชิกพรรคเพื่อไทย

“มันคือช่วงเวลา 20 ปีที่รัฐราชการเพลี่ยงพล้ำ …และกลับมาได้เปรียบ”

สิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ หรือ “จ่านิว” สมาชิกพรรคเพื่อไทย และอดีตแกนนำกลุ่มนักศึกษาต้านรัฐประหารในช่วงปี 2557 กลั่นรวมแก่นของการเมืองไทยในสายตาของเขา

 

เส้นทาง 20 ปี “ผีทักษิณ” จากวันลี้ภัยถึงได้กลับบ้าน ในมุมมองคน 3 รุ่น

 

เขาเริ่มต้นด้วยการวิเคราะห์องค์ประกอบที่ทำให้ทักษิณ ชินวัตรและ ทรท. เข้ามามีบทบาทโดดเด่นในการเมืองไทย ราว 20-30 ปีก่อน คือการเป็น “พรรคการเมืองใหม่” ที่ตอบโจทย์กับคนในสังคมไทยที่มักมองหาสิ่งใหม่ การทำงานในรูปแบบใหม่อยู่เสมอ

โดยบรรยากาศทางการเมืองในช่วงก่อนการเลือกตั้งในปี 2544 นั้น สังคมไทยที่อยู่ใต้การบริหารงานของรัฐบาลผสมหลายพรรค เป็นช่วงเวลาของการประนีประนอมผลประโยชน์ของฝ่ายการเมืองต่างๆ ภายในรัฐบาล ประชาชนจึงต้องการผู้นำทางการเมืองคนใหม่ที่มีวิสัยทัศน์ทางการเมืองแตกต่าง

การเข้ามาของ ทรท. ที่รวมกลุ่มคน 2 ขั้ว ระหว่าง “นักเคลื่อนไหว” และ “นักการเมืองรุ่นเก่า” เลยโดดเด่นขึ้นมา เมื่อประกอบรวมเข้ากับเรื่องการชูเรื่องนโยบายที่มีประสิทธิภาพและสามารถนำมาขยายต่อได้ในการทำงาน

การเข้ามาบริการบ้านเมืองของ “รัฐบาล ทรท.” สมัยแรก (ระหว่างปี 2544-2548) จึงเกิดขึ้น

หากสิ่งที่ตามมา คือการผู้มาใหม่ต้องเผชิญหน้ากับฝ่ายการเมืองเดิม โดยหนึ่งในนั้นคือกลุ่ม “รัฐราชการ” ที่เหล่าข้าราชการเป็นใหญ่

เพราะฝ่ายทักษิณเองก็ต้องการปรับปรุงระบบราชการให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ทำให้อำนาจจากฝ่ายการเมืองเหนือกว่าฝ่ายราชการ โดยเฉพาะกลุ่มทหาร

“พรรคไทยรักไทยในยุคนั้นเล่นบทว่า เอาวะ กูจะเปลี่ยนราชการให้ได้ มีประสิทธิภาพ เอาบทบาทของการเมืองให้เหนือกว่าราชการหรือว่าทหาร”

การทำงานอย่างถึงลูกถึงคน และพุ่งชนในทุกสถานการณ์ของรัฐบาล ทรท. เป็นส่วนผลักดันให้นายกฯ ทักษิณ กลายเป็นตัวละครหลักในภาคการเมืองตั้งแต่ปี 2544 เป็นต้นมา และบทบาทอันโดดเด่นของเขาก็ยังคงต่อเนื่องมาจนถึงชัยชนะในการเลือกตั้งครั้งประวัติศาสตร์แบบแลนด์สไลด์ (landslide) ได้ สส. 377 คน จากทั้งหมด 500 คน ในปี 2548

สถานการณ์เหล่านี้ คือจุดสั่นคลอนกลุ่มรัฐราชการ และนำไปสู่การ “กำจัด” ทักษิณออกจากการเมือง

หากแรงสะท้อนกลับของการรัฐประหารในปี 2549 คือการตื่นรู้ทางการเมืองของคนจำนวนมาก โดยเฉพาะประชาชนชาวไทยที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ชนบท และได้รับประโยชน์จากนโยบายของรัฐบาล ทรท. พวกเขามีความรู้สึกร่วมว่าการรัฐประหารที่เกิดขึ้นคือความอยุติธรรม และทักษิณก็คือ “เหยื่อ” ที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม

อย่างไรก็ตาม การรัฐประหารที่เกิดขึ้นไม่สามารถลบ ล้ม หรือล้าง “แบรนด์ดิ้ง” ของทักษิณได้เลย ตอกย้ำจากการเลือกตั้งในปี 2550 ที่ต่อให้พรรคพลังประชาชน (พปช.) จะนำทัพโดย “สมัคร สุนทรเวช” แต่เมื่อภาพลักษณ์ของพรรคยังคงเป็น “พรรคทักษิณ” ก็ทำให้สามารถกลับมานำบริการประเทศได้อีกครั้ง

ซ้ำแล้วการที่ศาลรัฐธรรมนูญจะมีมติยุบ พปช. ในปี 2551 ยิ่งเสริมให้สถานะ “ผู้นำของเหยื่ออธรรม” ของทักษิณเด่นชัด

เมื่อประกอบเข้ากับการโหมกระแส “ทักษิณคิด เพื่อไทยทำ” ที่บ่งบอกว่าผู้คนในประเทศยังคงศรัทธากับวิสัยทัศน์ทางการเมืองของทักษิณ ในสมัยการเลือกตั้งปี 2554 ที่ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นรายชื่อแรกสุดของผู้สมัคร สส.บัญชีรายชื่อจาก พท. จึงไม่ใช่เรื่องเกินคาดที่ประเทศไทยได้นายกฯ จากตระกูลชินวัตรอีกคน

 

เส้นทาง 20 ปี “ผีทักษิณ” จากวันลี้ภัยถึงได้กลับบ้าน ในมุมมองคน 3 รุ่น

 

“คุณทักษิณยังคงเป็น icon และตำนานที่มีลมหายใจอยู่”

แต่แสงที่ส่องมายัง พท. ในช่วงเวลานั้น ก็ก่อแรงกระเพื่อมสร้างความรู้สึกไม่ปลอดภัยให้กับกลุ่มรัฐราชการและผู้เกี่ยวข้อง เมื่อทราบดีกว่าไม่สามารถเอาชนะผ่านระบบการเลือกตั้งได้ การรัฐประหารจึงเกิดขึ้นอีกที ในปี 2557

“ฝ่ายที่ต่อต้านคุณทักษิณก็เห็นจุดบอดว่า ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมสามารถจุดกระแสความไม่พอใจต่อรัฐบาลเพื่อไทยในตอนนั้นได้ เขาก็เลยหยิบฉวยช่วงนี้มาใช้เป็นประโยชน์ทางการเมืองในการล้มพรรคเพื่อไทย”

แต่ต่อให้ไม่มีร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม สิรวิชญ์ก็ยังเชื่อว่า การรัฐประหารคงจะเกิดขึ้นอยู่ดี โดยอาศัยเหตุผลอื่น

รัฐประหารโดย คสช. และ พล.อ.ประยุทธ์ มีการควบคุมและกักตัวนักการเมือง แกนนำคนเสื้อแดง และผู้คนที่มีส่วนเกี่ยวข้องอย่างหนักหน่วง จนเป็นการยากที่ พท. จะเปิดหน้าเป็นผู้นำการคัดง้างระบอบเผด็จการ

เมื่อทางกลุ่มทางการเมืองขนาดใหญ่อ่อนกำลังและไม่สามารถยืนหยัดต่อสู้ได้ การรวมตัวกันของขบวนการนิสิตนักศึกษาในปี 2557 ที่เคลื่อนไหวเพื่อแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ถึงการต่อต้านเผด็จการในช่วงเวลานั้นจึงเริ่มต้นขึ้น โดยไม่ได้มีความเกี่ยวข้องกับทางทักษิณ

 

เส้นทาง 20 ปี “ผีทักษิณ” จากวันลี้ภัยถึงได้กลับบ้าน ในมุมมองคน 3 รุ่น

 

บทบาทของทักษิณภายหลังจากการรัฐประหารปี 2557 อาจจะไม่ได้ชัดเจนมากนัก จนมาถึงการเลือกตั้งในปี 2562 ที่จ่านิวมองว่า ทักษิณได้ใช้ความสามารถในการคำนวณและคาดการณ์ผลการเลือกตั้ง วางแผนสู้กับกติกาที่กำหนดให้ พท. ไม่มีทางได้รับชัยชนะอย่างถล่มทลายเช่นในอดีต – เป็นที่มาของนำ “พรรคไทยรักษาชาติ” เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์ “แตกแบงก์พัน” พร้อมกับแบ่งเขตที่จะ สส.ลงสมัคร ให้พรรคพี่พรรคน้องไม่ทับซ้อนกัน

แม้ว่าท้ายที่สุด พท.จะชนะการเลือกตั้งในปี 2562 แต่ก็ไม่สามารถจะจัดตั้งรัฐบาลได้

จึงมีการสร้างแผนการดึงคะแนนเสียงให้กลับมาอยู่ในมือในการเลือกตั้งปี 2566 ผ่านการดึงคนเก่าๆ ให้กลับมาร่วมงาน และเปิดหน้าวิพากษ์รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์อย่างหนักหน่วง

 “ผมคิดว่าเขาบทบาทของคุณทักษิณเริ่มเห็นชัดตั้งแต่สมัยปลายรัฐบาลของประยุทธ์ เขามีความพยายามที่จะวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล และพยายามฉายว่า เขามีทางแก้ ทางออกให้กับประเทศนี้ และมันจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อคุณเลือกพรรคเพื่อไทย”

อย่างไรก็ตาม ผลการจัดตั้งรัฐบาลแบบ “ผสมผสาน” ของพรรคเศรษฐา ทวีสิน ยิ่งเป็นสิ่งตอกย้ำว่ารัฐราชการยังคงมีอำนาจเหนือฝ่ายการเมือง เป็นสิ่งที่ทำให้เห็นอย่างชัดเจนว่า ถ้าหากใครอยากอยู่รอดปลอดภัยในการเมืองแบบไทยๆ คุณจะต้องเลือกเข้ามาหลอมรวมกับระบบจนเป็นเนื้อเดียวกัน อย่าคิดจะมางัดหรือแสดงตัวเป็นปรปักษ์

“แต่ผมคิดว่าชื่อของคุณทักษิณไม่มีวันหายไปทางสังคมไป เพราะปรากฏการณ์ที่เขาได้สร้างเอาไว้ ไม่ว่าคนรุ่นไหนก็รู้จักชื่อทักษิณ ชินวัตร ในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง …ทุกคนได้ยินชื่อนี้มาตลอด ต่อให้เป็นคนรุ่นใหม่ที่กำลังจะขึ้นไปมีบทบาทก็ไม่มีทางพ้น”

 

3.

มายด์ ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล, หนึ่งในผู้นำขบวนการนักศึกษาปี 2563-2564

“ถ้าเราคุยกันเล่นๆ ก็คือผ่านมา 20 ปีมันก็เหมือนเดิมเลยเนอะ มันไม่ไปไหนเลย ท้อแท้จัง”

 

เส้นทาง 20 ปี “ผีทักษิณ” จากวันลี้ภัยถึงได้กลับบ้าน ในมุมมองคน 3 รุ่น

 

มายด์-ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล แกนนำกลุ่มการชุมนุมคณะราษฎรปี 2563 เริ่มต้นการสนทนาด้วยน้ำเสียงปลงตก

คำว่า “เหมือนเดิม” ของเธอคือภายในบริบทของเมืองไทยกำลังวนเวียนอยู่กับการที่ชนชั้นปกครองเดิมยังคงทำทุกวิถีทางเพื่อคงไว้ซึ่งอำนาจของตนเอง และมีอิทธิพลมากพอที่จะล้อมคนที่เคยเป็นอีกฝั่งของการต่อสู้เมื่อ 20 ปีที่แล้วอย่างทักษิณให้ “กลายเป็นฝ่ายเดียวกัน” ได้ในท้ายที่สุด

หากย้อนกลับไปเมื่อราว 20 ปีที่แล้ว ตัวภัสราวลีเองยังอยู่ในช่วงชั้นประถมปลายเท่านั้น ความทรงจำเกี่ยวกับการเมืองของเธอก็จะมีเพียงความรู้ว่านายกฯ ของประเทศไทยชื่อทักษิณ ชินวัตร และดูเหมือนว่าจะเป็นช่วงเวลาที่เศรษฐกิจภายในประเทศดำเนินไปข้างหน้าได้เป็นอย่างดี จากการอ้างอิงของคุณพ่อและคุณแม่ของเธอผู้ประกอบอาชีพเป็นผู้รับเหมาก่อสร้าง

ความเป็นเด็กทำให้ช่วงเวลาที่เกิดการรัฐประหารในปี 2549 ไม่ได้กระทบอะไรกับการดำเนินชีวิตของเธอมากนัก รู้แค่ว่า ด.ญ. ภัสวราวลีในวัย 10 ขวบไม่ต้องไปโรงเรียนในช่วงวันแรกของการยึดอำนาจเท่านั้นเอง

ภัสราวลีมองย้อนกลับไปว่าการยึดอำนาจจากรัฐบาล ทรท. เกิดขึ้นจากการที่ “กลุ่มขั้วอำนาจเดิม ชนชั้นปกครองเดิม กลุ่มอนุรักษ์นิยมเดิม” มองทักษิณและพวกเป็น “อีกฟาก” ของขั้วอำนาจ เป็นกลุ่มอำนาจใหม่ที่ได้รับความนิยมจากสังคมอย่างกว้างขวางและคว้าชัยชนะถล่มทลายในการเลือกตั้ง

“ตอนปี 2544 และ 2548 พรรคไทยรักไทยคือพรรคใหม่ นำโดยคนหน้าใหม่ ซึ่งมันเป็นอะไรที่น่าหวั่นใจสำหรับกลุ่มอำนาจนิยมเดิม เพราะมันมีอีกกลุ่มอำนาจหนึ่งขึ้นมามีกระแสนิยมพอๆ กันกับพวกเขา”

การรัฐประหารในปี 2549 จึงเป็นการรักษาฐานทางอำนาจให้อยู่กับกลุ่มอำนาจเดิม เป็นการแทรกแซงที่ทำให้เสถียรภาพทางการเมืองไทยในระบอบประชาธิปไตยที่ประชาชนควรจะเป็นใหญ่ที่สุดหยุดชะงัก เกิดเป็นความขัดแย้งทางการเมืองระหว่าง “สีเสื้อ” ทำให้คนในสังคมที่มีทัศนคติทางการเมืองแตกต่างมีระยะห่างออกจากกัน เกิดการฟาดฟันกับคนที่คิดต่างรุนแรงมากขึ้น

การรัฐประหารโดย คสช. เมื่อปี 2557 ยิ่งนำไปสู่การปกครองในรูปแบบของเผด็จการอย่างแท้จริง ทำให้ทางสังคมก็เห็นได้ชัดว่าบ้านเมืองเผด็จการ ที่การเมืองถูกควบคุมโดยนักการเมืองและทหารเป็นอย่างไร

 

เส้นทาง 20 ปี “ผีทักษิณ” จากวันลี้ภัยถึงได้กลับบ้าน ในมุมมองคน 3 รุ่น

 

“เราอยู่ในกรอบการปกครองแบบนี้ ประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข แต่ว่าทางกายภาพเราไม่ได้มีเสรีภาพ เรารอคอยให้พวกเขา (กลุ่มทหารและนักการเมือง) อนุญาตตลอดเวลา และเราดันไปคุ้นชินกับมัน”

เธอมองว่าในช่วงเวลาดังกล่าว ตัวทักษิณเองก็ “ถูกเอาไปเก็บ” แม้ว่าตัวทักษิณเองก็อาจไม่ต้องการให้ตนเองตกอยู่ในสภาวะเช่นนั้น หากด้วยปัจจัยแวดล้อมหลายประการทำให้เขาต้องรักษาบทบาทของตัวเอง พูดให้น้อย แสดงความคิดเห็นให้น้อย

บวกกับปัจจัยอีกส่วน คือการออกมาเคลื่อนไหวของกลุ่มนิสิตนักศึกษาหลากหลายสถาบัน ที่ออกมาเรียกร้องประชาธิปไตยโดยไม่มีเรื่องของสีเสื้อเข้ามาเกี่ยวข้องเหมือนช่วงเวลาก่อนหน้า ประชาชนเองก็เกิดการเรียนรู้จากชุดข้อมูลที่กระจายตัวอย่างรวดเร็วมากขึ้นผ่านโซเชียลมีเดีย จุดประกายให้สังคมเริ่มฉุกคิดว่าระบอบ “ประชาธิปไตย” ควรเป็นเช่นไร

จนกลายเป็นภาพที่ว่าอดีตนายกฯ 2 สมัยอย่างทักษิณจางหายไปจากความทรงจำของประชาชน โดยเฉพาะกับคนรุ่นใหม่ที่ไม่ได้เห็นผู้ชายคนนี้ในประเทศมาเป็นเวลานาน

เมื่ออิทธิพลของทักษิณกับเด็กรุ่นใหม่น้อยลงไปตามกาลเวลา  ดังนั้นต่อให้ทักษิณจะเริ่มกลับมามีบทบาทบนเวทีการเมืองอย่างมีนัยสำคัญในช่วง 2-3 ปีล่าสุด ทั้งการเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของชุมชน Clubhouse ทั้งการจัดรายการ Care Talk และการสร้างบทสนทนาบนโลกออนไลน์ ความผูกพันระหว่างประชาชนกับผู้ชายคนนี้ก็ไม่เกิดขึ้น

กลายเป็นความ “ไม่อิน” กับสิ่งที่ทักษิณแสดงออกผ่านช่องทางต่างๆ

 

เส้นทาง 20 ปี “ผีทักษิณ” จากวันลี้ภัยถึงได้กลับบ้าน ในมุมมองคน 3 รุ่น

 

“การออกมาพูดบ้างของคุณทักษิณก็ถือว่าเป็นเรื่องที่ดี แต่สังเกตได้ว่ามันไม่ได้กระพือสังคมขนาดนั้นแล้ว คือเด็กรุ่นใหม่ไม่อินกับคุณทักษิณ”

และ “ความศักดิ์สิทธิ์” ของทักษิณกำลังมลายหายไปตามน้ำหนักคำพูดและการกระทำของตนเอง

นับแต่รัฐบาล พท. ไปจับมือข้ามขั้วเพื่อจัดตั้งรัฐบาล พร้อมๆ กับการที่ทักษิณได้ “กลับประเทศ” เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม พ.ศ.2566 ก่อนจะได้ “กลับบ้าน” ในวันที่ 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2567

จนนำไปสู่การตั้งคำถามของประชาชนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ว่า เมื่อทักษิณได้เดินทางกลับมาถึงประเทศไทยโดยไม่ต้องเข้ารับโทษในเรือนจำเลยแม้แต่วันเดียว กลายเป็นว่าเขามี “อภิสิทธิ์” มากกว่าคนอื่นหรือไม่

สำหรับเธอแล้ว การเดินทางกลับประเทศไทยของทักษิณคราวนี้จึงไม่ใช่การกลับมาอย่างยิ่งใหญ่ และเป็นที่น่าสนใจว่ามุมมองของคนไทยต่อคนที่ชื่อทักษิณ ชินวัตร จะเปลี่ยนไป จากชายผู้เป็นฮีโร่ของเมืองไทย กลายเป็นผู้ร้ายหน้าใหม่ที่ยอมรวมตนเองกับกลุ่มอำนาจเดิมหรือเปล่า?

 

“ผีทักษิณ” จะยังมีอยู่ต่อไปหรือไม่ เมื่อสถานการณ์การเมืองเปลี่ยน และตัวละครสำคัญที่เคยขัดแย้งหันไปจับมือกัน

 

เขียนโดย จามาศ โฆษิตวิชญ

ภาพถ่ายโดย วรุตม์ พงศ์พิพัฒน์, วิศรุต วีระโสภณ

 

logoline