svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

"ทวี" ตอบกระทู้ยัน "ทักษิณ" เข้าเกณฑ์ตามเงื่อนไขรักษาตัวได้รับพักโทษ

22 กุมภาพันธ์ 2567
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

"ณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์" ตั้งกระทู้ถาม "รมว.ยุติธรรม" แจงเกณฑ์พักโทษ-อาการป่วย "ทักษิณ" พร้อมจี้เปิดชื่อแพทย์ ด้าน "ทวี สอดส่อง" ย้ำเป็นตามเกณฑ์-พ.ร.บ.ราชทัณฑ์ และมีหมอ-พยาบาล ประเมิน อุบเปิดชื่ออ้างผู้ตรวจไม่ยินยอม

22 กุมภาพันธ์ 2567 การประชุมสภาผู้แทนราษฎร ได้มีการเปิดให้สมาชิกตั้งกระทู้ถามสด โดย "นายณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์" สส.กรุงเทพ พรรคก้าวไกล ได้ถาม "พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง" รมว.ยุติธรรม ถึงการพักโทษ "นายทักษิณ ชินวัตร" อดีตนายกรัฐมนตรี หลังถูกส่งตัวไปโรงพยาบาลตำรวจตั้งแต่วันแรกที่เข้าสู่กระบวนการยุติธรรม และได้รับการพักโทษในวันที่ 181 ซึ่งระหว่างนั้นก็ได้รับการพักรักษตัวในโรงพยาบาล นอกเรือนจำ แต่ไม่ใช่การคุมขังนอกเรือนจำ จึงสอบถาม รมว.ยุติธรรมว่า นายทักษิณ เข้าเกณฑ์ตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง 3 ฉบับ ทั้ง พ.ร.บ.ราชทัณฑ์ , กฎกระทรวง และประกาศราชทัณฑ์อย่างไร จึงผ่านการพิจารณาพักโทษ

โดย พ.ต.อ.ทวี กล่าวย้ำว่า การพักโทษ เป็นไปตาม พ.ร.บ.ราชทัณฑ์ มาตรา 52 ที่นักโทษเด็ดขาดแสดงให้เห็นถึงความประพฤติดี มีความอุตสาหะ และมีความชอบแก่ราชการเป็นการพิเศษ อาจได้รับการพักโทษ ที่ได้รับโทษไม่น้อยว่า 6 เดือน หรือ 1 ใน 3 และยังมีกฎกระทรวงเรื่องการพักโทษ หากเข้านิยามการพักโทษทั่วไป ก็จะมีอนุกรรมการฯ จำนวน 19 คนพิจารณาอีกครั้ง รวมถึงยังมีการพักโทษเหตุพิเศษ โดยความเห็นของอธิบดีกรมราชทัณฑ์ ตามเกณฑ์กฎกระทรวง และตามที่ผู้บัญชาการเรือนจำเสนอต่อคณะอนุกรรมการฯ พิจารณาให้ความเห็นชอบ ก่อนส่งให้ รมว.ยุติธรรม พิจารณา
 

ส่วนในกรณีการพักโทษที่เข้าเหตุเจ็บป่วยร้ายแรง พิการ หรืออายุ 70 ปีขึ้นไป ผู้บัญชาการเรือนจำ ก็สามารเสนอให้พิจารณาได้ ซึ่งย้ำว่าการพิจารณาพักโทษครั้งนี้ มีผู้เข้ากณฑ์ 945 คน และยืนยันว่า การพิจารณาของกรรมการฯ ไม่ใช่ตรายาง และมีอำนาจวินิจฉัยจนมีผู้ตกเกณฑ์ 15 คน ซึ่งในกรณีของนายทักษิณนั้น ผู้แทนกระทรวงสาธารณสุข ได้พิจารณาหลักฐานทางการแพทย์แล้ว เห็นว่าเข้าเหตุพักโทษ และอัยการสูงสุด ก็ได้สอบถามถึงการพักรักษาตัวในโรงพยาบาล จะเข้าเกณฑ์การรับโทษแล้วหรือไม่ ซึ่งตามระเบียบนั้น ให้คำนิยามเรือนจำว่าหมายถึงที่คุมขัง และกฎกระทรวงให้ถือว่าการพักรักษาตัวที่โรงพยาบาล ถือเป็นที่ควบคุม จึงยืนยันว่า เป็นการปฏิบัติตามกฎหมายราชทัณฑ์ และกฎกระทรวง รวมถึงขั้นตอนกระบวนการต่าง ๆ

ขณะเดียวกัน นายณัฐชา ยังสอบถาม รมว.ยุติธรรม ซ้ำว่า การได้รับโทษของนายทักษิณนั้น เข้าเกณฑ์ใดใน พ.ร.บ.ราชทัณฑ์ ระหว่างถูกคุมขัง มีความประพฤติดี , มีความอุตสาหะ , ก้าวหน้าในการศึกษา และทำการงานเกิดผลดี และใช้วิธีใดตามกฎกระทรวง ที่อธิบดีไปคัดสรรนักโทษจาก 200,000 กว่าราย จนเหลือผู้เข้าเกณฑ์พิเศษ 8 คน รวมถึงการเปิดเผยรายชื่ออนุกรรมการฯ 19 คน รวมถึงตามประกาศราชทัณฑ์ นายทักษิณ เข้าเงื่อนไขอาการป่วยใดใน 7 โรค ที่มีอันตรายร้ายแรงถึงที่สุดหากอยู่ในเรือนจำต่อ หรือการเป็นผู้สูงอายุ 70 ปีขึ้นไป และไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้

ขณะที่ พ.ต.อ.ทวี กล่าวว่า เหตุพักโทษในกรณีเจ็บป่วยร้ายแรงนั้น ตามกฎหมายระบุว่า จะต้องเป็นกรณีเจ็บป่วยร้ายแรง หรือ พิการ หรืออายุ  70 ปีขึ้นไป ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ ซึ่งผู้ที่อายุ 70 ปีขึ้นไปนั้น อาจไม่แข็งแรง ก็จะมีมาตรการประเมินของแพทย์ และพยาบาลอย่างน้อย 2 คน และในกรณีดังกล่าวอยู่ต่ำกว่าเกณฑ์ ซึ่งการเปิดเผยข้อมูลสุขภาพของบุคคลเป็นความลับส่วนบุคคล ไม่สามารถนำมาเปิดเผยให้บุคคลผู้นั้นเสียหายได้

ทั้งนี้ เว้นแต่จะเป็นไปตามวัตถุประสงค์ของบุคคลนั้น และกฎหมายบัญญัติไว้เป็นการเฉพาะ ตามพ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ จึงยืนยันว่า การวินิจฉัยอาการ มีแพทย์จากกระทรวงสาธารณสุขมาวินิจฉัย ย้ำว่ากรณีดังกล่าวเป็นไปตามกฎหมาย ระเบียบ และหลักเกณฑ์ทางการแพทย์ มีความชอบธรรมด้วยเหตุผลและคุณธรรม

นอกจากนี้ นายณัฐชา ยังได้ถามต่อว่า แพทย์ และพยาบาล 2 คน ที่รับรองการประเมินอาการนายทักษิณนั้นเป็นใคร เพราะถือเป็นหมอเทวดา ที่เซ็นรับรองนายทักษิณ อาการหนักก่อน 180 วัน แต่เมื่อครบ 180 วันแล้ว อาการหายทันที และสามารถกลับบ้านได้

โดย พ.ต.อ.ทวี ปฏิเสธที่จะเปิดเผยรายชื่อ เนื่องจากมีใบไม่ยินยอมของผู้ตรวจให้เปิดเผยอาการ จึงไม่สามารถเปิดเผยได้ แต่ยืนยันว่าแพทย์ที่ตรวจ เป็นแพทย์ที่เป็นกลาง และมีการปฏิบัติครบถ้วน ตามแบบประเมินการช่วยเหลือตัวเองได้น้อย ซึ่งจะมีคะแนนเต็ม 20 คะแนน หากสูงกว่า 11 คะแนน จะไม่อยู่ในเกณฑ์ แต่นายทักษิณ คะแนนต่ำกว่า 11 คะแนนเล็กน้อย จึงเป็นไปตามกฎหมาย และระเบียบ

อย่างไรก็ตาม ระหว่างการตั้งกระทู้ถามเรื่องนายทักษิณ ของนายณัฐชานั้น มี สส.พรรคเพื่อไทย คอยประท้วงการตั้งกระทู้ถาม อาทิ นายไชยวัฒนา ติณรัตน์ สส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย ที่เห็นว่า นายณัฐชา ตั้งกระถามที่เป็นเรื่องส่วนตัวของบุคคลภายนอก พร้อมกล่าวหา สส.พรรคก้าวไกล ที่มักมีการใช้ภาพบุคคลภายนอก มาเผยแพร่ประกอบการหารือในสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งขัดต่อข้อบังคับการประชุม

ทำให้ "นายปดิพัทธ์ สันติภาดา" รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 1 ซึ่งทำหน้าที่ประธานการประชุม ต้องวินิจฉัย โดยได้ชี้แจงถึงข้อบังคับการประชุมที่นายไชยวัฒนา ประท้วงนั้น มีข้อยกเว้นว่า เป็นเรื่องส่วนตัวของบุคคลใด เว้นแต่เกี่ยวกับการงานในหน้าที่ราชการ ดังนั้น นายณัฐชา จึงสามารถสอบถามการปฏิบัติหน้าที่ของส่วนงานราชการได้

รวมถึง น.ส.ศรีญาดา ปาลิมาพันธ์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ที่เห็นว่ากระทู้ถามของนายณัฐชา เป็นการออกความเห็นและซ้ำกับกระทู้ถาม ที่เคยมีผู้ที่ถามไปแล้ว จึงเป็นกระทู้ถามที่เวียนวน เพื่อชี้นำให้เกิดความเข้าใจผิด และเสียหายต่อบุคคลที่ไม่ได้อยู่ในสภา แต่นายปดิพัทธ์ วินิจฉัยยืนยันว่า นายณัฐชา สามารตั้งกระทู้ถามได้ เพราะเป็นการถามมาตรฐานการใช้กฎหมาย

ก่อนที่ น.ส.ศรีญาดา ประท้วงอีกครั้ง เพราะเห็นว่าการถามกระทู้ของนายณัฐชา เป็นการออกความเห็นด้านกฎหมาย และใช้วาทกรรมบิดเบือนให้เกิดความเข้าใจผิด จนทำให้ "นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร" สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ลุกขึ้นประท้วง น.ส.ศรีญาดา ให้รับฟังคำวินิจฉัยของประธานการประชุม เพราะถือเป็นที่เด็ดขาด และหากยังประท้วงวนเวียนซ้ำซาก ก็ขอให้ประธานเชิญน น.ส.ศรีญาดา ออกจากห้องประชุม ซึ่งนายปดิพัทธ์ ได้วินิจฉัยให้นายณัฐชา ได้ตั้งกระทู้ถามต่อ

 

logoline