svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

เปิดปฏิบัติการวันแรกกู้ "ร.ล.สุโขทัย" กับภารกิจนำชื่อเรือขึ้นบก

22 กุมภาพันธ์ 2567
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

เปิดปฏิบัติการวันแรก "ไทย-สหรัฐ" รวม 49 ชีวิต ร่วมกู้เรือหลวงสุโขทัย ขณะที่ ผบ.ทร. ย้ำภารกิจเบื้องต้นนำป้ายชื่อเรือขึ้นมาก่อน เพื่อสร้างขวัญกำลังใจ พร้อมค้นหา 5 ผู้สูญหาย และปลดทำลายอาวุธ

22 กุมภาพันธ์ 2567 ถือเป็นปฏิบัติการครั้งแรกในรอบ 2 ปี สำหรับการกู้เรือหลวงสุโขทัยหลังจากได้เกิดเหตุอับปาง เมื่อวันที่ 18 ธ.ค. 2565 ระหว่างปฏิบัติหน้าที่นำทหารเรือและเจ้าหน้าที่ รวม 106 นาย เดินทางจากฐานทัพเรือสัตหีบ จ.ชลบุรี มุ่งหน้าไปร่วมงานเทิดพระเกียรติ กรมหลวงชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ หรือ "เสด็จเตี่ย" เนื่องในวันครบรอบ 142 ปี วันคล้ายวันประสูติ องค์พระบิดาของทหารเรือไทย ณ ศาลเสด็จเตี่ย ต.หาดทรายรี อ.เมืองชุมพร จ.ชุมพร

โดยเมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา "กองทัพเรือ" ได้นำสื่อมวลชน มาติดตามการปฏิบัติการอย่างเป็นทางการ ในการกู้เรือหลวงสุโขทัยแบบจำกัด คือ ไม่ได้กู้ทั้งลำ ซึ่งมีกองทัพเรือไทยและกองทัพสหรัฐฯ ร่วมกันปฏิบัติภารกิจครั้งนี้ โดยถือเป็นส่วนหนึ่งการฝึกคอบร้าโกลด์ ครั้งที่ 43 

ซึ่งการปฏิบัติการดังกล่าวจะดำเนินการทั้งการสำรวจ ปลดอาวุธยุทโธปกรณ์ และวัตถุอันตราย รวมถึงค้นหาผู้ที่ยังสูญหายอีก 5 นาย ในจุดที่เรือหลวงสุโขทัยจมลง ซึ่งอยู่ห่างจากท่าเรือประจวบ อ.บางสะพาน จ.ประจวบคีรีขันธ์ ประมาณ 22 ไมล์ทะเล หรือประมาณ เกือบ 40 กิโลเมตร 

สำหรับการปฏิบัติการครั้งนี้ กองทัพสหรัฐฯ ได้นำเรือ "โอเชี่ยน เวเลอร์" พร้อมเจ้าหน้าที่จากหน่วยประดาน้ำและกู้ซ่อมเคลื่อนที่ ซึ่งประจำอยู่ที่ฐานทัพเรือในรัฐฮาวาย จำนวน 14 นาย เข้าร่วมสนับสนุนการปฏิบัติภารกิจ ส่วนกำลังพลของกองทัพเรือไทย ทั้งหมด 35 นาย รวมทั้งหมด 49 นาย

อย่างไรก็ตาม การปฏิบัติการครั้งนี้ "พล.ร.อ.อะดุง พันธุ์เอี่ยม" ผู้บัญชาการทหารเรือ (ผบ.ทร.) ได้ร่วมตรวจเยี่ยมการปฏิบัติการบนเรือ "โอเชี่ยน เวเลอร์" โดยกล่าวถึงความคืบหน้า ว่า วันนี้ชุดปฏิบัติการชุดแรกได้ส่งนักประดาน้ำ 3 คน นำโดย ทหารสหรัฐ ซึ่งเป็นนักดำน้ำหลัก คนที่สอง คือ ทหารไทย เป็นนักดำน้ำสำรอง และคนที่ 3 ทหารสหรัฐฯ ทำหน้าที่สังเกตุการณ์บนผิวน้ำ

ทั้งนี้ ซึ่งชุดปฏิบัติการแต่ละชุดจะใช้เวลาทำภารกิจประมาณ 1 ชม. โดยนักประดาน้ำจะเข้าไปอยู่ในกระเช้า แล้วหย่อนลงไปที่พื้นทะเล นับตั้งแต่ลงน้ำไปจนถึงพื้นทะเล ใช้เวลา 10 นาที มีเวลาปฏิบัติงาน 45 นาที และใช้เวลากลับขึ้นมาอีก 10 นาที โดยจะทำการสลับชุดปฏิบัติการลงไปทำหน้าที่ตลอดทั้งวันจนถึงวันสุดท้าย คือ วันที่ 14 มี.ค.

สำหรับภารกิจหลักของวันนี้ คือ การนำป้ายชื่อเรือหลวงสุโขทัยขึ้นมาให้ได้ เพื่อสร้างขวัญกำลังใจให้กับเจ้าหน้าที่ ส่วนภารกิจตลอด 20 วัน ได้แบ่งสัดส่วนหน้าที่ คือ

โดย 1-5 วันแรก จะทำการสำรวจและถ่ายรูปเรือหลวงสุโขทัยทั้งลำ และหาผู้สูญหาย โดยภาพถ่ายจะนำมาประกอบสำนวนทางคดี เผื่อดูข้อเท็จจริงสาเหตุการอับปางของเรือ เบื้องต้น จากการสังเกตุภาพใต้น้ำในวันนี้ จุดที่น้ำเข้าตรงกับในสำนวนคดีที่กัปตันให้การไว้ ซึ่งในสำนวนคดี ระบุว่า ผู้การเรือหลวงสุโขทัย ให้การว่าก่อนที่เรือจะล่ม ได้สั่งให้มีการปิดประตูเรือตามแผนปฏิบัติ ซึ่งวันนี้ภาพใต้น้ำก็เห็นว่า มีการปิดประตูจริง ส่วนร่องรอยความเสียหายที่พบนั้นอยู่ที่หัวเรือ

ส่วนวันที่ 6-19 จะเป็นการทำลายอาวุธ วัตถุอันตราย ภายในเรือหลวงสุโขทัย และจะนำสิ่งของทุกอย่างที่นำขึ้นมาได้ ทั้งอุปกรณ์ และของที่มีคุณค่าทางจิตใจของกำลังพล โดยจะนำมาทำเป็นอนุสรน์สถาน 
 

 

สำหรับการค้นหาสาเหตุที่ทำให้เรือจมนั้น ยืนยันว่า หากได้ข้อมูลครบถ้วนแล้ว จะนำมาแถลงเพื่อให้คนไทยได้รับรู้อย่างเข้าใจถึงสาเหตุการอับปาง ทั้งนี้ หากชุดประดาน้ำพบวัตถุ หรือ ผู้สูญหาย หากนำขึ้นมาได้ ก็จะนำขึ้นมาทั้งหมด และถ้าพบผู้สูญหาย ก็นำไปตรวจดีเอ็นเอ เพราะมีเก็บตัวอย่างของญาติไว้ทั้งหมดแล้ว และกองทัพเรือจะเป็นเจ้าภาพประกอบพิธีศพให้เหมือนเดิม

ส่วนกองทัพเรือสหรัฐ มีอุปกรณ์ตัดเหล็กใต้น้ำ และมีเครนหลายตัวที่จะยกอุปกรณ์ขึ้นจากน้ำ ส่วนสภาพคลื่นใต้น้ำในวันนี้ น้ำใสมากเห็นตัวเรือชัดเจน และยังไม่มีอุปสรรค ซึ่งเชื่อว่าเป็นผลจากการสักการะบวงสรวงเสด็จเตี่ย ก่อนเริ่มภารกิจ โดยส่วนตัวได้ขอภาวนาขอให้คลื่นใต้น้ำคงสภาพแบบนี้ไปจนเสร็จสิ้นภารกิจ สำหรับสภาพเรือหลวงสุโขทัย ยังตั้งอยู่ที่พื้นทะเลในสภาพเดิม เอียง 7 องศา เพียงแต่กลายเป็นที่อยู่ของปลา และสัตว์น้ำชนิดอื่นๆ

ใช้ 110 ล้านกู้เรือหลวงสุโขทัย

สำหรับงบประมาณที่กองทัพเรือได้ตั้งไว้สำหรับภารกิจกู้เรือหลวงสุโขทัย 200 ล้าน แบ่งเป็น งบของกองทัพโดยตรง 110 ล้าน ของรัฐบาล 90 ล้าน 

โดย ผบ.ทร.ยืนยัน ว่า งบประมาณ 90 ล้าน จะคืนรัฐบาลแน่นอน เพื่อให้ไปใช้กับประชาชนด้านอื่น ส่วนค่าใช้จ่ายอื่นๆที่กองทัพเรือไทยจะต้องรับผิดชอบ ก็จะใช้งบประมาณของกองทัพ แต่ค่าใช้จ่ายในภารกิจนี้ ยังเทียบไม่ได้กับที่ทางกองทัพเรือสหรัฐช่วยสนับสนุน ซึ่งในขณะนี้ยังไม่สามารถสรุปออกมาเป็นตัวเลขได้ ซึ่งทางกองทัพเรือสหรัฐ ได้ใช้งบประมาณการฝึกคอบบร้าโกล์ มาทำภารกิจในครั้งนี้ 

ทั้งนี้ขอบคุณกองทัพเรือสหรัฐฯ ที่สนับสนุนกำลังพล จากเรือโอเชียน เวเลอร์ พร้อมอุปกรณ์ทั้งหมด รวมถึงงบประมาณ ในทำภารกิจครั้งนี้ ซึ่งตนเองมีความเข้าใจอย่างยิ่งว่า สหรัฐฯต้องใช้งบจำนวนมาก เนื่อจากเรือโอเชียน เวเลอร์นั้น เป็นเรือเปล่า ทำให้ต้องขนอุปกรณ์จากรัฐฮาวายผ่านทางเฮลิคอปเตอร์ นำมาขนถ่ายลงที่เรือโอเชียน เวเลอร์ ขณะจอดอยู่ที่สิงคโปร์ โดยมีการขนตั้งแต่วันที่ 1-10 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา 

พร้อมย้ำว่า กองทัพเรือไทยมีความซาบซึ้งและขอขอบคุณกองทัพสหรัฐ เป็นอย่างมาก เพราะตอนนี้เข้าใจแล้วว่า เอกสารการจัดซื้อจัดจ้าง หรือ TOR ให้บริษัทมาดำเนินการกู้เรือหลวงสุโขทัยนั้นไม่ผ่าน เนื่องจากเอกสารไม่ครบ เพราะต้องใช้อุปกรณ์จำนวนมาก และสหรัฐฯได้เสนอตัวในขณะที่กองทัพเรือไทยกำลังต้องการพอดี

logoline