svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

ประวัติ "ทักษิณ ชินวัตร" อดีตนายกฯ ไทย กับเรื่องราวที่คุณ(อาจ)ไม่เคยรู้

13 กุมภาพันธ์ 2567
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

เปิดประวัติ "ทักษิณ ชินวัตร" อดีตนายกฯ คนที่ 23 ของไทย กับเรื่องราวที่คุณ(อาจ)ไม่เคยรู้ พร้อมย้อนเส้นทางบนถนนการเมือง กับผลงานที่หลายคนยังจดจำ สู่ผู้ลี้ภัย กลับแผ่นดินเกิด และคดีที่ยังรอการตัดสิน

เริ่มกันที่ประวัติ "ทักษิณ ชินวัตร" เกิดเมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม พ.ศ. 2492 ที่ อ.สันกำแพง จ.เชียงใหม่ เป็นบุตรคนที่ 2 ในจำนวน 10 คนของเลิศ และยินดี ชินวัตร ธิดาในเจ้าจันทร์ทิพย์ (ณ เชียงใหม่) ระมิงค์วงศ์ ผู้เป็นธิดาในเจ้าไชยสงคราม (สมพมิตร ณ เชียงใหม่)

มีพี่น้อง 10 คน อาทิ 

  • นางเยาวเรศ ชินวัตร อดีตประธานสภาสตรีแห่งชาติในพระบรมราชินูปถัมภ์ คนที่ 20 
  • นางเยาวภา วงศ์สวัสดิ์ อดีตที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี อดีต สส.เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย (สมรสกับนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกรัฐมนตรี)
  • นายพายัพ ชินวัตร อดีต สส.เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย
  • น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี

น.ส.ยิ่งลักษณ์ อดีตนายกรัฐมนตรี น้องสาวทักษิณ ชินวัตร  

ทักษิณ ชินวัตร และครอบครัว
คุณหญิงพจมาน กับอิ๊งค์-แพทองธาร
ทักษิณ สมรสกับคุณหญิงพจมาน ดามาพงศ์ หลังลาออกจากราชการตำรวจ ในปี พ.ศ. 2523 มีบุตรด้วยกัน 3 คน ได้แก่ 

  • พานทองแท้ ชินวัตร (โอ๊ค) 
  • พินทองทา ชินวัตร (เอม) สมรสกับณัฐพงศ์ คุณากรวงศ์ เมื่อปี 2554 
  • แพทองธาร ชินวัตร (อิ๊งค์)

ทักษิณ กับคุณหญิงพจมาน
ในปลาย พ.ศ. 2551 คุณหญิงพจมานจดทะเบียนหย่ากับทักษิณ

การศึกษา

  • ระดับมัธยมจากโรงเรียนมงฟอร์ตวิทยาลัย (ปีการศึกษา 2508)
  • ระดับอุดมศึกษา ที่โรงเรียนเตรียมทหาร รุ่นที่ 10 (พ.ศ. 2512)
  • โรงเรียนนายร้อยตำรวจ รุ่นที่ 26 (พ.ศ. 2516) โดยสอบได้ที่ 1 ของรุ่น
  • ระดับปริญญาโท โดยได้รับทุนของสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) ในสาขากระบวนการยุติธรรม ที่มหาวิทยาลัยอีสเทิร์นเคนทักกี (สำเร็จการศึกษาในปี พ.ศ. 2518)
  • ระดับปริญญาเอกในสาขาเดียวกัน ที่มหาวิทยาลัยแซมฮิวสตันสเตต (พ.ศ. 2521)
  • ได้รับดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ ในสาขาวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (พ.ศ. 2537)
  • ได้รับการแต่งตั้งเป็นศาสตราจารย์พิเศษ แห่งมหาวิทยาลัยทากุโชกุ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น (พ.ศ. 2550)

ประวัติ \"ทักษิณ ชินวัตร\" อดีตนายกฯ ไทย กับเรื่องราวที่คุณ(อาจ)ไม่เคยรู้
ชื่อเล่นจริงๆ ของทักษิณ ไม่ใช่ "แม้ว" 

ทักษิณ ชินวัตร มีชื่อเล่นว่า "น้อย" ส่วน "แม้ว" ที่ติดหูหลายคนนั้น เป็นฉายาที่เพื่อนร่วมรุ่นในโรงเรียนเตรียมทหารตั้งให้

ประวัติ \"ทักษิณ ชินวัตร\" อดีตนายกฯ ไทย กับเรื่องราวที่คุณ(อาจ)ไม่เคยรู้
นอกจากนี้ เขายังมีนามแฝงว่า "โทนี่ วู้ดซัม" (Tony Woodsome) ซึ่งเป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะในโลกโซเชียล จากการที่ใช้ชื่อนี้ใน "คลิปเฮ้าส์โทนี่" ของตัวเอง คาดว่าจากนามแฝงนี้ ทำให้เจ้าตัวถูกเรียก "โทนี่" หรือ "พี่โทนี่" ด้วย

ประวัติ \"ทักษิณ ชินวัตร\" อดีตนายกฯ ไทย กับเรื่องราวที่คุณ(อาจ)ไม่เคยรู้
แฟนบอล "เรือใบสีฟ้า" เรียกทักษิณว่า "แฟรงค์"

หากยังจำกันได้ เมื่อปี 2550 ทักษิณ ซื้อสโมสร "เรือใบสีฟ้า" แมนเชสเตอร์ ซิตี้ ทีมฟุตบอลในศึกพรีเมียร์ลีก อังกฤษ ก่อนขายต่อให้กับ ชีค มันซูร์ และกลุ่มทุนอาบูดาบี ในปี 2551

"ทักษิณ ชินวัตร" ขณะเป็นประธานสโมสรแมนฯ ซิตี้ สเวนโกรัน อิริคสัน ผู้จัดการทีม พร้อมลูกทีม ร่วมเปิดร้าน Man City Store ที่ชั้น 2 อาคารชินวัตร 3  (แฟ้มภาพ)
อย่างไรก็ดี เหล่าซิตี้เซนส์ เรียกทักษิณว่า "แฟรงค์" 

นอกเหนือจากที่กล่าวมาแล้ว ยังมีชื่อ "ทักกี้" ดังที่เราเห็นตามพาดหัว หรือในข่าวเกี่ยวกับทักษิณ บ่อยๆ 

ประวัติ \"ทักษิณ ชินวัตร\" อดีตนายกฯ ไทย กับเรื่องราวที่คุณ(อาจ)ไม่เคยรู้
รับราชการ-ทำธุรกิจ

ทักษิณ ชินวัตร เริ่มทำงานในตำแหน่งหัวหน้าแผนกแผน 6 กองวิจัยและวางแผน กองบัญชาการตำรวจนครบาล และรองผู้อำนวยการศูนย์ประมวลข่าวสาร กองบัญชาการตำรวจนครบาล นอกจากนี้ ยังเคยเป็นอาจารย์สอนโรงเรียนนายร้อยตำรวจ ในปี พ.ศ. 2518 - 2519

ในปี 2523 ทักษิณเริ่มต้นทำธุรกิจส่วนตัวหลายอย่าง ในระหว่างรับราชการตำรวจ เช่น ค้าขายผ้าไหม กิจการโรงภาพยนตร์ ธุรกิจคอนโดมิเนียม แต่ประสบความล้มเหลว มีภาระหนี้สินกว่า 50 ล้านบาท ต่อมา ในปี พ.ศ. 2530 ทักษิณลาออกจากราชการตำรวจ หลังจากนั้น ได้ตั้ง บริษัท ชิน คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ก่อนจะก้าวขึ้นมาเป็นมหาเศรษฐีของไทย 

ประวัติ \"ทักษิณ ชินวัตร\" อดีตนายกฯ ไทย กับเรื่องราวที่คุณ(อาจ)ไม่เคยรู้
เส้นทางบนถนนการเมือง

ทักษิณลาออกจากตำแหน่งประธาน บมจ.ชิน คอร์ปอเรชั่น ในปี 2537 และเริ่มต้นสนามการเมือง โดย พล.ต.จำลอง ศรีเมือง หัวหน้าพรรคพลังธรรม เป็นผู้ชักชวน ก่อนได้รับแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ในปี 2537 ในรัฐบาล "ชวน 1" 

จากนั้น ในปีต่อมา ทักษิณ เข้ารับตำแหน่งหัวหน้าพรรคพลังธรรมแทน พล.ต.จำลอง และดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี ในรัฐบาลบรรหาร ศิลปอาชา ในปี พ.ศ. 2539 ดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี ในรัฐบาล พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ กระทั่ง ในวันที่ 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2541 ทักษิณได้ก่อตั้ง "พรรคไทยรักไทย"
ประวัติ \"ทักษิณ ชินวัตร\" อดีตนายกฯ ไทย กับเรื่องราวที่คุณ(อาจ)ไม่เคยรู้
จนในที่สุด เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2544 สภาผู้แทนราษฎรมีมติเลือก ทักษิณ ให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของไทยคนที่ 23 หลังนำพรรคไทยรักไทย ชนะการเลือกตั้ง 248 เสียง และรัฐบาลพรรคไทยรักไทย ถือเป็นรัฐบาลชุดแรกที่มาจากการเลือกตั้งที่อยู่ครบวาระ 4 ปี (ระหว่างวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2544 ถึง 11 มีนาคม 2548 หลังจากสภาผู้แทนราษฎรครบวาระ)

หลังจากนั้น ทักษิณ ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอีกสมัยติดต่อกันเป็นสมัยที่ 2 เมื่อวันที่ 11 มีนาคม พ.ศ. 2548 ก่อนที่ในวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2549 เขาจะถูกคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือ คมช. ซึ่งนำโดย พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ผบ.ทบ. ในขณะนั้น กระทำรัฐประหารยึดอำนาจจากรัฐบาลทักษิณ 

ส่องนโยบาย "ทักษิณ" ขณะดำรงตำแหน่งนายกฯ

"Nation STORY"
ขอยกตัวอย่างนโยบายของรัฐบาล ภายใต้การนำของ "ทักษิณ ชินวัตร" ซึ่งมีหลายโครงการที่ยังเป็นที่จดจำของผู้คน ดังนี้

ประวัติ \"ทักษิณ ชินวัตร\" อดีตนายกฯ ไทย กับเรื่องราวที่คุณ(อาจ)ไม่เคยรู้
โครงการ 30 บาท รักษาทุกโรค 

ชื่อเรียกอย่างเป็นทางการคือ "โครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า" ซึ่งต่อมาคุ้นกันในนาม "บัตรทอง" โครงการดังกล่าว เป็นนโยบายของรัฐบาลทักษิณ ที่ได้รับแนวคิดของ นพ.สงวน นิตยารัมภ์พงศ์ อดีตประธานชมรมแพทย์ชนบทรุ่นที่ 8 เป็นผู้บุกเบิกและศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการตั้งแต่ปี พ.ศ. 2533 จนมีการเสนอร่าง พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติเข้าสู่ที่ประชุมรัฐสภา

วัตถุประสงค์เพื่อให้ประชาชนมีหลักประกันสุขภาพ คนไทยทุกคนจ่ายเพียง 30 บาท ก็สามารถรับบริการรักษาโรคได้ จุดเน้นเป้าหมายคือ "รากหญ้า" โดยไม่มีการเลือกปฏิบัติ ด้านการรักษาสุขภาพ โดยภาครัฐจะให้ประชาชนลงทะเบียนกับโรงพยาบาล และรัฐจัดสรรงบประมาณลงในโรงพยาบาลตามจำนวนคน มีการแจกบัตรประจำตัวให้แก่ผู้รับบริการที่เรียกกันว่า "บัตรทอง" เพราะไม่ต้องจ่ายเงินแม้แต่บาทเดียว 
ประวัติ \"ทักษิณ ชินวัตร\" อดีตนายกฯ ไทย กับเรื่องราวที่คุณ(อาจ)ไม่เคยรู้
โครงการนี้ช่วยเพิ่มการเข้าถึงสาธารณสุขเพิ่มขึ้นจาก 76% ของประชากรเป็น 96% ของประชากร ถึงแม้จะถูกโจมตีเรื่องคุณภาพในการรักษาจาก "ฝ่ายขั้วตรงข้าม" แต่โครงการนี้ก็ยังเป็นที่นิยมในหมู่คนชนบท ซึ่งไม่มีทางเลือกมากนัก

นโยบายด้านเศรษฐกิจ

"รัฐบาลทักษิณ" ได้ออกแบบนโยบายเพื่อตอบสนองผู้ออกเสียงลงคะแนนฝ่ายข้างมากในชนบท โดยริเริ่มโครงการอย่างกองทุนพัฒนาไมโครเครดิตที่หมู่บ้านเป็นผู้จัดการ เงินกู้ยืมการเกษตรดอกเบี้ยต่ำการอัดฉีดเงินสดเข้ากองทุนพัฒนาหมู่บ้านโดยตรง (แผนเอสเอ็มแอล) การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน โครงการหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ หรือที่รู้จักกันในชื่อ "โอทอป" (OTOP) โครงการพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมชนบท

กองทุนหมู่บ้าน 
ประวัติ \"ทักษิณ ชินวัตร\" อดีตนายกฯ ไทย กับเรื่องราวที่คุณ(อาจ)ไม่เคยรู้

"กองทุนหมู่บ้าน" เป็นโครงการของรัฐบาลทักษิณ ที่ดำเนินการจัดตั้งกองทุนในทุกหมู่บ้านๆ ละ 1 ล้านบาท วัตถุประสงค์เพื่อเป็นกองทุนหมุนเวียนให้ชาวบ้านได้มีแหล่งเงินทุนให้กู้ยืมเพื่อประกอบอาชีพ และดำรงชีพ โดยแต่ละหมู่บ้านจะได้รับสิทธิในการบริหารเงินกองทุนด้วยตัวเองทุกขั้นตอน โดยคนในหมู่บ้านจะเลือกสรรคณะกรรมการมาจัดสรรกองทุนกันเอง มีสำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ หรือ สทบ. เป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบดูแลภาพรวมทั้งหมด

ปลดหนี้ไอเอ็มเอฟ

จากวิกฤตการณ์การเงินในเอเชีย พ.ศ. 2540 ทำให้ประเทศไทยจำเป็นต้องกู้เงินจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) เพื่อมาประคองเศรษฐกิจของประเทศ ประเทศไทยไม่สามารถดำเนินนโยบายเศรษฐกิจได้อย่างเสรี จำยอมต้องดำเนินนโยบายการเงินและคลังตามเงื่อนไขที่เข้มงวดของ "ไอเอ็มเอฟ" แม้ทักษิณจะได้รับคำทัดทานว่าอาจจะทำให้ประเทศขาดสภาพคล่อง แต่เขาก็เร่งรัดให้มีการใช้หนี้ไอเอ็มเอฟก่อนกำหนด ด้วยเหตุผลที่ว่า 

"...ผมมีประสบการณ์เป็นนักกู้เงินมาก่อน ถ้าเราเป็นหนี้แล้วใช้คืนได้เขาถึงว่าเราเป็นลูกค้าชั้นดีที่จะให้กู้มากขึ้นอีก"

การชำระหนี้ดังกล่าว เป็นการชำระก่อนกำหนดถึง 2 ปี การพ้นพันธะจาก "ไอเอ็มเอฟ" ทำให้รัฐบาลสามารถแก้ไขกฎหมายฟื้นฟูเศรษฐกิจ 11 ฉบับ และไม่ต้องเพิ่มภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นร้อยละ 10 นักลงทุนเกิดความเชื่อมั่นในเศรษฐกิจไทย ส่งผลให้มีกระแสเงินเข้ามาลงทุนในภาคเศรษฐกิจของไทยมากขึ้น จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2547 ประเทศไทยได้รับการปรับระดับอันดับเครดิต (Credit rating) โดยสแตนดาร์ดแอนด์พัวร์ส จากระดับ BBB ขึ้นสู่ระดับ BBB+

หวยบนดิน (สลากเลขท้าย 3 ตัวและ 2 ตัว)

ทักษิณ กำหนดให้มีการออกสลากกินแบ่งรัฐบาลแบบเลขท้าย 2 และ 3 ตัว ซึ่งเรียกว่า "หวยบนดิน" ขึ้นมาเพื่อดึงเม็ดเงินเข้าสู่ระบบ และมีการยกเว้นการเก็บภาษีกับสลากประเภทนี้ โดยเขาตระหนักว่าธุรกิจหวยใต้ดินนั้นมีเงินหมุนเวียนมหาศาล และรัฐไม่ได้รับประโยชน์ใดๆ อีกทั้ง ธุรกิจหวยใต้ดินยังเป็นเสมือนบ่อเงินบ่อทองของเหล่าผู้มีอิทธิพล จึงได้กำหนดให้มีการออกสลากฯ ดังกล่าว

ส่วนรายได้จากการจำหน่ายสลากประเภทนี้หลังหักค่าใช้จ่าย หากกองทุนมีเงินส่วนเกินเหลือเหมาะสมเพียงพอในแต่ละช่วงเวลาจะจัดสรร รายได้ส่วนเกินดังกล่าวคืนสู่สังคมเพื่อสนับสนุนการศึกษา การแพทย์ ศาสนา สังคม และสาธารณประโยชน์อื่นๆ

นโยบายต้านยาเสพติด

ทักษิณ ได้ริเริ่มนโยบายซึ่งมีข้อโต้เถียงอย่างสูงหลายอย่าง เพื่อตอบโต้การเติบโตของตลาดยาเสพติดไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง "เมแทมเฟตามีน" หลังนโยบายต้านยาเสพติดก่อนหน้านี้ เช่น การปิดพรมแดน การศึกษาสาธารณะ กีฬา และการสนับสนุนแรงกดดันกลุ่มต่อการใช้ยาเสพติดให้ผลไม่ค่อยมีประสิทธิภาพเท่าใดนัก นอกจากนี้ ยังออกการรณรงค์ปราบปรามหลายทิศทาง มุ่งจำกัดการใช้เมทแอมเฟตามีนใน 3 เดือน โดยเปลี่ยนการลงโทษสำหรับการติดยาเสพติด การตั้งเป้าหมายการจับและยึดของจังหวัด การให้รางวัลข้าราชการของรัฐสำหรับการบรรลุเป้าหมาย การกำจัดผู้ค้าและสั่งการนำไปปฏิบัติอย่างไร้ปราณี

"ทักษิณ" กลับประเทศไทย 
ประวัติ \"ทักษิณ ชินวัตร\" อดีตนายกฯ ไทย กับเรื่องราวที่คุณ(อาจ)ไม่เคยรู้


ทักษิณ ชินวัตร ก้ม "กราบแผ่นดิน" หลังจากเดินทางกลับเข้าประเทศไทยครั้งแรก เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2551 นับจากรัฐประหารปี 2549

หลังจากนั้น ในวันที่ 31 กรกฎาคม 2551 ศาลฎีกาฯ อนุญาตให้ "ทักษิณ-พจมาน" เดินทางไปประเทศจีน เพื่อร่วมพิธีเปิดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกฤดูร้อน 2008 ที่กรุงปักกิ่ง ตามคำเชิญของรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน แต่ทั้งสองกลับเดินทางต่อไปยังประเทศอังกฤษ เพื่อขอลี้ภัยทางการเมือง โดยไม่เดินทางกลับมารายงานตัวต่อศาลคดีการเมือง

ต่อมา วันที่ 1 ตุลาคม 2551 ศาลสั่งจำคุกทักษิณ 2 ปี ในข้อหาทุจริต แม้เขาอยู่ต่างแดน

ในปี 2558 คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ใช้อำนาจ มาตรา 44 ถอดยศทักษิณ โดยระบุ "เป็นกรณีกระทบต่อความมั่นคงของชาติ และมีความจําเป็นต้องดําเนินการเป็นการด่วน"

ประวัติ \"ทักษิณ ชินวัตร\" อดีตนายกฯ ไทย กับเรื่องราวที่คุณ(อาจ)ไม่เคยรู้
ทักษิณ ชินวัตร พร้อม พานทองแท้ , พินทองทา ชินวัตร คุณากรวงศ์ , แพทองธาร
22 สิงหาคม ปี 2566 ทักษิณ ชินวัตร เดินทางกลับประเทศไทย ด้วยเครื่องบินเจ็ทส่วนตัว ก่อนที่ตำรวจจะนำตัวส่งศาลฎีกา (สนามหลวง) แผนกคดีอาญาของผู้ดํารงตําแหน่งทางการเมือง เพื่อแสดงตนต่อศาล จากนั้น ศาลจึงแจ้งและอ่านคดีความให้รับทราบ ก่อนออกหมายจำคุก

สรุป 3 คดี ที่ทักษิณต้องได้รับโทษ 

  • คดีทุจริตปล่อยกู้เอ็กซิมแบงก์ (Exim Bank) โทษจำคุก 3 ปี
  • คดีออกสลากหวยบนดิน โทษจำคุก 2 ปี
  • คดีแก้สัมปทานเอื้อประโยชน์ให้ชินคอร์ป โทษจำคุก 5 ปี

โดยคดีการปล่อยกู้ของ Exim Bank  ให้นับโทษคดีหวยบนดิน ไปด้วย เหลือโทษจำคุก ในคดีที่ 1 และ คดีที่ 2 เพียง 3 ปี ส่วนคดีแก้สัมปทานเอื้อ "ชินคอร์ป" ให้นับต่อจาก 3 ปี ใน 2 คดีแรก รวมแล้ว จำคุก 3 คดี เป็นระยะเวลา 8 ปี (3 ปี (คดีที่ 1= 3 ปี, คดีที่ 2 = 2 ปี นับโทษซ้อนกัน ) +5 ปี)

หลังฟังคำพิพากษา เจ้าหน้าที่ได้นำตัวส่งเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ทันที

กระทั่งช่วงกลางดึก เข้าวันที่ 23 สิงหาคม ทักษิณถูกนำตัวส่งโรงพยาบาลตำรวจ เนื่องจากอาการป่วยกำเริบ ต่อมามีการทำเรื่อง ขอพระราชทานอภัยโทษ จนได้รับพระราชทานพระมหากรุณาอภัยลดโทษ จากโทษจำคุก 8 ปี เหลือจำคุก 1 ปี

ประวัติ \"ทักษิณ ชินวัตร\" อดีตนายกฯ ไทย กับเรื่องราวที่คุณ(อาจ)ไม่เคยรู้
เปิดแฟ้ม 3 คดีใหญ่ ของ "ทักษิณ" ที่รอการตัดสิน

1.คดีมาตรา 112  

คดีนี้ สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ.2558 ทักษิณได้ไปให้สัมภาษณ์กับสื่อ ที่กรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้ โดยมีเนื้อหาบางช่วงบางตอนกระทบต่อสถาบันฯ ต่อมา กองทัพบกในยุคคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มอบหมายสำนักพระธรรมนูญ แจ้งความกับกองบังคับการปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) เอาผิดทักษิณ ตามมาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ 

จากนั้น ในปี 2559 บก.ปอท. ได้ส่งสำนวนคดีให้กับอัยการสูงสุด กระทั่งในวันที่ 19 กันยายน 2559 อัยการสูงสุดได้มีความเห็นควรสั่งฟ้อง
ประวัติ \"ทักษิณ ชินวัตร\" อดีตนายกฯ ไทย กับเรื่องราวที่คุณ(อาจ)ไม่เคยรู้
เมื่อทักษิณ เดินทางกลับประเทศไทยในเดือนสิงหาคม 2566 และเข้ารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาลตำรวจ พนักงานสอบสวนได้มีการแจ้งอายัดตัวต่อกรมราชทัณฑ์ และในวันที่ 17 มกราคม 2567 ได้มีการแจ้งข้อกล่าวหาให้ ทักษิณ รับทราบ แต่เจ้าตัวให้การปฏิเสธ พร้อมกับยื่นหนังสือร้องขอความเป็นธรรมต่ออัยการสูงสุด

คดีนี้หมดอายุความ ปี 2573

2.คดีเหมืองแร่ จ.พังงา 

คดีดังกล่าว ทักษิณ กับพวก ถูกร้องเรียนเมื่อครั้งดำรงตำแหน่ง รอง ผอ.ศูนย์ปราบปรามแร่เถื่อน โดยมีการกล่าวหาว่ามีการใช้อุปกรณ์ทำเหมืองแร่ผิดกฎหมาย มีการให้สัมปทาน

สถานะคดีปัจจุบัน อยู่ระหว่างกระบวนการของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) โดยคดีจะหมดอายุความในปี 2569

3.คดีไทยแอร์เอเชีย

คดีนี้กล่าวหาว่า ทักษิณ กับพวก อนุมัติให้บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท.สนับสนุนบริษัท แอร์เอเชีย จำกัด (มหาชน) ให้เข้ามาทำธุรกิจสายการบินต้นทุนต่ำ และมีการแก้ไขข้อบังคับหลายอย่างในขณะที่กลุ่มชินคอร์ปถือหุ้นในแอร์เอเชียอยู่ 51%

สถานะคดีปัจจุบัน อยู่ระหว่างกระบวนการของ ป.ป.ช. คดีจะหมดอายุความในปี 2569

ประวัติ \"ทักษิณ ชินวัตร\" อดีตนายกฯ ไทย กับเรื่องราวที่คุณ(อาจ)ไม่เคยรู้
นี่ก็เป็นเรื่องราวของ "ทักษิณ ชินวัตร" ที่ Nation STORY หยิบมาเล่าให้ฟังกันในครั้งนี้ หลังจากนี้ คงต้องดูกันต่อ 3 คดีของ "พี่โทนี่" ที่รอการตัดสิน บทสรุปจะลงเอยอย่างไร 


 

อ้างอิงจาก
https://www.bangkokbiznews.com/politics/1112036
https://www.bangkokbiznews.com/blogs/politics/1112648
https://www.springnews.co.th/news/infographic/847612
https://thestandard.co/onthisday19092549-2/
https://thaipublica.org/jabted_people/thaksin-primeminister-23/
https://www.thairath.co.th/sport/eurofootball/premierleague/1886232
https://www.goal.com/th/
https://www.bbc.com/thai/thailand-66380532
https://waymagazine.org/thaksin-fact/
วิกิพีเดีย

logoline