svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

"ตะวัน ทะลุวัง" บีบแตรขบวนเสด็จ-สนั่นลาม "พิธา" สะเทือนถึง "ก้าวไกล"

10 กุมภาพันธ์ 2567
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

จากประเด็นที่ "ตะวัน ทะลุวัง" ได้กระทำการขัดขวางด้วยการบีบแตรขบวนเสด็จ โดยเหตุเกิดเมื่อวันที่ 4 ก.พ. เวลาประมาณ 18.20 น. บริเวณทางลงด่วนพหลโยธิน 1 (อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ) ก่อนคลิปนี้จะถูกแพร่หลายบนโลกโซเชียลมีเดีย

จากการกระทำดังกล่าวเกิดขึ้นคล้อยหลังศาลรัฐธรรมนูญ ได้มีคำวินิจฉัยโดยเป็นมติเอกฉันท์เกี่ยวกับประเด็นมาตรา 112 และกำลังลุกลามไปยัง "ก้าวไกล" รวมถึง "ด้อมส้ม" ให้ต้องเจอแรงกระเพื่อม 

การเคลื่อนไหว "ตะวัน ทะลุวัง" กระทบกับอะไร

ส่งผลให้บรรดาซีกการเมืองออกมาเคลื่อนไหว เริ่มตั้งแต่ "ชาดา ไทยเศรษฐ์" รมช.มหาดไทย ที่ออกมาประกาศชัดเจนว่า จะไม่ปล่อยให้เกิดขึ้นในรอบหน้า

ตามมาด้วย "ชัยชนะ เดชเดโช" สส.นครศรีธรรมราช และรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ 

หรือแม้กระทั่งล่าสุด อย่าง "วิโรจน์ ลักขณาอดิศร" และ "กรุณพล เทียนสุวรรณ" 2 สส.บัญชีรายชื่อ จากพรรคก้าวไกล เองก็ได้ออกมาให้ความเห็นต่อการกระทำในครั้งนี้  

ซึ่งประเด็นดังกล่าวในมิติทางการเมือง กำลังถูกจับโยงไปถึงประเด็นการนิรโทษกรรม ที่ได้มีการตั้งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการตรา พ.ร.บ. นิรโทษกรรม สภาผู้แทนราษฎร จำนวน 35 คน ที่มี "ชูศักดิ์ ศิรินิล" สส.บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย เป็นประธาน 

เนื่องด้วยการนิรโทษกรรมที่กำลังพูดถึงกันอยู่นั้น ท่ามกลางการจับตามว่าจะรวมไปถึงผู้ที่กระทำผิดมาตรา 112 ด้วยหรือไม่    

 

   

ผลอีกประการตามมา

การเคลื่อนไหวของ "ตะวัน ทะลุวัง" ครั้งนี้ ก็ส่งแรงสะเทือนไปถึง "พิธา ลิ้มเจริญรัตน์" ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคก้าวไกล ทางอ้อม เพราะต้องไม่ลืมว่า "ตะวัน" ตกเป็นผู้ต้องหาใน 2 คดีที่เกี่ยวข้องกับมาตรา 112 และ พิธา เองก็ใช้ตำแหน่งในการประกันออกมา 

ขณะเดียวกัน "พิธา" และ "ก้าวไกล" ก็เผชิญกับคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ เมื่อวันที่ 31 ม.ค. 2567 ซึ่งเวลานั้นศาลก็ได้มีมติเอกฉันท์ให้การหาเสียงแก้ไขรัฐธรรมนูญ ถือเป็นการล้มล้างการปกครอง ตามมาตรา 49 วรรคหนึ่ง ของรัฐธรรมนูญ 2560 พร้อมทั้งมีคำสั่งให้ยุติธรรมการกระทำตามวรรคหนึ่ง

จากประเด็นดังกล่าวส่งผลให้นักร้องหลายราย ทั้ง "ธีรยุทธ สุวรรณเกษร" ผู้ยื่นศาลให้วินิจฉัยล้มล้างการปกครอง และ "เรืองไกร ลีกิจวัฒนะ" สมาชิกพรรคพลังประชารัฐ หยิบคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ที่มีผลผูกพันกับทุกองค์กร ยื่นต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต. เพื่อให้ยื่นศาลยุบพรรคก้าวไกล อีกทั้ง ยังลามไปถึง 44 สส.ของก้าวไกล ที่ร่วมลงชื่อแก้ไขมาตรา 112 ที่ยื่นต่อประธานสภา ต้องถูกตรวจสอบมาตราจริยธรรมร้ายแรง ซึ่งเรื่องนี้ก็เพิ่งถึงมือ ป.ป.ช. ไปเรียบร้อยแล้ว 
 

"พิธา" เกี่ยวอย่างไรกับการกระทำ 

ย้อนกลับไปข้างต้น "พิธา" คือผู้ใช้ตำแหน่ง สส. เป็นนายประกัน "ตะวัน ทะลุวัง" แต่ขณะเดียวกันในวันที่ศาลรัฐธรรมนูญอ่านคำตัดสิน วันที่ 31 ม.ค. ก็ได้มีการพูดถึงประเด็นนี้ไว้

โดย "ตะวัน ทะลุวัง" เคยถูกจับถึง 2 ครั้ง ในข้อหา 112 

ครั้งแรก วันที่ 8 ก.พ. 2565 กรณีทำโพลติดสติกเกอร์เรื่องขบวนเสด็จ ที่ศูนย์การค้าแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ ต่อมาได้รับการประกันตัว 

ครั้งที่ 2 วันที่ 5 มี.ค. 2565 ถูกดำเนินคดีกรณีเฟซบุ๊กไลฟ์รอรับขบวนเสด็จ บริเวณถนนราชดำเนิน และต่อมาก็ได้รับการประกันตัวอีกครั้ง

แต่ก็ถูกถอนประกัน เมื่อวันที่ 20 เม.ย. 2566 กรณีแชร์ข้อความในเฟซบุ๊กที่เข้าข่ายความผิดตามมาตรา 112 และมีพฤติกรรมขับรถเข้าใกล้พื้นที่รับเสด็จ 

ซึ่งหลังถอนประกัน "ตะวัน" ได้ถูกส่งตัวเข้าทัณฑสถานหญิงกลาง และระหว่างนั้นได้อดอาหารประท้วงเป็นเวลา 37 วัน ก่อนที่ "พิธา" จะยื่นประกันโดยเป็นนายประกัน โดยศาลมีเงื่อนไขให้พิธาปฏิบัติตามด้วย โดยเฉพาะการตักเตือนควบคุมไม่ให้กระทำผิดเงื่อนไขของศาลอีก 


"นายประกัน" คืออะไร-มีหน้าที่อย่างไร

เว็บไซต์ศาลยุติธรรม ระบุว่า "ผู้ประกัน" หรือ "นายประกัน" หมายถึง บุคคลที่นำทรัพย์สินของตน ซึ่งเรียกว่า "หลักประกัน" มาวางไว้ต่อศาล เพื่อเป็นหลักประกันในการชำระหนี้หากมีกรณีผิดสัญญาประกันตัวผู้ต้องหาหรือจำเลย ในการ "ปล่อยชั่วคราว" ผู้ต้องหาหรือจำเลย ตามการอนุญาตของศาล

โดย "หลักประกัน" ไม่ได้หมายถึงเฉพาะทรัพย์สินเพียงอย่าเดียว แต่ยังรวมถึงตำแหน่งทั้งในทางราชการ และทางการเมืองบางตำแหน่ง ก็สามารถใช้ได้เช่นกัน อย่างเช่น สส. 

นอกจากนี้ "นายประกัน" เองก็ยังมีหน้าที่นอกเหนือจากการใช้ทรัพย์สินหรือตำแหน่งมาเพื่อเป็นหลักประกันขอให้ปล่อยชั่วคราวผู้ต้องหาหรือจำเลย คือ ต้องนำตัวผู้ต้องหาหรือจำเลยมาศาลตามเวลาที่ศาลกำหนด จนกว่าศาลจะวินิจฉัยชี้ขาดคดี หรือมีคำสั่งให้ความรับผิดชอบตามสัญญาประกันหมดไป 

หากผู้รับประกันไม่สามารถนำตัวผู้ต้องหาหรือจำเลยมาศาลตามกำหนดได้ โดยไม่มีเหตุอันสมควร ถือว่าผิดสัญญาประกัน ศาลจะมีคำสั่งปรับผู้ประกันตามวงเงินที่กำหนดไว้ในสัญญาประกัน 

นอกจากนี้ กรณีศาลอนุญาตให้ประกันโดยมีเงื่อนไข เช่น ให้ผู้ต้องหาหรือจำเลยไปรายงานตัวต่อพนักงานสอบสวน หรือเจ้าหน้าที่ศาล หรือห้ามออกนอกราชอาณาจักร หรือเงื่อนไขอย่างอื่น ผู้ต้องหาหรือจำเลยและผู้ขอประกัน ก็ต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขดังกล่าวทั้งหมดด้วย 

ผู้ประกันจึงต้องคอยติดตามอยู่เสมอว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยอยู่ที่ใด ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่ศาลกำหนดอย่างครบถ้วนหรือไม่ 

และยังมีเรื่องที่เพิ่งผ่านพ้นไปหมาดๆ เมื่อวันที่ 5 ก.พ. จากกรณีศาลแขวงปทุวัน ได้มีคำพิพากษา 8 จำเลย ประกอบด้วย 

  1. ณัฏฐา มหัทธนา
  2. พริษฐ์ ชีวารักษ์
  3. ธนวัฒน์ วงค์ไชย
  4. ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ
  5. ปิยบุตร แสงกนกกุล
  6. พรรณิการ์ วานิช
  7. พิธา ลิ้มเจริญรัตน์
  8. ไพรัฏฐโชติก์ จันทรขจร


ในความผิดฐานชุมนุมแฟลชม็อบ บริเวณสกายวอล์ก หน้าหอศิลปวัฒนธรรมกรุงเทพ เมื่อวันที่ 14 ธ.ค. 2562 ภายหลัง กกต. มีมติยื่นศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยยุบพรรคอนาคตใหม่ คดีกู้ยืมเงินจากธนาธร จำนวน 191 ล้านบาท และจำเลยยังได้สลับกันขึ้นปราศรัยในการชุมนุมดังกล่าว

ก่อนศาลจะพิพากษาจำคุก จำเลยทั้ง 8 คน เป็นเวลา 4 เดือน พร้อมปรับ 10,000 บาท แต่ให้รอลงอาญา 2 ปี ส่วนกรณีที่จำเลยไม่แจ้งการชุมนุมและใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต เป็นความผิดตามพ.ร.บ.ปรับพินัยฯ ศาลสั่งปรับ 20,200 บาท

โดยจำเลยทั้งหมดเตรียมจะยื่นอุทธรณ์คดี เพราะยังมีประเด็นข้อสงสัยเรื่องของระยะของการชุมนุมใกล้เขตพระราชฐาน ว่าอาจจะมีความคลาดเคลื่อนของ 150 เมตร ว่าวัดจากจุดไหน เพื่อให้เป็นบรรทัดฐานกับคดีอื่นๆ 

ทั้งหมดนี้เป็นเพียงภาพรวมที่ถูกมัดเข้าไว้ด้วย และกลายเป็นทางวิบากให้กับตัว "พิธา" และก้าวไกล รวมถึงเครือข่าย 

 

 

 

logoline