svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

แพ็คเสียงการเมืองมองข้อเสนอ ป.ป.ช. ถึงรัฐปมเงินหมื่นดิจิทัล

มัดรวมความเห็น หลัง ป.ป.ช.มีข้อเสนอถึงรัฐบาลโครงการดิจิทัลวอลเล็ต ด้าน "จุรินทร์" ย้ำรัฐบาลหมดเวลายื้อ ต้องเดินหน้าให้ได้ตามหาเสียง ขณะที่ "สมชัย" แนะ รบ. ไม่ต้องฟังก็ได้ ลองเสนอเข้าสภามาดู จะได้รู้เป็นยังไง ด้าน "เรืองไกร" เตือนนโยบายนี้อาจไม่เหลือยิ่งกว่าจำนำข้าว

8 กุมภาพันธ์ 2567 จากกรณีที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช. ได้มีมติเกี่ยวกับนโยบายดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท โดยได้ชี้ถึง 4 จุดความเสี่ยง พร้อมทั้งได้เสนอแนะ 8 ข้อ ให้กับรัฐบาลใช้พิจารณาดำเนินการ  

หมดเวลายื้อโครงการดิจิทัลวอลเล็ต

โดย "นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์" สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ มองถึงข้อเสนอของ ป.ป.ช. ว่า ขณะนี้ รัฐบาลหมดเงื่อนไขที่จะซื้อเวลาแล้ว ดังนั้น ต้องตัดสินใจอย่างใดอย่างหนึ่ง และเชื่อว่าประชาชนก็ยังรอคำตอบอยู่ โดยข้อเสนอแนะของ ป.ป.ช. มีความชัดเจน และสะท้อนว่า ป.ป.ช. ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ พร้อมชื่นชม ป.ป.ช.ว่า มีทีมงานด้านเศรษฐกิจที่ดี มีศักยภาพสูงในการให้ความเห็นและทำหน้าที่ตรวจสอบต่อไปในอนาคต 

 

"ผมย้ำว่า ป.ป.ช.ชี้ชัดว่า เศรษฐกิจไม่ได้วิกฤติ ซึ่งหมายถึงเศรษฐกิจระดับมหภาค ดังนั้น ถ้ารัฐบาลจะตัดสินใจใด ๆ ต้องคำนึงถึงว่าจะต้องไม่ก่อให้เกิดการทุจริต ทั้งเชิงนโยบายและภาคปฏิบัติ หรือทำผิดกฎหมาย" นายจุรินทร์ กล่าว  

 

ส่วนหากรัฐบาลตัดสินใจอย่างใดอย่างหนึ่งจะเกิดผลดีหรือผลเสียอย่างไรนั้น เมื่อรัฐบาลหาเสียงไว้แล้วก็ต้องทำ พร้อมยืนยันว่า ตนเองไม่เคยขัดขวางโครงการดิจิทัลวอลเล็ต แต่พรรคการเมืองต้องแสดงความรับผิดชอบตามที่หาเสียงไว้ เมื่อทำหน้าที่เป็นรัฐบาล ก็ต้องทำให้ได้ เพราะจะทำให้นักการเมืองมีความรับผิดชอบมากขึ้น แม้จะใช้นโยบายโครงการประชานิยม ก็ต้องเป็นประชานิยมที่มีความรับผิดชอบ ที่ต้องทำให้ตรงปกและต้องรับผิดชอบตามผลที่ตามมา 

"รัฐบาลหมดเวลายื้อโครงการดังกล่าวแล้ว เพราะก่อนหน้านี้รัฐบาลอ้างกฤษฎีกา และวันนี้ ป.ป.ช.ก็มีคำแนะนำให้รัฐบาลแล้ว จึงหมดเวลาซื้อเวลาแล้ว" นายจุรินทร์ ระบุ   

 

ส่วนประเมินเศรษฐกิจประเทศไทยถึงขั้นวิกฤตเศรษฐกิจหรือไม่นั้น ยอมรับว่าประชาชนมีความเดือดร้อนจริง แต่ภาษากฎหมาย จะต้องเข้าเงื่อนไขเศรษฐกิจวิกฤต ซึ่งคำว่าเศรษฐกิจวิกฤต น่าจะหมายถึงเศรษฐกิจมหภาค ซึ่งเรื่องนี้ ป.ป.ช. ก็ให้ข้อเสนอแนะที่ชัดเจนอยู่แล้ว ดังนั้น จึงเป็นเรื่องที่รัฐบาลต้องตัดสินใจ จึงขอใช้โอกาสนี้ทวงถามแทนประชาชน

ท้ารัฐบาลเดินหน้าเสนอกม.เข้าสภาจะได้รู้เป็นยังไง

ขณะที่ "นายสมชัย ศรีสุทธิยากร" อดีตกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กล่าวถึงข้อเสนอของ ป.ป.ช. เกี่ยวกับโครงการดิจิทัลวอลเล็ตนั้น  ถือว่า ป.ป.ช. ไม่ได้ทำเกินหน้าที่ เพราะ พ.ร.ป. ว่าด้วยคณะกรรมการ ป.ป.ช. มาตรา 32 เขียนไว้ว่า ป.ป.ช. มีหน้าที่และอำนาจเสนอมาตรการความเห็นและข้อเสนอแนะต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อป้องกันหรือปราบปรามการทุจริต แม้โครงการยังไม่เกิด ก็เสนอเพื่อป้องกันได้

นอกจากนี้ เห็นว่าข้อเสนอที่ให้ กกต. ไปดูนโยบายในการหาเสียงของพรรคเพื่อไทย ว่ามีการปฏิบัติต่างจากการหาเสียงหรือไม่นั้น ไม่เป็นการก้าวก่ายหน้าที่ กกต. เพราะมาตรา 221 ของรัฐธรรมนูญ กำหนดให้องค์กรอิสระร่วมมือและช่วยเหลือกันเพื่อให้บรรลุเป้าหมายในการปฏิบัติหน้าที่

 

"ครม.ไม่ต้องปฏิบัติตามข้อเสนอของ ป.ป.ช. ก็ได้ เพราะข้อเสนอของ ป.ป.ช. เป็นเพียงการให้ข้อคิดเห็น รัฐบาลไม่จำเป็นต้องปฏิบัติตาม หากรัฐบาลเห็นว่าเป็นสถานการณ์จำเป็นเร่งด่วน ก็ออกเป็นพระราชกำหนด แต่หากอยากให้รัฐสภามีส่วนรับผิดชอบ ก็ออกเป็นพระราชบัญญัติ ครม. จะกล้าลงมติส่งร่าง พ.ร.บ. กู้เงิน 500,000 ล้านบาท เข้าสภาหรือไม่ และจะมีผลอย่างไรตามมา อยากรู้ก็ทำเลย" นายสมชัย กล่าว 

 

เตือนแล้วนะขาดทุนจะไม่เหลืออะไรยิ่งกว่าจำนำข้าว

ด้าน "นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ" สมาชิกพรรคพลังประชารัฐ กล่าวว่า เรื่องนี้มีโอกาสร้องเรียนได้ง่าย ซึ่งต้องรอดูในมติ ครม. และจากความเห็นของ ป.ป.ช. ถ้ากล้าทำก็ไม่รู้ ตนเตือนแล้ว จะออกพ.ร.บ.เงินกู้ไม่ได้หรอก และขอบคุณที่ ป.ป.ช. เตือน กกต. ว่าเรื่องนี้ไม่ควรปล่อยให้พรรคการเมืองสักแต่จะหาเสียง พูดอะไรก็ได้ สัญญิงสัญญากับประชาชนยังไงก็ได้ พอถึงเวลาก็มาบอกว่าจัดตั้งรัฐบาลไม่ได้

 

"ถ้าตระบัดสัตย์หรือโกหกพี่น้องประชาชน และจะไม่ทำสิ่งที่ไม่ถูกไม่ต้องอย่างหนึ่งได้ เอาแต่อำนาจ รวมหัวกันหาอำนาจ ทรยศเพื่อน ฉีด MOU การทำหน้าที่ต่างๆเหล่านี้ จึงฝากให้ตระหนักว่า ผมยังเป็นนักร้องอยู่ และนักตรวจสอบอยู่ ถ้าผมว่าง ผมจะทำ" นายเรืองไกร ระบุ

 

ส่วนเรื่องโครงการดิจิทัลวอลเล็ตใครที่อยากร้องเรีย นก็สามารถร้องได้ แต่ต้องเข้าใจนโยบายของรัฐบาลก่อน และต้องเข้าใจรัฐธรรมนูญ การจ่ายเงินแผ่นดิน 3,4 มาตรา ต้องเข้าใจกฎหมายวินัยการเงินการคลัง ต้องเข้าใจกฎหมายวิธีงบประมาณ เข้าใจกฎหมายหนี้สาธารณะ เข้าใจกฎหมายเงินคงคลัง ตนเขียนเรื่องนี้เตือน "นายเศรษฐา ทวีสิน" นายกรัฐมนตรี ไปแล้ว 4 แผ่น เป็นข้อกฎหมายล้วน ๆ และตนไม่แปลกใจที่กฤษฎีกา และ ป.ป.ช.ให้ความเห็นครั้งนี้

 

"เงินแผ่นดิน จะเอาไปทำอะไรต่างๆ เราทุกคนจะต้องเป็นคนใช้หนี้ ซึ่งโครงการดิจิทัลวอตเล็ต อาจจะทำให้ขาดทุนเหมือนโครงการรับจำนำข้าว ซึ่งโครงการรับจำนำข้าว แม้ขาดทุนก็ยังมีข้าวเปลือก แต่โครงการดิจิทัลวอลเล็ตหากขาดทุนจะไม่เหลืออะไรเลย และผมเตือนแล้ว ด้วยความรู้ความสามารถและประสบการณ์ของผม ไม่ได้ตั้งท่าว่าจะร้องอย่างเดียว ก็ต้องรอให้มีการทบทวนก่อน" นายเรืองไกร กล่าว

 

ส่วนตัวยังไม่ได้จะไปร้องเรียนเพราะแผลยังไม่เกิด ก็ยังไม่ต้องทายา แต่ถ้าเริ่มดำเนินการโครงการนี้ก็เข้าข่ายความผิดรัฐธรรมนูญ กฎหมาย ป.ป.ช. เลย ไม่ต้องห่วง ตนทำให้ แต่ตนกล่าวหาก็ไม่ใช้อารมณ์ ไม่ใช้ความเห็นรัฐบาล ก็มีสิทธิ์แก้ข้อกล่าวหา เจ้าหน้าที่มีหน้าที่ตรวจสอบเข้าตรวจสอบไป จะผิดจะถูกก็ฟังคำตัดสิน

สำหรับกรณีที่ "นายวัชระ เพชรทอง" อดีต สส. พรรคประชาธิปัตย์ ร้องเรียนตนกรณีได้รับรถเบนซ์จากผู้ใหญ่ใจดีในช่วงที่เป็นกรรมาธิการ (กมธ.) งบประมาณที่ผ่านมานั้น เรื่องนี้เป็นเรื่องเก่า และตนก็เคยชี้แจงไปแล้วว่า รถเบนซ์คันดังกล่าวผู้ใหญ่ใจดีซื้อให้ ซึ่งผู้ใหญ่ใจดีคนนั้น คือ ภรรยาของตนเอง ซึ่งขณะนี้ตนมีรถเบนซ์ ถึง 4 คัน ภรรยา 1 คัน ตนเอง 1 คัน และลูกสาวคนละคัน เป็นเงินที่ซื้อเองไม่ได้ไปตบทรัพย์ใคร กรรโชกทรัพย์ใคร หรือข่มขู่คุกคามใคร และการดำเนินการร้องเรียนก็ทำคนเดียวในห้องนอน

ส่วนเรื่องเช็ค 25 ล้านบาท เคยถูกตรวจสอบตั้งแต่เป็น สว.แล้ว อาจเป็นเพราะถูกอิจฉา ซึ่งเงิน 25 ล้านบาทนั้น เป็นแคชเชียร์เช็คในบัญชีตนเองธนาคารกรุงเทพ เพื่อย้ายเงินไปอีกบัญชีหนึ่ง ซึ่งก็เป็นของตนเองเช่นกัน และยืนยันว่าตนยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินให้ตรวจสอบถูกต้อง ไม่ได้เอาของแปลกในอวกาศเอามาอัปราคาแปรสภาพ

"ชัย"ชี้จีดีพีบอกอนาคตไทยเจอวิกฤตเศรษฐกิจ

"นายชัย วัชรงค์" โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยถึงสภาพเศรษฐกิจไทย โดยระบุว่า ถึงแม้สถานการณ์จะยังไม่ได้อยู่ขั้นวิกฤตในสายตาของหลาย ๆ คน แต่คาดการณ์ได้ว่า หากไทยยังไม่ดำเนินนโยบายใด ๆ ที่เห็นผลอย่างเป็นรูปธรรม ที่ไม่ใช่เพียงชะลอการเกิดวิกฤตทางเศรษฐกิจ อาจทำให้ระบบเศรษฐกิจไทยเจอวิกฤตที่แท้จริง ดังนั้น อยากให้คิดถึงประชาชนที่รายได้น้อย คนหาเช้ากินค่ำ ประชาชนเหล่านี้รู้ดีว่ากำลังประสบปัญหา "วิกฤตทางเศรษฐกิจ"

ทั้งนี้ แม้ว่ารัฐบาลดำเนินการแก้ปัญหาเต็มรูปแบบในทุกด้าน แก้ไขปัญหาลดรายจ่ายในประเทศ ปรับโครงสร้างราคาพลังงาน แก้หนี้ เพิ่มรายได้เกษตรกร ดึงราคาพืชผลทางการเกษตร หาโอกาส เพิ่มการส่งออกสินค้าเกษตร เพิ่มโอกาสการทำงานของประชาชน ผลักดันการลงทุนจากต่างประเทศ อำนวยความสะดวกการค้า FTA การค้าชายแดน สนับสนุนการท่องเที่ยว และเพิ่มรายได้ให้อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว แต่เศรษฐกิจไทยก็ยังชะลอตัว ขาดสภาพคล่อง

นายชัย กล่าวต่อว่า วันนี้คนรายได้น้อยกำลังจะพบกับวิกฤตซ้ำวิกฤต ตัวเลข GDP ของไทยยังไม่ฟื้นกลับไปถึงตัวเลขก่อนโควิด ซึ่งตัวเลขของ นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช เลขาธิการนายกรัฐมนตรี เห็นได้ว่า เศรษฐกิจไทยโตช้า ตั้งแต่ก่อนโควิด-19 แล้ว โดยอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจเฉลี่ยแล้ว 7.3% ในปี 1994-1996 (ตัดช่วงวิกฤตต้มยำกุ้งออกไป)  ปี 1999-2007 GDP โตเฉลี่ย 5.2% และปี 2010-2019 GDP โตเฉลี่ย 3.6%  โดยตั้งแต่ปี 2014-2019 ก่อนโควิด-19 GDP โตเฉลี่ยอยู่ที่ 3.0% และการฟื้นตัวของไทยฟื้นตัวช้าที่สุดในอาเซียน

ขณะเดียวกัน วันนี้ตัวเลขของสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ที่ประเมินตัวเลข GDP ทั้งปี โตแค่ 1.8% จึงยังไม่ฟื้นมาเทียบเท่าช่วงก่อนโควิด-19 ซึ่ง GDP อยู่ที่ 2.2% ซึ่งแปลได้ว่าเศรษฐกิจไทยยังไม่ฟื้นตัว ดังนั้น รัฐบาลเชื่อว่ามาตรการดิจิทัลวอลเล็ต ยังจำเป็น การอัดฉีดเงินเข้าระบบจะช่วยลดความเหลื่อมล้ำ ช่วยให้คนรายได้น้อยมีเงินจับจ่ายใช้สอย กระตุ้นเงินทั้งระบบ แก้ปัญหาไม่ให้เกิดวิกฤตทางเศรษฐกิจที่คาดการณ์ได้ว่ากำลังจะเกิดขึ้น

 

จากการประเมินทางด้านเศรษฐกิจ มาตรการดิจิทัลวอลเล็ตยังจำเป็น การฉีดกระตุ้นเงินเข้าในระบบให้เกิดสภาพคล่อง ยิ่งมีความจำเป็นมากขึ้นเมื่อธนาคารเข้มงวดเรื่องการปล่อยกู้มากขึ้น ทำให้ยอดปล่อยกู้ต่ำลง ทำให้ไทยขาดสภาพคล่องทั้งระบบ ขาดกำลังซื้อ มีวิกฤตเงินฝืด ซึ่งการคาดการณ์ที่เกิดขึ้นต้องแก้ไขอย่างตรงจุด และมีประสิทธิภาพ มิฉะนั้น ไทยอาจประสบปัญหาวิกฤตที่แท้จริง หากยังไม่ดำเนินการอะไร" นายชัย กล่าว

 

"อนุสรณ์" แปลกใจ ป.ป.ช. ตรวจสอบทุจริตล่วงหน้า 

"นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด" สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า กรณีที่ ป.ป.ช. มีข้อเสนอแนะนั้น เชื่อว่ารัฐบาลยินดีรับฟังทุกหน่วยงาน เพราะถ้าไม่รับฟังคงเดินหน้าโครงการดังกล่าวไปแล้ว ความจริงก่อนหน้านี้มีหลายภาคส่วนออกมาเสนอแนะว่าให้รัฐบาลเดินหน้าโครงการไปเลย เพราะความเห็นของ ป.ป.ช. มีแต่จะทำให้โครงการดิจิทัลวอลเล็ตล่าช้า แต่ตนเชื่อว่ารัฐบาลยินดีรับฟังทุกข้อเสนอแนะให้ครบถ้วนรอบด้าน จะได้เดินหน้าโครงการอย่างรอบคอบ ให้ถูกต้องตามกรอบกฎหมาย

 

"จนถึงขณะนี้ขอให้ประชาชนเชื่อมั่นว่ารัฐบาลยังคงเดินหน้าและมั่นใจว่าจะสามารถดำเนินนโยบายดิจิตอลวอลเล็ตได้ การที่ ป.ป.ช. มีข้อเสนอแนะเรื่องการป้องกันการทุจริตเกี่ยวกับนโยบายเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาทของรัฐบาลนั้น อยากขอให้ ป.ป.ช.ใจเย็นๆ เพราะตอนนี้โครงการยังไม่ได้เริ่ม รอให้โครงการเดินหน้าค่อยตรวจสอบทุจริตก็ยังไม่สาย เพราะ ป.ป.ช.สามารถตรวจสอบการดำเนินนโยบายได้ในทุกขั้นตอนอยู่แล้ว ไม่มีความจำเป็นต้องตรวจสอบการทุจริตล่วงหน้า ประเด็นสำคัญคือเงินที่ใช้ในนโยบายดิจิตอลวอลเล็ต 10,000 บาท ส่งตรงถึงกระเป๋าประชาชน ไม่ผ่านหน่วยงานใด หากการดำเนินการของ ป.ป.ช. ถูกประชาชนตั้งคำถามว่าทำให้นโยบายดิจิตอลวอลเล็ตล่าช้า เป็นประเด็นปัญหาที่ป.ป.ช.ต้องตอบประชาชนเอง" นายอนุสรณ์ กล่าว

 


"เศรษฐา" ย้ำอยากเร่งตัดสินใจดิจิทัลวอลเล็ต

"นายเศรษฐา ทวีสิน" นายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง กล่าวถึงกรณีที่ฝ่ายค้านออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลเร่งตัดสินใจดำเนินโครงการดิจิตอลวอลเล็ตว่า ตนเองก็อยากตัดสินใจแล้วเหมือนกัน ไม่ต้องห่วง ยังต้องทำงานต่อ และสัปดาห์หน้า ก็จะมีการประชุมคณะกรรมการนโยบายดิจิทัลวอลเล็ตเช่นเดิม