svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

สรุปรายงานฉบับทางการ ป.ป.ช. ชี้ 4 จุดเสี่ยง "เงินหมื่นดิจิทัล"

07 กุมภาพันธ์ 2567
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ป.ป.ช.แถลง เปิดรายงานแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต ฉบับทางการ ฝากรัฐบาลพิจารณา 4 ข้อเสี่ยง 8 ข้อเสนอแนะ ขณะที่นายกฯ น้อมรับ นำปิดช่องทุจริต

7 กุมภาพันธ์ 2567 ที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) นายนิวัติไชย เกษมมงคล เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. แถลงข่าวถึงความคืบหน้าเรื่องนโยบายแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ตของรัฐบาล ภายหลังที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช.มีมติเห็นชอบให้ส่งผลการศึกษาเพื่อป้องกันการทุจริตเกี่ยวกับนโยบายรัฐบาล กรณีการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ต (Digital Wallet) ไปยังรัฐบาล โดยวันนี้ประธานกรรมการ ป.ป.ช. ลงนามแล้ว เพื่อเรียนนายกรัฐมนตรี ประกอบการตัดสินใจดำเนินโครงการต่อไป

นายนิวัติไชย กล่าวว่า โครงการนี้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้ให้ความสำคัญกับการดำเนินนโยบายเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet ของรัฐบาล เนื่องจากคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีหน้าที่และอำนาจตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 32 ในการเสนอมาตรการ ความเห็น และข้อเสนอแนะต่อคณะรัฐมนตรี รัฐสภา ศาล องค์กรอิสระ หรือองค์กรอัยการในการปรับปรุงการปฏิบัติราชการ หรือวางแผนงานโครงการของส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือหน่วยงานของรัฐ เพื่อป้องกันหรือปราบปรามการทุจริต การกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม ซึ่งนโยบายดังกล่าวเป็นนโยบายที่ใช้งบประมาณค่อนข้างสูง ส่งผลกระทบต่อทุกภาคส่วนและอาจสร้างภาระการคลังในระยะยาว

สรุปรายงานฉบับทางการ ป.ป.ช. ชี้ 4 จุดเสี่ยง \"เงินหมื่นดิจิทัล\"

ชี้ 4 จุดเสี่ยง "ดิจิทัลวอลเล็ต"

นายนิวัติไชย กล่าวอีกว่า ในการนี้ คณะกรรมการ ป.ป.ช. จึงแต่งตั้ง “คณะกรรมการเพื่อศึกษาและดำเนินการรับฟังความเห็นเกี่ยวกับนโยบายรัฐบาล กรณี การเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet” เพื่อศึกษารายละเอียด ผลกระทบ และความเสี่ยงต่อความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นจากการดำเนินโครงการตามนโยบายดังกล่าว โดยได้มีการศึกษาข้อมูล ข้อเท็จจริง จากเอกสารหลักฐานต่าง ๆ รวมถึงการรับฟังความเห็นเกี่ยวกับนโยบายรัฐบาล กรณี การเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet จากส่วนราชการและหน่วยงาน ตลอดจนนักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญที่เกี่ยวข้อง 

ทั้งนี้ จากการศึกษาพบว่า มีประเด็นสำคัญที่ควรพิจารณา จำนวน 4 ประเด็นหลัก ๆ ได้แก่ 

1. ประเด็นความเสี่ยงต่อการทุจริต อาทิ ประเด็นความเสี่ยงต่อการทุจริตเชิงนโยบาย ความเสี่ยงต่อการทุจริตจากกลุ่มเป้าหมายที่ได้รับเงินจากโครงการฯ 

2. ประเด็นความเสี่ยงด้านเศรษฐกิจ กล่าวคือ การดำเนินนโยบายของรัฐบาลที่มีวัตถุประสงค์เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ในขณะที่การขยายตัวทางเศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะสมดุล จะต้องคำนึงถึงความคุ้มค่าและมีความจำเป็น ตลอดจนผลกระทบ และภาระทางการเงิน การคลังในอนาคต และในกรณีที่มีความจำเป็นต้องดำเนินนโยบายที่มีวัตถุประสงค์ในการช่วยเหลือประชาชนภายใต้สภาวะเศรษฐกิจที่ไม่เข้าขั้นวิกฤต ควรมีการจัดลำดับความสำคัญ รวมถึงการพิจารณากลุ่มเป้าหมายที่ต้องการความช่วยเหลืออย่างแท้จริง อาทิ กลุ่มที่มีรายได้ต่ำกว่าเส้นความยากจน จึงอาจเป็นทางเลือกที่จะไม่ส่งผลกระทบทางการคลัง โดยเฉพาะดอกเบี้ยและสัดส่วนของหนี้สาธารณะได้มากกว่า 

สรุปรายงานฉบับทางการ ป.ป.ช. ชี้ 4 จุดเสี่ยง \"เงินหมื่นดิจิทัล\"

3. ประเด็นความเสี่ยงด้านกฎหมาย กล่าวคือ การดำเนินโครงการภายใต้แนวนโยบายดังกล่าว รัฐบาลจะต้องตระหนัก และใช้ความระมัดระวังอย่างเคร่งครัดและรอบคอบภายใต้บทบัญญัติของกฎหมายที่ให้อำนาจไว้ รวมทั้งแนวปฏิบัติที่ชัดเจน โปร่งใส ปราศจากการทุจริตและประพฤติมิชอบ อาทิ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 พระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 พระราชบัญญัติเงินคงคลัง พ.ศ. 2491 และที่แก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติเงินตรา พ.ศ. 2501 ตลอดจนกฎหมาย คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ และระเบียบอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง

4. ประเด็นอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ เทคโนโลยีบล็อกเชน (Blockchain) และประเด็นเกี่ยวกับการกำหนดนโยบายของพรรคการเมือง 

ชง 8 ข้อเสนอแนะป้องกันทุจริต "ดิจิทัลวอลเล็ต"

นายนิวัติไชย กล่าวว่า คณะกรรมการ ป.ป.ช. ในการประชุมครั้งที่ 15/2567 เมื่อวันที่ 5 ก.พ. 2567 พิจารณาแล้ว มีมติเห็นควรเสนอข้อเสนอแนะเพื่อป้องกันการทุจริตเกี่ยวกับนโยบายรัฐบาล กรณี การเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet ต่อคณะรัฐมนตรี เพื่อพิจารณาดำเนินการตามควรแก่กรณี ในการป้องกันมิให้เกิดการทุจริตหรือเกิดความเสียหายต่อประโยชน์ของรัฐหรือประชาชน โดยมีข้อเสนอแนะฯ จำนวน 8 ข้อ ดังนี้

1. รัฐบาลควรศึกษา วิเคราะห์ การดำเนินโครงการตามนโยบายฯ รวมทั้งชี้แจงความชัดเจน อย่างเป็นรูปธรรม ว่าผู้ได้รับประโยชน์จากโครงการ จะไม่ตกแก่พรรคการเมือง นักการเมือง หรือเป็นการ เอื้อประโยชน์แก่บุคคลรายใดรายหนึ่ง หรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง โดยเฉพาะกลุ่มผู้ประกอบการรายใหญ่ที่มีศักยภาพมากกว่าผู้ประกอบการรายย่อย ซึ่งเป็นการดำเนินนโยบายที่อาจเข้าข่ายการทุจริตเชิงนโยบาย รวมทั้งประชาชนที่เข้าร่วมโครงการเป็นผู้ที่มีคุณสมบัติเหมาะสมที่จะได้รับประโยชน์จากการดำเนินโครงการของรัฐบาลอย่างแท้จริง เช่น เป็นผู้ที่มีรายได้น้อย หรือกลุ่มเปราะบาง พร้อมกับต้องมีขั้นตอนและวิธีการที่เป็นรูปธรรมชัดเจนเพื่อให้สามารถกระจายการกระตุ้นเศรษฐกิจได้อย่างทั่วถึงและเป็นธรรม

2. การหาเสียงของพรรคเพื่อไทยในการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 และ พรรคเพื่อไทยได้จัดตั้งรัฐบาล ได้มีการแถลงนโยบายต่อรัฐสภาเมื่อวันที่ 11 กันยายน 2566 เกี่ยวกับโครงการดังกล่าวนั้น มีความแตกต่างกัน สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งควรดำเนินการตรวจสอบว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญ และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 หรือไม่ มาประกอบการพิจารณาด้วย มิฉะนั้น จะเป็นบรรทัดฐานสำหรับพรรคการเมืองสามารถหาเสียงไว้อย่างไร เมื่อได้รับเลือกตั้งแล้ว ไม่จำเป็นต้องปฏิบัติตามที่ได้หาเสียงไว้

3. การดำเนินนโยบายของรัฐบาลที่มีวัตถุประสงค์เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง โครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet ควรคำนึงถึงความคุ้มค่าและความจำเป็นในการกระตุ้นเศรษฐกิจ ตลอดจนผลกระทบ และภาระทางการเงิน การคลังในอนาคต ภายใต้หลักธรรมาภิบาล 4 ด้าน คือ ความโปร่งใส (Transparency) การถ่วงดุล (Checks and Balances) การรักษาความมั่นคงของระบบการคลัง (Fiscal Integrity) และความคล่องตัว (Flexibility) ซึ่งรัฐบาลพึงต้องใช้ความระมัดระวัง พิจารณาระหว่างผลดี ผลเสียที่จะต้องกู้เงินจำนวน 500,000 ล้านบาท ในขณะที่ตัวทวีคูณทางการคลังมีเพียง 0.4 การกู้เงินจึงเป็นการสร้างภาระหนี้แก่รัฐบาลและประชาชนในระยะยาว ซึ่งจะต้องตั้งงบประมาณในการชำระหนี้จำนวนนี้เป็นระยะเวลา 4 - 5 ปี กระทบต่อตัวเลขการใช้จ่ายและการลงทุนของภาครัฐ

4. การดำเนินโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet คณะรัฐมนตรีและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ควรพิจารณาประเด็นความเสี่ยงด้านกฎหมายอย่างรอบคอบ ประกอบด้วย รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 (มาตรา 172) พระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 (มาตรา 53) พระราชบัญญัติเงินคงคลัง พ.ศ. 2491 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (มาตรา 4 มาตรา 5 และมาตรา 6) พระราชบัญญัติเงินตรา พ.ศ. 2501 ตลอดจนกฎหมาย คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ และระเบียบอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้การดำเนินโครงการเกิดประสิทธิภาพสูงสุด และเป็นไปตามบทบัญญัติของกฎหมาย 

5. คณะรัฐมนตรีและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ควรมีการประเมินความเสี่ยงในการดำเนินโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet อย่างรอบด้าน โดยกำหนดแนวทางหรือมาตรการในการบริหารความเสี่ยง และการป้องกันการทุจริต ตลอดจนมีกระบวนการในการตรวจสอบทั้งก่อน ระหว่าง และหลังจากการดำเนินโครงการ ซึ่งอาจพิจารณานำข้อเสนอแนะของคณะกรรมการ ป.ป.ช. เรื่อง การบูรณาการป้องกันการทุจริตของโครงการภาครัฐ (โดยการติดตามประเมินผลการดำเนินงาน) ซึ่งคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบในหลักการ เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2553 มาประยุกต์ใช้ เพื่อให้โครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet สามารถดำเนินการได้อย่างโปร่งใส ตรวจสอบได้ และเป็นไปเพื่อผลประโยชน์ของประชาชน และประเทศชาติอย่างแท้จริง 

6. ในการนำเทคโนโลยีบล็อกเชน (Blockchain) มาใช้กับโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet คณะรัฐมนตรีและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ควรพิจารณาถึงความจำเป็นและความเหมาะสม ตลอดจนระยะเวลา และงบประมาณที่ต้องใช้ในการพัฒนาระบบ เพื่อให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์และระยะเวลาในการดำเนินโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet ซึ่งเป็นการดำเนินโครงการแจกเงินเพียงครั้งเดียวโดยให้ใช้จ่ายภายใน 6 เดือน

7. จากข้อมูลภาวะเศรษฐกิจของหน่วยงานต่าง ๆ ที่ได้จากการศึกษา และตัวทวีคูณทางการคลัง รวมถึงตัวบ่งชี้ภาวะวิกฤตที่ธนาคารแห่งประเทศไทย ได้รวบรวมและประมวลข้อมูลจากงานศึกษาของธนาคารโลกและ IMF มีความเห็นตรงกันว่า ในช่วงเวลาที่ศึกษาอัตราความเจริญเติบโตของประเทศไทยยังไม่ถึงขั้นประสบภาวะวิกฤตเศรษฐกิจ เพียงแต่ชะลอตัวเท่านั้น 

ดังนั้น ในการกระตุ้นเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างมีเสถียรภาพและยั่งยืน รัฐบาลควรพิจารณาและให้ความสำคัญต่อโครงสร้างทางเศรษฐกิจ เช่น การกระตุ้นการบริโภคภาคเอกชน การกระตุ้นการใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐ การเพิ่มทักษะให้แก่แรงงาน เป็นต้น ในกรณีที่รัฐบาลต้องดำเนินนโยบายที่มีวัตถุประสงค์ในการช่วยเหลือประชาชนภายใต้สถานการณ์เศรษฐกิจที่ไม่เข้าขั้นวิกฤต ควรพิจารณากลุ่มประชาชนเป้าหมายที่เปราะบางที่สุด ซึ่งต้องการความช่วยเหลืออย่างแท้จริง ภายใต้บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 และพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 อาทิ กลุ่มที่มีรายได้ต่ำกว่าเส้นความยากจน

8. หากรัฐบาลมีความจำเป็นต้องการช่วยเหลือประชาชน รัฐบาลควรช่วยเหลือกลุ่มประชาชนที่มีฐานะยากจน ที่เปราะบาง ที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้เท่านั้น โดยแจกจากแหล่งเงินงบประมาณปกติ มิใช่เงินกู้ตามพระราชบัญญัติเงินกู้ และจ่ายในรูปเงินบาทปกติในอัตราที่เหมาะสม เพื่อพยุงการดำรงชีวิตของกลุ่มประชาชน ที่ยากจน โดยการกระจายจ่ายเงินเป็นงวด ๆ หลายงวดผ่านระบบแอปเป๋าตังที่มีประสิทธิภาพ และมีฐานข้อมูลครบสามารถทำได้รวดเร็ว การดำเนินการกรณีนี้ หากใช้แหล่งเงินงบประมาณปกติ มิใช่จากการกู้เงินตามพระราชบัญญัติเงินกู้ จะลดความเสี่ยงต่อการขัดรัฐธรรมนูญ ขัดพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลัง พ.ศ. 2561 และขัดพระราชบัญญัติเงินตรา พ.ศ. 2501 ประการสำคัญไม่ภาระหนี้สาธารณะประเทศในระยะยาว

สรุปรายงานฉบับทางการ ป.ป.ช. ชี้ 4 จุดเสี่ยง \"เงินหมื่นดิจิทัล\"

“เศรษฐา” น้อมรับข้อเสนอแนะ “ป.ป.ช.” ปิดช่องทุจริต “ดิจิทัลวอลเล็ต”  

ด้านนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง ให้สัมภาษณ์ถึงข้อเสนอแนะของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ในการดำเนินโครงการดิจิทัลวอลเล็ตว่า ตนได้รับทราบคร่าวๆ โดยในเรื่องการทุจริต ก็จะมีการประชุมคณะกรรมการนโยบายโครงการเติมเงิน 10,000 บาทผ่านดิจิทัลวอลเล็ต และจะมีการตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นมาเพื่อดูเรื่องนี้โดยเฉพาะ เป็นเรื่องที่ต้องตอบคำถามให้ได้ 

สำหรับข้อเสนอแนะให้ระมัดระวังในเรื่องของการแจกเงิน นายกฯ กล่าวว่า ก็ต้องระมัดระวัง ซึ่งก็มีคณะอนุกรรมการอยู่แล้ว ต้องตรวจสอบได้ทุกขั้นตอน ส่วนหลังจากนี้ จะมีการส่งเรื่องให้คณะกรรมการกฤษฎีกาหรือไม่นั้น ตนคิดว่าคณะทำงานก็คงทำทุกอย่างที่เป็นการปกป้องผลประโยชน์สูงสุดของประชาชน และสัปดาห์หน้าจะมีการประชุมคณะกรรมการชุดใหญ่อีกครั้ง หลังจากนั้นจะมีการแถลงข่าวใหญ่ 

เมื่อถามว่า ป.ป.ช.มีข้อเสนอแนะ อยากให้กลับมาใช้เงินงบประมาณประจำปีปกติมากกว่าการออกพ.ร.บ.กู้เงิน นายกฯ กล่าวว่า เรื่องนี้เดี๋ยวต้องไปคุยกัน เพราะตนก็เพิ่งทราบ 

สวน ป.ป.ช. ไม่มีหน้าที่ขีดเส้นให้รัฐบาลแจกกลุ่มเปราะบางตามนิยาม

ส่วนข้อเสนอแนะของ ป.ป.ช.ที่อยากให้แจกเงินเฉพาะกลุ่มเปราะบาง นายกฯ กล่าวว่า ก็ต้องดูว่าสิ่งที่ ป.ป.ช.บอกมาเป็นอย่างไร และเหตุผลคืออะไร เพราะหน้าที่ ป.ป.ช. คือตรวจสอบการทุจริตประพฤติมิชอบ ส่วนนโยบายจะให้ใครบ้างเป็นของรัฐบาล เป็นหน้าที่ของเราที่ต้องคำนึงถึงและน้อมรับฟังตามข้อสังเกตของการทุจริต ตนเน้นตรงนี้ดีกว่าที่เกี่ยวข้องกับป.ป.ช. คือต้องให้ป.ปปช.มีความสบายใจ ตรวจสอบได้ทุกขั้นตอน 

"เรื่องของคนเปราะบาง ก็เป็นเรื่องตั้งแต่วันแรกที่เราได้พูดคุยกันแล้ว ว่าตรงไหนคือเปราะบาง ตรงไหนคือไม่เปราะบาง ถ้าผมบอกว่าต่ำกว่า 20,000 ไม่เปราะบาง หรือถ้าบอกว่าสูงกว่า 20,000 ไม่เปราะบาง คุณได้เงินเดือน 20,000 จะโต้เถียงหรือไม่ผมเปราะบางเหมือนกันผมก็มีหนี้เยอะ ผมก็ต้องการการกระตุ้นเหมือนกันใช่ไหมครับเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อน เพราะฉะนั้นทางด้าน ป.ป.ช. หน้าที่ของท่านคือเสนอมาแล้วเรื่องการทุจริตต้องระมัดระวังตรงนี้ผมก็น้อมรับ" 

ทั้งนี้ตามที่เคยหาเสียงระบุว่า จะไม่กู้เงินในโครงการดิจิทัลวอลเล็ต แต่ขณะนี้เตรียมจะกู้ นายกฯ กล่าวว่า ก็ต้องอธิบายให้เข้าใจ ก็ขอดูทางออกสุดท้ายก่อน ทั้งนี้ ทุกความเห็นเราต้องนำกลับมาคำนึงใหม่หมด ตนยืนยัน

ขณะที่นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ ซึ่งยืนฟังนายกฯ ให้สัมภาษณ์อยู่ด้วย เปิดเผยเพียงสั้นๆ ว่า การประชุมบอร์ดชุดใหญ่ต้นสัปดาห์หน้ายังไม่ได้ข้อสรุปจะเป็นวันใด ก่อนจะเดินขึ้นตึกไทยคู่ฟ้า ตามนายเศรษฐาไปหารือเรื่องนี้กันต่อ

"ศิริกัญญา" ชี้ ความเห็น ป.ป.ช.ดีเลย์ เปล่าประโยชน์ 

ส่วน น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล สส.แบบบัญชีรายชื่อ รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล กล่าวว่า หลายเรื่องที่ ป.ป.ช.มีความเห็นมาในครั้งนี้ ไม่ได้แตกต่างจากความเห็นที่หลุดออกมาสู่สื่อมวลชนก่อนหน้านี้ แม้ครั้งนี้จะมีแหล่งข่าวระบุว่า ป.ป.ช.จะพยายามปรับให้โทนของความเห็นเบาลง แต่ความจริงก็เหมือนเดิมทุกประการ หลายเรื่องเป็นสิ่งที่รัฐบาลทราบอยู่แล้ว ว่าเศรษฐกิจอาจจะไม่ได้อยู่ในภาวะวิกฤต แต่อยู่ในภาวะกำลังฟื้นตัวเข้าสู่จุดสมดุล หรือการที่หาเสียงไว้แบบหนึ่งแต่กำลังจะทำอีกแบบ 

ดังนั้น เรายังคงยืนยันว่าคำแนะนำของ ป.ป.ช. ก็เป็นเพียงอำนาจหน้าที่ของ ป.ป.ช.ตามพ.ร.บ.มาตรา 32 แต่รัฐบาลก็ไม่จำเป็นต้องทำตามที่ ป.ป.ช.เสนอแนะ แน่นอนว่ามีส่วนที่เราเห็นด้วยในบางข้อ แต่ในหลายข้อเราก็คิดว่าน่าจะเกินขอบเขตอำนาจหน้าที่ ของ ป.ป.ช.ในการแนะนำ อาทิ การให้จำกัดคนที่จะได้รับประโยชน์ให้เป็นเฉพาะกลุ่มเปราะบาง หรือรายได้น้อยเท่านั้น ก็ต้องมาดูด้วยว่าวัตถุประสงค์ของแต่ละโครงการที่แตกต่างกัน อาจไม่ได้เพื่อกลุ่มเปราะบางโดยเฉพาะ

"การที่ ป.ป.ช.ทำรายงานฉบับนี้ออกมา แล้วทำให้ทุกอย่างต้องดีเลย์ออกไป ค่อนข้างเป็นการเสียระยะเวลาไปโดยเปล่าประโยชน์ ความจริงรัฐบาลควรต้องเดินหน้า ปรึกษาหารือ และนัดประชุมกับคณะกรรมการนโยบายชุดใหญ่ เพื่อสรุปว่าโครงการนี้จะเดินหน้าในวิธีใดมากกว่า" น.ส.ศิริกัญญา กล่าว

หากรัฐบาลเดินหน้าโครงการต่อ เรื่องนี้จะไปจบที่ศาลรัฐธรรมนูญหรือไม่ น.ส.ศิริกัญญา ระบุว่า รัฐบาลทราบมาโดยตลอดว่าการออก พ.ร.บ.เงินกู้ มีความเสี่ยงทางกฎหมาย โดยเฉพาะ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง และยังไม่ได้รับคำตอบจากรัฐบาลว่าจะแก้ปมนี้อย่างไร อีกทั้งรายงานของ ป.ป.ช. ยังมีถ้อยคำที่เขียนเรื่องนี้ไว้โดยเฉพาะ จึงอาจทำให้คนไปร้องเรียน ต่อ ป.ป.ช. ได้ง่ายดายขึ้น 

อย่างไรก็ตาม น.ส.ศิริกัญญา ชี้ว่า ในหลายช่วงหลายตอนขอรายงานของ ป.ป.ช.มีการพูดถึงความคุ้มค่าของโครงการ และตัวคูณทางการคลัง ส่วนตัวจึงมั่นใจว่าหากรัฐบาลทำการศึกษา ขึ้นมาชุดหนึ่ง เพื่อหักล้างข้อมูลของ ป.ป.ช.ก็สามารถทำได้ แต่รอจนถึงวันนี้ก็ยังไม่มีผลการศึกษาดังกล่าวจากรัฐบาล มายืนยันความคุ้มค่าของโครงการเลย

น.ส.ศิริกัญญา ยังย้ำว่า หนทางที่จะใช้งบประมาณ ปี 2568 เพื่อจะได้ไม่ต้องกังวลความเสี่ยงทางด้านกฎหมาย แต่ก็จะทำให้โครงการล่าช้าออกไปอีก หลังเดือน ก.ย. ของปี 2567 คือเริ่มจากเดือน ต.ค. เป็นต้นไป ซึ่งก็ยังไม่แน่ชัดว่าโครงการจะเริ่มเมื่อไหร่ เพราะกำหนดการจากเดือน พ.ค. ก็เลื่อนไปแล้วอย่างไม่มีกำหนด และอีกข้อจำกัดคือแม้จะใช้งบปี 2568 ก็ยังไม่มีงบประมาณเพียงพอสำหรับโครงการ 500,000 ล้านบาทนี้ ดังนั้น การลดกลุ่มเป้าหมายลงมาก็เป็นทางออกอีกทางหนึ่ง แต่อีกปมที่ยังไม่ได้แก้ คือเรื่องความคุ้มค่าของโครงการ

เมื่อถามว่าถือว่าช้าเกินไปหรือไม่ที่รัฐบาลจะหันกลับมาทบทวนโครงการนี้ น.ส.ศิริกัญญา กล่าวว่า ไม่ช้า เพราะเราไม่เคยปฏิเสธว่าเศรษฐกิจไทยมีปัญหา เพียงแต่ว่าตอนนี้ยังไม่เข้าสู่ช่วงวิกฤตเต็มตัว ยังคงจำเป็นที่จะต้องมีมาตรการต่างๆ ออกมาได้แล้วในวันนี้ โดยที่ไม่ต้องรอถึงเดือน พ.ค. หรือ ต.ค. ถ้ามีการทบทวนในระหว่างทางว่าควรต้องมีโครงการอื่นๆออกมาในระหว่างนี้ก่อน โครงการดิจิทัลวอลเล็ตก็คงจะต้องรอให้มีเงินมากเพียงพอ แล้วค่อยทำ ก็ยังคงเป็นไปได้เช่นเดียวกัน 

"เพราะว่าก็ไม่รู้จะโทษใครดี ที่ต้องการจะทำโครงการขนาดมหึมาแบบนี้ แต่ไม่ได้เตรียมในเรื่องเงินที่วางไว้ จึงต้องมีปัญหาที่ต้องแก้ไปทีละปะเหลาะแบบนี้ไปเรื่อยๆ ตอนนี้คิดว่าควรมีแอคชัน อะไรที่สามารถทำได้เลย อาจจะเล็กลงมา ใช้งบกลางที่มีอยู่ก่อนแล้วไปพลางก่อน ก็น่าจะทำให้ช่วยเหลือพี่น้องประชาชนได้ภายในระยะเวลานี้" น.ส.ศิริกัญญา กล่าว

logoline