29 มกราคม 2567 ที่บริเวณลานจอดรถอัตโนมัติ ศาลแพ่งช่วงรอยต่อศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก นายดนุเดช ศิริวงษ์ตระกุล ทนายความ และที่ปรึกษากฎหมาย “อธิบดีกรมการข้าว” ให้สัมภาษณ์ย้อนไปถึงก่อนเหตุว่า มีบัตรสนเท่ห์ร้องเรียน อธิบดีกรมการข้าว ส่งมายัง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ก่อนที่อธิบดีกรมการข้าวจะถูกเรียกเข้าไปชี้แจง ถึงงบก้อนดังกล่าว ไม่ได้ใช้แล้ว และส่งให้ทางธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร หรือ ธ.ก.ส. ช่วยชาวนาไปแล้ว จากนั้นเรื่องจึงยุติไป จนอธิบดีกรมการข้าว ได้มาปรึกษากับตัวเองว่า น่าจะถูกคนกลั่นแกล้ง จึงมอบอำนาจให้ไปแจ้งความร้องทุกข์
ต่อมามีที่ปรึกษาของผู้บริหารของกระทรวงเกษตรฯ เรียกอธิบดีกรมการข้าวเข้าไปพบ ก็ยืนยันว่า ไม่ได้เกี่ยวข้องอะไร ซึ่งปรึกษาคนนี้ได้แนะนำให้จ่ายเงินเคลียร์ นาย ศ. เรื่องจะได้ยุติลง เพราะหากมีการแถลงข่าวก็จะเกิดความเสียหายอย่างมาก ก่อนจะนัดแนะให้ไปจ่ายเงินที่บ้าน นาย ศ. จำนวน 6 หลัก มากกว่า 100,000 บาท ซึ่งขณะนั้นก็คิดว่า เรื่องจะจบแล้ว แต่เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2566 นาย ศ. และนาย จ.ไปแถลงข่าวที่รัฐสภา กล่าวหาถึงการทุจริตในกรมฝนหลวง ซึ่งในช่วงท้ายมีการกล่าวถึง กรมการข้าว ว่า เป็นกรมเล็กแต่มีการซุกงบกว่าหมื่นล้าน และตั้งภรรยาผู้บริหารให้เปิดบริษัทรองรับการการทุจริต
ในวันเดียวกันนั้น ก็มีโทรศัพท์จาก นาย ศ.โทรเข้ามาหา “อธิบดีกรมการข้าว” แต่ไม่ได้รับ วันถัดมา นาย ศ. ก็โทรเข้ามาอีก เพื่อนัดกินกาแฟช่วงเที่ยง มาถึงก็บอกว่า ขณะนี้เตรียมตรวจสอบงบประมาณ และเตรียมยื่นให้กรรมาธิการตรวจสอบ ซึ่งอธิบดีกรมการข้าว ตอบกลับว่า จะตรวจสอบอะไร และยืนยันว่า ไม่ได้ทำความผิด
จากนั้นเมื่อแยกย้ายกันแล้วก็มีโทรศัพท์เข้ามาหา อธิบดีกรมการข้าว อีกครั้ง และเรียกรับเงินเพิ่ม ก่อนที่อธิบดีกรมการข้าว จะยื่นโทรศัพท์ให้ภรรยาเป็นคนคุย ปลายสายตอบกลับว่า จะเรียกเงินจำนวน 2 โล หรือ 2 ล้านบาท ซึ่งภรรยาอธิบดีกรมการข้าว ก็บอกว่า ไม่ได้ทำอะไรผิดเลย ทำไมถึงต้องทำแบบนี้ และหากดูแลเล็กๆน้อยๆก็ดูแลได้ ก่อนจะมีการต่อรองกันจนเหลือ 1 กิโลครึ่ง หรือ 1.5 ล้านบาท
โดยทางฝั่งผู้ต้องหาได้ขอให้โอนมาก่อน 100,000 บาท แต่ตัวเองนั้นบอกภรรยาอธิบดีกรมการข้าวว่า โอนไปแค่ 50,000 บาทก่อน ทั้งนี้เลขบัญชีที่มีการส่งมาให้โอนไปนั้นไม่ได้เป็นชื่อของ 1 ใน 3 ผู้ต้องหา จากนั้นก็มีการเร่งเร้าให้จ่ายเต็มจำนวน 100,000 บาท วันที่ 23 ธ.ค. 2566 จึงโอนให้อีก 10,000 บาท
ระหว่างนั้นก็ได้มีการรวบรวมพยานหลักฐานเพียงพอส่วนหนึ่ง และเข้าพบกับตำรวจ บก.ปปป.แล้ว ก็โทรกลับไปหา นาย ศ. ซึ่งบอกว่า ยังเหลือเงินที่ต้องจ่ายอีก 1,440,000 บาท ภรรยาอธิบดีกรมการข้าว จึงนำเงินจำนวน 100,000 บาท ไปให้ที่บ้าน นาย ศ. เมื่อวันที่ 6 ม.ค. 2567 ซึ่งวันนั้นมีการถ่ายคลิปวิดีโอขณะที่ นาย ศ. กำลังรับรับเงิน เป็นพยานหลักฐานจนนำไปสู่การออกหมายจับ กระทั่งวันที่ 26 ม.ค. 2567 ตำรวจ บก.ปปป. จึงเข้าจับกุม นาย ศ. โดยมีของกลางเป็นเงินจำนวน 500,000 บาท
ส่วนกรณีที่ นาย ศ. อ้างว่า ไม่รู้ว่าเป็นเงินนั้น นายดนุเดช กล่าวว่า ก็เป็นสิทธิ์ของผู้ถูกกล่าวหาจะพูดอะไรก็ได้ แต่ตัวเองในฐานะทนายความที่ทำงานเกี่ยวกับคดีทุจริต มั่นใจว่า มีพยานหลักฐานเพียงพอทั้งภาพถ่าย และคลิป ซึ่งนาย ศ.นั้นมีลักษณะเหมือนวางใจ หลังจากได้เงินไปก้อนหนึ่งแล้ว และคิดว่าจะได้อีก
นายดนุเดช กล่าวต่อว่า ตัวเองนั้นกังวลว่า จะมีการเมืองเข้ามาให้ความช่วยเหลือ เพื่อให้นาย จ. ผู้กระทำผิดไม่มีสถานะเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งหากผู้ต้องหาไม่ได้เป็นเจ้าหน้าที่รัฐ จะไม่เข้าข่ายมาตรา 173 พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 ที่ระบุว่า “หากเจ้าหน้าที่รัฐยอมรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใด สำหรับตนเองหรือผู้อื่นโดยมิชอบ โทษที่จะได้รับสูงสุดคือจำคุกตลอดชีวิต ก็จะเหลือเพียงข้อหากรรโชกทรัพย์” ซึ่งโทษเบากว่า และนาย ศ. ซึ่งเป็นผู้ร่วมกระทำผิดก็จะไม่ถือเป็น ผู้สนับสนุนเจ้าพนักงาน ก็จะได้รับโทษน้อยไปด้วย จึงอยากให้ตำรวจเดินหน้าทำงานต่อ อย่าให้เรื่องเงียบ
นายดนุเดช เปิดเผยว่า ขณะนี้มีนักการเมืองตัวย่อ นาย ป. ซึ่งเป็นอดีตนักการเมือง และเคยดำรงตำแหน่งเป็นผู้บริหารกระทรวงเกษตรฯ ได้ติดต่อมายัง อธิบดีกรมการข้าว และภรรยาของอธิบดีกรมการข้าว ฝากมาบอกตัวเองให้เบาๆหน่อย และให้ยุติบทบาท รวมทั้งพยายามโยงธุรกิจของภรรยาอธิบดีกรมการข้าว ที่ทำธุรกิจฟาร์มหมูและฟาร์มไก่ ให้ไปเชื่อมโยงกับคดีหมูเถื่อนตีนไก่เถื่อนด้วย
“เรื่องนี้ถือเป็นเรื่องใหญ่ระดับประเทศ แต่ส่วนตัวไม่กลัว เพราะเห็นว่า หากมัวเกรงกลัวอิทธิพลคงไม่ได้ เพราะวิธีการมาใช้อำนาจโดยมิชอบเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง”
ด้าน นายเดชา กิตติวิทยานันท์ ประธานเครือข่ายทนายคลายทุกข์ ในฐานะเพื่อนของ นายดนุเดช กล่าวว่า ได้แนะนำให้นายดนุเดช นำหลักฐานสำคัญๆ มาเปิดเผยต่อสื่อมวลชน เพื่อให้สาธารณชนได้รับรู้ เพื่อให้ยากต่อการวิ่งเต้นล้มคดี ช่วยเหลือพวกพ้องกัน ไม่ต้องกลัวตาย ถ้าตายจะสร้างอนุสาวรีย์ไว้เป็นอนุสรณ์ให้ ในขณะที่ที่ปรึกษารัฐมนตรีที่ถูกพาดพิงก็ต้องถูกดำเนินคดีด้วย ตำรวจเองก็อย่าปอดแหก ไม่ใช่สร้างภาพจนในที่สุดคดีก็หายไป ต้องทำคดีถึงที่สุด
หลังจากเกิดกรณีนี้ ทำให้วงการของนักร้องเรียนต่างๆ สั่นสะเทือนพอสมควร ซึ่งจากการสอบถามกับเจ้าหน้าที่ตำรวจทราบว่า พฤติกรรมของนักร้องเรียนประเภทตบทรัพย์ จะมีการโพสต์เฟซบุ๊กก่อนว่า จะมีการแถลงข่าวและแจ้งหมายข่าวล่วงหน้าว่า จะไปร้องเรียนใคร หลังจากนั้นก็จะมีการยกเลิกหมายข่าว และเมื่อไปร้องเรียนจะเป็นการยื่นซองเปล่าไม่มีเอกสารอยู่ด้านใน มีเพียงกระดาษแผ่นเดียว และเมื่อถูกเรียกไปสอบสวนก็จะไม่ไปพบและเงียบหายไป
โดยลักษณะของคนเหล่านี้จะไม่มีอาชีพ ไม่มีหลักฐานการเสียภาษี แต่มีเงินใช้อยู่ตลอด ซึ่งส่วนใหญ่ผู้ถูกร้องเรียนจะไม่กล้าเอาผิดคนกลุ่มนี้ จึงยอมเอาเงินไปจ่าย เพราะส่วนใหญ่คนที่โดนตบทรัพย์ จะเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจในพื้นที่ที่มีบ่อนการพนันมาก ส่วนตัวมองว่า เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องของความขัดแย้งทางการเมือง เป็นเรื่องของการตบทรัพย์ล้วนๆ คนกลุ่มนี้น่าจะทำมานานแล้ว โดยแนะนำว่า ใครที่ได้รับความเสียหาย ควรออกมาแสดงตัว ซึ่งไม่จำเป็นต้องมีคลิปหลักฐานใดๆ เพียงแค่ผู้เสียหายมายืนยันว่า ถูกตบทรัพย์ก็สามารถเอาผิดได้แล้ว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า อย่างไรก็ตามวันนี้ นางธัญญรัตน์ ไชย์ศิริคุณากร ภรรยาอธิบดีกรมการข้าว เดินมาศาลแพ่งเพื่อให้การในคดีอื่น แต่ไม่ได้ปรากฎตัวพบสื่อมวลชนแต่อย่างใด
ด้าน นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ เลขาธิการพรรครวมไทยสร้างชาติ กล่าวถึงกรณี นายยศวริศ ชูกล่อม หรือ “เจ๋ง ดอกจิก” และ น.ส.พิมณัฏฐา จิระพุทธิภาคย์ ที่ถูกร้องเรียนตบทรัพย์ “อธิบดีกรมการข้าว” กล่าวว่า พรรคจะไม่ให้การปกป้องกับสมาชิก ผู้บริหาร หรือคนที่เกี่ยวข้องกับพรรคที่ไปกระทำผิด เราจะให้ความร่วมมือและสนับสนุนเจ้าพนักงาน ตามกระบวนการยุติธรรม เพื่อไปจับคนผิดมาลงโทษให้ได้
สำหรับกรณีนี้ ได้ให้นายทะเบียนพรรคตรวจสอบอย่างละเอียด ซึ่งนายยศวริศ ไม่ได้เป็นสมาชิกพรรค แต่ น.ส.พิมณัฎฐา เป็นสมาชิกตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ ปีที่แล้ว และยกเลิกคำสั่งแต่งตั้งเป็นคณะทำงานของรองนายกรัฐมนตรีไปแล้ว โดยตนจะเรียกประชุมกรรมการบริหารพรรคพรุ่งนี้ (30 ม.ค.) เพื่อตั้งคณะกรรมการสอบ
น.ส. พิมณัฎฐา ในฐานะสมาชิกพรรคที่กระทำความผิดจรรยาบรรณ หรือผิดวินัยร้ายแรง สามารถขับออกจากสมาชิกพรรคตามข้อบังคับพรรคได้ และที่ประชุมสส. และกรรมการบริหารพรรค จะให้รัฐมนตรี, ประธานกรรมาธิการ, กรรมาธิการ และ สส. ทุกคนไปตรวจสอบ พร้อมรายงานสถานภาพของการตั้งที่ปรึกษา, คณะทำงาน หรือผู้ช่วย ให้ส่งกลับมาทันที หากมีคนเหล่านี้เข้าไปเกี่ยวข้องจะให้เอาชื่อออก เพื่อไม่ให้นำไปแอบอ้างทำให้เกิดความเสียหายกับพรรคต่อไป
เมื่อถามว่า จำนวนคนที่ได้ให้เข้ามาช่วยมีเท่าไร นายเอกนัฏ กล่าวว่า หากเป็นที่ปรึกษาของพรรคมีน้อยมาก แต่ที่มีมากคือ ที่ปรึกษาของรัฐมนตรี มี 4 คน แต่ละคนจะมีการตั้งที่ปรึกษา และคณะทำงาน ตามความเหมาะสม และประธานกรรมาธิการ ของพรรค มี 3 คน ก็มีการตั้งที่ปรึกษา ประธานกรรมาธิการ รวมไปถึง สส. ที่ทุกคนจะมีทีมผู้เชี่ยวชาญ ผู้ชำนาญการ ผู้ช่วยทั้งหมด 8 คน และมีทีมสนับสนุนในกมธ.ที่มีสส.นั่งอยู่ จะให้ทุกคนไปตรวจสอบและรายงานเร็วที่สุด ตนมองว่า ทุกคนมีข้อมูลอยู่แล้ว ซึ่งจากกรณีที่ นายยศวริศ และน.ส.พิมณัฏฐา ยังนั่งเป็นที่ปรึกษากรรมาธิการ ที่ไปตั้งกันเองก็ให้รีบเอาออกด้วย
เมื่อถามย้ำว่า เป็นการกวาดบ้านครั้งใหญ่ในพรรครวมไทยสร้างชาติ หรือไม่ เพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์แบบนี้ เพราะเสื่อมเสียชื่อเสียงของพรรค นายเอกนัฏ กล่าวว่าา เลขาธิการพรรคสั่งกวาดบ้านเลย ตรงไปตรงมา ตนรังเกียจพวกมีพฤติกรรมแบบนี้อยู่แล้ว การทำงานการเมืองมีหลายคนเข้ามาเกี่ยวข้อง เช่น การสมัครสมาชิกพรรค เราก็ให้โอกาสคน ซึ่งต้องมีการตรวจสอบ แต่ความจริงแล้วไม่ต้องเป็นหลักฐานชัดขนาดนั้น
สำหรับพวกเรา ต้องมีมาตรฐานจริยธรรมที่สูงกว่าปกติ หากใครมีเบาะแสอะไร ไม่เฉพาะ 2 คนนี้ ส่งเข้ามา ตนจะจัดการให้หมด ถือเป็นโอกาสดีที่จะบอกว่ากวาดบ้านก็ได้ เพราะต้องไปตรวจสอบและรายงานสถานะคณะทำงานขึ้นมาทั้งหมด ซึ่งความจริงเป็นอำนาจส่วนตัว สส., รัฐมนตรี, กมธ. แต่ละคน แต่เมื่อคนที่เกี่ยวข้องกับพรรค ไปทำความเสื่อมเสีย ต่อพรรค ตนจะใช้อำนาจในฐานะเลขาธิการพรรค จากนี้คงต้องตรวจสอบเข้มงวดไม่ให้คนเหล่านี้ไปสร้างความเสียหาย
เมื่อถามว่า ตั้งแต่วันศุกร์ที่ผ่านมา(26 ม.ค.) ได้คุยกับหัวหน้าพรรคหรือไม่ นายเอกนัฏ กล่าวว่า ได้คุยกับ นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค หัวหน้าพรรคแล้ว ก่อนที่เจ้าตัวจะให้สัมภาษณ์เมื่อวันศุกร์ พร้อมสื่อสารและรายงานทุกเรื่อง
ด้าน นายอัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ โฆษกพรรครวมไทยสร้างชาติ กล่าวเสริม ยังไม่ได้มีการพูดคุยกับ นายยศวริศ แต่ถ้ามีการลาออกจากการเป็นสมาชิกพรรค ก็ไม่ต้องมีการประชุมกรรมการบริหารพรรค เพื่อพิจารณาเรื่องการขับออกจากพรรค ซึ่งคิดว่าวันนี้ (29 ม.ค.) น่าจะมีความชัดเจน
รัฐบาลยอมรับไม่ได้ปมนักการเมืองขู่ "อธิบดีกรมข้าว-ภรรยา" หยุดเคลื่อนไหว
ขณะที่ "นายเศรษฐา ทวีสิน" นายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง ในฐานะประธาน ก.ตร. ให้สัมภาษณ์ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ถึงประเด็นเรียกรับเงินจากอธิบดีกรมการข้าว ว่า ตนเองได้ติดตามอยู่ ซึ่งตอนนี้เชื่อว่าอยู่ในกระบวนการยุติธรรม ส่วนที่ทนายของอธิบดีกรมการข้าวออกมาระบุว่าตอนนี้มีนักการเมือง ป. เข้ามาเกี่ยวข้องและไปกดดันอธิบดีกรมการข้าวและภริยาให้หยุดเคลื่อนไหวนั้น เรื่องการกดดันเป็นเรื่องที่รัฐบาลนี้ยอมไม่ได้ และคิดว่าคงไม่มีด้วย ถึงมีก็คิดว่าไม่สามารถเดินหน้าได้
ส่วนได้กำชับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์หรือไม่หลังมีการพูดถึงหลายกรมที่มีการทุจริต นายเศรษฐา ระบุว่า ได้เจอกับ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมว.เกษตรและสหกรณ์ เมื่อคืน (28ม.ค.) ก็ได้กำชับไปให้ดำเนินการตามกฎหมาย ซึ่ง ร.อ.ธรรมนัส ก็รับปากว่าจะดำเนินตามกฎหมายและให้ความเป็นธรรมทุกฝ่าย กระทรวงอื่นก็ไม่ได้เจอกัน ซึ่งพรุ่งนี้ (30ม.ค.) ในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี หรือ ครม. อาจจะมีการหยิบยกขึ้นมาพูดและมีการพูดคุยกันในกรมอื่นๆ