12 มกราคม 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 11 ม.ค.ที่ผ่านมา สำนักงานคณะกรรมการเลือกตั้ง (กกต.) มีหนังสือถึง นายสุเทพ บุณยเกียรติ ผู้ร้องเรื่อง แจ้งมติคณะกรรมการการเลือกตั้ง โดยหนังสือ ที่ ลต (นศ) 0003/20 สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง ประจำจังหวัดนครศรีธรรมราช 55 หมู่ที่ 3 ตำบลนาสาร อำเภอพระพรหม จังหวัดนครศรีธรรมราช 80000 ลงวันที่ 5 มกราคม 2567 เรื่องแจ้งมติคณะกรรมการการเลือกตั้งความว่า
เรียน นายสุเทพ บุณยเกียรติ ตามที่ท่านได้ยื่นคำร้องคัดค้านการเลือกตั้ง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดนครศรีธรรมราช เขตเลือกตั้งที่ 8 ซึ่งจัดให้มีการเลือกตั้ง เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 (สำนวนที่ นศ.สส. 8/2566) ความละเอียดทราบแล้วนั้น
สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัดนครศรีธรรมราชขอเรียนว่า คณะกรรมการการเลือกตั้งได้มีมติให้ยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาเพื่อสั่งให้เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งหรือเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของนางมุกดาวรรณ เลื่องสีนิล ผู้ถูกร้องที่ 1 สั่งให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดนครศรีธรรมราช เขตเลือกตั้งที่ 8 แทนนางมุกดาวรรณ เลื่องสีนิล ผู้ถูกร้องที่ 1 และให้ผู้ถูกร้องที่ 1 รับผิดในค่าใช้จ่ายสำหรับการเลือกตั้งครั้งที่เป็นเหตุให้ศาลฎีกามีคำสั่งดังกล่าวในประเด็นที่ 1 ประเด็นที่ 2 และประเด็นที่ 9 นายวีระศักดิ์ คชเชนทร์ ผู้ถูกร้องที่ 3 ในประเด็นที่ 2 และจ่าสิบเอก ถาวรแก้วศรีอ่อน ผู้ถูกร้องที่ 10 ในประเด็นที่ 1 และประเด็นที่ 9 ส่วนประเด็นที่ 3 ถึงประเด็นที่8 ให้ยกคำร้อง
ในขณะนี้ อยู่ระหว่างการจัดทำคำวินิจฉัยคณะกรรมการการเลือกตั้ง ซึ่งจะแจ้งให้ทราบต่อไป จึงเรียนมาเพื่อทราบ
ขอแสดงความนับถือ ลงชื่อ (นายสัญญา กรุงแก้ว) ผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำจังหวัดนครศรีธรรมราช
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการประชุม กกต.นครศรีธรรมราช เมื่อวันอังคาร 26 ธันวาคม2566 ที่ผ่านมา ได้มีมติให้ใบแดง นางมุกดาวรรณ เลื่องสีนิลสส.นครศรีธรรมราช เขต8 พรรคภูมิใจไทย ที่เอาชนะ ปุณณ์สิริ บุณยเกียรติ ลูกสาวนายชินวรณ์ ผู้สมัครจากพรรคประชาธิปัตย์ เข้าสภาไปได้ และเป็น 1 ใน 2 เขตของภูมิใจไทย ที่ชนะเลือกตั้งในพื้นที่ จ.นครศรธรรมราช ครั้งที่ผ่านมา
โดย นางมุกดาวรรณ ถูกร้องคัดค้านเรื่องการแจกเงินไปลงคะแนนให้ตัวเอง หัวละ 500 บาท รวมเป็นเงิน 25,000 บาท และเรื่องการแจกเงินให้ไปฟังการปราศรัยด้วย
ขั้นตอนหลังจากนี้ กกต.จะส่งคำร้องไปยังศาลฎีกา เพื่อดำเนินการต่อไป
ทั้งนี้ใน พ.ร.บ.ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร มาตรา 138 บัญญัติไว้ว่าภายหลังประกาศผลการเลือกตั้งแล้ว ถ้ามีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าผู้สมัครหรือผู้ใดกระทำการอันเป็นการทุจริตในการเลือกตั้ง หรือรู้เห็นกับการกระทำของบุคคลอื่น ให้ กกต.ยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาเพื่อสั่งให้เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งหรือเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้นั้น
นอกจากนี้ กฎหมายกำหนดเรื่องการหยุดปฏิบัติหน้าที่เอาไว้หลังศาลรับคำร้องไว้พิจารณาด้วย ซึ่งอยู่ในวรรคท้ายของมาตรา 138 ระบุไว้ว่า
“เมื่อศาลฎีกามีคำสั่งรับคำร้องไว้พิจารณาแล้ว ถ้าผู้ถูกกล่าวหาเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ให้ผู้นั้นหยุดปฏิบัติหน้าที่จนกว่าศาลฎีกาจะพิพากษาว่าผู้นั้นมิได้กระทำความผิด ในกรณีที่ศาลฎีกาพิพากษาว่าบุคคลตามวรรคหนึ่งกระทำความผิดตามที่ถูกร้อง ให้ศาลฎีกาเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งหรือเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้นั้น และในกรณีที่ผู้นั้นเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ให้สมาชิกภาพของผู้นั้นสิ้นสุดลงนับแต่วันที่หยุดปฏิบัติหน้าที่ และให้คณะกรรมการจัดให้มีการเลือกตั้งแทนตำแหน่งที่ว่าง”
กรณีของ นางมุกดาวรรณ จึงเป็นใบแดงแรกของ กกต.ที่แจกให้กับ สส.ที่รับรองเข้าสภาไปแล้วตามสอยในภายหลัง ส่วนรายอื่น ๆ ตามคำร้อง กกต.ยังมีเวลาพิจารณาไปจนถึงเดือนพฤษภาคม 2567
สำหรับ นางมุกดาวรรณ หลังจาก กกต.ส่งเรื่องไปยังศาลฎีกาแล้ว ก็ต้องไปต่อสู้พิสูจน์ความจริงกันในศาล แต่ทันทีที่ศาลรับคำร้องไว้ ก็ต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่สส.จนกว่าจะมีคำตัดสินออกมา และระหว่างนั้น พรรคภูมิใจไทย ที่มี สส.ในสภา 71 เสียง ก็จะหายไป 1 เสียง
สุดท้ายหากต้องมีการเลือกตั้งซ่อมเกิดขึ้นในเขตเลือกตั้งที่ 8 จ.นครศรีธรรมราช ซึ่งประกอบไปด้วย อำเภอนาบอน อำเภอช้างกลาง อำเภอฉวาง และอำเภอพิปูน ก็จะเป็นโอกาสของพรรคประชาธิปัตย์ ภายใต้การนำของนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน หัวหน้าพรรคคนใหม่