svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

"กฤษฎีกา"ปัดไฟเขียวรัฐกู้ทำเงินดิจิทัลย้ำหากเดินตามแนะปลอดภัยแน่นอน

09 มกราคม 2567
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

"เลขาธิการกฤษฎีกา" ยันไร้คำว่า "ไฟเขียว" รัฐบาลกู้เงินแจกดิจิทัลวอลเล็ต ย้ำหากทำตามความเห็นปลอดภัยแน่นอน แย้มจะตรา พ.ร.บ. หรือ พ.ร.ก.ก็ได้ 

9 มกราคม 2567 "นายปกรณ์ นิลประพันธ์" เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา เปิดเผยภายหลังได้ส่งความเห็นรัฐบาลในการออก พ.ร.บ.กู้เงิน 500,000 ล้านบาท เพื่อนำมาใช้โครงการดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท ว่า เนื้อความเห็นดังกล่าว รัฐบาลอาจต้องนำเข้าสู่คณะกรรมการดิจิทัลวอลเล็ตอีกครั้ง และความเห็นดังกล่าว เป็นเรื่องลับ ดังนั้น จะต้องให้กระทรวงการคลัง เป็นผู้ชี้แจงในรายละเอียด

ทั้งนี้ แต่ยืนยันว่า ไม่มีคำว่า "ไฟเขียว" เพราะคณะกรรมการกฤษฎีกา ได้ตอบกลับความเห็นเป็นข้อกฎหมายว่า เนื้อความในมาตรา 53 ของพ.ร.บ.วินัยการเงินและการคลัง ที่จะต้องมีความจำเป็นเร่งด่วน ต้องแก้ไขปัญหาอย่างต่อเนื่อง หรือแก้ไขวิกฤตของประเทศ ดังนั้น จึงเป็นหน้าที่ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปพิจารณาว่า นโยบายจะเข้าเงื่อนไขหรือไม่ ซึ่งคณะกรรมการกฤษฎีกาให้คำตอบได้เพียงเท่านี้

ส่วนจะออกเป็นกฎหมายได้หรือไม่นั้น ย้ำว่า ตามมาตรา 53 ของพ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง ให้ออกเป็นกฎหมายได้ ส่วนจะเป็น พ.ร.บ. หรือ พ.ร.ก. ก็ถือเป็นกฎหมายเช่นกัน แต่ยืนยันว่าคณะกรรมการกฤษฎีกา ไม่ได้ให้ข้อเสนอแนะใด ๆ ในความเห็นดังกล่าว แต่เป็นการอธิบายมาตรา 53 และให้รัฐบาลไปรับฟังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มีข้อมูลเชิงประจักษ์ยืนยันได้ โดยไม่ได้ระบุบ่งชี้ว่าควรทำนโยบายดังกล่าวหรือไม่ เพราะกฤษฎีกาเป็นนักกฎหมาย และต้องอาศัยตัวเลขทางเศรษฐกิจ

ส่วนความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกา สามารถใช้อ้างอิงได้หรือไม่หากดำเนินการตามแล้วจะไม่ผิดกฎหมายนั้น ยืนยันว่า ใช้อ้างอิงได้ เพราะคณะกรรมการกฤษฎีกา ได้ยืนยันตามมาตรา 53 มาตรา 6 มาตรา 7 และมาตรา 9 ของพ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง ซึ่งหากรัฐบาลดำเนินการตาม ก็การันตีได้ว่าจะปลอดภัยแน่นอน ส่วนหากอนาคตโครงการดังกล่าวมีปัญหา ก็ย้ำว่า หากดำเนินการไปตามเงื่อนไขทุกอย่าง ก็จะไม่มีปัญหา 

เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา ยังปฏิเสธที่จะอธิบายถึงการตีความวิกฤต เนื่องจาก GPD โตไม่ทัน เพราะกฤษฎีกา เป็นนักกฎหมาย จึงไม่สามารถให้คำตอบในเรื่องนี้ได้ ส่วนที่รัฐบาลอ้างภาวะวิกฤต แต่กลับตรากฎหมายการกู้เงินเป็นพ.ร.บ. ที่มีขั้นตอนมากกว่า พ.ร.ก.นั้น ยืนยันไม่มีปัญหา เนื่องจากพ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง ให้สามารถกู้เงินได้โดยตราเป็นกฎหมาย ซึ่งกฎหมายดังกล่าว รัฐบาลจะตราเป็นพ.ร.บ.ให้สภาผู้แทนราษฎร พิจารณา 3 วาระรวดก็ได้ หรือพ.ร.ก. เหมือนที่ผ่านมาก็ได้ 

 

"ยืนยันว่ากฤษฎีกาไม่ได้ห่วงกังวลใด ๆ เพราะการดำเนินการของรัฐบาล จะต้องอยู่บนข้อมูล ข้อเท็จจริง และข้อกฎหมายที่ถูกต้อง จึงเชื่อมั่นว่า รัฐบาลจะยึดข้อเท็จจริงต่าง ๆ เหล่านี้" นายปกรณ์ ระบุ

สว.ชงถกหน่วยงานเกี่ยวข้องเศรษฐกิจสรุปนิยามวิกฤต

ขณะที่ "นายสถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธ์" สมาชิกวุฒิสภา กล่าวว่า การที่ "นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์" รมช.คลัง เปิดเผยว่า คณะกรรมการกฤษฎีการมีความเห็น ว่าพ.ร.บ. กู้เงิน 500,000 ล้านบาท เพื่อมาดำเนินการโครงการเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาทสามารถทำได้นั้น ว่า การที่กฤษฎีกามีความเห็นสามารถทำได้ แต่ต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไข พ.ร.บ.การเงินการคลัง มาตรา 53 เกี่ยวข้องกับวิกฤตของประเทศ และมาตรา 57 เกี่ยวข้องกับความคุ้มค่าในการดำเนินการ

ทั้งนี้ ซึ่งคำว่าวิกฤตทั่วไปจะต้องเป็นกรณีเศรษฐกิจถดถอยอย่างชัดเจนและยาวนาน รวมทั้งประเทศเผชิญความยากลำบาก มีองค์ประกอบสำคัญ 3 ประการ คือ

  • ความรุนแรง
  • ระยะเวลาการชะลอตัวที่ยาวนาน
  • ขอบเขตของผลกระทบเป็นวงกว้างและแพร่กระจายอย่างกว้างขวางในภาคส่วนต่างๆ และมีปัญหาความไม่มั่นคงทางการเงิน เช่น ความล้มเหลวของธนาคารหรือราคาสินทรัพย์ที่ลดลงอย่างรวดเร็ว แต่บางคนอาจจะมองแค่ว่าการชะลอเศรษฐกิจหลายไตรมาสติดต่อกัน หรือเทียบระหว่างไตรมาสปีนี้ กับไตรมาสนี้ของปีที่แล้วถ้าติดลบก็ถือว่าวิกฤต จึงอยู่ที่คำนิยามว่าจะเป็นยังไง

 

"ทางที่ดีรัฐบาลควรเรียกประชุมหน่วยงานเศรษฐกิจ ของประเทศ การคลัง สภาพัฒน์ฯ ธนาคารแห่งประเทศไทย เพื่อปรึกษาและตกลงกันว่าคำว่านิยามเศรษฐกิจ ตามความหมายของพ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังเป็นอย่างไร ถึงขั้นวิกฤตหรือยัง เพราะถ้าไม่ให้ชัดเจน ก็สุ่มเสี่ยงจะมีการโต้แย้งวิวาทะทางวาจาและทางคดีมากมาย ซึ่งจะเป็นความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นต่อผู้ปฏิบัติงานทั้งในปัจจุบันและอนาคต" นายสถิตย์ กล่าว 

 

ส่วนเรื่องความคุ้มค่า ต้องดูว่ากระทบต่อหนี้สาธารณะมากน้อยเพียงใด เพราะมีการคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจจะขยายตัว ร้อยละ 3.2 ซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) คาดการณ์ว่า หากมีการเติมเงิน 5 แสนล้านบาท เศรษฐกิจอาจขยายตัวได้ถึงร้อยละ 3.8 แปลว่าจะมีการขยายตัวทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 0.6 แต่กลับกันต้องประเมินถึงสถานะหนี้สาธารณะของประเทศ ซึ่งขณะนี้อยู่ที่ร้อยละ 62.4 ของ GDP แต่หากมีการกู้เงินอีก 5.6 แสนล้านบาท จะส่งผลต่อหนี้สาธารณะเพิ่มขึ้น ถึงร้อยละ 64 - 65 รัฐบาลต้องเทียบว่าการกระตุ้นเศรษฐกิจให้โตขึ้น 0.6 จะคุ้มค่ากับการเสียพื้นที่ทางการคลัง จากหนี้สาธารณะที่ขยับตัวขึ้นหรือไม่ 

สำหรับรัฐบาลควรทบทวนการออก พ.ร.บ.กู้เงิน 500,000 ล้านบาทหรือไม่นั้น โดยพ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง ระบุไว้ชัดเจนว่า กรณีที่ไม่สามารถดำเนินโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยงบประมาณที่มีอยู่ได้ สามารถออกเป็น พ.ร.บ.เงินกู้ได้ ซึ่งในส่วนนี้จะส่งผลให้เป็นการเติมเงิน 500,000 ล้านบาท เข้าสู่ระบบเศรษฐกิจและจะส่งผลให้เศรษฐกิจโตขึ้นประมาณ ร้อยละ 3.2 แต่หากใช้งบประมาณประจำปีปกติ จะไม่ส่งผลต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ

"เศรษฐา"ย้ำรอคุยในคกก.วอลเล็ตเพื่อรับฟังทุกฝ่าย

ขณะที่ "นายเศรษฐา ทวีสิน" นายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง กล่าวว่า การประชุมครม.ในวันนี้ (9ม.ค.) ไม่มีการนำเรื่องดิจิทัลวอลเล็ตขึ้นมาพูดคุย เพราะต้องรอเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการดิจิทัลวอลเล็ตที่ตนเป็นประธานก่อน ส่วนจะเป็นวันไหนต้องขอดูช่วงเวลาก่อน แต่ยืนยันว่าวันนี้ยังไม่ได้มีการหารือกับคณะกรรมการชุดดังกล่าว และไม่ได้อยู่ในตารางงานการประชุมของตน

สำหรับกฤษฎีกาตีความว่าอย่างไร จำเป็น เร่งด่วน หรือวิกฤติ นั้น นายกฯ ระบุว่า ต้องมีการพูดคุยกันโดยต้องรับฟังความคิดเห็นจากทุกคน เพราะตนอยากฟังความเห็นของทุกฝ่ายก่อน อาทิ เลขาธิการสภาพัฒน์ฯ ผู้เชี่ยวชาญ และคณะกรรมการดิจิทัลวอลเล็ตทุกคน ยืนยันว่ากฤษฎีกาไม่ได้ตีความว่าทำได้หรือไม่ได้ เป็นเรื่องของดุลยพินิจที่ต้องรับฟังความคิดเห็น ฉะนั้นจึงต้องมีการประชุมคณะกรรมการก่อน

ส่วนกรณีที่มีการเรียกร้องเปิดคำถาม-คำตอบของกฤษฎีกานั้น เมื่อถึงเวลาอันสมควรก็จะเปิดเผย ยืนยันว่าต้องมีการประชุมคณะกรรมการก่อน และเชื่อมั่นว่าเรื่องนี้ไปต่อได้แน่นอน พร้อมปฏิเสธการเปิดเผยคำตอบที่จะแจ้งไปยังกฤษฎีกา ซึ่งต้องขอประชุมก่อน และยืนยันว่ายังคงไทม์ไลน์เดิม โดยนายกฯ ยังกล่าวด้วยว่า ทุกเรื่องมีความหนักใจหมด เพราะต้องทำให้ถูกต้องครบถ้วนและรับฟังความคิดเห็นทุกฝ่าย

 

logoline