svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

เปิดทุกมุมมอง "มาดามเดียร์" กับการชิงผู้นำปชป. ขอโอกาสฟื้นฟูพรรค

เปิดทุกมุมมอง "มาดามเดียร์" กับการชิงผู้นำพรรคประชาธิปัตย์ ขอโอกาสฟื้นฟูพรรค ไม่ว่าผลจะออกมาอย่างไร แต่ได้ปลุกจิตวิญญาณลูกแม่พระธรณีบีบมวยผม กลับมาแล้ว

น.ส.วทันยา บุนนาค หรือ “มาดามเดียร์” ประธานคณะทำงานนวัตกรรมการเมือง กทม. ในฐานะแคนดิเดตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ที่ “นิด้าโพล” ล่าสุดทำผลสำรวจออกมาเป็นอันดับ 1 ถึงความเหมาะสมในการเป็นหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์คนใหม่ ที่จะมีขึ้นในวันที่ 9 ธ.ค.ที่จะถึงนี้

แต่ก่อนจะถึงวันนั้น “ยอร์ช” ธีร์วัฒน์ ชูรัตน์ ได้เชิญ “มาดามเดียร์” มาในรายการ “หาเรื่องคุย” ซึ่งเป็นรายการของเนชั่นออนไลน์ ที่เผยแพร่ผ่าน facebook.com/NationOnline และ youtube ทุกวันจันทร์และพุธ เวลา 19.00 น.เป็นต้นไป

     ลุ้นผ่าน 2 ด่าน

สำหรับประเด็น “หาเรื่องคุย” ในครั้งนี้คงไม่พ้น เรื่องการชิงตำแหน่งหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่ง มาดามเดียร์ กล่าวเปิดรายการเลยว่า โอกาสมีเพียง 50 /50 ค่อนข้างไปทางน้อยด้วย เนื่องจากว่า ต้องผ่าน 2 ด่านสำคัญคือ  

     1. ด่านคุณสมบัติ ที่ต้องได้รับ 3 ใน 4 ขอองค์ประชุมเพื่อยกเว้นข้อบังคับพรรค

     2. การนับคะแนนเสียง 70 / 30  เพราะคะแนนน้ำหนักไปอยู่ที่สส.25 คน 70 แต่เสียงที่เหลืออีก 300 กว่าชีวิต ได้แค่ 30 เท่านั้น ดังนั้นสส.จึงเป็นผู้ชี้ขาดว่าใครจะได้เป็นพรรคการเมือง

เปิดทุกมุมมอง \"มาดามเดียร์\" กับการชิงผู้นำปชป. ขอโอกาสฟื้นฟูพรรค

เมื่อถามถึง ความพร้อมหรือการตัดสินใจกับการจะเป็นหัวหน้าพรรค หลัง จุรินทร์ ลักษณะวิศิษฏ์ ประกาศลาออก

     ไม่เคยคิดว่าจะลงชิงตำแหน่งผู้นำ

วทันยา กล่าวว่า ไม่คิดเลย ตอนแรกที่สมัครเข้าพรรคประชาธิปัตย์ คิดเพียงแค่ว่า อยากมาทำงานกับพรรค เพราะเชื่อมั่น ศรัทธา ในอุดมการณ์ของพรรค โดยเฉพาะในความที่ พรรคไม่มีเจ้าของ ซึ่งเป็นถือว่าจุดเริ่มต้นของประชาธิปไตย และเสรีภาพภายในพรรค พรรคการเมือง ต้องไม่มีเจ้าของถึงจะเป็นอิสระ ถึงจะยึดโยงกับประชาชนได้จริง จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมถึงเข้ามาทำงานในพรรคประชาธิปัตย์ และมองแค่ภาพการทำงานร่วมกับพรรคเท่านั้น

ที่สำคัญช่วงที่เข้ามาทำงานกับพรรค อยู่ในช่วงการนับถอยหลังเข้าสู่โหมดการเลือกตั้ง จึงทำงานด้านการเลือกตั้งมาตลอด จนกระทั่งผลการเลือกตั้งออกมา พวกเราทุกคนก็กังวลว่า จะเป็นอย่างไรเพราะผลการเลือกตั้งจำนวนสส.ลดลงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2562 มาปีล่าสุด 2566 จำนวนสส.ลดลงมาแบบน่าตกใจมาก ได้จำนวนสส.น้อยที่สุดตั้งแต่ตั้งพรรคประชาธิปัตย์มา 77 ปี ตรงนี้ทำให้เกิดความกังวล หลังจากนั้นก็ติดตามว่า ทิศทางพรรคจะเดินไปอย่างไร เฝ้ารอฟังแคนดิเดตหัวหน้าพรรคมาตลอดว่าจะมีทิศทางอย่างไร แต่วิสัยทัศน์ที่ได้เห็นได้ฟังมาไม่ตรงกับสิ่งที่เราคาดหวัง เพราะการเลือกตั้งปี 2566 ผลที่ออกมาเป็นเพราะว่า เราขาดจุดยืนทางการเมือง ขาดอุดมการณ์ที่ชัดเจนทางการเมือง

เมื่อถามว่า แคนดิเดตหัวหน้าพรรค ยังไม่ตรงใจ จึงต้องมาลงเองดีกว่า

     เสียงที่รอฟังแต่ไม่ได้ยิน

วทันยา ชี้แจงว่า ไม่อยากใช้คำว่า ลงเองดีกว่า แต่รอฟังว่าใครที่จะมาบอกว่า การที่พรรคจะฟื้นฟูกลับมาได้ต้องทำอย่างไร โดยในมุมมองของตัวเองเห็นว่า

     1. เราต้องทำอุดมกาณ์ทางการเมือง จุดยืนของเราให้ชัดเจนก่อน เป็นสิ่งสำคัญ

     2. อยากเห็นพรรคการเมืองเป็นจุดเชื่อมระหว่างประชาชนกับระบบการเมือง เปิดพื้นที่ให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมกับพรรคการเมือง ไม่ว่าจะด้วย รูปแบบวิธีการหรือระดับแค่ไหนก็แล้วแต่ นั่นคือจุดเชื่อมต่อประชาชนกับพรรคการเมืองและภาพใหญ่ทางการเมือง

นี่คือสิ่งที่รอฟัง แต่ไม่ได้ยิน และด้วยวิกฤตของพรรค เราเหลือสส.แค่ 25 คน ถ้าไม่มีสิ่งที่อยากเห็นอยากฟัง ก็ขอเสนอตัวเอง เพื่อเป็นทางเลือกให้สมาชิกท่านอื่นๆได้พิจารณา แล้วแต่สมาชิกจะตัดสินใจ ซึ่งเป็นเสรีภาพ เป็นอิสระทางความคิด  แต่เดียร์เชื่อในแนวทางแบบนี้ ในอุดมการณ์ณ์แบบนี้

เมื่อถามว่า การจะเอาพรรคประชาธิปัตย์คนเดิมคืนมา คนเดิมหมายถึงอะไร

     พาอุดมการณ์ 77 ปีของพรรคกลับมา

วทันยา ระบุว่า พรรคประชาธิปัตย์มีอุดมการณ์ที่ชัดเจนมาตั้งแต่ก่อตั้งพรรคปี 2489 ซึ่งมีทั้งหมด 10 ข้อ สรุปสาระสำคัญได้คือ หลักในแง่อุดมการณ์ทางการเมือง เรายึดหลักเสรีนิยมประชาธิปไตยบนวิถีทางบริสุทธิ์, ในแง่เศรษฐกิจ เรายึดหลักระบบเสรี แต่เชื่อในวิธีการที่รัฐจะเข้าไปแทรกแซงเพื่อสร้างความเป็นธรรม, การสร้างระบบรัฐสวัสดิการ, การลดความเหลื่อมล้ำ, การกระจายโอกาสให้กับประชาชนเข้าถึง เพื่อสร้างชีวิต อนาคต เท่าเทียมกับคนอื่นได้  รวมถึงเรื่องการกระจายอำนาจและความมั่นคงของรัฐ นี่เป็นสิ่งที่เป็นพรรคประชาธิปัตย์

อีกหนึ่งประการที่สำคัญมากๆและทำให้พรรคเติบโตมาตั้งแต่ก่อตั้งพรรคมา 77 ปี คือการต่อต้านเผด็จการทุกรูปแบบ นี่คือสิ่งที่เดียร์พยายามจะนำประชาธิปัตย์คนเดิมกลับมา ทำพรรคคการเมืองที่ซื่อตรง พรรคการเมืองที่รักษาคำพูด พรรคการเมืองที่จริงใจกับประชาชน และมีหลักอุดมการณ์ที่ชัดเจน

ผล นิด้าโพล ชู มาดามเดียร์

เมื่อถามว่า นอกจากนี้ตอนตัดสินใจมีแรงกระตุ้นอื่นหรือไม่ เช่น ในแง่ตัวบุคคลที่สนับสนุน

วทันยา บอกว่า ไม่มีเลย เป็นการตัดสินใจของตัวเรา แต่อาจจะมีปรึกษาผู้ใหญ่บ้าง วันนั้นที่ตัดสินใจเป็นโมเมนท์ ที่ว่า พรรคเราไม่มีทางเลือกอื่นแล้วหรือ ต้องเดินไปแบบนี้จริงๆแล้วหรือ รู้สึกเฟลมาหลายวัน อย่างที่บอกเราเป็นสมาชิก เราก็รอ คาดหวังและก็ใกล้วันเลือกตั้งเข้ามาทุกที ทำให้บีบหัวใจมากขึ้นมาเรื่อยๆ

     วินาทีตัดสินใจเข้าคัดเลือกเป็นหัวหน้าพรรค

ช็อตที่ตัดสินวันนั้น ไปนั่งดูสามี คุณฉาย บุนนาค แข่งแบตมินตัน ก็นั่งดูอยู่แล้วใจก็กำลังว้าวุ่น อยู่ๆความคิดก็แว้บเข้ามา ถ้าจะเป็นแบบนั้น แต่เราเชื่อแบบนี้ ก็ควรจะสื่อสารกับประชาชนและสมาชิกตรงๆว่า เราคิดแบบนี้ เชื่อแบบนี้ และเท่าที่ได้พูดคุยกับสมาชิกหลายๆคน ก็มีความรู้สึกที่ไม่แตกต่างกัน จึงคิดว่าแล้วเรายังจะรออะไร ยังจะกลัวอะไร ในเมื่อเราคิดอยากจะทำการเมืองแบบใหม่ ก็ต้องสื่อสารการเมืองแบบใหม่ ตรงไปตรงมาตั้งแต่เริ่มต้น กลัดกระดุมเม็ดแรกให้เป็นแบบนี้ ไม่ว่าผลจะออกมาอย่างไร การแพ้ชนะก็เป็นเรื่องปกติอยู่แล้ว

เมื่อถามว่า ได้ปรึกษาผู้ใหญ่ในพรรค ใครให้ความเห็นอย่างไรบ้าง

     บอก “เฉลิมชัย ศรีอ่อน” ผู้บังคับบัญชาโดยตรงเป็นคนแรก

วทันยา กล่าวว่า การเข้าไปพบผู้ใหญ่ เพียงเพื่อไปบอกเล่าถึงการตัดสินใจให้ฟังมากกว่า ว่าเราเชื่อแบบไหน คิดอะไร จึงเป็นเหตุผลที่ตัดสินใจ คือ การเข้าไปกราบเรียนเรื่องความตั้งใจมากกว่า

กับเลขาฯต่อ (เฉลิมชัย ศรีอ่อน) ได้เข้าไปพบเป็นคนแรกเลย เพราะถือว่า เริ่มแรกที่เข้ามาทำงานในพรรคประชาธิปัตย์ พี่ต่อเขาดูแลสมาชิกภาคกลางโดยเฉพาะกทม. ซึ่งได้ร่วมทำงานกันมาตลอด มีความสนิทกัน จึงไปเรียนท่านเป็นคนแรก เหมือนผู้บังคับบัญชาในการทำงานของเดียร์

เมื่อถามว่า การประกาศตัวของ คุณเดียร์ เหมือนเป็นการรอมชอมของขั้วอำนาจในพรรค มองตรงนี้อย่างไร

     ดีใจมากถ้าได้เป็นส่วนหนึ่งเชื่อมความเห็นต่าง

วทันยา ระบุว่า คงไม่ใช่การรอมชอม แต่มาจากการตัดสินใจของตัวเองมากกว่า ถ้าหากว่าเดียร์จะสามารถหรือเป็นส่วนหนึ่ง ในการที่จะช่วยหาทางออกในความเห็นต่างภายในพรรค ไม่อยากใช้คำว่าขัดแย้ง ซึ่งมองว่าเป็นเรื่องปกติ ในทุกองค์กรไม่ใช่เฉพาะการเมือง ซึ่งถ้าเดียร์จะสามารถเป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยเชื่อมความคิดเห็นที่หลากหลาย เข้ามาร่วมทำงานกันได้ ก็จะเป็นอะไรที่ดีมากและดีใจมาก ถ้ามีส่วนร่วมในตรงนั้นได้

จึงเป็นเหตุผลหนึ่งที่ไม่กำหนดรายชื่อทีมงาน เพราะคิดว่า ในการเลือกตั้งหัวหน้าพรรค เมื่อเสนอชื่อทีมครบ เมื่อคนแพ้ไม่มีที่ยืนเขาก็จะออกไป ซึ่งเราเสียบุคลากรที่มาความรู้ความสามารถจากกรณีนี้มากมาย เดียร์จึงไม่เสนอชื่อทีม เพราะคิดว่า ถ้าเราอยากจะฟื้นฟูพรรค เราต้องทำให้พรรคมีพื้นที่เปิดกว้างให้ทุกคนจริงๆตั้งแต่ต้น

เปิดทุกมุมมอง \"มาดามเดียร์\" กับการชิงผู้นำปชป. ขอโอกาสฟื้นฟูพรรค

เมื่อถามว่า อะไรในตัวของคุณเดียร์ ที่จะเป็นจุดร่วมให้ทุกฝ่ายหันมาร่วมกัน

     เชื่อมรุ่นใหม่ต่อรุ่นเก่า

วทันยา บอกว่า แสดงว่าสมาชิกพรรค เขาเห็นและมีความเชื่อในทางเดียวกันว่า เหตุผลที่เราจะฟื้นฟูพรรคกลับมาได้ และเป็นความสำเร็จที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วในอดีต คือ กลับมาฟื้นฟู ทำอุดมการณ์ของพรรคให้กลับมาชัดเจนอีกครั้งหนึ่ง ให้เราสามารถเป็นที่พึ่งให้กับประชาชน ให้เห็นว่าพรรคเป็นที่ยึดโยงกับประชาชนที่แท้จริง เป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด อีกประการ อาจจะเป็นส่วนหนึ่ง คือ รุ่น ซึ่งเดียร์ถือเป็นคนรุ่นกลาง ที่ยังไม่ห่างจากคนรุ่นใหม่จนเกินไปโดยที่ไม่เข้าใจเขา แต่ว่าก็ไม่ห่างไกลผู้ใหญ่จนเกินไปจนไม่เข้าใจเขา

เดียร์ก็ผ่านประสบการณ์การทำงานมาเหมือนกัน  จุดนี้เป็นอีกหนึ่งส่วนที่จะทำให้ สมาชิกพรรคมองว่า การเปลี่ยนแปลงภายใต้ความท้าทายจากการเปลี่ยนแปลงของโลก ไม่ใช่แค่ของพรรคการเมืองของประเทศไทยทั้งหมด วันนี้พรรคการเมือง คือจุดเชื่อมโยงกับประชาชน เราต้องยึดโยงกับประชาชน เพราะในวันนี้เราปฏิเสธไม่ได้ว่า ทั้งสังคมไทยและสังคมโลก

เรากำลังเข้าสู่สภาวะที่มันท้าทายในหลายๆด้าน ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง Global Climate Change และโดยเฉพาะประเทศไทยกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย เข้าสู่สังคมนวัตกรรม ที่วันนี้AI กำลังจะเข้ามาแทนที่มนุษย์ หรือฉลาดกว่ามนุษย์ไปแล้ว วันนี้เราต้องเตรียมพร้อมรับมือกับเรื่องราวเหล่านี้อย่างไร แสดงให้เห็นว่า โลกเราเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร นี่เป็น 1 โจทย์ที่พรรคจะเปลี่ยนแปลงตัวเองและประชาชน เพื่อรองรับหรือก้าวไปดักหน้าความท้าทาย เพื่อรองรับประชาชนได้อย่างไร เป็นสิ่งที่พรรคจะต้องหยิบมาคิด

ด้วยรุ่นกลางคน เดียร์ จะตอบโจทย์ให้กับคนรุ่นใหม่ เพราะมีประสบการณ์เพียงพอที่ทำงานให้กับผู้ใหญ่ ไม่ใช่เคลื่อนไปข้างหน้าโดยทิ้งประสบการณ์ดีๆโดยที่ไม่สนใจ นี่เป็นเหตุผลที่รอฟังแต่ก็ไม่มี

เมื่อถามถึง แนวทางการฟื้นฟูพรรคมีรูปธรรมอย่างไรบ้าง

วทันยา กล่าวว่า มีแผนทำงานในใจอยู่แล้ว แต่คงพูดทั้งหมดไม่ได้ในตอนนี้ เพราะเป็นยุทธศาสตร์ทางการเมือง แต่พอสรุป คร่าวๆให้ฟังได้ว่า กลับมาทำจุดยืนพรรคให้เข้มแข็ง ให้ชัด จึงประกาศจุดยืนวันแรกเลยว่า จะเป็นฝ่ายค้าน ทำหน้าที่ฝ่ายค้านโดยไม่เป็นพรรคอะไหล่หรือพรรคสำรองของใคร เพราะประชาชนมอบบทบาทให้แล้วตั้งแต่ผลเลือกตั้งออกมา คือ 1.ไม่เอาลุง 2.ต้องการเปลี่ยนรัฐบาล ดังนั้นเราต้องทำหน้าที่ฝ่ายค้านให้อย่างสมศักดิ์ศรี สมเกียรติมากที่สุด ในการที่จะตรวจสอบรัฐบาล เพื่อเป็นตัวแทนของประชาชนอย่างแท้จริง

อีกเรื่องหนึ่งที่สำคัญในการสร้างพรรคการเมือง คือ การเปิดพื้นที่ให้ประชาชนเข้ามีส่วนร่วม ให้คนที่มีแนวอุดมการณ์ที่ตรงกัน เข้ามาทำงานร่วมกัน เพื่อผลักดันอุดมการณ์ของเราเข้าสู่ระบบการเมืองใหญ่ และความตั้งใจของเดียร์จะลงพื้นที่ เพื่อฟังให้มากสุด เพื่อนำมากำหนดนโยบายในการเลือกตั้งครั้งต่อไป

2. การไปฟื้นฟู ระบบพรรค ระบบสมาชิก  ระบบสาขา เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่าคนที่อยู่ใกล้ชิดประชาชนมากที่สุดทุกวัน คือ ตัวแทนสาขาพรรคทั้งหลายที่อยู่ในพื้นที่ ต้องทำให้เขากลับมาเข้มแข็ง เพื่อให้สามารถทำงานกับประชาชน และเป็นเสียงสะท้อนของประชาชนในระดับพื้นที่ส่งต่อเข้ามาถึงพรรคได้อย่างชัดเจน

รื้อฟื้นกิจกรรมยุวประชาธิปัตย์กลับมา เพราะเป็นเวทีที่เปิดกว้าง เปิดโอกาสให้กับทุกคน และเราก็ทำสำเร็จมาแล้ว นักการเมืองรุ่นใหม่หลายคนผ่านกิจกรรมนี้กันมาแล้ว และพรรคอื่นๆก็นำไปใช้

เมื่อถามว่า เดียร์เหมือนก้าวไกล มองอย่างไรกับเรื่องนี้

     นิยามคนรุ่นใหม่ ไม่ได้ที่อายุ มองที่แนวคิด

คนรุ่นใหม่สำหรับ เดียร์ ไม่ได้มองที่อายุ แต่เดียร์มองว่า แนวความคิดว่า มีความพร้อมที่จะยอมรับการการเปลี่ยนแปลง พร้อมจะก้าวไปข้างหน้า ตรงนี้ เป็นนิยาม คนรุ่นใหม่ ในมุมมองของเดียร์  

เมื่อถามว่า หากได้เป็นหัวหน้าพรรค จะเปรียบเทียบกับหัวหน้าพรรคอื่นอย่างไร  

แน่นอนว่าพรรคการเมืองอื่นแข่งกับตัวเองและประชาชน เพื่อให้ได้ความศรัทธากลับมาเหมือนเดิม ไม่ว่าจะต้องทำงานหนักขนาดไหนเป็นสิ่ง สำคัญที่สุด การเดินไปในอนาคตจะเดินไปบนจุดที่ยืนเราเข้มแข็งที่สุด คงไม่ขอเปรียบเทียบกับใคร เพราะในอนาคต 4 ข้างหน้ากับวันนี้อาจจะไม่เหมือนกัน

ท้ายนี้อยากจะบอกหรือให้คำมั่นอะไรหรือไม่

     ไม่ให้คำมั่นแต่จะทำให้ได้

วทันยา กล่าวว่า คงไม่ได้ให้คำมั่นอะไร เพียงแต่อยากจะบอกว่า สิ่งที่จะทำเป็นหน้าที่ ที่จะต้องทำให้ได้ คือ

     1.ฟื้นฟูอุดมการณ์จุดยืนของพรรค ให้กลับมาเป็นที่ไว้วางใจของประชาชนอีกครั้งหนึ่ง

     2. ทำพรรคการเมืองให้เป็นพื้นที่เปิดกว้างสำหรับประชาชน ให้ประชาชนมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง

     และที่สำคัญที่สุดคือ 3. การที่จะเป็นพรรคการเมือง มีนักการเมืองที่รักษาคำพูด จริงใจและซื่อสัตย์กับประชาชน

นับเป็นสิ่งที่ตั้งใจ และตั้งมั่น ที่จะทำพรรคการเมืองแบบนี้ และเชื่อมั่นว่า เป็นหนทางที่จะทำให้ระบบการเมืองไทยเติบโตได้อย่างมั่นคง มีเสถียรภาพมากที่สุด ถ้าพรรคการเมืองไม่ซื่อสัตย์กับประชาชน ไม่ยึดโยงกับประชาชน ถ้าเขาเข้าไปสู่สภาฯ ขึ้นไปสู่อำนาจ โดยไม่ซื่อสัตย์กับประชาชน ไม่มีอุดมการณ์ ก็จะนำไปสู่ปัญหาต่างๆ โดยเฉพาะการคอรัปชั่น สุดท้ายผลที่ตามมาก็นำไปสู่ข้ออ้างในการทำรัฐประหาร ซึ่งเป็นการทำลายภาพการเมืองใหญ่และกระบวนการพัฒนาประชาธิปไตยของประเทศ