svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

รวมนานาทรรศนะ"นิรโทษกรรม"ต้องคำนึงหลักนิติธรรมและประชาชน

06 ธันวาคม 2566
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

รวมแนวคิดเรื่องนิรโทษกรรม "อุ๊งอิ๊งค์" มองเพื่อไทย-ก้าวไกล ต้องหาจุดหยุดความขัดแย้ง ส่วน "ช่อ พรรณิการ์" ย้ำอย่าให้ "ทักษิณ" เป็นเครื่องชี้วัดกฎหมายต้องผ่าน แต่ควรนึกถึงประชาชนทั่วไป ด้าน "อนุดิษฐ์" กระตุกใช้หลักนิติธรรม

6 ธันวาคม 2566 กลายเป็นประเด็นที่ทำให้เกิดข้อเถียงกันอยู่ และอาจส่งผลไปสู่ความขัดแย้งในอนาคต ต่อความเห็นเกี่ยวกับการนิรโทษกรรรม ที่ยังดูไม่สอดคล้องกันทั้งในส่วนของพรรคเพื่อไทย และพรรคก้าวไกล 

โดย "น.ส.แพทองธาร ชินวัตร" หัวหน้าพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า การที่พรรคเพื่อไทยเตรียมเสนอร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมประกบกับพรรคก้าวไกลนั้น ต้องหาจุดที่หยุดความขัดแย้งของทุกฝ่ายอย่างแท้จริง ซึ่งต้องพูดคุยในรายละเอียดอีกมาก และยืนยันว่าพรรคเพื่อไทยสนับสนุนเรื่องดังกล่าวมาโดยตลอดและจะไม่ทิ้งเรื่องนี้

"ต้องหาจุดยืนที่ทำให้ทุกฝ่ายเข้าใจกันอย่างแท้จริง แต่ในรายละเอียดบางอย่างที่ยังไม่เข้าใจกัน ต้องมีการพูดคุยเพิ่มเติม ซึ่งถือเป็นเรื่องปกติอยู่แล้ว พร้อมยืนยันว่าร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ จะไม่ได้มีจุดประสงค์ เพื่อช่วยเหลือบุคคลใดบุคคลหนึ่งอย่างแน่นอน" น.ส.แพทองธาร ระบุ 

เมื่อถามว่า กังวลหรือไม่เพราะพ.ร.บ.นิรโทษกรรมเคยเป็นแผลของพรรคเพื่อไทยเมื่อปี 2557 มาก่อน โดยน.ส.แพทองธาร ระบุว่า เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นมาหลายปีแล้ว และในขณะนั้นได้ทำเนื้อหาในร่างพ.ร.บ.ไว้ดีมาก ซึ่งสามารถเอามาแก้ไขเนื้อหาใหม่ได้แน่นอน เเต่เนื่องจากช่วงเวลาที่เปลี่ยนไป ก็ต้องกลับมาคุยเรื่องนี้กันใหม่แน่นอน

ส่วนกรณีของ "นายทักษิณ ชินวัตร" อดีตนายกรัฐมนตรี ไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ เพราะนายทักษิณได้รับอภัยโทษไปก่อนหน้านี้แล้ว และในวันที่ 5 ธ.ค.ที่ผ่านมา ก็ไม่มีการอภัยโทษอีก พิสูจน์แล้วว่าเป็นเรื่องจริง ที่ก่อนหน้านี้ผู้สื่อข่าวพยายามสอบถามว่านายทักษิณจะได้รับการอภัยโทษอีกหรือไม่ และตนตอบไปว่าไม่รู้เรื่อง เพราะวันนี้ (6ธ.ค.) ก็ไม่มีการอภัยโทษ

ขณะที่ "น.ส.พรรณิการ์ วานิช" โฆษกคณะก้าวหน้า ในฐานะอดีตผู้ช่วยหาเสียงพรรคก้าวไกล กล่าวว่า ที่ขณะนี้ยังมีความต่างการนิรโทษกรรม ในคดีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 นั้น ถือเป็นความเคลื่อนไหวในเชิงบวก เพราะตั้งแต่พรรคก้าวไกล เสนอเป็นนโยบายหาเสียง ได้มีการเสนอเรื่องนี้ต่อเนื่อง และทราบอยู่แล้วว่า จะต้องมีความเห็นที่แตกต่าง

ทั้งนี้ แต่การรวมคดีที่เกี่ยวข้องกับมาตรา 112 ด้วยนั้น เป็นเพราะความแตกแยกในสังคม ที่เกิดจากความแตกต่างทางความคิด จนถูกแสดงออกผ่านการฟ้องร้องการเคลื่อนไหวที่เกี่ยวข้องกับคดี มาตรา 112 ดังนั้น หากละเว้น มาตรา 112 ออกไปจากการนิรโทษกรรม ก็จะไม่บรรลุผลด้วย ซึ่ง "นายชัยธวัช ตุลาธน" หัวหน้าพรรคก้าวไกล ได้กล่าวไว้ดีแล้ว ซึ่งตนเห็นด้วยทุกประการ เพราะเป็นเรื่องดีที่สังคมจะก้าวต่อไปบนประชาธิปไตย ที่อยู่กันบนความแตกต่างจึงจำเป็นต้องคลี่คลายความขัดแย้งในอดีต 

"การคลี่คลายความขัดแย้งในอดีต ไม่ได้หมายความว่า ทำผิดจะไม่ต้องรับโทษ แต่ต้องยอมรับว่า คดีต่าง ๆ ที่ถูกดำเนินการ มีเป้าประสงค์ทางการเมือง ที่เกิดจากความคิดที่แตกต่างกัน หรือเป็นนักโทษทางความคิด ไม่ได้ก่ออาชญากรรม เพียงแต่มีความเห็นที่แตกต่างจากรัฐ หรือผู้มีอำนาจรัฐ ฉะนั้น เรื่องนี้ควรมีการนิรโทษกรรม และมาเริ่มต้นพูดคุยกันใหม่" น.ส.พรรณิการ์ กล่าว 

ส่วนที่พรรคร่วมรัฐบาลอาจเสนอร่างมาประกบกับร่างของพรรคก้าวไกล จะทำให้ประเด็นการนิรโทษกรรมคดี 112 ไม่ถูกผลักดันหรือไม่นั้น โดยส่วนตัวเห็นว่าหลายพรรคการเมือง ไม่ได้คัดค้านการนิรโทษกรรม แต่ไม่ต้องการให้รวมคดี มาตรา 112 ไปด้วย ซึ่งเป็นเรื่องปกติที่มีความเห็นแตกต่างกัน แต่ก็สามารถถกเถียงในสภาได้ และเห็นว่าการเสนอร่างกฎหมายประกบจากรัฐบาล ถือเป็นเรื่องที่ดี เพราะหากมีร่างประกบ ก็หมายความว่า มีจุดที่เห็นตรงกันด้วย และต้องเป็นกลไกที่ต้องต่อสู้กันในสภา ซึ่งหากพรรคก้าวไกลไม่สามารถได้เสียงพอ ก็ต้องยอมรับความพ่ายแพ้ในกระบวนการ แต่อย่างน้อยข้อเสนอของพรรคก็ได้นำเข้าสู่กระบวนการตามปกติของสภา

ส่วนที่นายชัยธวัช เคยระบุแกนนำพรรคอนาคตใหม่จนถึงพรรคก้าวไกลบางคน ขอสละสิทธิ์ไม่เข้าสู่กระบวนการนิรโทษกรรม ก็ได้พูดคุยกันมาตลอด เพื่อระมัดระวังการเป็นผลประโยชน์ทับซ้อน เพราะมีบุคลากรของทั้ง 2 พรรคจำนวนหนึ่ง ซึ่งอาจเข้าข่ายได้รับประโยชน์จากเรื่องนี้ จึงตระหนักเป็นเรื่องแรกเพื่อให้กฎหมายสามารถดำเนินต่อไปได้ และตนเองมีความจำเป็นที่จะต้องพิสูจน์ตัวเอง ด้วยกระบวนการยุติธรรม เพราะมั่นใจว่าไม่ได้ทำผิดกฎหมาย การพิสูจน์ในกระบวนการยุติธรรม อาจจะทำให้ได้รับความเป็นธรรมได้ แต่การสละสิทธิ์นี้สำหรับ สส.พรรคก้าวไกลคนอื่น ๆ จะเป็นการตัดสินใจด้วยตนเอง ซึ่งสามารถขอสละสิทธิ์ได้ เพราะ สส.พรรคก้าวไกลปัจจุบันหลายคน ในขณะถูกดำเนินคดี ก็เป็นประชาชนคนหนึ่ง ยังไม่ได้เป็น สส. ฉะนั้น เมื่อเป็น สส.แล้ว จะบอกว่ามีผลประโยชน์ทับซ้อน ตนเองก็คิดว่าไม่เป็นธรรม

ส่วนการสละสิทธิ์จะเป็นต้นแบบให้กับพรรคร่วมรัฐบาล ที่การนิรโทษกรรมจะไม่ครอบคลุมนายทักษิณ ด้วยหรือไม่นั้น ซึ่งเรื่องดังกล่าว ไม่ใช่โมเดลระดับพรรค แต่เป็นการตัดสินใจระดับบุคคล เพราะสุดท้ายแล้วทุกคน มีสิทธิ์ในการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม ซึ่งเป็นสิทธิพื้นฐานของมนุษย์ทุกคนที่ไม่ควรปิดกั้น

ส่วนคดีของนายทักษิณ ส่วนใหญ่เป็นคดีทุจริตจะเข้าข่ายด้วยหรือไม่นั้น หากพิจารณาตามแนวทางของพรรคก้าวไกล ไม่ได้มุ่งฐานความผิดเป็นสิ่งสำคัญ แต่มุ่งที่มูลเหตุจูงใจว่า มีมูลเหตุจูงใจทางการเมืองหรือไม่ ดังนั้น จึงต้องมีคณะกรรมการที่เป็นตัวแทนของทุกฝ่ายมาพิจารณาว่า มีเหตุจูงใจในทางการเมืองหรือไม่ ซึ่งนายทักษิณ จะเข้าข่ายการนิรโทษหรือไม่ ต้องขึ้นอยู่กับคณะกรรมการฯ ว่า จะพิจารณาอย่างไร 

ส่วนเหตุผลการครอบคลุมการนิรโทษกรรมนายทักษิณ จะเป็นเหตุผลให้พรรคเพื่อไทยยกมือโหวตให้ร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมฉบับนี้ ได้รับการสนับสนุนหรือไม่นั้น ส่วนตัวหวังว่ากรณีของนายทักษิณ จะไม่เป็นมูลเหตุจูงใจให้พรรคเพื่อไทย แต่เป็นกรณีของประชาชนทั่วไปที่ติดคุกอยู่ในวันนี้ ที่จะเป็นมูลเหตุจูงใจให้พรรคเพื่อไทย และทุกพรรคการเมืองเห็นความสำคัญว่า จะปล่อยให้ผู้ต่อสู้ทางการเมืองที่มีความเห็นต่างถูกโทษจำคุกหรือไม่ 

ด้าน "น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ" รองหัวหน้าพรรคไทยสร้างไทย กล่าวถึงการพิจารณากฎหมายนิรโทษกรรม ซึ่งคาดว่าจะถูกหยิบยกมาพูดคุยในสมัยประชุมที่กำลังจะถึงนี้ ว่า การเข้าไปรับโทษตามคำพิพากษาในเรือนจำ เป็นกระบวนการลงโทษผู้กระทำความผิดตามหลักการสากล ใครทำผิดก็ต้องรับโทษทัณฑ์ของตัวเองตามกฎหมาย ซึ่งเป็นเรื่องที่สมควรแล้วแต่กรณีนี้ คงต้องยกเว้นผู้ที่ถูกดำเนินคดีโดยไม่เป็นไปตามหลักนิติธรรม โดยเฉพาะนักโทษการเมืองทั้งหลายที่ต้องสูญเสียอิสรภาพ หรือ ต้องหลบหนีอยู่ในขณะนี้

ทั้งนี้ หลายคนคงจำกันได้ เมื่อคณะรัฐมนตรีได้แถลงนโยบายต่อรัฐสภาเมื่อวันที่ 11 ก.ย.ที่ผ่านมา พบว่ารัฐบาลให้ความสำคัญกับการสร้างความสามัคคีปรองดองให้เกิดขึ้นในสังคมไทย และมีนโยบายที่จะฟื้นฟูหลักนิติธรรมที่เข้มแข็ง มีประสิทธิภาพ โปร่งใสและเป็นที่ยอมรับของนานาประเทศ อันเป็นการยอมรับว่า ที่ผ่านมาสังคมไทยยังอยู่ในวังวนของความขัดแย้ง และมิได้ปกครองด้วยหลักนิติธรรม

"หลักนิติธรรมคือเครื่องมือสำคัญในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง แต่หลักการนี้กลับถูกบิดเบือนจากฝ่ายที่มีอำนาจในอดีต เพื่อใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือจัดการกับฝ่ายตรงข้ามทางการเมือง ทำให้หลักการสำคัญของกฎหมายอาญา ถูกแก้ไข บิดเบือน หลายเรื่อง เช่น การแต่งตั้ง คตส. ซึ่งเป็นองค์กรที่ซ้ำซ้อนกับ ป.ป.ช. โดยเลือกคู่ขัดแย้งของผู้ถูกกล่าวหามาเป็นคณะทำงาน มีเจตนาเพื่อจัดการกับนายทักษิณ และคณะโดยเฉพาะ" น.อ.อนุดิษฐ์ กล่าว   

อย่างไรก็ตาม จากนั้นมีการแก้ไขให้คดีอาญาบางประเภทไม่มีอายุความ และยังให้ศาลมีอำนาจพิจารณาคดีอาญาลับหลังจำเลยได้ และล่าสุด คือ การแก้ไขหลักเกณฑ์การได้รับพระราชทานอภัยโทษอย่างไม่เป็นธรรม ทำให้นักโทษอื่นๆได้รับความเดือดร้อนไปด้วย โดยมีเจตนาเพียงเพื่อไม่ให้นายทักษิณกลับเข้ามาในประเทศ หรือ หากจะกลับก็ต้องยอมรับโทษตามคำพิพากษา จึงเชื่อได้ว่าการกลับมาของนายทักษิณ เป็นการจำยอมถูกลงโทษเพื่อจะได้กลับเข้ามาอยู่กับครอบครัว มากกว่าเต็มใจยอมรับการลงโทษโดยดุษฎี 

ขณะเดียวกัน ส่วนตัวเห็นด้วยกับแนวคิดของหลายพรรคการเมือง ที่จะใช้กฎหมายนิรโทษกรรมเป็นเครื่องมือแก้ปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองและสร้างความปรองดองให้กับสังคมไทย แต่เห็นเพิ่มเติมว่า การนิรโทษกรรมควรครอบคลุมถึงผู้ที่ได้รับผลกระทบจากกระบวนการทางกฎหมายที่มิได้อยู่บนหลักนิติธรรมด้วย 

อีกทั้ง รัฐบาลก็ควรเร่งดำเนินการตามนโยบาย ด้วยการแก้ไขกระบวนการทางกฎหมายที่ตราขึ้น โดยขัดต่อหลักนิติธรรมและหลักความยุติธรรมอาญา พร้อมทั้งคืนความถูกต้องชอบธรรมให้กับฝ่ายที่ถูกจัดการด้วยกฎหมายที่ไม่เป็นธรรม เพื่อไม่ให้ประเทศไทยได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่ปกครองด้วยกฏหมาย (Rule by Law) แต่ไม่ได้อยู่บนหลักนิติธรรม ( Rule of Law) ซึ่งขัดกับหลักการอำนวยความยุติธรรมสากลที่ทั่วโลกใช้กัน 

สำทับด้วย "นายเศรษฐา ทวีสิน" นายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง กล่าวถึงเรื่องนี้เพียงสั้นๆ ระหว่างเดินทางไปร่วมสัมมนาพรรคเพื่อไทย ว่า ส่วนตัวยังไม่ได้ติดตามข่าว เป็นเรื่องของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตนมัวแต่ดูเรื่องปัญหาปากท้อง ปัญหาเรื่อง พ.ร.บ.อากาศสะอาด เรื่องยาเสพติด ส่วนจะเป็นแนวทางในการปรองดองหรือไม่นั้น แล้วแต่เสนอมา


 


 

 

 


 

logoline