svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

"ปานเทพ" เบิกความปากสุดท้าย คดีพันธมิตร ปิดสนามบินสุวรรณภูมิ ยันไม่ได้ทำผิด

"ปานเทพ" ยื่นคำเบิกความ 10 ข้อ กว่า 100 หน้า คดีพันธมิตรชุดสอง ชุมนุมปิดสนามบินสุวรรณภูมิ ยืนยันไม่ได้กระทำผิด ศาลนัดพร้อม 20 ธ.ค. 66 เพื่อกำหนดวันฟังคำพิพากษา คาด มี.ค. ปีหน้า

21 พฤศจิกายน 2566 เมื่อเวลา 09.30 น. ที่ห้องพิจารณา 901 ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก ศาลนัดสืบพยานจำเลยปากสุดท้าย คดีหมายเลขดำ อ.1083/2556 ที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีอาญา 9 เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง นายสุริยันต์ ทองหนูเอียด กับพวกรวม 67 คน เป็นจำเลยในคดีพันธมิตรบุกชุมนุมสนามบินดอนเมืองและสนามบินสุวรรณภูมิ เมื่อปี 2551 ในความผิดฐาน

  • ร่วมกันทำให้ปรากฏแก่ประชานด้วยวาจา หนังสือ หรือวิธีอื่นใด อันไม่ใช่เป็นการกระทำภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ เพี่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในแผ่นดินหรือรัฐบาล โดยใช้กำลังประทุษร้ายเพื่อให้เกิดความปั่นป่วน กระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชนเพื่อให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน
  • ร่วมกันมั่วสุมตั้งแต่ 10 คนขึ้นไปใช้กำลังประทุษร้ายเพื่อให้เกิความวุ่นวายในบ้านเมืองโดยมีอาวุธ
  • ร่วมกันเข้าไปรบกวนการครอบครอง เข้าไปซ่อนตัวในอาคารสำนักงานของผู้อื่นและไม่ยอมออกไปจากสถานที่นั้น โดยใช้กำลงประทุษร้าย
  • ร่วมกันตั้งแต่ 2 คนขึ้นไปฝ่าฝืนคำสั่งของหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินตาม พ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548

โดยวันนี้ นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ จำเลยที่ 18 และทนายความ เดินทางมาศาลเพื่อเบิกความเป็นพยานจำเลยปากสุดท้าย

นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ จำเลยที่ 18

นายปานเทพ กล่าวว่า มาเบิกความในฐานะจำเลยที่ 18 คดีพันธมิตรฯ ชุดที่สอง ชุมนุมในสนามบินท่าอากาศยานดอนเมือง และท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เมื่อปี 2551 ที่ผ่านมาได้มีโอกาสซักค้านพนักงานสอบสวน ซึ่งพยานฝ่ายโจทก์ที่พาดพิงถึงตนเองไปแล้ว และแม้ว่าจะไม่ได้เป็นแกนนำพันมิตรฯ ในช่วงนั้น แต่วันนี้ได้นำพยานหลักฐานที่รวบรวมมาหลายปีในฐานะนักวิชาการและสื่อมวลชน ซึ่งเพียงพอที่จะทำให้เห็นภาพรวมว่าเกิดอะไรขึ้น เพื่อจะแถลงต่อศาลไว้จำนวน 100 หน้า

ทำให้มั่นใจว่าการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรฯ ไม่ได้เป็นผู้กระทำความผิด ส่วนจะไม่กระทำผิดอย่างไรก็จะขอเบิกความในชั้นศาล ส่วนคดีแกนนำพันมิตรฯชุมนุมบุกสนามบินชุดแรก มีจำเลย 36 คน ศาลนัดฟังคำพิพากษาวันที่ 18 ธันวาคม นี้ เวลา 09.00 น.

นายปานเทพ กล่าวว่า การชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรฯ เป็นการใช้สิทธิต่อต้านการได้มาซึ่งอำนาจโดยมิชอบตามรัฐธรรมนูญของรัฐบาลในยุคนั้น ที่ทำให้มีการยุบพรรคพลังประชาชน 2 ธันวาคม 2551 และหยุดยั้งการพยายามแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อล้มล้างคดีทุจริตคอร์รัปชัน ยกเลิกคดียุบพรรคการเมืองหลังจากที่ผ่านการเลือกตั้งไปแล้ว ส่วนการชุมนุมในเหตุการณ์นั้นจะเป็นอย่างไร ก็จะมีรายละเอียดในคำเบิกความ แต่การชุมนุมในช่วงนั้นประสบความสำเร็จเป็นที่มีมาของการทำให้คดีทุจริตคอร์รัปชันเดินหน้าไปได้ จนยุติไปแล้ว 12 คดี มีผู้ถูกจำคุกหลายคน รวมทั้งนายทักษิณ ชินวัตร ด้วย

กลุ่มพันธมิตร ชุมนุมปิดสนามบินสุวรรณภูมิ : แฟ้มภาพ 27 พ.ย. 2551

เราจึงเชื่อด้วยความบริสุทธิ์ใจว่าทำหน้าต่อต้านการได้มาซึ่งอำนาจโดยมิชอบตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ ขณะเดียวกันก็ต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชัน เราเชื่อและมั่นใจว่าสิ่งที่เราทำไม่ได้เป็นเพียงเสรีภาพการชุมนุมแต่เป็นการทำหน้าที่รักษาประโยชน์ของชาติ ซึ่งเป็นหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ

ภายหลังยื่นคำเบิกความแล้ว นายปานเทพ กล่าวว่า ได้ยื่นคำเบิกความซึ่งวันนี้พนักงานอัยการได้อ่านและมีการซักค้านเป็นที่เรียบร้อย โดยศาลนัดพร้อมจำเลยทุกคนในวันที่ 20 ธันวาคม นี้ เพื่อจะนัดฟังพิพากษาคาดว่าจะเป็นช่วงเดือนมีนาคมปีหน้า

สำหรับรายละเอียดคำเบิกความเป็นลายลักษณ์อักษรที่ยื่นต่อศาลในวันนี้ เป็นเอกสารจำนวน 100 กว่าหน้า แบ่งเป็น 10 ข้อ

นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ จำเลยที่ 18

ข้อ 1 การต่อต้านของกลุ่มพันธมิตรฯ เป็นการต่อต้านพรรคพลังประชาชนที่สืบทอดอำนาจจากพรรคไทยรักไทย เพราะมีการทุจริตคอร์รัปชัน ซึ่งมีคำพิพากษาศาลฎีกาเกี่ยวข้องกับนายทักษิณ กับพวกรวม 12 คดี มูลค่านับเกือบ 1 แสนล้านบาท ฉะนั้นการที่พันธมิตรฯ คัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 309 ยกเลิกอำนาจ คตส.ที่เคยตรวจสอบเอาไว้ จึงเท่ากับพันธมิตรฯ คัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อล้างความผิดให้กับนายทักษิณ เท่ากับว่าพันธมิตรฯทำหน้าที่ของประชาชนชาวไทย ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 71

ข้อ 2 การที่พันธมิตรฯต่อต้านทั้งสองพรรคดังกล่าว เพราะได้อำนาจโดยไม่เป็นไปตามวิธีการที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ กลุ่มพันธมิตรจึงอาศัยสิทธิพิทักษ์รัฐธรรมนูญตามมาตรา 69 ต่อต้านผู้ได้อำนาจมาจากการโกงเลือกตั้ง ซึ่งมีคำพิพากษาของศาลรัฐธรรมนูญให้ยุบพรรคพลังประชาชน และก่อนหน้านั้นก็ยุบพรรคไทยรักไทยด้วยข้อหาเดียวกัน

ข้อ 3 กลุ่มพันธมิตรฯ ต่อต้านรัฐบาลเป็นไปโดยสุจริตและเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งเคยมีคำพิพากษาศาลฎีกา คดีที่นายทักษิณยื่นฟ้องพันธมิตรฯ 2 คดี เมื่อปี 2551 ซึ่งเราชนะทั้งสองคดี โดยคำพิพากษาระบุว่าสิ่งที่เราได้แถลงไม่เกินเลยจากความเป็นจริง นอกจากนี้ยังมีคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด ที่ให้พันธมิตรฯชนะคดีการสลายการชุมนุม 7 ตุลา 2551 และคดีที่อัยการฟ้องพันธมิตรฯชุมนุมที่รัฐสภา ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นยกฟ้อง

ข้อ 4 กลุ่มพันธมิตรฯชุมนุมโดยมีเนื้อหาปกป้อง 3 สถาบันหลัก เช่นการปกป้องอธิปไตยของชาติโดยการแถลงคัดค้านแถลงการร่วมไทย-กัมพูชา เมื่อปี 2551 ที่กระทำโดยมิชอบ สุ่มเสี่ยงต่อการสูญเสียอาณาเขต คดีนี้ศาลรัฐธรรมนูญตัดสินว่าเป็นการกระทำขัดต่อรัฐธรรมนูญ แปลว่าเราทำหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ

ข้อ 5 การใช้สิทธิในการต่อต้านรัฐบาล เราใช้เครื่องมือด้วยการชุมนุมสาธารณะเมื่อปี 2551 ที่ยังไม่มีพ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ รัฐธรรมนูญกำหนดว่า ถ้าไม่มีกฎหมายเฉพาะกาล และจะอาศัยกฎหมายฉบับอื่นมาลงโทษ เพราะไม่มีพ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะจะกระทำไม่ได้

ข้อ 6 มีใช้อำนาจบิดเบือน แทรกแซงกระบวนการยุติธรรม เช่นแก้ไขรัฐธรรมนูญ ฟ้องกลุ่มพันธมิตรฯ โยกย้ายอธิบดีดีเอสไอ ข้าราชการตำรวจ และคดีถุงขนมละเมิดอำนาจศาล และคดีปลอดแปลงเอกสารก.ก.ต.หวังช่วยคดีซื้อเสียง การที่พันธมิตรฯชุมนุมและแถลงการณ์จึงสมควรแก่เหตุ

ข้อ 7 กลุ่มพันธมิตรฯ ทำตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งแถลงการณ์ 29 ฉบับของพันธมิตรฯ ยึดสันติวิธี ปราศจากอาวุธและเรียกร้องให้ตำรวจจับกุมผู้กระทำความผิด

ข้อ 8 กลุ่มพันธมิตรฯ ไม่ได้ความคุ้มครองสิทธิ และความปลอดภัยในการชุมนุม เนื่องมีระเบิดเอ็ม 79 และยิงปืนอาก้า ทำร้ายผู้ชุมนุมบาดเจ็บ แขน ขาขาด และเสียชีวิตจำนวนมาก

ข้อ 9 การชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรฯ ไม่เป็นเหตุผลที่แท้จริงของการปิดสนามบินทั้งทางกายภาพในการใช้พื้นที่ทั้งสนามบินดอนเมืองและสุวรรณภูมิ เป็นพื้นที่จราจรหน้าอาคารผู้โดยสาร ไม่กระทบต่อการบิน รวมถึงมีหนังสือของพล.ต.จำลอง ศรีเมือง ขอให้มีการเปิดสนามบิน เพราะพื้นที่การชุมนุมไม่กระทบต่อการบิน ดังนั้นเราได้พบว่าหลังจากนั้นก็ยังมีการใช้พื้นที่เดียวกันชุมนุมอีก 5 ครั้ง แต่ไม่เคยมีการประกาศพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ

ข้อ 10 พนักงานสอบสวนไม่ได้รวบรวมพยานหลักฐานรอบด้าน รวมถึงมีการเปลี่ยนหัวหน้าพนักงานสอบสวนที่เห็นว่าการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรฯไม่ได้กระทำผิด จากการซักค้านเรายังได้พบอีกว่า พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ไม่ได้ประกาศลงในราชกิจจานุเบกษาภายใน 48 ชั่วโมง ฉะนั้นจะมาเอาผิดผู้ชุมนุมตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ได้อย่างไร