จากกรณีที่สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) แถลงตัวเลข GDP ของประเทศไทยในไตรมาสที่ 3 ปี 2566 โตขึ้น 1.5% เมื่อเทียบกับปีก่อน น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อธิบายเพิ่มเติมว่า ตัวเลข GDP นั้นวัดได้จากทั้งฝั่งการผลิต (production) และฝั่งรายจ่าย (expenditure) ซึ่งตัวเลขรวมจะต้องตรงกัน
ในฝั่งการผลิตภาคอุตสาหกรรมซึ่งเป็นภาคส่วนที่ใหญ่ที่สุดเกิดการหดตัวลง -4% จึงดึงใน GDP ของไทยให้โตต่ำและติดลบ หนักที่สุดคืออุตสาหกรรมเพื่อการส่งออก โดยเฉพาะการผลิตฮาร์ดดิสก์และชิ้นส่วนแผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ ขณะที่ภาคบริการขยายตัวได้ดีมาก โดยเฉพาะด้านการท่องเที่ยว โรงแรม และร้านอาหารโตขึ้นถึง 14.9% การค้าปลีกและค้าส่งโต 3.3% และภาคการขนส่งโต 6.8%
ส่วนฝั่งรายจ่าย คำนวณได้ตามสูตร “C+I+G+X-M” (การบริโภคภาคเอกชน + การลงทุนภาคเอกชน + การใช้จ่ายภาครัฐ + การส่งออก - การนำเข้า) ซึ่งจากตัวเลขที่เปิดเผยโดยสภาพัฒน์ฯ วันนี้จะเห็นได้ว่า การบริโภคภาคเอกชนโตขึ้นถึง 8.1% การลงทุนภาคเอกชนโต 3.1% แต่สต็อกสินค้าก็ลดลงมาก แสดงว่ายังไม่ได้มีการผลิตเพิ่ม ซึ่งสอดคล้องกับฝั่งการผลิตที่ภาคอุตสาหกรรมหดตัวลง
ขณะที่การใช้จ่ายของภาครัฐหดตัวลงทั้งการบริโภค (-4.9%) และการลงทุน (-2.6%) และถึงแม้การส่งออกสินค้าจะหดตัวตามคาดที่ -3.1% แต่การส่งออกภาคบริการกลับโตถึง 23% ส่วนการนำเข้าหดตัวแรงที่ -10.2%
จากตัวเลขข้างต้น น.ส.ศิริกัญญา สรุปว่าปัญหาของเศรษฐกิจไทยไม่ได้อยู่ที่ภาคการบริโภค แต่เป็นเรื่องของการส่งออกที่หดตัวตามเศรษฐกิจโลก การลงทุนของภาครัฐที่หดตัวลง และการลงทุนภาคเอกชนที่ถึงแม้จะโตขึ้น แต่ก็ถือว่าโตน้อยเมื่อเทียบกับการเติบโตของปีก่อน ดังนั้น จึงไม่ใช่ “วิกฤตเศรษฐกิจ” อย่างที่รัฐบาลพยายามประโคมข่าว
และที่สำคัญกว่านั้น เมื่อรัฐบาลมองเห็นปัญหาของเศรษฐกิจไทยผ่านข้อมูลเหล่านี้แล้ว รัฐบาลจะยังคงฝืนกระตุ้นภาคการบริโภคผ่านโครงการดิจิทัลวอลเล็ตอยู่หรือไม่ ทั้ง ๆ ที่ตัวเลขก็ประจักษ์ชัดว่าภาคการบริโภคโตกว่า 8.1%
ไม่มีใครเถียงว่าเศรษฐกิจไทยแย่ เศรษฐกิจไทยโตช้า และโตต่ำกว่าที่คาด ดิฉันเองก็เห็นด้วยและพูดเรื่องนี้มาโดยตลอด แต่คำถามที่คาใจใครหลาย ๆ คนในตอนนี้คือ สรุปแล้วเศรษฐกิจไทย ‘วิกฤต’ รึยัง?