svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

"ศาลรัฐธรรมนูญ"ผู้กุมชะตา"พิธา-ก้าวไกล"บนถนนการเมือง

ยังคงต้องตามติดกันแบบตาห้ามกระพริบ สำหรับ "พิธา ลิ้มเจริญรัตน์" อดีตหัวหน้าพรรคก้าวไกล หลังศาลรัฐธรรมนูญนัดพิจารณาคดีการถือครองหุ้นไอทีวี และนโยบายหาเสียงแก้ไข มาตรา 112 อีกครั้ง ไปเป็นวันที่ 22 พ.ย.นี้

"เนชั่นออนไลน์"จึงขอพาไปย้อนดูความเป็นมาเรื่องราวก่อนกลายเป็นคดีความ 

เริ่มด้วยคดี ม.112

สืบเนื่องจาก "ธีรยุทธ สุวรรณเกษร" อดีตทนายความของอดีตพระพุทธอิสระ ได้ยื่นคำร้องให้อัยการสูงสุดและศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยว่า พิธา และพรรคก้าวไกล ที่เสนอร่าง พ.ร.บ. แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา ฉบับที่.... พ.ศ. .... เพื่อยกเลิกประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 โดยใช้เป็นนโยบายการหาเสียงเลือกตั้ง และยังคงดำเนินการอย่างต่อเนื่อง

เป็นการใช้สิทธิเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 49 วรรคหนึ่งหรือไม่ (สำหรับมาตรา 49 ของรัฐธรรมนูญ ระบุว่า "บุคคลจะใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขมิได้")

22 พ.ค. 2566 "ธีรยุทธ"ยื่นหลักฐานร้อง กกต. ตรวจสอบพรรคก้าวไกล และพิธา หัวหน้าพรรคในขณะนั้น หาเสียงว่าจะแก้ไข มาตรา112 ขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ โดยได้นำเอกสารคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญปี 2562 ต่อเนื่องถึงปี 2564 ที่ศาลมีคำสั่งให้ยุบพรรคไทยรักษาชาติ และคำวินิจฉัยที่เกี่ยวข้องกับการคัดค้าน มาตรา 112 ที่ได้รวบรวมเองทั้งหมด 88 แผ่น

30 พ.ค. 2566 "ธีรยุทธ"ยื่นคำร้องขอให้อัยการสูงสุด ร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย สั่งให้พิธาและพรรคก้าวไกลเลิกการกระทำ

 



 

16 มิ.ย. 2566 "ธีรยุทธ"เข้ายื่นร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อขอให้พิจารณาวินิจฉัยสั่งให้พิธา ผู้ถูกร้องที่ 1 และพรรคก้าวไกล ผู้ถูกร้องที่ 2 เลิกทำนโยบายการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และขอให้เลิกการให้สัมภาษณ์ โฆษณาใด ๆ  โดยผู้ร้องอ้างรัฐธรรมนูญ มาตรา 49  หากมีการพบเห็นการกระทำที่เข้าข่าย เป็นการใช้สิทธิและเสรีภาพอันอาจจะนำไปสู่การล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ให้ใช้สิทธิยื่นคำร้องต่ออัยการสูงสุด และได้ยื่นคำร้องไปแล้ว เมื่อวันที่ 10 พ.ค. 2566 เมื่อครบ 15 วัน อัยการยังไม่ได้สั่งการใด ๆ  เป็นสิทธิที่จะยื่นร้องโดยตรงต่อศาลรัฐธรรมนูญได้

26 มิ.ย. 2566 ศาลรัฐธรรมนูญมีมติให้สอบถามอัยการสูงสุดว่า มีคำสั่งรับหรือไม่รับดำเนินการตามที่ร้องขอ หากมีคำสั่งรับคำร้องขอ ดำเนินการแล้วอย่างไร และผลการดำเนินการเป็นอย่างไร โดยให้แจ้งต่อศาลรัฐธรรมนูญ ภายใน 15 วัน

12 ก.ค. 2566 ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งรับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัย ตามพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ 2561 มาตรา 7 (3) แจ้งให้ผู้รับทราบ โดยให้ พิธา และพรรคก้าวไกล ยื่นคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาต่อศาลรัฐธรรมนูญภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับสำเนาคำร้องตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ 2561 มาตรา 54 และเพื่อประโยชน์แก่การพิจารณา แจ้งอัยการสูงสุดว่า หากอัยการสูงสุดได้รับพยานหลักฐานใดเพิ่มเติมให้จัดส่งศาลรัฐธรรมนูญโดยเร็ว

23 ส.ค. 2566 ศาลรัฐธรรมนูญอนุญาตให้ผู้ถูกร้องทั้งสอง ขยายระยะเวลายื่นคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาครั้งที่ 2 ไว้ จึงให้เลื่อนการพิจารณาต่อไป

4 ต.ค. 2566 ศาลรัฐธรรมนูญได้อภิปรายถูกร้องทั้งสองเพิ่งยื่นคำชี้แจง เมื่อวันที่ 26 ก.ย.ที่ผ่านมา ตามที่ผู้ถูกร้องทั้งสองขอขยายระยะเวลาเป็นครั้งที่ 2 พิจารณาเห็นว่า เพื่อประโยชน์แห่งการพิจารณา ให้บุคคลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดทำความเห็นและจัดส่งสำเนาเอกสารหลักฐานตามที่ศาลรัฐธรรมนูญกำหนด ยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญภายใน 15 วันนับแต่วันได้รับหนังสือ

18 ต.ค. 2566 ศาลรัฐธรรมนูญรอคำชี้แจงและพยานหลักฐานจากบุคคลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ภายใน 15 วัน

ส่วนคดีถัดมาการถือครองหุ้นสื่อไอทีวี ซึ่งเป็นชนวนให้ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้ "พิธา" หยุดปฎิบัติหน้าที่ สส.

10 พ.ค. 2566 "เรืองไกร ลีกิจวัฒนะ" สมาชิกพรรคพลังประชารัฐ ยื่นเรื่องให้ กกต. ตรวจสอบพิธา ถือหุ้นบริษัทไอทีวี จำกัด (มหาชน) จำนวน 42,000 หุ้น

19 พ.ค. 2566 "สนธิญา สวัสดี" อดีตที่ปรึกษาประธานคณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน และ "นพรุจ วรชิตวุฒิกุล" อดีตแกนนำพิราบขาว 2006 ยื่นเรื่องร้องเรียนกรณีหุ้นไอทีวี ของพิธา เช่นเดียวกัน

29 พ.ค. 2566 กกต.เชิญ 3 ผู้ร้องให้ตรวจสอบกรณีหุ้นไอทีวี มายืนยันคำร้องและให้ถ้อยคำเพิ่มเติม ประกอบด้วย "เรืองไกร - สนธิญา-นพรุจ"

6 มิ.ย. 2566 "พิธา" โอนหุ้นให้ทายาทเพื่อแสดงความบริสุทธิ์ หลังเชื่อว่ามีขบวนการพยายามจะฟื้นคืนชีพให้ไอทีวี กลับมาเป็นสื่อฯ เพื่อนำมาใช้สกัดคะแนนนิยมก้าวไกลช่วงเลือกตั้ง

9 มิ.ย. 2566 ที่ประชุม กกต. มีมติไม่รับ 3 คำร้องขอให้ตรวจสอบกรณีการถือหุ้นไอทีวีของพิธาไว้พิจารณา เนื่องจากเป็นการยื่นเกินเวลาที่กฎหมายกำหนด แต่รับเรื่องไว้พิจารณาตาม มาตรา 151 พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง สส. พ.ศ. 2561 เหตุรู้อยู่แล้วว่าไม่มีสิทธิสมัครแต่ยังฝ่าฝืน

14 มิ.ย. 2566 ป.ป.ช. ยืนยันพิธา ยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินเพิ่มเติมเมื่อปี 2562 พร้อมแนบคำสั่งศาลเป็นผู้จัดการมรดกหุ้นไอทีวีจริง พร้อมให้ข้อมูลดังกล่าวแก่ กกต. หาก กกต.มีการร้องขอ

10 ก.ค. 2566 พรรคก้าวไกลส่งหนังสือด่วนถึง กกต. ขอคัดค้าน กกต. ส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อให้วินิจฉัยกรณีหุ้นไอทีวีของพิธา เนื่องจากผิดขั้นตอนมีความเร่งรัดเกินกว่าเหตุ

12 ก.ค. 2566 ที่ประชุม กกต. เห็นว่าสมาชิกภาพของพิธา มีเหตุสิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 101 (6) ประกอบมาตรา 98 (3) จึงให้ส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อพิจารณาวินิจฉัย ก่อนที่ศาลรับคำร้อง

19 ก.ค. 2566 ศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้องดังกล่าวไว้ พร้อมมีคำสั่งให้ผู้ถูกร้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ สส. จนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัย

อย่างไรก็ตาม การนัดพิจารณาทั้ง 2 คดี ในวันที่ 22 พ.ย.นี้ ต้องลุ้นว่าศาลรัฐธรรมนูญ จะนัดวินิจฉัยเมื่อไหร่ แล้วบทสรุปของเรื่องราวจะมีหน้าตาออกมาไปในทิศทางใด เพราะส่งผลทางการเมืองทั้งต่อตัวพิธา และพรรคก้าวไกล