svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

"จุลพันธ์" ระบุ"เงินดิจิทัล" ไม่มีแผนสำรอง มองเป็นเรื่องดี ถูกรุมตรวจสอบ

"จุลพันธ์" มองเป็นเรื่องดี โครงการเงินดิจิทัล รัฐสภา-องค์กรอิสระตรวจสอบ พร้อมชี้แจง ระบุ ไม่มีแผนสำรองหาก "พ.ร.บ.กู้เงิน" ไม่ผ่านสภาฯ ด้าน "กมธ.การเงินฯ" ยันไม่มีอวยกันเอง จ่อเชิญ "ผู้คัดค้าน-ผู้ว่าฯ แบงค์ชาติ" แจงด้วย เพื่อให้ได้ข้อมูลรอบด้าน

15 พฤศจิกายน 2566 นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยกระทรวงการคลัง กล่าวถึงโครงการเงินดิจิทัล วอลเล็ต 10,000 บาท ในตอนนี้ มีหลายคนเป็นห่วง เรื่องการออกพ.ร.บ.กู้เงิน ว่า เป็นเรื่องที่ดี ช่วยกันเป็นห่วง เราจะได้ดำเนินการให้รอบคอบ รัดกุม เป็นไปตามข้อกฎหมาย ซึ่งรัฐบาลมองว่า ช่องทางนี้เป็นช่องทางที่มีความเหมาะสม มีความตรงไปตรงมา ได้รับการตรวจสอบจากรัฐสภา และเป็นเรื่องที่ดีหากมีการตรวจสอบจากองค์กรอิสระ ก่อนที่จะดำเนินการได้อย่างสบายใจ แต่หาก พ.ร.บ.กู้เงินไม่ผ่าน ก็ยังไม่มีแผนสำรอง

ส่วนที่หลายคนมองว่า นโยบายเงินดิจิทัล วอลเล็ต ไม่สามารถแก้ปัญหาเรื่อง GDP ในระยะยาวได้นั้น นายจุลพันธ์ ชี้แจงว่า เป็นความคิดเห็นที่แตกต่างกันได้ อย่างแรกคือ เรามีความเชื่อมั่นด้วยกลไกที่เป็นตัวเงินผ่านระบบดิจิทัล และมีเงื่อนไขกำหนด ก็จะทำให้เกิดการหมุนเวียนในเศรษฐกิจที่มากกว่าแน่นอน ส่วนการเดินหน้าในเรื่องของพ.ร.บ.กู้เงิน ไม่ต้องเป็นห่วง แต่อาจจะมีคนสงสัย และเป็นมุมมองทางข้อกฎหมายที่แตกต่างกันได้ ขึ้นอยู่กับการตีความและรัฐบาลมีหน้าที่ในการชี้แจงเหตุผลและความจำเป็นเร่งด่วนที่ต้องออกเป็นพ.ร.บ.กู้เงิน

"ปัญหาเศรษฐกิจ รัฐบาลไม่ได้มองมิติเพียงแค่เฉพาะหน้า แต่รัฐบาลมองถึงทิศทางการพัฒนาประเทศ ที่เรารับทราบกันดีทุกฝ่ายว่า ขณะนี้ประเทศไทยอยู่ในสถานะที่ถดถอย ความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทย ไม่ได้ดูดีแบบในอดีตที่ผ่านมา เรามีความจำเป็นจะต้องพลิกฟื้นปรับเปลี่ยนโครงสร้างทางเศรษฐกิจ รวมถึงสร้างเศรษฐกิจดิจิทัล ให้มีความเข้มแข็ง เพื่อรองรับเศรษฐกิจโลกที่มีความเปลี่ยนแปลงไป" นายจุลพันธ์ กล่าว

ทั้งนี้ หากพ.ร.บ.กู้เงิน เข้าสู่สภาฯ แล้วไม่ผ่าน จะเกิดความเสี่ยงทางการเมืองหรือไม่นั้น ก็เป็นไปได้ต้องยอมรับว่ากลไกนี้ต้องไปตรงมาที่สุด ถ้าเราใช้วิธีการอื่น เช่น มาตรา 22 ก็จะมีการครหาว่า จะเป็นการหลบเลี่ยงหรือไม่ วิธีการนี้ตรงไปตรงมา นำเข้ามาพูดคุยกันก่อน แล้วจึงบังคับใช้เป็นกฎหมายที่เป็นช่องทางที่เหมาะสมที่สุด ส่วนความเสี่ยงทางการเมืองเรามีความเชื่อมั่นเสียงของฝั่งรัฐบาล จริงๆฝ่ายค้านเองก็ไม่ได้ปฏิเสธนโยบาย แต่อาจจะมีข้อสงสัยในกระบวนการ แต่ในข้อเท็จจริงทุกคนเห็นความเดือดร้อนของประชาชน เห็นถึงสถานการณ์เศรษฐกิจของประเทศที่มีความเปราะบาง

ส่วนที่นายกฯ ระบุว่า ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย แนะนำให้ออกเป็นพ.ร.บ.กู้เงินจริงหรือไม่นั้น นายจุลพันธ์ กล่าวว่า เป็นเรื่องที่นายกฯพูดคุยกับผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย

ส่วนการใช้รัฐธรรมนูญมาตรา 245 ให้องค์กรอิสระมีส่วนในการตรวจสอบนโยบายรัฐบาลนั้น ตนยินดี การตรวจสอบเป็นเรื่องดี ตนพร้อมที่จะไปชี้แจงวันนี้เราพร้อมแล้ว เพราะโครงใหญ่เริ่มชัดเจนและเราตอบได้ทุกประเด็น ส่วนจะเห็นด้วยหรือ ไม่เป็นมุมมองของแต่ละคน ในขณะเดียวกันเราชี้แจงเพื่อคลายข้อสงสัย ให้กับองค์กรอิสระที่มีการตั้งทีมขึ้นมาเพื่อตรวจสอบให้รัดกุม ทำให้เราไม่ได้อยู่ในความประมาทและดำเนินการให้ถูกต้องตามกฎหมายทุกประการ

เมื่อลดข้อกังวลแล้ว อีกประการก็ต้องรับฟังข้อเสนอแนะ ไม่ว่าจะเป็นประเด็นใดก็ตาม วันนี้เรามีการปรับเปลี่ยนในรูปแบบบางประเด็น ซึ่งล้วนแต่เป็นข้อเสนอแนะจากสังคมและนักวิชาการทั้งสิ้น เราพยายามปรับให้โครงการเงินดิจิทัล 10,000 บาท ประสบความสำเร็จสูงสุดและมีความเหมาะสมกับสภาพสังคม

ทั้งนี้ ไม่กังวลหากหลายคนมองว่า โครงการนี้เป็นการตั้งธงล้มรัฐบาล และยืนยันว่าไม่มีการทยอยจ่ายแน่นอน

ขณะที่ นายณัฐพงษ์ สุปริยศิลป์ สส.น่าน พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการการเงินการคลัง สถาบันการเงินและตลาดการเงิน สภาผู้แทนราษฎร กล่าวก่อนการประชุมคณะกรรมาธิการ วาระพิจารณารายละเอียดของนโยบายเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาทว่า ในวันนี้คณะกรรมาธิการฯ ได้เชิญ นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง มาชี้แจงในประเด็นนโยบายเงินดิจิทัล วอลเล็ต เนื่องจากกรรมาธิการมีความเป็นห่วงในหลายประเด็น เพราะนโยบายดังกล่าวมีทั้งผู้คัดค้านและเห็นด้วย ทั้งเรื่อง พ.ร.บ.กู้เงิน และหลักเกณฑ์การแจกเงิน รวมถึงกรอบเวลาที่ต้องมีการอธิบายและสื่อสารไปยังประชาชน โดยคณะกรรมาธิการฯ จะได้สอบถามประเด็นเหล่านี้ เพื่อให้นโยบายนี้สร้างประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชน

ส่วนกรณีมีผู้ร้องเรียนไปยังองค์กรอิสระ เรื่องแหล่งที่มาของงบประมาณ นายณัฐพงษ์ กล่าวว่า กรณีนั้นถือเป็นประเด็นหลัก ที่ทางคณะกรรมาธิการฯ ต้องสอบถาม ว่าเหตุใดต้องออกเป็น พ.ร.บ.กู้เงิน และไม่ออกเป็นพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) หรือแหล่งเงินอื่นๆ เช่น เงินในงบประมาณ หรือตามมาตรา 28

ขณะที่ข้อสังเกตของฝ่ายค้านมองว่า การออก พ.ร.บ.กู้เงิน อาจถูกตีความว่าผิดกฎหมาย และอาจเป็นการหาทางลงของรัฐบาลหรือไม่ นายณัฐพงษ์ กล่าวว่า น่าจะมีการสอบถามเรื่องนี้ แต่เชื่อว่ากว่ารัฐบาลจะออกโครงการนี้มาได้ ทั้งเรื่องหลักเกณฑ์และแหล่งเงิน ต้องผ่านการพิจารณาข้อกฎหมายมาอย่างดี และผ่านการพิจารณาตัวเลือกต่างๆ

นายณัฐพงษ์ กล่าวต่อ การกู้เงินสามารถทำได้ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังระบุชัดเจนแล้วว่า หากเป็นเรื่องเร่งด่วนหรือต้องการรักษาเสถียรภาพของการเงิน ก็สามารถกู้เงินได้ ทั้งนี้ ก็จะเป็นอีกคำถามของกรรมาธิการว่า ความจำเป็นเร่งด่วนหรือไม่ สามารถออกเป็น พ.ร.ก.แทนได้หรือไม่

ทั้งนี้ส่วนตัวมองว่าเป็นเรื่องจำเป็นที่จะต้องกระตุ้นเศรษฐกิจในตอนนี้ เพราะจากที่รับทราบจากรัฐบาลและสื่อมวลชน ตอนนี้ GDP ของประเทศลดต่ำลง ไตรมาสแรก 2.6 %, ไตรมาส 2 เหลือ 1.8 %, ไตรมาส 3 คาดการณ์ว่าอยู่ที่ 1.4 % ไม่มีการเติบโต ตามที่หลายคนตั้งคำถามไว้ ว่าจะเติบโตประมาณ 2.6% จึงมองว่าไม่มีทางเป็นไปได้ที่จะเกิน 2 %

ประกอบกับประเทศไทย กำลังเข้าสู่ภาวะสังคมผู้สูงอายุเต็มรูปแบบ อีกไม่นานประมาณ 2-3 ปี ผู้ที่หารายได้เข้าประเทศก็จะน้อยกว่าผู้สูงอายุ จะเป็นปัญหาต่อภาวะเศรษฐกิจ ถึงบอกว่า เป็นเรื่องเร่งด่วนและจำเป็นที่จะต้องแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจในตอนนี้และทำให้เติบโตทัน เพื่อแข่งขันกับประเทศเพื่อนบ้าน และประเทศอื่นๆ

"ตอนนี้ออกงบประมาณขาดดุลทุกปีๆ 6-7 แสนล้านบาท อีกแค่ 2-3 ปี จะมีปัญหา ตัวผมมองว่า ก็เหมือนเราเห็นปากเหวอยู่ข้างหน้า เราจะรอให้ตกเหวก่อนหรือไม่ ถึงค่อยแก้ไข ดังนั้นส่วนตัวผมมองว่า เป็นวิกฤตทางเศรษฐกิจ" นายณัฐพงษ์กล่าว

สำหรับการที่เชิญ นายจุลพันธ์ เป็นการเอื้อกันเองหรือไม่ นายณัฐพงษ์ ชี้แจงว่า ไม่เป็นการเอื้อฝ่ายรัฐบาลในการดำเนินนโยบายเงินดิจิทัล เพราะกรรมาธิการมีหน้าที่ตรวจสอบข้อเท็จจริง ศึกษาหาข้อเท็จจริง โดยเฉพาะเรื่องนโยบายการเงินการคลังของรัฐบาล กรรมาธิการมี สส. จากทุกพรรคการเมืองทั้งที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย

"เป็นไปไม่ได้ที่จะอวยกัน แม้ผมจะเป็น สส.พรรคเพื่อไทย แต่ในการทำหน้าที่ประธานกรรมาธิการฯ ก็อยากเห็นนโยบายของรัฐบาลสำเร็จ และเกิดประสิทธิผลมากที่สุด ถ้ามีอะไรที่ท้วงติงหรือแนะนำกันได้ ก็เป็นหน้าที่ของคณะกรรมาธิการที่ต้องท้วงติง" นายณัฐพงษ์ กล่าว

ส่วนจะมีการเรียกฝ่ายที่เห็นต่างมาให้ข้อคิดเห็นหรือไม่ นายณัฐพงษ์ กล่าวว่า ต้องเชิญฝ่ายที่คัดค้านมาด้วยแน่นอน เพราะต้องรับฟังข้อมูลหลักเกณฑ์ของคนที่ทำนโยบายก่อน แล้วจึงค่อยฟังคนที่คัดค้าน ก่อนจะสรุปเป็นแนวทางให้รัฐบาล

ส่วนกรณีที่นายกรัฐมนตรีอ้างว่า ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้เสนอความเห็นให้ออกพ.ร.บ.กู้เงินนั้น นายณัฐพงษ์ กล่าวว่า ก็สามารถสอบถามเรื่องนี้ได้ และอาจมีการเชิญผู้ว่าฯธปท.มาชี้แจงในกรรมาธิการฯด้วย เพราะธนาคารแห่งประเทศไทย เป็นผู้ดูแลเสถียรภาพทางการเงินของประเทศ