14 พฤศจิกายน 2566 นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยความคืบหน้าการเสนอร่าง พระราชบัญญัติกู้เงิน 500,000 ล้านบาท สำหรับดำเนินนโยบายเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาทว่า เลขาธิการกฤษฎีกาได้รับเรื่องไปแล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างกระบวนการพิจารณาของกฤษฎีกา โดยจะพยายามเร่งให้ดำเนินการเร็วที่สุด
ส่วนกรณีที่มีหลายภาคส่วนออกมาคัดค้านการกู้เงินนั้น นายภูมิธรรม กล่าวว่า รัฐบาลไม่ได้นิ่งนอนใจ และรับฟังความคิดเห็นมาโดยตลอด แต่ขอให้พิจารณาว่า ตั้งแต่พรรคเพื่อไทยหาเสียงเลือกตั้ง ก็ได้มีการนำเสนอนโยบายนี้ต่อประชาชน ดังนั้น ในการวิพากษ์วิจารณ์ จึงขอให้ยอมรับสิ่งที่ประชาชนได้ตัดสินใจเลือกเข้ามา และรัฐบาลก็ได้ทำตามเจตนารมย์ประชาชน และพร้อมปรับวิธีการ รับฟังผู้เห็นต่างเพื่อไม่ให้เกิดปัญหา
“รัฐบาลได้พยายามดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมาย และการออกมาวิพากษ์วิจารณ์ขั้นตอนตามกฎหมายต่าง ๆ ไม่ให้เจ้าหน้าที่ดำเนินการนั้น ไม่เป็นเรื่องจริง และเป็นเพียงการนำความรู้สึกส่วนตัวออกมากล่าวหา”
นายภูมิธรรม กล่าวต่อ เศรษฐกิจไทยในขณะนี้ติดลบ ไม่ได้ดีอย่างที่หลายคนคาดการณ์ และตัวเลขมีการปรับตัวลดต่ำลง ดังนั้น ต้องให้ความเป็นธรรมกับประชาชนและพรรคเพื่อไทย ที่ทุกคนต้องการเงินในภาวะที่เศรษฐกิจตกต่ำ และนโยบายนี้ จะเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจโดยประชาชน และหวังว่า กระบวนการต่าง ๆ จะเดินหน้า แม้ในการกู้เงิน เดิมทีรัฐบาลไม่ได้มีการคิดไว้ แต่ก็ได้มีการรับฟังความเห็นจากทุกฝ่าย เมื่อมีการหาเสียงไว้แล้ว ก็จะต้องทำตามนโยบายที่ได้หาเสียงไว้กับประชาชน ดังนั้น ผู้ที่คัดค้าน รวมถึงพรรคการเมืองบางพรรค ก็จะต้องรับฟังเสียงตามระบบประชาธิปไตย แต่หากทำแล้วล้มเหลว ก็ต้องว่ากันไปตามสถานการณ์
เมื่อถามว่า เชื่อมั่นในกระบวนการพิจารณา พระราชบัญญัติเงินกู้ของสภาผู้แทนราษฎรหรือไม่ นายภูมิธรรม กล่าวว่า เป็นเรื่องที่พรรคร่วมรัฐบาล เห็นพ้องต้องกันแล้ว ดังนั้นจึงคิดว่า กระบวนการรัฐสภา ในฐานะพรรคร่วมรัฐบาล ก็จะไม่มีปัญหา รวมถึงหัวหน้าพรรคร่วมรัฐบาล ก็ได้รับทราบถึงการกู้เงินมาดำเนินนโยบายดังกล่าวแล้ว เนื่องจากได้มีการพูดคุยกันมาโดยตลอด จึงไม่น่ามีปัญหา
เช่นเดียวกับการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติเงินกู้ ของสมาชิกวุฒิสภา ภายหลังหากสภาผู้แทนราษฎรให้ความเห็นชอบแล้วนั้น ตนเองได้พูดคุยกับ สว.บ้างแล้ว เพื่อชี้แจงถึงความตั้งใจในการกระตุ้นเศรษฐกิจ ดังนั้นจึงเป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่จะต้องเร่งชี้แจง และตอบคำถามทุกประเด็นให้ได้ แต่สุดท้าย ก็ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจ สว.
นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ในฐานะประธานอนุกรรมการขับเคลื่อนโครงการเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท กล่าวว่าต้องรอกระบวนการของทางกฤษฎีกาที่เป็นขั้นตอนแรก ส่วนการปรับหลักเกณฑ์เพื่อให้เงื่อนไขครอบคลุมมากขึ้นนั้น ยังไม่มีความเคลื่อนไหวเพิ่มเติม ซึ่งก็เข้าใจว่าก็ย่อมมีเสียงที่เห็นด้วยและเสียงที่เห็นต่างเป็นเรื่องปกติ
เราก็มีหน้าที่ทำตามขั้นตอนของกฎหมายให้ครบถ้วน พร้อมรับฟังเสียงสะท้อนทุกรูปแบบ และจากที่ดำเนินการมาตั้งแต่แรกก็จะเห็นได้ว่ามีการปรับเปลี่ยนบางส่วน เพื่อให้เป็นไปตามเสียงที่เราฟังมาและพยามทำให้โครงการนี้เป็นประโยชน์ที่สุดและเป็นไปตามกรอบของกฎหมายทุกประการ
ส่วนกรณีที่หลายฝ่ายเรียกร้อง ให้เปิดเผยบันทึกการประชุมของคณะกรรมการชุดใหญ่ เนื่องจากมีกระแสข่าวระบุว่า กรรมการบางท่านไม่เห็นด้วยนั้น นายจุลพันธ์ ชี้แจงว่า ถ้าถามมาก็ตอบได้ ไม่เป็นเรื่องอะไรที่ลึกลับซับซ้อน ซึ่งการมีความเห็นที่แตกต่างกันในแต่ละประเด็นถือเป็นเรื่องปกติ
เมื่อถามย้ำว่า พร้อมเปิดเผยบันทึกการประชุมใช่หรือไม่ นายจุลพันธ์ กล่าวว่า เป็นอีกเรื่องหนึ่ง เพราะตนไม่แน่ใจในข้อกฎหมาย เพียงแค่ให้คำตอบได้ในแต่ละประเด็น
ส่วนกรณี น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล สส.บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรคก้าวไกล ที่ออกมาวิจารณ์การกู้เงินมาใช้ในโครงการเงินดิจิทัลว่าเศรษฐกิจโตไม่ทันนั้น นายจุลพันธ์ กล่าวว่า มิติมันต่างกัน คุณศิริกัญญา อาจจะเห็นถึงความจำเป็น และความหนักหน่วงของสถานการณ์ที่แตกต่างกัน ซึ่งรัฐบาลก็มีมิติของเรา ความเดือดร้อนของประชาชนมันถึงจุดแล้ว และเห็นทิศทางการเจริญเติบโตของประเทศเป็นปัญหา แต่สุดท้ายก็มีขั้นตอนตามกฏหมาย
“เราเองก็มีหน้าที่ในมุมของรัฐบาล ซึ่งจะต้องนำเสนอขั้นตอนทุกอย่างให้เป็นไปตามกรอบของกฎหมาย แล้วต้องบอกเหตุผลและความจำเป็นในมุมมองของเราด้วย ส่วนความคิดเห็นที่แตกต่างก็สามารถมาหารือร่วมกันได้เป็นเรื่องปกติ”
ส่วนประเด็น ที่ประชาชนออกมาเรียกร้องให้มีการเริ่มใช้เงินดิจิทัล ตั้งแต่ช่วงเดือนเมษายน 2567 ได้หรือไม่ นายจุลพันธ์ กล่าวว่า เป็นไปได้ยาก เพราะยึดตามกรอบของกฎหมายเป็นหลัก ซึ่งนี่คือกรณีที่ไม่มีอุปสรรคใดๆ เร็วที่สุดคือเดือนพฤษภาคม 2567
เมื่อถามว่า ประเด็นดังกล่าวเข้าสู่สภาฯ จะสามารถผ่านได้ใช่หรือไม่ นายจุลพันธ์ กล่าวว่า “ต้องมีความมั่นใจสิครับ ไม่งั้นคงไม่ออก”
เมื่อถามว่า พรรคร่วมรัฐบาลให้ความมั่นใจในเรื่องดังกล่าวมากน้อยแค่ไหน นายจุลพันธ์ กล่าวว่า ตนไม่ได้เป็นผู้หารือ แต่ที่ได้รับฟังทุกคนก็เห็นถึงความเดือดร้อนของประชาชน รวมถึงความจำเป็นของนโยบายในการมากระตุ้นเศรษฐกิจ และเชื่อว่าเสียงของสมาชิกวุฒิสภา จะไม่เป็นอุปสรรคต่อการผ่านนโยบายดังกล่าว
ด้านนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ในฐานะหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ปฏิเสธกระแสข่าว ที่พรรคภูมิใจไทย ถูกมัดมือชก ในนโยบายเงินดิจิทัล 10,000 บาท ของรัฐบาล โดยยืนยันว่า พรรคภูมิใจไทย พร้อมสนับสนุนนโยบายที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชน ต่อส่วนรวม และไม่ขัดต่อกฎหมาย รวมไปถึงรัฐธรรมนูญ และไม่กังวลว่า พรรคเพื่อไทย จะได้ผลงานจากนโยบายนี้ เนื่องจากปัจจุบัน ได้เป็นพรรคร่วมรัฐบาลร่วมกันแล้ว จึงถือเป็นผลงานของรัฐบาล และในการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติเงินกู้ในสภาผู้แทนราษฎร ก็จะต้องอาศัยเสียงสนับสนุนจาก สส.พรรคร่วมรัฐบาล จึงถือเป็นผลงานของทุกพรรค
ส่วนพรรคภูมิใจไทยจำเป็นจะต้องแต่งตั้งทีมขึ้นมาศึกษา ในเรื่องข้อกฎหมายนโยบายดังกล่าวหรือไม่นั้น นายอนุทิน กล่าวว่า ขณะนี้มีขั้นตอนอยู่แล้ว ที่จะต้องรอฟังคณะกรรมการกฤษฎีกา และมั่นใจว่ารัฐบาลจะทำวิธีการที่ถูกต้อง เมื่อร่างกฎหมายถึงสภาผู้แทนราษฎรแล้ว ก็แสดงให้เห็นว่าพื้นฐานของเนื้อหาในร่างกฎหมายนั้นมีความถูกต้อง ผ่านความเห็นจากทุกส่วนราชการ ทั้งธนาคารแห่งประเทศไทย กระทรวงการคลัง รวมไปถึงกระทรวงมหาดไทยด้วยแล้วแน่นอน