svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

วงเสวนานโยบายดิจิทัล เตือนควรถอย! หากยังดันทุรังเสี่ยงเพิ่มหนี้สาธารณะ

08 พฤศจิกายน 2566
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

เวทีสภาที่ 3 ถกนโยบายดิจิทัล 10,000 "สมชัย" เชื่อเป็นการขายผ้าเอาหน้ารอด ชี้ ปชช.ได้เงินต้นพ.ค. "ธีระชัย" หวั่นนโยบายนี้สร้าประเพณีทางการเมือง พาประเทศลงเหว "พิสิฐ" เผย หากรบ.ดันทุรังทำแบบเดิมเสี่ยงเพิ่มหนี้สาธารณะ แนะ "นายกฯ" ตรองให้รอบคอบก่อนแถลงศุกร์นี้

8 พฤศจิกายน 2566 ที่อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา มีการเสวนาเวทีสภาที่ 3 หัวข้อ "แจกเงินดิจิทัลวอลเลต หายนะหรืออนาคตประเทศ" โดยนายสมชัย ศรีสุทธิยากร อดีตกรรมการการเลือกตั้ง หนึ่งในวิทยากร กล่าวว่า ตลอด 2 เดือน ที่ผ่านมาความพยายามของรัฐบาลที่ต้องการให้นโยบายนี้สำเร็จ น่าจะมีปัญหาพอสมควร เพราะรัฐบาลผิดพลาดในการบริหารราชการแผ่นดิน 4 เรื่อง คือ

1. การสั่งให้มีการทบทวนงบประมาณปี 67 ของทุกส่วนงานราชการ เพื่อจะให้เกิดความประหยัด รีดไขมัน แต่ความจริงงบของแต่ละส่วนงานไม่ได้ลดลงเลย เพราะหน่วยงานเพียงแค่ขยับงบให้ตรงกับนโยบายของรัฐบาล จึงทำให้งบปี 67 ออกมาล่าช้า ซึ่งคาดว่า จะได้ใช้งบประมาณปี 67 ช่วงต้นเดือนพฤษภาคม

2. เชื่อมั่นตนเองมากเกินไป เมื่อชนะเลือกตั้งและเชื่อว่าเป็นรัฐฐาธิปัตย์มีอำนาจสูงสุดสั่งอะไรทุกอย่างคนในประเทศต้องเชื่อหมด จริง ๆ แล้วไม่ใช่เป็นแค่ฝ่ายบริหารและต้องอยู่ภายใต้กฎระเบียบกติกาต่าง ๆ ในสังคม ฉะนั้นเมื่อสั่งไปกระทรวงต่าง ๆ จึงไม่เชื่อ

3. การไม่ศึกษากฎหมายต่าง ๆ ให้รอบคอบทั้งวินัยการเงินการคลัง และ พ.ร.บ.เงินกู้ พ.ร.บ.รัฐวิสาหกิจ เข้าใจว่าตนเองรู้จริง แต่เมื่อทำไปกลับติดปัญหา แม้ธนาคารออมสินก็ไม่ให้กู้

4. ภาวะอวิชชา คือการไม่รู้จริงแต่ก็ไปพูดในเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ ซึ่งเป็นการพูดคำใหญ่ แต่ไม่สามารถเป็นไปได้จริง ดังนั้นวันนี้ต้องควรถอยมาตั้งหลักในนโยบายหลายเรื่อง
วงเสวนานโยบายดิจิทัล เตือนควรถอย! หากยังดันทุรังเสี่ยงเพิ่มหนี้สาธารณะ

"การแถลงข่าวที่จะเกิดขึ้นในวันศุกร์นี้ คิดว่าทางออกเปลี่ยนไปหลายอย่าง คือ ขยับวันแจกจะไม่ใช่ 1 กุมภาพันธ์แต่จะแจกช่วง ต้นพฤษภาคม หรือช่วงงบปี 67 และเปลี่ยนจากการจ่ายก้อนเดียวเป็นการจ่ายแบบทยอยจ่าย โดยจะแจกคนละ 2,500 บาท ใน 4 ปี และจะไม่ใช่การกระตุกเศรษฐกิจแล้ว ไม่ใช่พายุหมุนอีกแล้ว ซึ่งประชาชนก็จะมองแค่ว่ายังดีกว่าไม่ได้ แต่จะไม่สร้างความพึงพอใจ นโยบายดิจิทัลวอลเล็ต จึงเป็นนโยบายขายผ้าเอาหน้ารอดเท่านั้น" นายสมชัย ระบุ

ด้าน นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ตนเป็นประธานกรรมการด้านวิชาการของพรรคพลังประชารัฐ ซึ่งเป็นพรรคร่วมรัฐบาล จึงไม่ได้มาเพื่อคัดค้าน แต่มาเพื่อให้กำลังใจ นายเศรษฐา โดยลักษณะของการเมืองไทยต้องระวังในโครงการนี้ เพราะอาจกลายเป็นประเพณี เป็นการแข่งขันทางการเมืองไทยในการเลือกตั้งรอบหน้า อาจจะได้เห็นภาพที่ออกมาว่าแจกเงิน 5 หมื่น หรือ 1 แสนบาท ซึ่งถือว่าเป็นการประเพณีทางการเมืองที่จะพาประเทศลงเหว 

สำหรับแหล่งเงินที่จะนำมาใช้ในนโยบายดังกล่าวโดย เช่น เงินรัฐวิสาหกิจ ขณะนี้ธนาคารออมสินบอกว่าไม่สามารถให้กู้กับรัฐบาลได้ แต่รัฐบาลอาจจะเล็งไปที่รัฐวิสาหกิจอื่น แต่ต้องพิจารณาในเรื่องพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลัง มีเงื่อนไขล็อคไว้ 2 ส่วน คือมาตรา 9 วรรค 3 ถ้าหากเป็นการทำโครงการเพื่อความนิยมทางการเมืองที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่ประเทศชาติและประชาชน ไม่สามารถทำได้

ส่วนอีกเรื่องคือการให้รัฐวิสาหกิจเข้ามาหาเงิน สำหรับโครงการดังกล่าวนี้จะต้องอยู่ในของวัตถุประสงค์ของรัฐวิสาหกิจ ส่วนที่จะออกมาเป็นงบประมาณผูกพัน ซึ่งจะออกมาในลักษณะของการทยอยจ่าย เรื่องนี้จะไม่สามารถช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ และตั้งข้อสังเกตว่าการจะมีงบประมาณและเป็นงบผูกพันถือเป็นการใส่กุญแจมือรัฐบาลในอนาคต

"การทำโครงการทำเพื่อความนิยมทางการเมือง มองว่าเป็นเรื่องที่อันตราย นอกจากนี้การจะใช้ระบบบล็อกเชน การกำหนดเงื่อนไขต่าง ๆ จะเกิดกระบวนการรับซื้อส่วนลดเป็นในลักษณะการขายสินค้าให้กับประชาชน 10,000 บาท และให้ประชาชนนำมาใช้คืนในราคา 8,000 บาท เป็นต้น" นายธีระชัย ระบุ
วงเสวนานโยบายดิจิทัล เตือนควรถอย! หากยังดันทุรังเสี่ยงเพิ่มหนี้สาธารณะ
ขณะที่ นายพิสิฐ ลี้อาธรรม อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคลัง และประธานนโยบายพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า อยากให้กำลังใจรัฐบาล แต่ 2 เดือนที่ผ่านมายังไม่เห็นอะไรที่เป็นชิ้นเป็นอัน หากรัฐบาลยังดันทุรังดำเนินการต่อในรูปแบบเดิม จะเกิดความเสี่ยงในกระบวนการคลัง และหนี้สาธารณะที่เพิ่มขึ้น ซึ่งจะแก้ไขได้ยากมาก ขณะที่ประเทศไทยยังหารายได้จากการจัดเก็บภาษีได้ยาก ดังนั้น นโยบายดังกล่าวฟังเผิน ๆ เหมือนจะง่าย แต่ก็สร้างความงุนงงสงสัยเรื่องที่มาของงบประมาณ

ทั้งนี้ การแจกเงินเฉพาะผู้ที่อายุมากกว่า 16 ปี แต่เด็กอายุน้อยกว่านั้นก็ต้องใช้จ่ายซื้อของ ทุกคนในเมืองไทยเสียภาษี นโยบายนี้จึงอาจมีความไม่เป็นธรรมด้วย เพราะเด็กที่ไม่ได้เงิน กลับต้องเสียภาษีมาชดใช้หนี้สาธารณะ และเงินที่มอบให้คนรวยก็จะไม่ถูกใช้จ่ายแต่เก็บเอาไว้ จึงไม่ได้สร้างแรงกระตุ้นทางเศรษฐกิจตามเป้าประสงค์ ตนไม่ได้ปฏิเสธการช่วยเหลือผู้ยากไร้ แต่ไม่เห็นด้วยกับการแจกทั้งหมดทุกคน เวลานี้งบประมาณตั้งไว้ แต่รัฐบาลขยับให้การขาดดุลเพิ่มอีกราวแสนล้าน และนโยบายเงินดิจิทัลจะยิ่งทำให้สถานะการคลังย่ำแย่ลงไปอีก จึงเป็นเรื่องน่าห่วง

ส่วนงบประมาณ 5 แสนกว่าล้าน จะกระตุ้นเศรษฐกิจได้จริงหรือไม่นั้น ความเป็นจริงเป็นไปไม่ได้เลย เพราะสมัยรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อดีตนายกฯ ใช้งบกระตุ้นเศรษฐกิจ 1.5 ล้านล้านบาท มากกว่ารัฐบาลปัจจุบันถึง 3 เท่าตัว ยังทำให้เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจไม่ได้เลย โอกาสที่จะเกิดการหมุนเวียนทางเศรษฐกิจหลายรอบก็เป็นไปได้ยาก เพราะไทยมีมูลค่าส่งออกสูง เงินจะรั่วไหลไปต่างประเทศเป็นส่วนใหญ่ และเวลานี้รัฐบาลควรรีบนำงบประมาณชั่วคราวที่กฎหมายอนุญาตออกมาใช้ เพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ที่งบประมาณปี 2567 ล่าช้า ควรต้องมุ่งการเบิกจ่ายภาครัฐ ที่เร่งด่วนคือเรื่องขาดแคลนน้ำจากภาวะเอลนีโญ หากนำงบมาลงทุนเรื่องนี้ ประชาชนจะได้มีน้ำใช้โดยไม่เปลืองค่าใช้จ่าย

ด้าน นายมานะ มหาสุวีระชัย อดีตประธานคณะกรรมาธิการคมนาคม สภาผู้แทนราษฎร เสนอวิธีแก้ปัญหาให้รัฐบาลใช้เงินอย่างเป็นประโยชน์มากกว่านำไปแจก โดยมองว่านโยบายเงินดิจิทัลถือว่าดีมาก เพราะสามารถพลิกฟื้นเศรษฐกิจในยุคดิจิทัลได้ เป็นนโยบายที่คิดใหญ่จริง แต่จะทำเป็นหรือไม่ ยังไม่แน่ใจ เพราะผ่านมา 2 เดือนการชี้แจงของรัฐบาลสร้างความสับสนไปทั่ว และมีแนวโน้มจะทิ้งแนวคิดดิจิทัลวอลเล็ตด้วย

พร้อมเสนอทางแก้ว่า อีวอลเลตซึ่งเป็นระบบเก่า มีการบันทึกข้อมูลแบบรวมศูนย์อำนาจ และมีเจ้าของข้อมูลแต่ผู้เดียว เป็นระบบปิด ต่างจากดิจิทัลวอลเล็ตที่บันทึกข้อมูลลงบล็อกเชน จึงกระจายอำนาจให้หลายฝ่ายสามารถร่วมกันบันทึกข้อมูลได้โดยไม่มีเจ้าของ ที่สำคัญดิจิทัลวอลเล็ตเป็นระบบเงินสด สามารถส่งต่อมูลค่าเงินกันแล้วได้โดยตรง ขณะที่อีวอลเล็ตเป็นเพียงการแลกเปลี่ยนเครดิตเท่านั้น ยังต้องมีกระบวนการหลังบ้านที่ใช้ค่าใช้จ่ายอีกมาก

โดยการแก้ปัญหารัฐบาลจึงควรมอบหมายธนาคารแห่งประเทศไทยให้สร้างสกุลเงินดิจิทัล หรือ Central Bank Digital Currency (CBDC) ขึ้นมา เป็นระบบการเงินแบบใหม่บนบล็อกเชน ให้สอดคล้องกับนโยบายเงินดิจิทัล เพื่อสร้างปรากฏการณ์ให้ประชาชนสามารถทำธุรกรรมได้สะดวกปลอดภัยกว่าระบบปัจจุบันได้อย่างมหาศาล เพราะลดค่าใช้จ่ายดำเนินการหลังบ้านของแต่ละธนาคารได้ รวมถึงเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของระบบเศรษฐกิจ

logoline