svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

วัดใจ! กลาโหม-กองทัพเรือ ต่อรองจีน หลังเรือดำน้ำสะดุด

ประเทศไทย ปิดฉากเรือดำน้ำไปอีกครั้ง หลังจากที่ดูแนวโนมแล้วว่าต้องใช้เครื่องยนต์จีน ในที่สุดรัฐบาล กระทรวงกลาโหม และกองทัพเรือ ตัดสินใจพับโครงการนี้ไว้ก่อน แล้วเล็งไปที่เรือฟริเกตแทน

ยืดเยื้อมานานถึง 2 ปี สำหรับเครื่องยนต์เรือดำน้ำ MTU 396 ของเยอรมัน ที่จีนไม่สามารถนำมาใส่ในเรือดำน้ำที่ต่อให้ไทยได้ แม้สุดท้ายก่อนที่ พล.ร.อ.เชิงชาย ชมเชิงแพทย์ จะอำลาตำแหน่ง ผบ.ทร. ก็ปิดจ๊อบด้วยการยอมรับเครื่องยนต์จีน CHD 620 หลังจากส่งทีมไปทดสอบแล้ว แต่เมื่อส่งเรื่องถึงกลาโหมและรัฐบาล ปรากฏว่าไม่เห็นชอบตามที่เสนอ เพราะด้วยปัจจัยข้อกฎหมายในสัญญาจีทูจี มาตรฐานรองรับเครื่องยนต์จีน กระแสสังคม และเรื่องทางการเมืองที่จะตามมา

ดังนั้น ก่อนที่ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และ นายสุทิน คลังแสง รัฐมนตรีกลาโหม จะเดินทางไปเยือนจีน  กระทรวงกลาโหม จึงหาทางออกด้วยการถามไปทางกองทัพเรือ ว่ามีแนวทางอย่างไรเพราะโครงการเรือดำน้ำ ดูจะไปต่อยาก จนมาได้ข้อสรุปคือ เปลี่ยนเป็นเรือฟริเกต หรือ เรือ OPV เรือตรวจการณ์ไกลฝั่ง แต่ก็จบที่เรือฟริเกต เอาแบบรบได้ 3 มิติ ซึ่งปราบเรือดำน้ำได้ด้วย แม้ในทางยุทธศาสตร์สู้เรือดำน้ำไม่ได้ แต่ทางยุทธการก็พอสู้ได้ อาจไม่ดีเท่าเรือดำน้ำ ปราบเรือดำน้ำด้วยกัน

วัดใจ! กลาโหม-กองทัพเรือ ต่อรองจีน หลังเรือดำน้ำสะดุด

ข้อเสนอนี้ฝ่ายไทยคิดมาดีแล้ว อยู่บนพื้นที่ฐานที่ว่า กองทัพเรือต้องยอมรับได้ รัฐบาลยอมรับได้ และประชาชนเข้าใจ และนายสุทิน ก็ย้ำชัดว่า พรรคเพื่อไทยไม่มีใบสั่งให้เอาเรือฟริเกต ตามที่มีคนตั้งข้อสังเกต ถ้าจะมีใบสั่งก็คือประชาชนสั่ง

ล่าสุด กองทัพเรือ เจรจากับทาง CSOC อยู่ เพราะทำงานด้วยกันมา 6 ปีแล้ว ซึ่งราคา สเปค และระบบอาวุธ ยังไม่สามารถบอกได้ แต่พยายามสรุปให้ทันในเดือนพฤศจิกายน ก่อนที่สัญญาจีทูจี จะหมดลง ส่วนไทยจะเรียกร้องค่าเสียหายอะไรได้บ้าง คงต้องรอดูต่อไป

วัดใจ! กลาโหม-กองทัพเรือ ต่อรองจีน หลังเรือดำน้ำสะดุด

พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร อดีตเลขา สมช. มองว่า ในหลักการข้อเสนอดังกล่าวทำได้ เพราะนายสุทิน บอกเองว่าไม่ผิดสัญญา เพียงแต่ไม่เป็นไปตามข้อตกลง จึงอยากให้กลาโหม เปิดเผยข้อตกลงหรือสัญญาที่ทำกับจีน เอาเฉพาะเรื่องเครื่องยนต์ก็ได้ พร้อมฝากถึงทีมที่จะไปเจรจา ให้เน้นเรื่องความเป็นธรรม เพราะส่วนต่างที่ไทยเคยจ่ายไปแล้ว ก็ควรมีการหักลบกลบหนี้ไป ที่สำคัญควรมีการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากจีนด้วย

พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร อดีตเลขา สมช.

ด้านนายสุรชาติ บำรุงสุข อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มองว่า การแลกเรือดำน้ำกับเรือฟริเกต อาจไม่ตอบโจทย์ การจ่ายเพิ่มจะทำให้สังคมรับไม่ได้ มีผลต่อรัฐบาล เพราะเหมือนต้องจ่ายค่าโง่  ที่สำคัญเรือฟริเกตล่าสุด คือเรือหลวงภูมิพล ต่อจากเกาหลีใต้ ในปี 2562 ลำต่อไปที่เป็นเรือคู่แฝด ก็ควรต่อกับเกาหลีต่อไป หรือไม่ก็มองหา “เรือคอร์เวต” มาทดแทนเรือหลวงสุโขทัย น่าจะดีกว่า ขณะเดียวกัน เริ่มมีบางสื่อพูดถึงเรือฟริเกตจีน Type 054A ว่าไทยอาจจะได้รุ่นนี้ เพราะเป็นรุ่นที่จีนทำตลาดอยู่ แต่ก็ยังไม่มีคำยืนยันจากฝ่ายใด

สุรชาติ บำรุงสุข อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

สำหรับเรือฟริเกต ในกองทัพเรือ ปัจจุบันประจำการ 7 ลำ ประกอบด้วย ชุดเรือหลวงภูมิพล ต่อจากเกาหลีใต้  ชุดเรือหลวงนเรศวร-ตากสิน ต่อจากจีน ชุดเรือหลวงเจ้าพระยา-บางปะกง-สายบุรี-กระบุรี ก็ต่อจากจีน

ขณะที่ในสมุดปกขาวของกองทัพเรือ ปี 66 มีโครงการจัดหาเรือฟริเกตสมรรถนะสูง 4 ลำ ซึ่งเป็นการดำเนินโครงการระยะยาวและมีมูลค่าสูง วงเงิน 80,400 ล้านบาท