svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

รมว.เกษตรฯ พาสื่อขึ้น ฮ. ตรวจสภาพน้ำ ลุ่มเจ้าพระยา สั่งกรมชลเร่งกักเก็บน้ำ

รมว.เกษตรฯ พาสื่อมวลชนขึ้นเฮลิคอปเตอร์ บินตรวจสภาพน้ำ ลุ่มเจ้าพระยา สั่งกรมชลประทานเร่งสำรองและกักเก็บน้ำให้ได้มากที่สุด เพื่อรองรับปรากฎการณ์ "เอลนีโญ" และช่วงฤดูแล้ง ที่กำลังจะมาถึง

25 กันยายน 2566 ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมว.เกษตรและสหกรณ์ พร้อมด้วย นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน พร้อมคณะ นำสื่อมวลชน ขึ้นเฮลิคอปเตอร์ ของกรมฝนหลวงและการบินเกษตร เพื่อติดตามสถานการณ์น้ำ และแนวทางในการบริหารจัดการน้ำ ใน ลุ่มเจ้าพระยา เพื่อรับมือกับสถานการณ์ฝนที่ตกหนัก และปรากฎการณ์ เอลนีโญ 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง : 

รมว.เกษตรฯ พาสื่อขึ้น ฮ. ตรวจสภาพน้ำ ลุ่มเจ้าพระยา สั่งกรมชลเร่งกักเก็บน้ำ

โดยคณะของ ร.อ.ธรรมนัส ได้บินตรวจสภาพน้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยา จากศูนย์ศิลปาชีพบางไทร จ.พระนครศรีอยุธยา ก่อนจะแวะลงจอด ที่บริเวณ เขื่อนเจ้าพระยา เพื่อติดตามสถานการณ์น้ำ และการบริหารจัดการน้ำ ของเขื่อนเจ้าพระยา 

เนื่องจากมีฝนตกต่อเนื่อง ในพื้นที่ตอนบนของประเทศ ส่งผลดีต่อปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำ และน้ำท่าที่เพิ่มขึ้น  ประกอบกับขณะนี้ เข้าสู่ช่วงปลายฤดูฝนของพื้นที่ตอนบนแล้ว ร.อ.ธรรมนัส จึงได้สั่งการให้กรมชลประทาน  เร่งเก็บกักน้ำไว้ในอ่างเก็บน้ำ และแหล่งน้ำต่าง ๆ ให้ได้มากที่สุด โดยเฉพาะลุ่มเจ้าพระยา ที่มีปริมาณการใช้น้ำสูง   
รมว.เกษตรฯ พาสื่อขึ้น ฮ. ตรวจสภาพน้ำ ลุ่มเจ้าพระยา สั่งกรมชลเร่งกักเก็บน้ำ

สำหรับสถานการณ์น้ำ ในพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยา ล่าสุดวันนี้ (25 ก.ย.) ที่สถานีวัดน้ำ C.2 อ.เมือง จ.นครสวรรค์ มีปริมาณน้ำไหลผ่าน 1,166 ลบ.ม./วินาที แนวโน้มลดลง  กรมชลประทาน ได้ใช้ระบบชลประทานทั้ง 2 ฝั่งของแม่น้ำเจ้าพระยา

ในการบริหารจัดการน้ำ ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ด้วยการรักษาระดับน้ำเหนือเขื่อนเจ้าพระยา ให้อยู่ระดับ 16.80 เมตร (รทก.) สูงกว่าระดับปกติประมาณ 0.30 เมตร เพื่อยกระดับน้ำเข้าสู่คลองต่าง ๆ ที่อยู่ด้านเหนือเขื่อนเจ้าพระยา ให้ได้มากที่สุด โดยไม่กระทบต่อพื้นที่ริมคลอง และสามารถรองรับฝน ที่อาจตกลงมาในพื้นที่ได้อีกด้วย 

พร้อมกันนี้ ยังได้ผันน้ำเข้าระบบชลประทาน ฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา เข้าสู่คลองชัยนาท-ป่าสัก และ คลองชัยนาท-อยุธยา และผันน้ำบางส่วน ไปลงคลองพระองค์ไชยยานุชิต เพื่อสูบผันน้ำไปเก็บไว้ที่อ่างเก็บน้ำบางพระ จ.ชลบุรี

ส่วนทางด้านฝั่งตะวันตก จะผันเข้าทางแม่น้ำท่าจีน แม่น้ำน้อย และคลองมะขามเฒ่า-อู่ทองไปกักเก็บไว้ในแหล่งน้ำต่าง ๆ รวมไปถึงคลองส่งน้ำในพื้นที่ชลประทาน เพื่อสำรองไว้ใช้อุปโภคบริโภค ในช่วงฤดูแล้ง การเพาะปลูกพืชใช้น้ำน้อย ตลอดจนไม้ยืนต้น และรักษาระบบนิเวศน์ เป็นหลัก  
รมว.เกษตรฯ พาสื่อขึ้น ฮ. ตรวจสภาพน้ำ ลุ่มเจ้าพระยา สั่งกรมชลเร่งกักเก็บน้ำ
 

สำหรับปริมาณน้ำ เหนือเขื่อนเจ้าพระยา ที่คงเหลือจากการส่งน้ำ เข้าระบบชลประทาน เพื่อสำรองไว้ใช้ในกิจกรรมต่าง ๆ ในช่วงฤดูแล้งนั้น ได้วางแผนการระบายน้ำผ่านเขื่อนเจ้าพระยา เพื่อรักษาสมดุลของปริมาณน้ำเหนือเขื่อนเจ้าพระยา และเพื่อความมั่นคงของตัวเขื่อน โดยจะควบคุมการระบายน้ำผ่านเขื่อนเจ้าพระยาไม่ให้เกิน 1,000 ลบ.ม./วินาที  

ปัจจุบัน (25 ก.ย. 66) มีการระบายน้ำสูงสุดอยู่ที่  802  ลบ.ม./วินาที มีแนวโน้มลดลง โดยปริมาณน้ำที่ระบายท้ายเขื่อนนี้ บางส่วนจะถูกนำไปเก็บกักไว้ในแหล่งน้ำและพื้นที่แก้มลิง ในเขต จ.ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง อยุธยา ปทุมธานี และนนทบุรี รวมทั้ง สนับสนุการผลิตประปา ของการประปานครหลวง และการรักษาคุณภาพน้ำของแม่น้ำเจ้าพระยาอีกด้วย 
รมว.เกษตรฯ พาสื่อขึ้น ฮ. ตรวจสภาพน้ำ ลุ่มเจ้าพระยา สั่งกรมชลเร่งกักเก็บน้ำ

ร.อ.ธรรมนัส ได้เน้นย้ำให้โครงการชลประทานทั่วประเทศ โดยเฉพาะพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยา จัดหาแหล่งน้ำสำรองและกักเก็บน้ำให้ได้มากที่สุด เพื่อรองรับปรากฎการณ์ เอลนีโญ และการใช้น้ำในช่วงฤดูแล้งที่กำลังจะมาถึง ป้องกันผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับประชาชนให้ได้มากที่สุด