svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

จบแล้ว! แบ่งเค้กประธานกมธ.ลงตัว ยอมถอยคนละก้าว หลังคุยนอกรอบกว่าชั่วโมง

จบแล้ว! แบ่งเค้กประธานกมธ.ลงตัว ยอมถอยคนละก้าว หลังคุยนอกรอบกว่าชั่วโมง "ก้าวไกล" ได้เพิ่ม 1 คณะ ประชุมนัดแรก 28 ก.ย.

21 กันยายน 2566 ที่รัฐสภา มีการประชุมร่วมกันของผู้แทนจากพรรคการเมือง เพื่อพิจารณาการตั้งคณะกรรมาธิการสามัญประจำสภาผู้แทนราษฎร โดยมี นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 2 เป็นประธานในที่ประชุม โดยบรรยากาศ ภายในการประชุมพรรคการเมืองได้ส่งตัวแทนมาร่วมประชุมอย่างพร้อมเพรียง ก่อนที่ประธานในที่ประชุมจะนำเข้าสู่วาระ และเปิดให้สมาชิกในที่ประชุมได้เสนอแนวทางต่างๆ และในที่ประชุมได้มีการเตรียมอุปกรณ์จับสลาก ในกรณีที่ไม่สามารถตกลงกันได้ 2 กล่องมีลักษณะเป็นสี่เหลี่ยมใส บรรจุไข่สีทองและสีน้ำเงิน

โดยนายวิสุทธิ์ ​ไชยณรุณ สส.พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า หลังจากที่ได้พูดคุยกันนอกรอบ วันนี้(21 ก.ย.) ตนอยากจะให้ทุกพรรคถอยกันคนละก้าว ถ้าเราถอยกันก็จะเป็นแนวทางในการแก้ไขปัญหานี้

ขณะที่ นายปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล สส.พรรคก้าวไกล กล่าวว่า เห็นด้วยกับนายวิสุทธิ์ เราควรถอยกันคนละก้าว แต่อยากให้สมาชิกย้อนไปดูเอกสารที่เจ้าหน้าที่ได้จัดทำไว้ เพื่อเป็นการยืนยันจำนวนสส.ของพรรคก้าวไกล ในการคำนวณ จำนวนคณะกรรมาธิการที่พรรคก้าวไกลจะได้รับ โดยยังมีชื่อของ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ที่ยังไม่ถูกตัดสิทธิ์ และสส.ระยอง คือ นายพงศธร ศรเพชรนรินทร์ ที่เป็นสส.ใหม่ จึงยืนยันว่า ตัวเลขกรรมาธิการของพรรคก้าวไกล จะต้องมี 11 คณะ

ภายหลังจากที่ได้มีการประชุมผ่านไปประมาณ 30 นาที ก็ได้มีการพักการประชุม เนื่องจากพรรคการเมืองไม่อยากใช้วิธีการจับสลากตำแหน่งประธานกรรมการ จึงเปิดโอกาสให้ พรรคการเมือง ที่จะตกลงประธานกรรมาธิการกันไม่ได้ ประกอบด้วย พรรคก้าวไกล พรรคเพื่อไทย และพรรครวมไทยสร้างชาติ พรรคพลังประชารัฐ พรรคภูมิใจไทย พรรคประชาปัตย์ได้พูดคุยตกลงกัน จากนั้นภายหลังจากที่มีการ พูดคุยของแต่ละพรรคการเมือง เกือบ 1 ชั่วโมง และยังไม่ได้ข้อสรุป ในเวลา 15.17 น. นายพิเชษฐ์ ได้เข้าไปร่วมวงการพูดคุยด้วย จากนั้น 15.35 น.ได้ยุติการพูดคุย แล้วกลับเข้าไปในห้องประชุมเพื่อประชุมต่อ หลังจากพักการมาประชุมให้มีการพูดคุยกัน กว่า 1 ชั่วโมง

จากนั้น นางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวถึง การพูดคุยกันว่า บรรยากาศในการพูดคุยเป็นไปอย่างเรียบร้อย ซึ่งมีกมธ. 2 คณะ ที่ยังตกลงกันไม่ได้ ระหว่างพรรคก้าวไกลและพรรคภูมิใจไทย คือ กมธ.การกระจายอำนาจ การปกครองส่วนท้องถิ่น และการบริหารราชการรูปแบบพิเศษ, กมธ.แรงงาน  ส่วนกมธ.ป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ ยังไม่ได้ข้อสรุป ซึ่งพรรคเพื่อไทยได้แสดงเจตจำนงว่า ต้องการที่จะได้ ประธานในกมธ.นี้

จากนั้นพรรคภูมิใจไทยและพรรคก้าวไกล ได้ออกมาพูดคุยเพิ่มเติมกันอีกครั้ง ซึ่งใช้เวลาไม่นานก่อนจะกลับเข้าไปประชุมต่อ

โดยนายพิเชษฐ์ กล่าวภายหลังเสร็จสิ้นการประชุมว่า ที่ประชุมจบด้วยดี ทุกพรรคถอยคนละก้าวโดยวันที่ 27 กันยายนนี้ ทุกพรรคจะเสนอ รายชื่อเข้าทั้ง 35 คณะ และวันที่ 28 กันยายน จะมีการประชุมคณะกรรมาธิการนัดแรก เพื่อเลือกประธานกรรมาธิการ และตำแหน่งอื่นๆ ซึ่งทุกพรรคได้ประธานกรรมาธิการตามสัดส่วน แต่จะมีการเปลี่ยนชื่อกรรมาธิการบางคณะ เช่น กมธ.แก้ไขปัญหาหนี้สินแห่งชาติ และกมธ. การแก้ไขปัญหาราคาผลผลิตเกษตรกรรม เพื่อเปลี่ยนเป็นภารกิจอื่นที่สำคัญกว่า

ทั้งนี้ ตนมองว่า ความสามัคคีได้กลับมาแล้วและหลังจากนี้ก็ทำงานเพื่อพี่น้องประชาชน พรรคใหญ่ยอมถอยให้

ขณะที่ นายอัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ สส.ราชบุรี  พรรครวมไทยสร้างชาติ กล่าวว่า ในส่วนของพรรครวมไทยสร้างชาติ ได้ 2 คณะครึ่ง คือกมธ.พลังงาน และกมธ.อุตสาหกรรม ส่วนอีก 1 กมธ.คือ กมธ.กิจการศาล องค์กรอิสระ องค์กรอัยการ รัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชนและกองทุน ซึ่งต้องแบ่งกับพรรคก้าวไกล คนละครึ่ง เนื่องจากติดในเรื่องข้อกฎหมาย เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมคือ จะเป็นกมธ.คนละ 2 ปีหรือปีเว้นปี ซึ่งจะต้องมาพูดคุยกันอีกครั้งหนึ่ง

ผู้สื่อข่าวรายงานผลสรุปออกมาดังนี้

พรรคก้าวไกล ได้ประธานกมธ.11 คณะ ประกอบด้วย

     1.กมธ.ศึกษาการจัดทำและติดตามการบริหารงบประมาณ

     2.กมธ.การพัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชน และการมีส่วนร่วมของประชาชน

     3.กมธ.พัฒนาเศรษฐกิจ

     4.กมธ.การสวัสดิการสังคม

     5.กมธ.การทหาร

     6.กมธ.ความมั่นคงแห่งรัฐ กิจการชายแดนไทย

     7.กมธ.ยุทธศาสตร์ชาติ และการปฏิรูปประเทศ

     8.กมธ.ที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม

     9.กมธ.การวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิจัยและนวัตกรรม

     10.กมธ.กิจการศาล องค์กรอิสระ องค์กรอัยการ รัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชน และกองทุน

     11.กมธ.การคุ้มครองผู้บริโภค

พรรคเพื่อไทย

     1.กมธ.ป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ

     2.กมธ.การคมนาคม

     3.กมธ.การท่องเที่ยว

     4.กมธ.การสาธารณสุข

     5.กมธ.การต่างประเทศ

     6.กมธ.การศาสนา ศิลปะ และวัฒนธรรม

     7.กมธ.กิจการสภาผู้แทนราษฎร

     8.กมธ.การสื่อสาร โทรคมนาคม และดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม

     9.กมธ.ป้องกันปราบปรามการฟอกเงินและยาเสพติด

     10.กมธ.การเงิน การคลัง สถาบันการเงินและตลาดการเงิน

พรรคภูมิในไทย

     1.กมธ.การศึกษา

     2.กมธ.การกระจายอำนาจ การปกครองส่วนท้องถิ่น และการบริหารราชการรูปแบบพิเศษ

     3.กมธ.การปกครอง

     4.กมธ.การป้องกันและบรรเทาผลกระทบจากภัยธรรมชาติและสาธารณภัย

     5.กมธ.การแรงงาน

พรรคพลังประชารัฐ

     1.กมธ.การกีฬา

     2.กมธ.แก้ไขปัญหาหนี้สินแห่งชาติ

     3.กมธ.แก้ไขปัญหาราคาผลิตผลเกษตรกรรม

พรรครวมไทยสร้างชาติ

     1.กมธ.การพลังงาน

     2.กมธ.การอุตสาหกรรม

พรรคประชาธิปัตย์

     1.กมธ.การพาณิชย์และทรัพย์สินทางปัญญา

     2.กมธ.การตำรวจ

พรรคชาติไทยพัฒนา

     1.กมธ.กิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ ผู้พิการ กลุ่มชาติพันธุ์ และผู้มีความหลากหลายทางเพศ

พรรคประชาชาติ

     1.กมธ.การกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน