21 กันยายน 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า "นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร" สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ได้โพสต์ข้อความพร้อมรูปภาพผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว โดยมีเนื้อหาระบุว่า
ต่อกรณีของ #ช่อพรรณิการ์ มาตรฐานจริยธรรม กับการบั่นทอนนิติรัฐ และความเสื่อมถอยของระบบยุติธรรม
จากกรณีที่ ศาลฎีกาพิพากษาตัดสิทธิทางการเมืองคุณพรรณิการ์ ตลอดชีวิต ผมมีความคิดเห็นว่า ไม่ว่าคุณจะชอบ หรือไม่ชอบคุณพรรณิการ์ เป็นการส่วนตัวอย่างไร แต่คำพิพากษาในลักษณะนี้ ก็เป็นคำพิพากษาที่ก่อให้เกิดข้อสงสัยต่อสาธารณชนอย่างมาก และอาจจะนำมาซึ่งปัญหา และความท้าทายต่อกระบวนการยุติธรรมในระบบสากลของประเทศไทย อยู่หลายประการ
1. ตามหลักการที่ "ประชาชนเป็นเจ้าของอธิปไตย" "การเลือกตั้ง" ถือเป็นกลไก ที่ประชาชนจะใช้วิจารณญาณเองว่า บุคคลคนใด มีความเหมาะสมหรือไม่ ที่จะเป็นผู้แทนของพวกเขา คำว่า "จริยธรรม" เป็นคุณสมบัติเชิงอัตวิสัย ซึ่งปัจเจกชนก็มีนิยาม มีกรอบ และมีมาตรวัดทางจริยธรรมที่แตกต่างกัน การเลือกตั้งโดยประชาชน จึงเป็นกลไกที่ดีที่สุด ที่จะใช้ตัดสินในเรื่องอัตวิสัยนี้ การเอาอำนาจใด อำนาจหนึ่ง ไปตัดสิทธิทางการเมืองของบุคคลใดบุคคลหนึ่ง เพื่อไม่ให้ประชาชนได้ใช้สิทธิของตนในการพิจารณาเลือกบุคคลคนนั้น จึงทำให้สาธารณชนต้องตั้งคำถามในเชิงหลักการว่า เป็นการแทรกแซงลิดรอนอำนาจของประชาชน หรือไม่
2. โดยปกติแล้ว การที่จะลงโทษบุคคลใด ด้วยบทลงโทษที่ร้ายแรง กฎหมาย และกระบวนการพิจารณาในระบบยุติธรรม จะต้องเป็นไปอย่างรอบคอบ จำเป็นต้องใช้กฎหมายอาญาที่สอดคล้องกับหลักสากล ที่สามารถอธิบายให้กับอารยประเทศต่างๆ ได้ เป็นหลักในการพิจารณา แต่กรณีของคุณพรรณิการ์ เป็นการใช้ "มาตรฐานทางจริยธรรม" ในการตัดสิน และเป็นการตัดสินในกรณีที่เกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งกรณีนี้คุณพรรณิการ์ ไม่ได้ถูกดำเนินคดีด้วยกฎหมายอาญามาตรา 112 โดยถูกดำเนินคดีตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ เท่านั้น และคดีก็ยังไม่ถึงที่สุด อยู่ในชั้นศาลอุทธรณ์ โดยศาลชั้นต้นมีคำพิพากษายกฟ้อง
3. การโพสต์ของคุณพรรณิการ์ เป็นการโพสต์ในอดีตที่ยาวนานมาก และเป็นการโพสต์ก่อนที่จะมาดำรงตำแหน่งทางการเมือง การนำเอามาตรฐานทางจริยธรรม มาใช้บังคับกับเรื่องราวในอดีตก่อนที่จะมาดำรงตำแหน่งทางการเมืองแบบนี้ จึงเกิดคำถามว่า เป็นการขยายขอบเขตของมาตรฐานทางจริยธรรมของนักการเมือง ซึ่งเป็นมาตรวัดเชิงอัตวิสัย ที่เกินกว่าที่ควรจะเป็น หรือไม่
4. นอกจากนี้ ก็ยังมีคำถามอีกว่า มาตรฐานจริยธรรมนักการเมือง ย่อมควรใช้กับบุคคลที่ยังคงดำรงตำแหน่งทางการเมืองอยู่ ใช่หรือไม่ แต่ในขณะนี้คุณพรรณิการ์ ก็ไม่ได้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองใดๆ แล้ว สมควรหรือไม่ ที่จะใช้มาตรฐานจริยธรรมนักการเมือง ไปใช้ตัดสินบุคคลที่ไม่มีตำแหน่งทางการเมืองแล้ว
5. จากข้อที่ 3 และ ข้อที่ 4 ย่อมทำให้ประชาชนนำเอาไปเปรียบเทียบกับนักการเมืองจำนวนมาก ที่มีพฤติกรรมเกี่ยวข้องกับยาเสพติด พัวพันกับทุนจีนสีเทา ใช้เส้นสายแต่งตั้งบุคคลใกล้ชิด ที่มีข้อครหาในเรื่องชู้สาวให้มีตำแหน่งทางราชการ รับบุคคลใกล้ชิดเป็นบุตรบุญธรรม เพื่อหลีกเลี่ยงการเปิดเผยบัญชีทรัพย์สิน แทรกแซงกิจการของวัดสร้างผลกระทบเชิงลบต่อพระศาสนา หรือเข้าไปมีส่วนสนับสนุนในการก่อรัฐประหารทำลายระบอบประชาธิปไตย จนทำให้ประเทศไทยถูกปกครองกดขี่โดยรัฏฐาธิปัตย์ ที่มีอำนาจเหนือกว่าประมุขแห่งรัฐ ฯลฯ
6. หากยึดเอามาตรฐานทางจริยธรรมอันเป็นอุดมการณ์ ข้อที่ 6. ที่ระบุว่า "ต้องพิทักษ์รักษาเอาไว้ซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์ เอกราช อธิปไตย บูรณภาพ แห่งอาณาเขต และเขตที่ประเทศไทยมีสิทธิอธิปไตย เกียรติภูมิ และผลประโยชน์ของชาติ ความมั่นคงของรัฐ และความสงบเรียบร้อยของประชาชน" ซึ่งเป็นข้อที่ถูกนำมาใช้ตัดสินในกรณีของคุณพรรณิการ์ มาใช้อ้างอิงกับนักการเมืองคนอื่นๆ ในวงกว้าง ดังนั้น นักการเมืองที่เคยเป็นแกนนำ หรือเข้าร่วมในการบุกยึดสถานที่ราชการ บุกยึดสนามบิน ขัดขวางการเลือกตั้ง ปิดเมืองโดยอ้างว่า "ต้องปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง" จนนำมาสู่การก่อรัฐประหารยึดอำนาจของประชาชน ทำลายระบอบประชาธิปไตย ก็ย่อมต้องถูกตัดสิทธิทางการเมืองตลอดชีวิต ด้วยหรือไม่
ข้อคิดเห็นทั้ง 6 ข้อนี้ เป็นความเห็นเชิงหลักการ ที่ผมคิดว่ากลุ่มวิชาชีพที่อยู่ในแวดวงกฎหมาย และกระบวนการยุติธรรมของประเทศไทย จำเป็นต้องตระหนักและนำไปไตร่ตรอง เพื่อพิทักษ์ความน่าเชื่อถือของกระบวนการยุติธรรมของชาติในระยะยาว เพราะหากกระบวนการยุติธรรมของประเทศ ถูกตั้งข้อสงสัยจากสาธารณชน โดยไม่สามารถอธิบายให้ประชาชนสิ้นข้อสงสัยได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้อสงสัยอันเกี่ยวข้องกับการตีความกฎหมาย หรือการบังคับใช้กฎหมาย อย่างเลือกปฏิบัติ ประชาชนก็จะรู้สึกว่าระบบกฎหมายของประเทศ ไม่มีความเสมอภาค กระะบวนการยุติธรรมของประเทศ ก็จะถูกดูแคลนจากประชาชน และเสื่อมถอยลง เป็นพยาธิสภาพที่ทำลายระบบนิติรัฐ ไม่อาจเป็นที่พึ่งอันชอบธรรมของประชาชนได้อีก และยังเป็นที่ครหานินทาในหมู่นานาอารยประเทศ อันจะนำมาซึ่งความเสื่อมเกียรติศัดิ์ของประเทศชาติ ในเวทีโลกอีกด้วย
สำหรับผม ไม่ว่าคุณพรรณิการ์ จะมีตำแหน่ง แห่งที่หรือไม่อย่างไร สำหรับผมในฐานะเพื่อนร่วมงาน ผมยังคงยืนเคียงข้าง และเชื่อมั่นในคุณพรรณิการ์เสมอครับ