svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

"ก้าวไกล" ชี้ปม "ช่อ พรรณิการ์" รธน.มีปัญหา ใช้ปราบนักการเมืองที่ไม่ยอมจำนน

"ก้าวไกล" เชื่อปม "ช่อ พรรณิการ์" รัฐธรรมนูญมีปัญหาที่ให้อำนาจองค์กรอิสระ ปราบนักการเมืองที่ไม่ยอมจำนน แจง "ปิยบุตร" แถลงช้าเพราะติดประชุมสภาฯ ยัน ในพรรคคุยกันตลอด ขออย่ามองเป็นเรื่องเฉพาะบุคคล แต่เป็นปัญหาของข้อกฎหมาย

21 กันยายน 2566 ที่รัฐสภา นายปิยรัฐ (โตโต้) จงเทพ สส.กทม. พรรคก้าวไกล กล่าวถึงกรณีศาลฎีกาพิพากษาอดีต น.ส.พรรณิการ์ วาณิช สส.พรรคอนาคตใหม่ โดยถอนสิทธิ์รับสมัครเลือกตั้งตลอดไป และไม่มีสิทธิ์ดำรงตำแหน่งทางการเมืองตลอดชีวิต โดยระบุว่า การแถลงข่าววันนี้ ไม่ได้เจาะจงเฉพาะประเด็นของ น.ส.พรรณิการ์ แต่พูดถึงปัญหาของรัฐธรรมนูญ ในฐานะที่ตนเป็นคนอภิปรายถึงแนวนโยบายของรัฐบาลเกี่ยวกับกระบวนการยุติธรรม รวมถึงปัญหาโครงสร้างประเทศที่ใช้นิติสงครามเข้ามาจัดการนักการเมือง

พร้อมตั้งคำถามว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้ ที่เรียกว่า “ฉบับปราบโกง” เป็นการปราบโกงหรือปราบใคร เพราะพบว่ามีปัญหาแฝงในรัฐธรรมนูญฉบับนี้ เป็นการให้อำนาจองค์กรอิสระ ออกมาตรฐานจริยธรรมของแต่ละองค์กรขึ้นมา มีผลให้ สส. สว. และรัฐมนตรีอยู่ภายใต้มาตรฐานจริยธรรมนี้ และเมื่อ สส. สว. และรัฐมนตรี มีปัญหาข้อพิพาทเรื่องใดก็แล้วแต่ กลับไม่ได้จบภายในองค์กรที่สังกัด แต่กลับให้อำนาจองค์กรอิสระ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 235 วรรค 3 วรรค 4 ที่ให้ศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระวินิจฉัยเอาผิดต่อได้ ถือเป็นการลงโทษซ้ำซ้อน

ปัญหาคือการใช้มาตรฐานจริยธรรมขององค์กรอิสระ มาใช้กับนักการเมือง จึงต้องถามกับองค์กรอิสระว่า อดีตเคยทำผิดจริยธรรมหรือไม่ก่อนมาดำรงตำแหน่ง ความผิดของ น.ส.พรรณิการ์ เป็นความผิดที่เกิดขึ้นก่อนมาดำรงตำแหน่งทางการเมือง จึงเชื่อว่านี่ไม่ใช่รัฐธรรมนูญฉบับปราบโกง แต่เป็นการเปิดโอกาสให้รัฐธรรมนูญกลั่นแกล้งนักการเมือง ปราบนักการเมืองที่ไม่ยอมจำนน และนักการเมืองที่ไม่ยอมอยู่เป็น ด้วยกฎหมายนี้

ด้าน นายอนุสรณ์ แก้ววิเชียร สส.นนทบุรี พรรคก้าวไกล กล่าวว่า น.ส.พรรณิการ์ เป็นเพื่อนร่วมอุดมการณ์ตั้งแต่ตั้งพรรคอนาคตใหม่ ก่อนตั้งคำถามว่า มาตรฐานจริยธรรมของ สส. ต้องย้อนกลับไปก่อนที่จะมาเป็น สส.หรือไม่ พฤติกรรมในอดีตสามารถนำมาใช้ในขณะเป็น สส.หรือไม่ รวมถึงการกระทำที่เกิดไปแล้ว ความผิดเหล่านั้นยังคงติดตัวหรือไม่ พร้อมฝากไปถึงองค์กรอิสระว่า สิ่งที่วางบรรทัดฐานไว้ถูกต้องหรือไม่

นอกจากนี้คนที่เคลื่อนไหวทางการเมืองที่มีโทษในมาตรา 112 หากถูกตรวจสอบจริยธรรม จะซ้อนทับกับกฎหมายอาญาหรือไม่ และยุติธรรมหรือไม่ หากในอนาคตกฎหมายนี้ย้อนกลับมาที่ตัวท่านเอง

ด้าน น.ส.ศศินันท์ ธรรมนิฐินันท์ สส.กทม. พรรคก้าวไกล กล่าวว่า ในแง่ของกฎหมาย ไม่ควรมีกฎหมายลงโทษย้อน หลัง เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น การตัดสิทธิ์ทางการเมือง หากเทียบทางอาญาถือเป็นโทษประหารชีวิต ถือเป็นโทษสูงหากเทียบพฤติการณ์

เมื่อถามว่า แกนนำคณะก้าวหน้า นายปิยบุตร แสงกนกกุล ออกมาแสดงความเห็นว่า พรรคก้าวไกลแสดงท่าทีล่าช้า และแล้งน้ำใจ นายปิยรัฐ กล่าวว่า ความเห็นดังกล่าวถือเป็นคุณูปการกับพรรค ในนามพรรคก้าวไกลได้มีการแถลงข่าวผ่านทางเพจเฟซบุ๊กไปแล้ว แต่ในการแถลงข่าววันนี้(21 ก.ย.) ไม่ได้แถลงในนามพรรค ไม่ได้ต้องการให้มองว่าเป็นเรื่องเฉพาะบุคคล พรรคก้าวไกลก็หารือภายใน ไม่สามารถแอคชั่นได้ทันท่วงที  เนื่องจากเมื่อวานนี้ (20 ก.ย.) มีการประชุมสภาฯด้วย

เมื่อถามต่อ ได้มีการคุยกับ น.ส.พรรณิการ์หรือไม่ นายปิยรัฐ กล่าวว่า ส่วนตัวไม่ได้คุยกับน.ส.พรรณิการ์ แต่คิดว่าทางพรรคน่าจะพูดคุยกันตามปกติ

ส่วนแนวทางการแก้รัฐธรรมนูญ หากไม่อยากให้ศาลพิจารณาเรื่องจริยธรรม นายปิยรัฐ กล่าวว่า ตามที่ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล นายพริษฐ์ วัชรสินธุ ได้นำเสนอการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ตอนนี้อยู่ในขั้นตอนการต่อยอด นี่เป็นหนึ่งในปัจจัยที่เราเสนอให้เกิดรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ที่เป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริงและไม่เกิดเครื่องมือทางการเมือง

กฎหมายจริยธรรม ควรอยู่ภายใต้สภาฯ หรือเป็นกฎหมายรอง หรือไม่ การเอาผิดวินัยก็มีกฎหมายอื่นบังคับใช้อยู่ แต่ละองค์กรมีกลไกอยู่ ซึ่งอาจเป็นการหารือภายในองค์กร ศาลไม่ควรชี้ผิดถูกเรื่องจริยธรรม เพราะเรื่องจริยธรรมไม่ใช่เรื่องเดียวกับข้อกฎหมาย หากมองว่าการวินิจฉัยไม่เป็นธรรมควรไปร้องศาลปกครอง

เมื่อถามว่า เป็นการเขียนเสือให้วัวกลัวหรือไม่ นายปิยรัฐ กล่าวว่า ไม่ใช่การเขียนเสือให้วัวกลัว เพราะไม่ได้พุ่งเป้ามาที่พรรคก้าวไกล หรือคดีมาตรา 112 เท่านั้น แต่คำถามสำคัญก็คือ กรณีทั่วไปที่ศาลเคยตัดสินโทษไปแล้ว ศาลฎีกาจะกลับมาเอาโทษนักการเมืองคนนั้นในภายหลังได้อีกหรือไม่

“ผมว่าไม่ใช่การเขียนเสือให้วัวกลัว เพราะไม่ได้พุ่งเป้ามาที่พรรคก้าวไกลเท่านั้น แต่นักการเมืองทุกคน ต้องสำนึกว่ากฎหมายอยู่ในมือใคร และจะใช้กฎหมายกับใคร” นายปิยรัฐ กล่าว