svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

ส่องทริป"หมออ๋อง"ไปสิงคโปร์ดูงานหรือหาเหตุถูกขับพ้นก้าวไกล

18 กันยายน 2566
เกาะติดข่าวสาร >> NationTV
logoline

จากเสียงวิพากษ์วิจารณ์ต่อกรณีค่าเดินทางเพื่อไปศึกษาดูงานยังต่างประเทศของ "หมออ๋อง" หรือ "ปดิพัทธ์ สันติภาดา" รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 1 และคณะ ใช้งบประมาณมากกว่าปกติ

สำหรับการเดินทางเพื่อไปดูงานของ หมออ๋อง และชาวคณะ รวม 12 ชีวิต ซึ่งประกอบด้วย สส.พรรคก้าวไกล 5 คน พรรคเพื่อไทย 1 คน และยังมีข้าราชการสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร จากกลุ่มงานพิธีการทูต , กลุ่มงานภาษาอังกฤษ , กลุ่มงานรองประธานสภาผู้แทนราษฎร และกลุ่มงานสำนักการประชุม อีก 4 คน

นอกจากนี้ ยังมีชื่อของ "ไกลก้อง ไวทยการ" อดีต สส.บัญชีรายชื่อ พรรคอนาคตใหม่ ในฐานะผู้ติดตามรองประธานสภาผู้แทนราษฎร ติดตามคณะไปด้วย แต่ต้องเป็นผู้ขอออกค่าใช้จ่ายเอง ในการไปศึกษาดูงานที่สาธารณรัฐสิงคโปร์ ระหว่างวันที่ 21 - 25 ก.ย. 2566 เพื่อกระชับความสัมพันธ์ระหว่าง 2 ประเทศ และศึกษาดูงานด้านระบบสารสนเทศการประชุมรัฐสภาของสิงคโปร์ การบริหารจัดการแรงงานของคนไทยในสิงคโปร์ และการจัดการด้านสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนของสิงคโปร์

โดยใช้งบประมาณของกลุ่มงานพิธีการทูต สำนักความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ปีงบประมาณ 2566 จำนวน 1,100,000 บาท และค่าใช้จ่ายประเภทค่ารับรอง จำนวน 200,000 บาท และขอความเห็นชอบให้คณะสามารถนำผู้ติดตามไปได้ และต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นทั้งหมดด้วยตนเอง รวมถึงขอความเห็นชอบในหลักการกรณีที่มีการยกเลิกเดินทาง เปลี่ยนการเดินทาง หรือนอกเส้นทาง จนทำให้เกินงบประมาณ ให้คณะรับผิดชอบค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นเองทั้งหมด

สำหรับการประมาณการรายละเอียดค่าใช้จ่ายในการเดินทางครั้งนี้ แบ่งเป็นค่าโดยสาร , ค่าเบี้ยเลี้ยง , ค่าที่พัก , ค่ารับรองยานพหนะ และค่าใช้จ่ายอื่น ๆ โดย "หมออ๋อง ปดิพัทธ์" มีงบประมาณสำรับการเดินทางโดยเครื่องบิน จำนวน 51,250 บาท (รวมไปกลับ) , ค่าเบี้ยเลี้ยงรวม 12,400 บาท, ค่าที่พักรวม 50,000 บาท, ค่ารับรอง 200,000 บาท ยานพาหนะ 150,000 บาท , ค่าใช้จ่ายอื่น ๆ 31,000 บาท รวมงบประมาณ 494,650 บาท

ในส่วน สส.ที่ติดตามไปด้วย มีงบประมาณสำรับการเดินทางโดยเครื่องบิน จำนวน 51,250 บาท (รวมไปกลับ) , ค่าเบี้ยเลี้ยงรวม 12,400 บาท , ค่าที่พักรวม 50,000 บาท , ไม่มีค่ารับรอง และยานพาหนะ , ค่าใช้จ่ายอื่น ๆ 1,000 บาท รวมงบประมาณคนละ 114,650 บาท

ส่วนการตั้งงบประมาณ และการขอเบิกจ่ายงบประมาณนั้น เป็นไปตามพระราชกฤษฎีกาค่าใช้จ่ายการเดินทางไปราชการ และระเบียบกระทรวงการคลัง ว่าด้วยการเบิกค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปราชการ ซึ่งทุกหน่วยงานราชการ และหน่วยงานของรัฐจะยึดตามระเบียบฉบับนี้ เหมือนกันทั้งหมด ซึ่งมีกำหนดให้การเดินทางไปราชการโดยเครื่องบิน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร สามารถโดยสารเครื่องบินในชั้นธุรกิจได้

อย่างไรก็ตาม ในการขอเดินทางไปต่างประเทศของสภาผู้แทนราษฎรนั้น ถ้ายึดตามขั้นตอนของ "กรรมาธิการ" จะต้องเป็นไปตามราชการ เช่น มีการเชิญจากประเทศต้นทาง หรือการขอไปศึกษาดูงาน โดยจะต้องทำหนังสือถึงผู้บังคับบัญชาหน่วยงาน หรือ ประธานสภาผู้แทนราษฎร เพื่อขออนุญาตก่อน

ทั้งนี้ เมื่อได้รับอนุญาตแล้ว เจ้าหน้าที่ก็จะไปพิจารณา ว่าจะสามารถใช้งบประมาณจากก้อนใดได้บ้าง และตั้งเป็นงบประมาณ ทั้งค่าเดินทาง (ค่าเครื่องบิน) , ค่าที่พัก และค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ซึ่งการกำหนดค่าที่พัก และค่าเดินทางครั้งนี้ ก็เป็นไปตามระเบียบของการขอเบิกค่าใช้จ่ายเดินทางไปราชการต่างประเทศ ที่กำหนดค่าที่พัก อัตราค่าเช่าประเภท จ (ประเทศสิงคโปร์) ไว้สำหรับหัวหน้าส่วนราชการ และรองหัวหน้าส่วนราชการไว้ที่ 12,500 บาท และค่าเครื่องบินชั้นธุรกิจ สำหรับรองหัวหน้าส่วนราชการ โดยประเทศสิงคโปร์ เป็นประเทศที่ระเบียบห้ามเบิกค่าแต่งตัว

อย่างไรก็ตาม แต่งบประมาณที่ตั้งไว้นั้น ก็ถือเป็นงบประมาณ Maximum ซึ่งในทางปฏิบัติ อาจจะใช้ไม่ถึงก็ได้ เช่น ค่าที่พัก ที่กำหนดไว้คืนละ 12,500 บาท แต่ในทางปฏิบัติ "ปดิพัทธ์" อาจจะร้องขอที่พักที่มีราคาถูกกว่านั้นได้ เช่น คืนละ 2,500 บาท จากราคาตั้ง 12,500 บาท รวมถึงค่าเครื่องบิน ที่แม้พระราชกฤษฎีกา กำหนดให้สามารถโดยสารชั้นธุรกิจได้ แต่นายปดิพัทธ์ ก็สามารถร้องขอนั่งในชั้นประหยัดได้เช่นเดียวกัน

ส่วนสาเหตุที่รองประธานสภา ต้องโดยสารสายการบินไทย แทนสายการบินพาณิชย์อื่น ๆ นั้น เนื่องจากการบินไทย เป็นหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ ที่จะต้องถูกหน่วยงานรัฐเลือกใช้บริการก่อนเป็นลำดับแรก และในกรณีจองตั๋วโดยสารที่สามารถยกเลิกได้ หรือเปลี่ยนเวลาการบินได้ แบบ Flexible ก็จะทำให้ราคาแพงกว่า ราคาตั๋วเดินทางแบบปกติ แตกต่างจากชั้น Economy ที่ไม่สามารถเปลี่ยนเวลาการบินได้

ขณะเดียวกัน แหล่งข่าวที่เป็นข้าราชการประจำ ยังยืนยันด้วยว่า ในการขอเบิกค่าที่พัก-ที่เดินทาง ไม่จำเป็นต้องขอเบิกเต็มเพดานตามที่กำหนดไว้ 12,500 บาท สำหรับที่พัก หรือ 51,250 บาท สำหรับค่าเดินทาง แต่ส่วนใหญ่จะมีการขอซิกแซกเบิกเพื่อเอาส่วนต่าง ไปชดเชยกับผู้ร่วมเดินทางที่ไม่สามารถเบิกได้

ส่วนเรื่องการจองนั้นสามารถทำได้หมด ทั้งผ่านแอปพลิเคชันจองโรงแรมและที่พัก ขอให้มีเพียงใบเสร็จที่สามารถเบิกได้ แต่ส่วนใหญ่ก็มักจะจองกับบริษัททัวร์ หรือเอเจนซี่ เพราะสามารถอัพเกรดประเภทห้องได้ สามารถแก้ไขเปลี่ยนแปลงวันเดินทาง และยกเลิกการเดินทางได้ เป็นต้น 

สำหรับการเดินทางไปศึกษาดูงานของรองประธานสภา ครั้งนี้ ก็มีการตั้งข้อสังเกตจากฝ่ายการเมือง ว่า เป็นไปเพราะใกล้สิ้นปีงบประมาณหรือไม่ ที่จะต้องมีการใช้งบประมาณให้หมด แต่ก็จะต้องไปพิจารณาการใช้งบประมาณดังกล่าวด้วยว่า จะสอดคล้อง หรือตรงกับแนวทางของพรรคก้าวไกลหรือไม่ หรือจะเป็นการหาเหตุ สร้าง Content ในการขับนายปดิพัทธ์ ออกจากการเป็นสมาชิกพรรคก้าวไกล  รวมถึงยังมีการตั้งข้อสังเกตจากคณะทำงานของอดีตประธานสภาผู้แทนราษฎร เห็นด้วย กับแนวคิดการไปศึกษาดูงานต่างประเทศ ที่น่าจะเกิดประโยชน์กับประเทศ และสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร แต่เมื่อพิจารณาจากคณะเดินทางแล้ว กลับน่าคิดว่าว่า เหตุใดถึงนำแต่ สส.ของพรรคก้าวไกล ร่วมคณะไปถึง 5 คน ไม่มีจากพรรคการเมืองอื่น

ทั้งนี้ แตกต่างจากอดีต ที่จะพยายามเกลี่ยสัดส่วนให้มี สส. จากทุกพรรคการเมือง รวมถึงข้าราชการที่ร่วมคณะไปด้วยนั้น ส่วนใหญ่ก็มาจากกลุ่มงานพิธีการทูต , กลุ่มงานภาษาอังกฤษ , กลุ่มงานรองประธานสภาผู้แทนราษฎร และกลุ่มงานสำนักการประชุม รวม 4 คน ไม่มีข้าราชการส่วนงาน ICT ของสำนักงานเลขาธิการสภาฯ ไปด้วย ทั้งที่ส่วนงานดังกล่าว มีหน้าที่โดยตรงในการดูแลงาน และระบบห้องประชุมต่าง ๆ รวมถึงห้องประชุมกรรมาธิการ ที่สามารถเปิดเผยข้อมูลสู่สาธารณชนได้

"ข้าราชการ ถือเป็นเจ้าหน้าที่ ส่วนที่จะนำนโยบายจาก สส. ที่เป็นผู้กำหนดแนวคิดมาปฏิบัติ ดังนั้น หากจะให้เกิดประโยชน์จริง ๆ ควรลดสัดส่วนจำนวน สส. ลงมา และให้ข้าราชการที่เป็นเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานร่วมคณะไปด้วย"

แหล่งข่าวซึ่งเป็นข้าราชการประจำ จากกระทรวงการคลัง ยังเตือนการเดินทางดูงานของนายปดิพัทธ์ ครั้งนี้ด้วยว่า หากเป็นการตั้งโครงการโดยมิชอบ หรือหาเหตุทางการเมืองอื่น ๆ จะต้องระวังเจอคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช.สอบพ่วงด้วย

 

logoline