18 กันยายน 2566 นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง แถลงภายหลังการหารือร่วมกับ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครว่า วันนี้(18 ก.ย.) เป็นการพูดคุยกันบรรยากาศแบบสบายๆ อยากเปลี่ยนอิริยาบถบ้าง เชื่อว่าวิธีแบบนี้จะทำให้เป็นการพูดคุยกันได้อย่างสบายใจ กรุงเทพมหานครเป็นจังหวัดที่ใหญ่ 1 ใน 3 GDP ของประเทศอยู่ที่นี่ ประชาชนทั้งประเทศมีความคาดหวัง ทั้งรายได้จากการท่องเที่ยว เรื่องฝุ่น เรื่องปัญหารถติด การใช้ทรัพยากรที่สิ้นเปลือง กรุงเทพฯเป็นที่หมายตาของทุกคน
ตนกับนายชัชชาติรู้จักกันมานาน มีการคุยกันตั้งแต่การแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 จำได้ว่า นายชัชชาติ ไปหาตนที่ทำงานเก่า ตนบอกว่าท่านน่าจะสมัครเป็นนายกรัฐมนตรี ไม่ต้องไปลงผู้ว่าฯ ท่านบอกว่าท่านอยากเป็นผู้ว่าฯดีกว่า ให้ตนมาลงเป็นนายกฯแทน และทำงานร่วมกัน พี่ๆน้องๆนั่งคุยกัน อย่างสบายๆ วันนั้นจริงๆแล้วก็ไม่คาดฝันว่า จะมีวันนี้มานั่งคุยแบบพี่ๆน้องๆได้ พอผมเข้ารับตำแหน่ง หนึ่งในบุคคลสำคัญที่ตนคิดถึงคนแรกๆ คือ ผู้ว่าฯชัชชาติ ซึ่งท่านก็มาด้วยฉันทามติที่ท่วมท้น 1.4 ล้านเสียง ถือว่าสูงมากในประวัติศาสตร์ ถือเป็นภารกิจแรกๆที่ตนอยากจะทำ อยากพูดคุยสนับสนุน ผู้ว่าฯชัชชาติ ให้ทำงานลุล่วง ไปด้วยดี เพราะกรุงเทพมหานคร เป็นภาคส่วนที่สำคัญของการขับเคลื่อนประเทศ
นายกฯ กล่าวต่อว่า การมานั่งคุยในวันนี้ เกิดจากเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ตนไปนั่งทานอาหารกลางวันกับผู้ว่าฯชัชชาติ และนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และมีการพูดคุยกันว่า จะตั้งคณะทำงานเร่งรัดพัฒนา กทม. ชุดเล็กขึ้นมา เพื่อขับเคลื่อนกรุงเทพฯ โดยการใช้นโยบายเป็นหลัก เรื่องการใช้งบประมาณคงมีน้อยมาก หน้าที่ของรัฐบาลคือ สนับสนุนให้ผู้ว่าฯชัชชาติ ได้แก้ไขปัญหา อย่างน้อยคือเรื่อง Quick Win อะไรทำได้ทำก่อน โดยเป็นเรื่องที่ใช้งบประมาณน้อยหรือไม่ใช้เลย อาจเป็นการประสานงานกับหน่วยงานราชการที่ขึ้นตรงกับตนเอง ให้มาสนับสนุนการทำงานของผู้ว่าฯชัชชาติ ในเรื่องการจราจร อาชญากรรม ซึ่งปัญหานี้เป็นปัญหาใหญ่ ที่จะสามารถบรรเทาไปได้ จากการประสานงานที่ดีกว่า ซึ่งวันนี้ผู้ว่าฯชัชชาติ ก็มีแนวทางมานำเสนอ หน้าที่ตนคือ การสนับสนุนทำให้กรุงเทพมหานครเป็นเมืองน่าอยู่
ด้านนายชัชชาติ กล่าวว่า ปัญหากรุงเทพฯ คือการประสานงานระหว่างหน่วยงาน เพราะกทม.มีข้อจำกัดในการใช้อำนาจ หากมีการประสานงานที่เข้มข้น มีทิศทางชัดเจน เชื่อว่าปัญหาหลายอย่างจะบรรเทลงไปได้มาก ซึ่งครั้งแรกที่คุยกันจะมีการตั้งเป็นคณะทำงาน มีเพียงไม่กี่คน อาจมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยตรง กระทรวงมหาดไทย, ตำรวจ, นายกรัฐมนตรี และกรุงเทพฯ โดยไม่เน้นเมกะโปรเจคในการลงทุน แต่เน้นเรื่องการผลักดันสิ่งที่เป็นข้อติดขัด ซึ่งเป็นคนละส่วนกับการแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้าง หากเป็นปัญหาเร่งด่วน ก็จะใช้คณะทำงานชุดนี้ ซึ่งก่อนหน้านี้ตนคุยกับนายกรัฐมนตรี ว่าคณะทำงานห้ามเกินพิซซ่า 2 ถาด คือมีจำนวนไม่มาก เพราะถ้าคณะกรรมการมากมันจะไม่จบ ซึ่งนายกรัฐมนตรีก็เห็นด้วย
นายชัชชาติ กล่าวถึงแนวคิดเรื่องการท่องเที่ยวว่า ปัญหาที่เจอมากที่สุด ที่ทูตทุกคนพูดถึงคือ เรื่องของความปลอดภัย, การโกงนักท่องเที่ยว, แท็กซี่ผี, ไกด์ผี วันนี้กทม.ทำได้ในระดับหนึ่ง หากได้ร่วมมือกับหน่วยงานอื่นๆ เชื่อว่าจะสามารถแก้ไขปัญหาได้ นอกจากนี้ยังมีแนวคิดจะทำ “เทศกาลฤดูหนาว” ในช่วงปลายเดือนธันวาคม ให้ทุกภาคส่วนมาร่วมกัน จะจัดให้เป็นเทศกาลที่ยิ่งใหญ่ให้ถึงระดับโลก ให้คนมาเที่ยวเพื่อกระจายรายได้ไปสู่กลุ่มรากหญ้า
ส่วนเรื่องการนำสายสื่อสารลงดิน นายชัชชาติ กล่าวว่า แม้ทางกทม.สามารถทำได้ แต่ยังมีส่วนเกี่ยวข้องกับหลายหน่วยงาน หากมีการทำเชิงนโยบาย เชื่อว่าจะสามารถผลักดันได้เร็วขึ้น
โดยในช่วงท้าย นายกฯ กล่าวว่า ตนเห็นด้วยในเรื่องของการสนับสนุน หน้าที่ตนคือการสนับสนุนน้องชาย ที่ดูแลภาคส่วนที่ใหญ่ สั่งการในสิ่งที่ผู้ว่าฯไม่มีอำนาจสั่งการ วันนี้เรามาพูดคุยกันก็จะมีคณะกรรมการเกิดขึ้น จะมีการนำเสนอผลงานทั้งขั้นตอนการทำงานให้รับทราบอย่างต่อเนื่อง
ผู้สื่อข่าวถามถึงปัญหาหนี้ค่าเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียว นายชัชชาติ กล่าวว่า ขณะนี้ขั้นตอนอยู่ที่กระทรวงมหาดไทย ตอนนี้กทม.ต้องตอบในประเด็นที่มหาดไทยทำจดหมายมาถาม ซึ่งต้องให้รายละเอียดไป จากนั้นมหาดไทยจะนำเรียนนายกฯ ซึ่งตนได้เรียนต่อนายกฯแล้วว่า ต้องให้เป็นธรรมกับทุกฝ่าย ทั้งประชาชนและเอกชน ในอนาคตอาจมีรถไฟฟ้าอีกหลายสาย ที่ต้องเชิญเอกชนมาลงทุน ดังนั้นจึงต้องคำนึงถึงความมั่นใจและความโปร่งใส วันนี้เรื่องอยู่ในสภาฯกทม. เชื่อว่าจะสามารถตอบกระทรวงมหาดไทยได้ใน 1-2 สัปดาห์ ก่อนนำเรื่องเสนอต่อนายกฯ
ฝ่ายหลังการแถลงข่าวร่วมกัน นายเศรษฐา และนายชัชชาติ ได้ชนหมัดกันม ก่อนที่นายกรัฐมนตรีได้โอบไหล่ผู้ว่าฯชัชชาติ