svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

"เนชั่นโพล"เผยผลสำรวจครั้งที่ 1 ประชาชนเชื่อมั่นรัฐบาล"เศรษฐา"

"เนชั่นโพล" เปิดเผยผลสำรวจ ครั้งที่ 1 ความเชื่อมั่นในการบริหารงานของรัฐบาลหลังแถลงนโยบาย 2566 พบ 45% ปชช.มั่นใจรบ.เศรษฐา ขณะที่ 49% ชื่นชมนายกฯแจงนโยบายได้โดนใจ สำหรับ 52% สร้างรายได้เกษตรกรทำได้แน่นอน

18 กันยายน 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า "เนชั่นโพล" ร่วมกับ "สถาบันอนาคตศึกษาเพื่อการพัฒนา" หรือ (IFD) เปิดเผยผลสำรวจของประชาชน เรื่อง "ความเชื่อมั่นในการบริหารงานของรัฐบาลหลังแถลงนโยบาย 2566" โดยดำเนินการสำรวจในช่วงวันที่ 14-16 ก.ย. 2566 ในกลุ่มประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป กระจายทุกภูมิภาค อาชีพ และระดับการศึกษา ทั่วประเทศ รวมจำนวน 1,227 ตัวอย่าง การสุ่มตัวอย่างใช้การสุ่มตัวอย่างโดยใช้ความน่าจะเป็น

โดยสุ่มตัวอย่างด้วยวิธี Stratified Five-Stage Random Sampling แต่ละตัวอย่างที่ถูกเลือกมีค่าถ่วงน้ำหนัก (sampling weight) ที่แตกต่าง วิธีการสำรวจเป็นแบบผสม โดยลงพื้นที่สำรวจ 50% และสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ 50% ค่าความผิดพลาด (error) ของการสำรวจอยู่ที่ 3% ที่ระดับความเชื่อมั่น 95%

ผลการสำรวจ

1.ความเชื่อมั่นต่อรัฐบาลนายกรัฐมนตรี "เศรษฐา ทวีสิน" ในการบริหารประเทศ หลังรับฟังแถลงนโยบายต่อรัฐสภา พบว่า ประชาชน ร้อยละ 45.89 มีความเชื่อมั่นปานกลาง ร้อยละ 23.26 ไม่ค่อยเชื่อมั่น และ ร้อยละ 13.40 ไม่เชื่อมั่นเลย ในขณะที่ มีประชาชนเพียง ร้อยละ 12.99 เชื่อมั่นมาก และร้อยละ 4.45 เชื่อมั่นมากที่สุด 

หากพิจารณาตามลักษณะทางประชากรและการเลือก ส.ส. บัญชีรายชื่อในสังกัดพรรคต่าง ๆ ในการเลือกตั้งที่ผ่านมา พบว่า 

  • ประชาชนกลุ่มอายุ 46-59 ปี และ 60 ปีขึ้นไป มีความเชื่อมั่นต่อรัฐบาลเศรษฐาฯ มากกว่ากลุ่มอายุ 18-25 ปี และกลุ่มอายุ 26-35 ปี 
  • ประชาชนที่มีอาชีพรับจ้างทั่วไปและแม่บ้าน/พ่อบ้าน/เกษียณและรับจ้างทั่วไป จะมีความเชื่อมั่นต่อรัฐบาลเศรษฐาฯ มากกว่ากลุ่มอาชีพอื่น ในขณะที่กลุ่มอาชีพนักเรียนและนักศึกษา จะมีความเชื่อมั่นต่อรัฐบาลเศรษฐาฯ น้อยกว่ากลุ่มอาชีพอื่น
  • ประชาชนที่มีระดับการศึกษาระดับปริญญาตรี และระดับอนุปริญญา/ปวส. จะมีความเชื่อมั่นต่อรัฐบาลเศรษฐาฯ น้อยกว่ากลุ่มระดับการศึกษาอื่น

    

  • ประชาชนที่เลือก ส.ส. บัญชีรายชื่อของพรรคเพื่อไทย และพรรคภูมิใจไทย จะมีความเชื่อมั่นต่อรัฐบาลเศรษฐาฯ มากกว่ากลุ่มอื่น ในขณะที่ ประชาชนที่เลือก ส.ส. บัญชีรายชื่อของพรรคก้าวไกล มีความเชื่อมั่นต่อรัฐบาลเศรษฐาฯ ต่ำที่สุด


2.นโยบายที่ประชาชนอยากให้รัฐบาลทำมากที่สุด 10 อันดับแรก คือ

  1. ลดค่าพลังงาน ไฟฟ้า น้ำมัน ก๊าซหุงต้ม (ร้อยละ 24.01)
  2. เติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet (ร้อยละ 20.73)
  3. แก้ปัญหาหนี้สิน พักหนี้เกษตรกร แก้หนี้สิน SMEs ที่ได้รับผลจากโควิด-19 (ร้อยละ 14.48)
  4. เพิ่มค่าแรงขั้นต่ำ 600 บาท ภายใน 4 ปี (ร้อยละ 7.08)
  5. ยกระดับ 30 บาท รักษาทุกโรค ใช้บัตรประชาชนใบเดียว (ร้อยละ 5.74)
  6. เงินเดือนปริญญาตรี 25000 บาท ภายใน 4 ปี (ร้อยละ 4.91)
  7. ปลุกท่องเที่ยวกระตุ้นเศรษฐกิจ (ร้อยละ 4.60)
  8. ปฏิรูปการศึกษา ส่งเสริมวิจัยและเรียนรู้ตลอดชีวิต (ร้อยละ 2.70)
  9. ปราบยาเสพติด ยึดทรัพย์ผู้ผลิตและผู้ค้า เปลี่ยนผู้เสพเป็นผู้ป่วย (ร้อยละ 2.47)
  10. สร้างรายได้เกษตรกรรม การประมง และปศุสัตว์ "ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้" (ร้อยละ 1.90)


เมื่อพิจารณาความเป็นไปได้ที่รัฐบาลจะทำให้นโยบาย 10 อันดับแรกที่โดนใจประชาชน ให้สำเร็จ พบว่า 

นโยบายที่โดนใจประชาชน ที่ประชาชนมากกว่าครึ่งให้ความเห็นว่า "เป็นนโยบายที่รัฐจะทำได้อย่างแน่นอน" ดังนี้  

  1. สร้างรายได้เกษตรกรรม การประมง และปศุสัตว์ "ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้" (ร้อยละ 52.72)  
  2. ปราบยาเสพติด ยึดทรัพย์ผู้ผลิตและผู้ค้า เปลี่ยนผู้เสพเป็นผู้ป่วย (ร้อยละ 51.08)
  3. เติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet (ร้อยละ 50.68)
  4. ยกระดับ 30 บาท รักษาทุกโรค ใช้บัตรประชาชนใบเดียว (ร้อยละ 50.44)


ส่วนนโยบายที่โดนใจประชาชน ที่ประชาชนมากกว่าครึ่งให้ความเห็นว่า "เป็นโยบายที่ไม่ค่อยแน่ใจว่ารัฐบาลจะทำได้" ดังนี้   

  1. เพิ่มค่าแรงขั้นต่ำ 600 บาท ภายใน 4 ปี (ร้อยละ 67.94)
  2. ปฏิรูปการศึกษา ส่งเสริมวิจัยและเรียนรู้ตลอดชีวิต (ร้อยละ 63.68)
  3. เดือนปริญญาตรี 25,000 บาท ภายใน 4 ปี (ร้อยละ 63.34)
  4. ลดค่าพลังงาน ไฟฟ้า น้ำมัน ก๊าซหุงต้ม (ร้อยละ 61.41)
  5. แก้ปัญหาหนี้สิน พักหนี้เกษตรกร แก้หนี้สิน SMEs ที่ได้รับผลจากโควิด-19 (ร้อยละ 57.08)


3.นโยบายที่ประชาชนไม่อยากให้รัฐบาลทำมากที่สุด 10 อันดับแรก คือ

  1. กัญชาทางการแพทย์และสุขภาพเพื่อสร้างมูลค่า ในเชิงเศรษฐกิจ (ร้อยละ 28.02)
  2. เติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet (ร้อยละ 21.14)
  3. แก้รัฐธรรมนูญ โดยไม่แก้หมวดสถาบันพระมหากษัตริย์ มีรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตย ทำประชามติ โดยให้ประชาขนมีส่วนร่วม (ร้อยละ 10.21)
  4. รถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย (ร้อยละ 6.35) 
  5. บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ยังมีอยู่ บัตรคนจน (ร้อยละ 4.62)
  6. เพิ่มค่าแรงขั้นต่ำ 600 บาท ภายใน 4 ปี (ร้อยละ 3.46)
  7. พัฒนาหน่วยมั่นคง&กองทัพทันสมัย เช่น เกณฑ์ทหารสมัครใจ เรียน รด. ได้มาตรฐาน ลดทหารชั้นสัญญาบัตรระดับสูง (ร้อยละ 3.24)
  8. ไม่มีนโยบายที่น่าผิดหวัง            (ร้อยละ 3.08) 
  9. ผลักดันกฎหมายสนับสนุนสิทธิและความเท่าเทียม    (ร้อยละ 1.96)
  10. เปิดประตูการค้า เจรจา FTA        (ร้อยละ 1.95)


4.รัฐมนตรีที่แถลงและชี้แจงนโยบาย ได้โดนใจประชาชนมากที่สุด  5 อันดับแรก ได้แก่ 

  1. เศรษฐา ทวีสิน (ร้อยละ 49.02)
  2. ไม่มีใครที่โดนใจ (ร้อยละ 11.38) 
  3. อนุทิน ชาญวีรกูล (ร้อยละ 6.31)
  4. นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว (ร้อยละ 4.96)
  5. สุทิน คลังแสง (ร้อยละ 3.38)


5.รัฐมนตรีที่แถลงและชี้แจงนโยบาย ได้น่าผิดหวังมากที่สุด  5 อันดับแรก ได้แก่ 

  1. อนุทิน ชาญวีรกูล (ร้อยละ 26.94)  
  2. ไม่มีใครที่น่าผิดหวัง (ร้อยละ 19.30)
  3. เศรษฐา ทวีสิน (ร้อยละ 13.57)
  4. นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว (ร้อยละ 9.49)
  5. สุทิน คลังแสง (ร้อยละ 5.05)


6.ความเชื่อมั่นในการทำหน้าที่ฝ่ายค้านของพรรคก้าวไกลและพรรคประชาธิปัตย์ พบว่า ประชาชน ร้อยละ 52.02 มีความเชื่อมั่นอย่างแน่นอน และ 42.28 ไม่แน่ใจ ตามลำดับ 

7.ส.ส. ฝ่ายค้านที่แถลงและชี้แจงนโยบาย ได้โดนใจมากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ 

  1. วิโรจน์ ลักขณาอดิศร (ร้อยละ 26.28) 
  2. รังสิมันต์ โรม (ร้อยละ 25.97)
  3. ชัยธวัช ตุลาธน (ร้อยละ 10.91)
  4. ชวน หลีกภัย (ร้อยละ  8.45)
  5. พริษฐ์ วัชรสินธุ (ร้อยละ  4.62)


8.ลักษณะทางประชากร และการเลือก ส.ส.บัญชีรายชื่อสังกัดพรรคใดในการเลือกตั้งที่ผ่านมา 

เมื่อพิจารณาลักษณะทางประชากรของตัวอย่าง พบว่า 

  • ประชาชน ร้อยละ 18.34 อยู่ในภาคเหนือ  ร้อยละ 31.95 อยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ  ร้อยละ 13.20 อยู่ในภาคกลางและตะวันตก  ร้อยละ 8.07 อยู่ในภาคตะวันออก  ร้อยละ 14.67 อยู่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล*  และ ร้อยละ 13.77 อยู่ภาคใต้  
  • ประชาชน ร้อยละ 50.68 เป็นเพศหญิง และร้อยละ 47.14 เป็นเพศชาย 
  • ประชาชน ร้อยละ 14.28 อายุ 18-25 ปี ร้อยละ 21.13 อายุ 26-35 ปี  ร้อยละ 23.74 อายุ 36-45 ปี ร้อยละ 23.84 อายุ 46-59 ปี และ ร้อยละ 17.01 อายุ 60 ปีขึ้นไป 
  • ประชาชน ร้อยละ 8.14 เป็นข้าราชการ/รัฐวิสาหกิจ ร้อยละ 15.58 เป็นพนักงาน/ลูกจ้างเอกชน ร้อยละ 26.85 ประกอบธุรกิจส่วนตัว/ค้าขาย ร้อยละ 4.94 ช่วยธุรกิจ/งานครอบครัว ร้อยละ 18.38 รับจ้างทั่วไป  ร้อยละ 11.62 เป็นแม่บ้าน/พ่อบ้าน/เกษียณ ร้อยละ 9.40 เป็นนักเรียน/นักศึกษา และ ร้อยละ  5.09 ว่างงาน        
  • ประชาชน ร้อยละ 19.25 มีการศึกษาระดับประถม/ต่ำกว่า ร้อยละ 36.2 มัธยม/ปวช. ร้อยละ 25.39 อนุปริญญา/ปวส. ร้อยละ 17.22 ปริญญาตรี  และร้อยละ 1.87 สูงกว่าปริญญาตรี
  • หมายเหตุ *ปริมณฑลในการสำรวจนี้ ได้แก่ ปทุมธานี สมุทรปราการ และนนทบุรี ซึ่งมีลักษณะทางเศรษฐกิจและสังคมใกล้เคียงกับกรุงเทพฯ 


เมื่อพิจารณาจากกลุ่มตัวอย่างในการสำรวจที่เลือก ส.ส. บัญชีรายชื่อสังกัดพรรคใดในการเลือกตั้งที่ผ่านมา พบว่า 

  • ประชาชน ร้อยละ 41.74 เลือก ส.ส. พรรคก้าวไกล ร้อยละ 30.85 เลือก ส.ส. พรรคเพื่อไทย ร้อยละ 12.97 เลือก ส.ส. พรรครวมไทยสร้างชาติ ร้อยละ 3.44 เลือกภูมิใจไทย ร้อยละ 2.92 เลือก ส.ส. พรรคประชาธิปัตย์ ร้อยละ 2.01 เลือก ส.ส. พรรคพลังประชารัฐ ร้อยละ 1.78 เลือก ส.ส. พรรคประชาชาติ ร้อยละ 1.10 เลือก ส.ส. พรรคชาติไทยพัฒนา และ ร้อยละ 3.19 เลือก ส.ส. พรรคอื่น ๆ


หมายเหตุ สัดส่วนกลุ่มตัวอย่างประชากรในการเลือก ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคต่าง ๆ ที่สัดส่วนมีความแตกต่างกัน อาจมีผลต่อเปอร์เซ็นต์การตอบคำถามข้อต่าง ๆ ในแบบสำรวจนี้ อันเนื่องจากทัศนคติของกลุ่มตัวอย่างที่มีต่อรัฐบาลและฝ่ายค้านในขณะที่ทำการสำรวจ