svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

"กัณวีร์"จี้รัฐยกปัญหาปาตานีเป็นวาระแห่งชาติ

18 กันยายน 2566

"กัณวีร์"จี้รัฐบาลหยุดอ้ำอึ้ง !! เร่งยกปัญหาปาตานีให้เป็นวาระแห่งชาติ เปลี่ยนเจรจาสันติสุขมาเป็นการเจรจาสันติภาพ เรื่องสำคัญที่ทำให้นายกรัฐมนตรีจะเข้าร่วมประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ  UNGA ได้อย่างสง่างาม

18 กันยายน 2566 "นายกัณวีร์ สืบแสง" สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเป็นธรรม กล่าวถึงกรณีที่มีข้อเสนอก่อนที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) จะพิจารณาต่ออายุ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นครั้งที่ 73 ในรอบเกือบ 20 ปี ซึ่งจะครบกำหนดในวันที่ 19 ก.ย. นี้ และคาดว่าจะมีการพิจารณาในการประชุม ครม. วันนี้ (18ก.ย.) ก่อนที่นายกรัฐมนตรีจะเดินทางไปร่วมประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ UNGA ที่นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา

นายกัณวีร์ เห็นว่า การพิจารณาต่ออายุ พรก.ฉุกเฉินฯ ในพื้นที่ปาตานี หรือจังหวัดชายแดนภาคใต้ คงเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ หากรัฐบาลยังคงตีโจทย์รากเหง้าแห่งปัญหาไม่ได้ ซึ่งตนคาดว่าสุดท้ายรัฐบาลชุดใหม่ คงยังใช้สมมติฐานและสมการในการแก้ไขปัญหาแบบเดิมๆ ที่ยังคงกดทับปัญหาให้เป็นเพียงแค่การแก้ไขปัญหาเชิงพื้นที่ โดยต้องพึ่งกลไกแก้ไขด้วยหน่วยความมั่นคงเท่านั้น

"ดูจากทั้งการตอบคำถามต่อพี่น้องสื่อมวลชนของนายกรัฐมนตรี  และ รมว.กระทรวงยุติธรรม ก็ยิ่งทำให้ผมมั่นใจว่ารัฐบาลชุดนี้ ไม่ได้ให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาในพื้นที่ปาตานีจริงๆ เหมือนกับการแถลงนโยบายรัฐบาลอาทิตย์ที่แล้วที่ไม่มีเรื่องการสร้างสันติภาพปาตานีเลยในคำแถลงนโยบายของรัฐบาล นี่ยังไม่รวมการมอบหมายให้คุณสมศักดิ์ เทพสุทิน เป็นผู้นำการกุมบังเหียนการแก้ไขปัญหาปาตานี" นายกัณวีร์ กล่าว 

นายกัณวีร์ เห็นว่า การที่ทุกคนเน้นว่ารัฐบาลนี้จะต่ออายุ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ในพื้นที่ปาตานีหรือไม่ ทำให้สารัตถะที่สำคัญที่สุดในการสร้างสันติภาพในพื้นที่ถูกด้อยค่าและบดบังไปหมด ซึ่งจริงๆ มันคือ ความพยายามของรัฐบาลในการยกระดับการสร้างสันติภาพให้เป็นวาระแห่งชาติโดยด่วนที่สุด

"เราต้องอย่าโฟกัสผิดจุดเพียงเพราะ นายกรัฐมนตรี จะไปเข้าร่วมและไปตอบหรือแชร์ให้การประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ (UNGA) ในสัปดาห์นี้ แล้วไทยเราจะต่ออายุ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ครั้งที่ 73 หรือไม่อย่างไร" นายกัณวีร์ ระบุ

นายกัณวีร์ กล่าวต่อว่า หากนายกฯ จำเป็นต้องไปแถลงต่อหน้าการประชุมสมัชชาใหญ่ฯ ควรเสนอที่การแก้ไขปัญหาที่รากเหง้า เสนอแนวทางการสร้างสันติภาพแบบยั่งยืนว่าจะทำอย่างไร จัดลำดับความสำคัญให้ได้ว่าอะไรจำเป็นเร่งด่วนก่อนหลัง แจ้งเพื่อนสมาชิกเสียว่าได้ตั้งสมมติฐานและสมการผิดมาเกือบ 20 ปี พูดออกไปแบบ อกผายไหล่ผึ่งว่าทราบปัญหา และจะทำอย่างนี้ โดยแจงมาเป็นข้อๆ จนกระทั่งสันติภาพที่แท้จริงมันจะเกิดได้

"หากทำอย่างนี้แล้ว รับรองการต่ออายุ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จะเป็นเพียงแค่เรื่องเล็กน้อยเท่านั้น ซึ่งผมยังย้ำว่าการยกเลิกกฎหมายพิเศษในพื้นที่ปาตานี เป็นเรื่องสำคัญ แต่หากรัฐบาลโดย นายกรัฐมนตรีมีแผนงาน แนวทาง และนโยบาย ที่แท้จริงอยู่ในมือแล้ว ในการสร้างสันติภาพให้เกิดขึ้นในพื้นที่โดยเร็ว แต่คงเป็นไปไม่ได้จริงๆครับ หากดูแค่การให้ความสำคัญทางนโยบายของรัฐบาลที่ประกาศออกมา" นายกัณวีร์ กล่าว

อย่างไรก็ตาม ส่วนตัวขอเสนอทางออกให้รัฐบาลไทย โดยเอาข้อเสนอที่ตนเคยเสนอไป คือ การสร้างสันติภาพควรทำอย่างไร โดยใช้หลักการทำงาน 3 ข้อ 

  1. ยกระดับการแก้ไขปัญหาให้เป็นวาระแห่งชาติ 
  2. หยุดการปิดกั้นสิทธิเสรีภาพของประชาชนในพื้นที่
  3. การปรับโครงสร้างระบบราชการในพื้นที่ปาตานี

นายกัณวีร์ เห็นว่าเรื่องนี้อาจมีรายละเอียดอีกมาก เพราะเป็นการนำประสบการณ์จากเวทีสหประชาชาติมาปรับใช้ แล้วนำโมเดลการสร้างสันติภาพแบบยั่งยืน ให้ตอบโจทย์ปัญหาในบริบทของปาตานีด้วย หากจะนำไปใช้ทั้งในการแถลงต่อ UNGA หรือการแก้ไขในประเทศทันที ตนไม่ติดขัด พร้อมให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ และประสานมาได้ แต่ต้องตั้งโจทย์กันให้ดี เพราะเวลาใช้มานานแล้วกับความพยายามให้สงบสุข ยังไม่รวมภาษีมากกว่า 5 แสนล้านบาท มาเกือบ 20 ปีแล้ว

"หยุดอ้ำอึ้ง แล้วยกปัญหาปาตานีให้เป็นวาระแห่งชาติ เพื่อให้สภาผู้แทนราษฎร ได้มีส่วนร่วมในการตรวจสอบและถ่วงดุลรัฐบาลในการแก้ไขปัญหา รวมทั้งให้การเจรจาสันติสุขที่รัฐบาลก่อนๆ ทำมานั้น เปลี่ยนไปเป็นการเจรจาสันติภาพ โดยไม่เอาแค่ทหารมานั่งคุยกับทหาร เอาประชาชนและภาคประชาสังคมมานำการเจรจาให้ได้ นี่ยังไม่รวมการมี กฎหมายรองรับการสร้างสันติภาพแบบองค์รวม ขอให้ทำตามข้อเสนอข้างต้นเสียก่อน เพราะถือว่าเป็นสิ่งจำเป็นเร่งด่วนในการแก้ไขปัญหาเป็นระดับต้นๆ ส่วนต่อไปขั้นแอดวานส์คงต้องรีบคุยโดยเร็ว" นายกัณวีร์ กล่าวย้ำ