15 กันยายน 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานจากรัฐสภา ภายหลังนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ตัดสินใจลากออกจากตำแหน่งหัวหน้าพรรค เพื่อเปิดทางให้หัวหน้าพรรคคนใหม่ สามารถทำหน้าที่ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎรได้นั้น
แหล่งข่าว ระบุว่า สส.พรรคก้าวไกล มีการพูดคุยกัน ถึงตำแหน่งรองประธานสภาผู้แทนราษฎร ที่นายปดิพัทธ์ สันติภาดา สส.พิษณุโลก ของพรรคฯ ดำรงตำแหน่งอยู่ 2 ทางเลือก คือ หากพรรคก้าวไกล ต้องการจะดำรงตำแหน่งผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร นายปดิพัทธ์ ก็จะต้องลาออกจากตำแหน่งรองประธานสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งจะทำให้พรรคก้าวไกล มีเพียงตำแหน่งผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎรเท่านั้น
แต่อีกทางเลือกหนึ่ง หากพรรคก้าวไกล ต้องการทั้งตำแหน่ง "รองประธานสภาผู้แทนราษฎร" และ "ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร" พรรคก้าวไกล จำเป็นจะต้องหาเหตุ ขับนายปดิพัทธ์ พ้นจากการเป็นสมาชิกพรรคก้าวไกล เหมือนกรณีที่พรรคพลังประชารัฐ เคยขับกลุ่ม สส.ร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า สส.พะเยา พรรคพลังประชารัฐ ออกจากพรรคฯ แล้วไปสังกัดพรรคเศรษฐกิจไทย เนื่องจาก หากนายปดิพัทธ์ เลือกที่จะลาออกจากตำแหน่งสมาชิกพรรคก้าวไกล ไปสังกัดพรรคการเมืองอื่นเอง ก็จะทำให้นายปดิพัทธ์ ต้องพ้นจากสมาชิกภาพ สส. และพ้นจากตำแหน่งรองประธานสภาผู้แทนราษฎรด้วย
ดังนั้น พรรคก้าวไกล จึงจำเป็นจะต้องขับนายปดิพัทธ์ออกจากการเป็นสมาชิกพรรค เพื่อให้นายปดิพัทธ์ มีเวลา 30 วัน ในการหาสังกัดพรรคการเมืองใหม่ ซึ่งก็จะช่วยให้พรรคก้าวไกล เข้าเงื่อนไขในการดำรงตำแหน่งผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎรด้วย คือ เป็นพรรคการเมือง ที่ไม่มี สส.ของพรรคดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี ประธาน หรือรองประธานสภาผู้แทนราษฎร
แหล่งข่าวยังระบุด้วยว่า สำหรับพรรคการเมือง ที่พรรคก้าวไกล จะฝากเลี้ยงนายปดิพัทธ์นั้น ก็อาจจะเป็นพรรคการเมืองในฝั่งของฝ่ายค้าน เช่น พรรคเป็นธรรม ที่มีนายกัณวีร์ สืบแสง เป็น สส. เป็นต้น แต่หากที่สุดแล้ว พรรคก้าวไกล ตัดสินใจที่จะคว้าเก้าอี้ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎรเพียงตำแหน่งเดียว ก็จะทำให้สภาผู้แทนราษฎร ต้องเลือกตำแหน่งรองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนใหม่ ซึ่งจะกลายไปเป็นสิทธิ์ของพรรคภูมิใจไทย ในฐานะพรรคร่วมรัฐบาล ที่มีเสียงมากเป็นอันดับที่ 2