svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

"นายกฯ" กังวลน้ำเขื่อนอุบลรัตน์ ไม่พอทำนาปรัง ยัน รัฐฯให้ความสำคัญเกษตรกร

08 กันยายน 2566
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

"นายกฯ" กังวลน้ำ "เขื่อนอุบลรัตน์" ไม่พอทำนาปรัง ยัน รัฐบาลให้ความสำคัญเรื่องเกษตร ปากท้องปชช.อีสาน ฝาก"ว่าที่แม่ทัพภาคที่ 2"ช่วยเหลือน้ำท่วม น้ำแล้ง เชื่อหากงบปีหน้าถึงเกษตรกร จะก่อให้เกิดรายได้รวมในประเทศ ขณะที่ชาวบ้านบอก "เศรษฐา" เป็นนายกฯที่ดีที่สุดในโลก

8 กันยายน 2566 นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง พร้อมด้วย นพ.พรหมมินทร์ เลิศสุริย์เดช เลขาธิการนายกรัฐมนตรี, นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม, นายเสริมศักดิ์ พงษ์พาณิชย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม, นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รองนายกรัฐมนตรี, ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์, นายไชยา พรหมา รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์, นายเกรียง กัลป์ตินันท์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย และนางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ร่วมลงพื้นที่เขื่อนอุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น พบประชาชนที่อยู่ทั้งในพื้นที่ชลประทานและพื้นที่นอกชลประทาน เพื่อพูดคุยประเด็นปัญหาภัยแล้ง และผลกระทบจากเอลนีโญ่ พื้นที่ทำกิน และการบริหารจัดการน้ำ

นายกฯ นำทัพครม. ลงพื้นที่เขื่อนอุบลรัตน์ ดูปัญหาภัยแล้งและการบริหารจัดการน้ำ

นายกฯ ได้รับฟังรายงานสรุปการบริหารจัดการน้ำในเขื่อนอุบลรัตน์ จากเจ้าหน้าที่กรมชลประทานและจังหวัด พร้อมกล่าวว่า วันนี้ตนยังไม่ได้เข้าบริหารราชการแผ่นดินอย่างเต็มตัว แต่มารับฟังข้อมูล เมื่อแถลงนโยบายเสร็จแล้ว จะเริ่มปฏิบัติการทันที ซึ่งวันนี้(8 ก.ย.) พล.ต.อดุลย์ บุญธรรมเจริญ ว่าที่แม่ทัพภาคที่ 2 มาด้วยและเข้าใจปัญหาของประชาชนดี ซึ่งกองทัพมีบทบาทที่จะช่วยเหลือประชาชนในแง่ของภัยแล้ง และจากที่ได้ฟังบรรยายการสรุปของกรมชลประทาน ยอมรับว่ามีความกังวลเพราะปริมาณน้ำในเขื่อนลดลง และหากจบฤดูฝนก็คาดว่าน่าจะมีน้ำน้อย การทำข้าวนาปรังไม่แน่ใจว่าจะได้ทำได้หรือไม่ ยกเว้นจะโชคดีฝนตกมามากกว่ากำหนด

ส่วนพื้นที่ที่มีน้ำท่วม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ รายงานว่า จะควบคุมได้ภายใน 3 วัน แต่ต้องลงไปดูอีกครั้งว่าจะได้รับความเสียหายมากน้อยเพียงไร ฝนก็ยังคงตกอยู่ภาวะน้ำท่วมก็ต้องดูว่ามีสิ่งกีดขวางหรือไม่ ถ้ามีสิ่งกีดขวางก็ต้องกำจัดออกไป ปริมาณน้ำในเขื่อนทุกเขื่อน ในภาคอีสานก็ยังน้อยอยู่ แต่ยังมีการจัดการบริหารที่ดี น้ำที่ใช้มากที่สุดคือ เรื่องเกษตร ซึ่งเป็นเรื่องของปากท้องประชาชนภาคอีสาน ที่รัฐบาลมาจากประชาชน ให้ความสำคัญอย่างสูงสุด โดยในระยะสั้น เรื่องของการทำฝายซอยซีเมนต์ หรือลอกคลองขจัดวัชพืช ที่ขอความกรุณาจาก ว่าที่แม่ทัพภาค 2 ว่าถ้าคนของกรมชลฯ ไม่พอก็ขอให้มาช่วย

นายกฯ นำทัพครม. ลงพื้นที่เขื่อนอุบลรัตน์ ดูปัญหาภัยแล้งและการบริหารจัดการน้ำ

นายเศรษฐา กล่าวต่อ ตนเองมาจากภาคเศรษฐกิจ แต่ก็ให้ความสำคัญกับการเกษตร เพราะเรามีเกษตรกรหลาย 10 ล้านคน รัฐบาลมีงบประมาณอยู่ไม่มาก ปีนี้อาจจะลำบากหน่อย แต่ปีงบประมาณหน้าอาจจะมีมากขึ้น และตนเชื่อว่าในอนาคต เงินทุกบาท ที่ลงไปในทุกพื้นที่น้ำท่วมและพื้นที่แล้ง ถ้ารัฐบาลของประชาชนทำให้ไม่ท่วม ไม่แล้ง ลงทุนไปเท่าไร  ก็จะก่อให้เกิดรายได้รวมในประเทศ ไม่ใช้ไปช่วยซื้อสินค้าไฮเทคจากต่างประเทศ ไปช่วยให้ประเทศอื่นมั่งคั่ง แต่แน่นอนอาจจะมีบ้าง ดังนั้นเชื่อว่าการลงทุนทางด้านการเกษตร เช่น โครงการโขง ชี มูล เลย, การสร้างฝาย ในพื้นที่ชลประทานให้มากขึ้นเป็นเรื่องที่รัฐบาลประชาชนให้ความสำคัญมากที่สุด

แต่ตอนนี้ต้องให้ความสำคัญกับระยะสั้นคือ หน้าฝนจะหมดลงไปแล้ว ต้องอาศัยกำลังจากกองทัพ ซึ่งตนได้ประสานกับ ผู้บัญชาการทหารบก และได้รับการยืนยันว่า จะได้รับความช่วยเหลือ เช่นเดียวกับกระทรวงมหาดไทย ที่จะใช้งบประมาณจากกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น มาช่วยเรื่องฝายซอยซีเมนต์ ลอกคูคลอง ช่วยบรรเทาปัญหาระยะสั้น รัฐบาลให้ความสำคัญกับไม่ท่วมไม่แล้ง ขอให้มั่นใจว่าเรื่องนี้จะดูแลอย่างเต็มที่

นายกฯ นำทัพครม. ลงพื้นที่เขื่อนอุบลรัตน์ ดูปัญหาภัยแล้งและการบริหารจัดการน้ำ

จากนั้นได้รับฟังปัญหาจากประชาชน ส่วนใหญ่เรียกร้องให้รัฐบาล สนับสนุนศักยภาพของเขื่อนอุบลรัตน์ เพราะเชื่อว่าเขื่อนแห่งนี้สามารถกักเก็บน้ำและผลิตไฟฟ้าเพียงพอ สำหรับคนในพื้นที่ได้ แต่ไม่ได้รับงบประมาณที่เพียงพอ

ขณะที่นายวรพนธ์ จันทรธีระยานนท์ รองนายกองค์การบริหารส่วนตำบลภูเวียง กล่าวว่า นายเศรษฐา เป็นนายกฯที่ดีที่สุดในโลกตั้งแต่เคยมี นายเศรษฐา จึงท้วงทันทีว่า อย่าเพิ่งถึงขนาดนั้น เพราะเพิ่งเป็นมาไม่กี่วัน

ขณะที่ชาวบ้านยังชมด้วยว่า เป็นดรีมทีมที่สุดยอดมาก และเป็นความหวังที่ดีที่สุด ในวันนี้ต้องขอบคุณกรมชลฯที่เรามีปัญหาเรื่องน้ำ พร้อมฝากถึงการแก้ปัญหาหนี้สิน อีกทั้งร.อ.ธรรมนัส ก็คือความหวังด้วยเช่นกัน

logoline