ต้องยอมรับว่า การตั้งรัฐบาลของเพื่อไทย เป็นสิ่งที่เหนือความคาดหมายของประชาชนทั่วไป ยกเว้นเซียนการเมืองที่อ่านเกมขาด เนื่องจากเราๆ ท่านๆ ที่เป็นประชาชน ออกจากบ้านไปใช้สิทธิ์เลือกตั้งในวันที่ 14 พฤษภาคม ก็คาดหวังว่าจะเกิดการเปลี่ยนแปลง แม้คนเลือก “ลุงตู่” ก็อยากเห็นความเปลี่ยนแปลงเหมือนกัน
ทีมข่าว "เนชั่น ออนไลน์" รวบรวม 5 ประเด็นกลับตาลปัตร "รัฐบาลเพื่อไทย"
1.พิจารณาจากผลการเลือกตั้งที่ออกมา ประชาชนส่วนใหญ่น่าจะอยากเห็นรัฐบาลชุดใหม่ นำโดยพรรคก้าวไกลกับเพื่อไทย คือให้โอกาสพรรคฝ่ายค้านเดิม มาเป็นรัฐบาลดูบ้าง โดยไม่มีพรรคลุง เพราะให้โอกาสมา 9 ปีแล้ว ยังทำผลงานไม่เป็นที่พอใจ แม้จะเข้าใจว่าประเทศต้องเผชิญวิกฤติหลายประการก็ตาม
ที่สำคัญคือประชาชนจำนวนไม่น้อยมองว่า รัฐบาลลุงตู่อยู่มานานเกินไป (2 สมัย) สมควรเปิดทางให้พรรคฝ่ายค้านได้ทดลองทำงานดูบ้าง
แต่ความจริงที่เห็นและเป็นอยู่กลับกลายเป็นว่า รัฐบาลชุดใหม่ ก็คือ “รัฐบาลลุง” เพียงแต่ไม่มีตัวลุง และเพิ่มพรรคเพื่อไทยเข้ามา ขณะที่พรรคก้าวไกลหลุดไปเป็นฝ่ายค้านเลย ไม่ได้อำนาจบริหาร ทั้งๆ ที่เสนอนโยบายโดนใจผู้คนจำนวนมาก
2.แม้แต่คนที่เลือกพรรคลุง โดยเฉพาะ “ลุงตู่” ก็คงไม่อยากให้ไปร่วมรัฐบาลกับพรรคเพื่อไทย รวมทั้งเปิดทางให้คุณทักษิณกลับบ้าน มาติดคุกแบบซูเปอร์วีไอพีแบบนี้
แต่ความจริงกลับตาลปัตรเลยก็คือ มีการผสมพันธุ์ทางการเมืองกัน ระหว่างพรรคลุงตู่ คือ รวมไทยสร้างชาติ กับพรรคเพื่อไทย ทั้งๆ ที่ควรจะยืนอยู่คนละขั้ว คนละฝั่งกันแบบถาวร
3.การมีรัฐบาลชุดใหม่หลังเลือกตั้ง ประชาชนจำนวนไม่น้อยน่าจะอยากเห็นการปฏิรูป หรือการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างที่เป็นรูปธรรม เช่น ปฏิรูปกองทัพ ปฏิรูปการศึกษา ฯลฯ เพราะที่ผ่านมาประเทศของเรามีปัญหาและความขัดแย้งจากโครงสร้างเหล่านี้มากพอสมควร
แต่เมื่อดูการจัดตัว “ว่าที่รัฐมนตรี” เข้าไปทำงานในกระทรวงเหล่านี้แล้ว ประชาชนอาจจะบ่นว่า “สิ้นหวัง” และมองไม่เห็นทางว่าจะปฏิรูปอะไรได้
ขณะที่พรรคการเมืองที่มีพลังและเจตจำนงชัดเจนเรื่องการปฏิรูป และการเปลี่ยนแปลง อย่างพรรคก้าวไกล กลับไม่ได้มีพื้นที่ในการเป็นรัฐบาล แม้แต่พรรคร่วมรัฐบาลก็ไม่ได้เป็น ทั้งๆ ที่ชนะเลือกตั้งมา
4.ว่าที่ ครม.ชุดใหม่ยังมี “ตลกร้าย” ให้ประชาชนนำไปเมาท์ - นินทากันต่อ
พรรคเพื่อไทย แกนนำรัฐบาล เป็นพรรคแกนนำฝ่ายค้านมา 4 ปี เคยยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีมากกว่า 10 คนของรัฐบาลชุดก่อน
แต่กลับปรากฏว่าวันนี้ รัฐมนตรีส่วนใหญ่ที่เคยถูกพรรคเพื่อไทยอภิปรายไม่ไว้วางใจ มีชื่อเป็นรัฐมนตรีชุดใหม่ในรัฐบาลเพื่อไทยด้วย เช่น นายอนุทิน ชาญวีรกูล สมัยเป็น รมว.สาธารณสุข โดนเรื่องวัคซีนโควิด และการจัดการปัญหาโรคระบาด ที่พรรคเพื่อไทยเป็นหัวหอกอภิปรายเอง ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า สมัยเป็น รมช.เกษตรฯ โดนอภิปรายไม่ไว้วางใจเกี่ยวกับประวัติส่วนตัว ความไม่เหมาะสมในการดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี แต่วันนี้กลับมีชื่อเป็นรัฐมนตรี แถมใหญ่กว่าเดิม จาก รมช. เป็น รมว. ส่วนนายสันติ พร้อมพัฒน์ สมัยดำรงตำแหน่ง รมช.คลัง โดนอภิปรายเรื่องการประมูลโครงการท่อส่งน้ำอีอีซี ซึ่งพรรคเพื่อไทยเป็นหัวหอกอภิปรายเองเช่นกัน
การจัดวางตัวบุคคลในบางกระทรวง ดูจะผิดฝาผิดตัว ทำให้คนที่ติดตามการเมืองนึกไม่ออกว่าจะทำงานกันอย่างไร เช่น รมว.เกษตรฯ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า จากพรรคพลังประชารัฐ รมช.เกษตรฯ “เสี่ยแฮงค์” นายอนุชา นาคาศัย จากพรรครวมไทยสร้างชาติ
จริงๆ แล้วทั้งสองคนนี้เคยอยู่พลังประชารัฐด้วยกันมาก่อน และเป็นที่รู้กันดีว่าขัดแย้งกัน ไม่ต่างอะไรกับ “น้ำกับน้ำมัน” กระทั่ง “เสี่ยแฮงค์” ต้องถอยออกมาอยู่กับ “ลุงตู่” ที่รวมไทยสร้างชาติ เพราะผู้กองยังมีบทบาทในพรรคพลังประชารัฐ แม้ช่วงที่ตัวไม่ได้อยู่พลังประชารัฐก็ตาม
5.มีการสร้างภาพปรองดอง มีภาพและกิจกรรมให้นายกฯ 2 คนไปพบกัน ปฏิบัติการ นกเขาคูรัก ตู่-นิด...ชิดใกล้
นัยคือพรรคที่เคยถูกรัฐประหาร ส่งผู้นำพรรคที่เพิ่งได้เป็นนายกฯ และกำลังจะจัดตั้งรัฐบาล ไปคารวะหัวหน้าคณะรัฐประหารที่ยึดอำนาจพรรคตัวเองเมื่อ 9 ปีก่อน
แม้เพื่อไทยจะอ้างการเป็นรัฐบาลปรองดอง สลายขั้ว ลบความขัดแย้ง รวมถึงการยอมกลืนเลือด ไปเชิดชูหัวหน้าคณะปฏิวัติที่ทำให้ตัวเองตกจากอำนาจ แต่นักวิชาการมองปรากฏการณ์นี้ว่า เป็นแค่การปรองดองของกลุ่มอำนาจและชนชั้นนำ คำถามคือประชาชนได้อะไร นอกจากเห็นพฤติกรรม “กลับตาลปัตร” หน้ามือเป็นหลังมือ
รศ.ดร.ภูมิ มูลศิลป์ คณบดีคณะสังคมศาสตร์ มศว. ในฐานะนักกฎหมายชื่อดัง ตั้งข้อสังเกตว่า
“ตะวันตก” มองไทย อายุรัฐบาลเพื่อไทย-นายกฯเศรษฐา
ไม่ใช่แค่คนไทยที่กำลังจับตามองรัฐบาลของตัวเอง แต่ชาวต่างชาติ นักข่าว นักวิเคราะห์ นักลงทุน หรือแม้แต่คนไทยในต่างแดน ก็มีมุมมองต่อรัฐบาลใหม่พรรคเพื่อไทยด้วยเช่นกัน ทั้งยังมีการวิเคราะห์ไปถึงพรรคก้าวไกล และแนวโน้มของการเลือกตั้งหนหน้าด้วย
อาจารย์กฤษฎา บุญเรือง นักวิชาการอิสระ ซึ่งพำนักอยู่ที่รัฐจอร์เจีย สหรัฐอเมริกา และได้สื่อสารกับชุมชนคนไทย ตลอดจนนักศึกษา นักวิชาการ และสื่อมวลชนอเมริกันที่สนใจการเมืองไทย ได้สรุปประเด็น “นายกฯเศรษฐาในสายตาตะวันตก” ส่งตรงมายัง “เนชั่นทีวี”
1. ผลการเลือกตั้ง กับโฉมหน้ารัฐบาล
อุปมาอุปไมยคล้ายกับฝรั่งมาดูมวยไทยที่ราชดำเนิน เห็นพ้องต้องกันกับคนดูชาวไทยว่าสีส้มเป็นฝ่ายชนะ แต่กรรมการกลับยกมือให้สีแดง
ฝรั่ง งง แต่ก็ต้องยอมรับผลการตัดสิน และรอชมการแข่งขันครั้งต่อไป
2. นายกฯเศรษฐา เป็นนายกฯขัดตาทัพหรือไม่
ตะวันตกมองว่านี่เป็นวัฒนธรรมไทยเรื่องการประนีประนอม อำนาจเก่ากำลังเสื่อมลง แต่ยังไม่พร้อมที่จะถอยออกไป
อำนาจเก่ากลัวการลงจากหลังเสือ และต้องการปกป้องกลุ่มทุนที่เกื้อหนุนกันมา ในแง่นี้หากก้าวไกลเป็นรัฐบาล จะเป็นอันตราย ทำให้เพื่อไทยเป็นทางเลือกที่ปลอดภัยกว่า
หากจัดตั้งรัฐบาลที่นำโดยภูมิใจไทยหรือพลังประชารัฐ จะเกิดการต่อต้านจากประชาชนมากเกินไป
ส่วนนายเศรษฐาและพรรคเพื่อไทยเป็นรัฐบาลขัดตาทัพหรือไม่ ต้องรอดูกันต่อ
3. จุดอ่อนของนายกฯเศรษฐา