svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

ข้อเท็จจริงจากปาก "ชวน หลีกภัย" กรณี 16 สส. ขัดมติพรรค

ข้อเท็จจริงจากปาก "ชวน หลีกภัย" กรณี 16 สส. ขัดมติพรรค โยน กก.บห. จัดการ พร้อมระบุ "ไม่ทรยศคนใต้" ตอบแทน 9 แสนเสียงที่ให้เข้าสภาฯ

24 สิงหาคม 2566 นายชวน หลีกภัย อดีตนายกรัฐมนตรีและอดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ให้สัมภาษณ์ในรายการ “เช้านี้ที่เนชั่น” (Morning Nation) ถึงเหตุการณ์การประชุมสส.พรรค เมื่อวันที่ 21 ส.ค.ก่อนที่จะมีการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี ในวันที่ 22 ส.ค.แล้วเกิดปรากฏการณ์ฝืนมติพรรค ที่ให้ “งดออกเสียง” โหวตให้นายเศรษฐา ทวีสิน แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีพรรคเพื่อไทย และท่าทีของพรรคประชาธิปัตย์ต่อการพิจารณาในปมดังกล่าว  

  • ข้อเท็จจริงวันประชุมสส.และวันโหวตนายกฯ

โดย นายชวน กล่าวว่า ข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นในวันที่ 21 ส.ค. นัดประชุมในเวลา 14.00 น. เพื่อพิจารณาการเลือกนายกรัฐมนตรีวันที่ 22 ส.ค. ซึ่งตนออกจากจ.ตรังตั้งแต่ตี 4 เพื่อให้ทันเข้าร่วมการประชุม เนื่องจากว่า นายเดชอิศม์ (ขาวทอง) รองหัวหน้าพรรคฯ ระบุว่า “ใครไม่เคารพมติพรรคให้ลาออก” จึงต้องรีบมาจากจ.ตรัง มาถึงประมาณบ่าย  ซึ่งในที่ประชุม พล.ต.ต.สุรินทร์ ปาลาเร่ สส.สงขลา เสนอว่า เมื่อไม่ได้ร่วมรัฐบาลแล้ว ต้องลงมติ “ไม่เห็นชอบ” ก็เลยต้องมาหามติว่าจะ “งดออกเสียง”หรือจะอย่างไรต่อไป

สำหรับตน ขออนุญาตว่า “ไม่เห็นชอบ” เพราะไม่สามารถทรยศคนภาคใต้ได้ เนื่องจากในการรณรงค์หาเสียง ตนได้รณรงค์เรื่องที่เขาไม่พัฒนาภาคใต้ หรือพัฒนาจังหวัดที่เลือกพรรคเขาก่อน จังหวัดอื่นไว้ทีหลัง และอีกหลายรูปแบบ รวมทั้งนโยบายที่ทำให้เกิดความไม่สงบ

  • ผมไม่ทรยศคนใต้

เรื่องเหล่านี้คนภาคใต้ส่วนหนึ่งเชื่อตน ก็เลยไม่เลือกพรรคไทยรักไทยจนมาถึงยุคพรรคเพื่อไทยมาตลอด 3 สมัย ถึงแม้ว่าภาคอื่นจะได้เสียงมาก แต่ที่ภาคใต้ไม่ได้แม้แต่คนเดียว ก่อนหน้านั้นได้คนสองคน ที่เอามาจากพรรคอื่น แสดงให้เห็นว่าการรณรงค์ของตนมีผลทำให้คนไม่เลือกพรรคไทยรักไทยและเพื่อไทย ด้วยเหตุผลที่เราถูกแกล้ง ถูกเลือกปฏิบัติ เมื่อประชาชนเชื่อในสิ่งตนรณรงค์ แล้ววันหนึ่งตนจะมากลับลำ หรือไปทำอะไรก็ตามในลักษณะที่เห็นว่า ไม่จริงจังต่อสิ่งที่เราพูด มันก็เหมือนกับทรยศคนภาคใต้

“ผมก็บอกที่ประชุมตรงๆว่า ผมไม่ขอทรยศคนภาคใต้ ขอลงมติ “ไม่เห็นชอบ” ที่ประชุมก็ไม่มีใครคัดค้านขัดข้อง สำหรับคนอื่นๆในที่ประชุมมีมติ “งดออกเสียง” นี่คือที่มา โดยผู้เสนอคือ พล.ต.ต.สุรินทร์ ปาลาเร่ เสนอให้โหวต”ไม่เห็นชอบ” นี่คือที่มา คือข้อเท็จจริง ซึ่งที่ประชุมส่วนใหญ่บอกให้ งดออกเสียง” 

  • ไม่ทราบมติพรรคจะคว่ำ แต่ผิดสังเกตในวันโหวตนายกฯ

เมื่อถามว่า ในที่ประชุมได้มีการถกเรื่อง ให้ “เห็นชอบ” โหวตหนุน นายเศรษฐา ทวีสิน หรือไม่ นายชวน กล่าวว่า “คนที่อยากเป็นรัฐบาลก็มี แต่ไม่ใช่กลุ่มสส.ภาคใต้”

ทราบมาก่อนหรือไม่ว่า จะมีการฝืนมติพรรค นายชวน กล่าวว่า ไม่ทราบ เพราะนั่งอยู่ในที่ประชุมรัฐสภาตลอด แต่ไม่ได้ตกใจอะไร ที่ผลปรากฏออกมาเช่นนั้น เพราะเห็นมีอาการไม่ปกติมาตลอด ขณะที่เรียกชื่อก็ไม่อยู่กัน แล้วเขาเข้ามาตอนที่เรียกลงมติเสร็จแล้ว ประธานในที่ประชุม ก็จะเรียกคนที่ยังไม่ลงมติ เนื่องจากอะไรก็ตาม ลงมติได้ คนกลุ่มนี้ก็เลยมาลงมติ แต่ทั้ง 16 คน ก็ไม่ใช่มีบทบาททุกคน ที่มีบทบาทก็ นายเดชอิศม์(ขาวทอง), นายชัยชนะ (เดชเดโช), พล.ต.ต.สุรินทร์ (ปาลาเร่) ที่มีบทบาทในเรื่องนี้ ซึ่งสส.ส่วนใหญ่ก็เฉยๆ เมื่อผู้นำเขาว่าอย่างไรก็ไปตามนั้น

“โดยส่วนตัวหลังลงมติเสร็จแล้ว นายจุรินทร์ ลักษณะวิศิษฎ์ หัวหน้าพรรคก็มาคุยกับผม ท่านเองก็ไม่รู้ แต่ได้ข่าวว่ามีการไปเจรจากับรัฐบาล”

  • โยน กก.บห.ตัดสิน 16 สส.

เมื่อถามว่า สุดท้ายแล้วหากเกิดเหตุการณ์ที่ต้องขับสส.ออกจากพรรค แล้วมีสส.ส่วนหนึ่งไปร่วมรัฐบาลจริง เหลือ สส.ไม่ถึง 10 คนปชป. จะทำอย่างไรก็ไปต่อไป นายชวน กล่าวว่า แล้วแต่กรรมการบริหารพรรคเลย ตนไม่ได้เป็นกรรมการฯ ทั้งนี้การที่พยายามอยากเป็นรัฐบาลก็สามารถทำได้ แต่ต้องเป็นไปตามที่หัวหน้าพรรคพูด ต้องเป็นมติสส. มติที่ประชุมกรรมการฯไม่ใช่ว่าผู้หนึ่งผู้ใดไปเจรจา ซี่งเรื่องการร่วมรัฐบาลพรรคไม่ได้หวงห้าม แต่ไม่ได้ให้ผู้หนึ่งผู้ใดไปเจรจา ต้องไปในนามพรรคฯ การไปในนามส่วนตัวไม่ถูกต้อง ดังนั้นใครไปเจรจาส่วนตัวก็เป็นเรื่องส่วนตัวไป

แต่ตามความจริงถ้าอยากจะร่วมรัฐบาล ก็เสนอที่ในประชุมพรรค กรรมการบริหารพรรคกับสส. จะร่วมพิจารณาให้ความเห็นว่าควรจะร่วมหรือไม่ เหมือนครั้งที่แล้วที่ไปร่วมรัฐบาลกับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งก็เป็นมติที่ประชุมของสส.ของกรรมการบริหารพรรค แต่ครั้งนั้นตนไม่ได้อยู่ร่วมประชุม เช่นเดียวกับครั้งนี้ถ้าอยากไปร่วมก็ต้องทำอย่างนั้น ไม่ใช่ใช้วิธีแอบไปเจรจาส่วนตัว แนวปฏิบัติควรเป็นอย่างนี้ การร่วมรัฐบาลต้องเป็นมติของพรรค

เมื่อถามถึง ประเด็นที่มีการกล่าวถึงกันมาก เรื่องการขับออกจากพรรคฯ นายชวน กล่าวว่า เป็นเรื่องของกรรมการบริหารพรรคฯ ตนไม่ได้เป็นกรรมการฯ โดยเฉพาะหัวหน้าพรรคฯจะต้องพิจารณาต่อไป

  • เป็นพฤติกรรมส่วนตัว

เมื่อถามว่า ถือเป็นจุดตกต่ำที่สุดของพรรคพรรคหรือไม่ นายชวน ชี้แจงว่า เป็นเรื่องที่ไม่ค่อยปรากฏเหตุการณ์อย่างนี้ ในกรณีฝืนมติพรรคฯ ที่ผิดไปจากแนวทางปฏิบัติ แต่ทั้งหมดนี้เป็นพฤติกรรมของตัวบุคคล อย่างการเลือกหัวหน้าพรรคฯ ก็เลื่อนมา 2 ครั้งแล้ว ถ้าเราทราบแนวทาง ก็จะเข้าใจบางอย่าง

อย่างการเลือกหัวหน้าพรรค พล.ต.ต.สุรินทร์ ถือว่าเป็นผู้ใหญ่ในพรรค ท่านพูดชัด ใครจะเป็นหัวแล้วแต่เลขาฯสั่ง เพราะเลขาฯพรรคดูแลท่านมา 4 ปีแล้ว เหล่านี้เป็นต้น ให้เห็นว่ามีพื้นฐานความผูกพันธ์ พฤติกรรมเหล่านี้เราไม่ค่อยเห็นในอดีต นี่คือสิ่งที่ผมคิดว่า เปลี่ยนแปลงไปจากอดีต แต่ที่ต้องเคารพต่อความเห็นที่ประชุมส่วนรวมจะว่าอย่างไร

“คำพูดว่าใครไม่เคารพมติพรรคฯให้ลาออก ไม่ได้มาจากพวกผม ท่านเดชอิศม์ เป็นคนให้สัมภาษณ์ ใครไม่เคารพมติพรรคฯ ให้ลาออก ผมคิดว่าตอนนั้นเขาคงคิดว่า นายชวนนี่แหละที่จะไม่เห็นด้วยกับการร่วมรัฐบาล ดังนั้น วันนี้ 21 ส.ค. จึงเป็นเหตุที่ผมต้องตีรถมาจากจ.ตรังตั้งแต่ตี 4 เพื่อมาร่วมประชุมให้ทัน เพื่อไม่ให้ฝืนมติพรรคฯ เพราะมติพรรคฯ โดยทั่วไปเป็นอย่างไรเราก็ไม่ฝ่าฝืน แต่ถ้ามีเหตุผลพิเศษ ผมขอประกาศให้ชัดเจน ตามเหตุผลที่กล่าวมา และที่ประชุมก็ยอมรับตามที่ผมขอ”

  • ประชาธิปัตย์ไม่ใช่พรรคอะไหล่

เมื่อถามถึง กรณีประชาธิปัตย์เป็นพรรคอะไหล่ นายชวน กล่าวว่า หัวหน้าพรรคได้พูดฯไปแล้วและโดยส่วนตัว พรรคฯไม่เคยเป็นพรรคอะไหล่ใคร แต่จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ในอนาคตจะเป็นอย่างไร ตนก็ไม่ทราบเมือนกัน เพราะไม่ทราบว่าเขาไปตกลงอย่างไรกัน ต้องไปถามผู้ที่ไปตกลง ในการเจรจาเห็นชอบให้นายเศรษฐา เป็นนายกฯ

เมื่อถามว่า จากเหตุการณ์นี้ ประชาธิปัตย์ ควรจะแก้ปัญหาอย่างไร เพื่อให้กลับขึ้นมาได้ นายชวน กล่าวว่า จะต่ำสุดหรือสูงสุดอย่างไรก็ตาม สำหรับตนเกิดจากพรรคฯ เป็นหนี้บุญคุณพรรคฯ เป็นผู้แทนมา 10 สมัย ด้วยระบบเลือกตั้งแบบรุ่นก่อน คือ ไม่ซื้อเสียง ไม่โกงเลือกตั้ง จึงสามารถเป็นปากเสียงให้กับประชาชน ที่ต้องชดใช้บุญคุณเขาจริงๆ เพราะถ้าเป็นผู้แทนโดยระบบใช้เงิน ตนก็จะคิดไปอีกแบบหนึ่ง

แต่ตนมาโดยระบบสุจริต แล้วเที่ยวนี้ได้มา 9 แสนกว่าเสียง ได้สส.ปาร์ตี้ลิสต์ 3 คน ท่านบัญญัติ(บรรทัดฐาน) ท่านจุรินทร์และตน ก็ต้องตอบแทนบุญคุณ 9 แสนกว่าเสียง ต้องทำหน้าที่ตอบแทนด้วยความเที่ยงตรงสุจริต แม้เหลืออยู่คนสองคน ตนก็ไม่ลาออก เว้นแต่จะมาขับออกจากพรรคฯ ส่วนจะจบอย่างไรไม่ได้อยู่ที่ตน ตอนนี้ตนก็อยู่ที่รัฐสภาเข้าประชุมตามปกติ รอตั้งรัฐบาลเสร็จก็จะทำหน้าที่ของฝ่ายค้านต่อไป