svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

"มท.1" แจงระเบียบจ่าย"เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ"ยังไม่ตัดสิทธ์ให้พม.พิจารณา

14 สิงหาคม 2566
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทยแจงปมปรับระเบียบจ่าย"เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ" เรื่องยังไม่จบอยู่ที่กระทรวงพม. ต้องเข้าคณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ เป็นผู้พิจารณาในเรื่องนี้ ตามหลักเกณฑ์

14 ส.ค.2566 "พลเอกอนุพงษ์ เผ่าจินดา" รัฐมนตรีว่าการมหาดไทย ชี้แจงกรณีออกระเบียบเปลี่ยนหลักเกณฑ์การจ่ายเงิน "เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ" โดยพลเอกอนุพงษ์ กล่าวว่า เรื่องเงินดูแลผู้สูงอายุ จริงๆ แล้วเป็นเรื่องของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ หรือ "พม." ที่เป็นเจ้าของเรื่อง โดยมีคณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ เป็นผู้พิจารณาในเรื่องนี้ ตามหลักเกณฑ์

แต่งบประมาณส่วนนี้ นำมาให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เป็นผู้จ่าย จึงเกี่ยวข้องกับกระทรวงมหาดไทย เป็นที่มาว่า โดยกฎหมายองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะจ่ายได้นั้น กระทรวงมหาดไทยจะต้องออกระเบียบ เพื่อให้เขาดำเนินการได้

แต่เคยมีปัญหาเมื่อ 2-3 ปีที่ผ่านมา องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นก็จ่ายเงินตามปกติ ให้กับผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป ที่ลงทะเบียนแล้ว แต่เกิดประเด็นว่ากรมบัญชีกลางทักท้วงว่า คนที่มีรายได้ส่วนอื่นจากของรัฐ จะรับอีกไม่ได้ ในช่วงนั้นก็มีการแก้ไขปัญหากัน สรุปว่าที่จ่ายไปแล้วไม่เรียกคืน ที่เรียกคืนไปแล้วเราก็ไปจ่ายเงินคืนให้เหมือนเดิม

พลเอกอนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย

"มาถึงตอนนี้จะจ่ายอย่างไรนั้น จึงอยู่ที่คณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ ของ พม.เป็นผู้กำหนด หลังจากนั้นมหาดไทยก็จะไปออกให้สอดคล้องกับที่กำหนดมา ขณะนี้จะต้องบอกไป เพราะไม่เช่นนั้นเขาจะทำตัวไม่ถูก บอกว่าให้จ่าย แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น จะต้องรอเกณฑ์ต่างๆ จากคณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ"

ส่วนที่บางคนไปเข้าใจผิดว่าตัดหรือไม่ตัดเบี้ย นั่นไม่ใช่ แต่เราบอกไปเพื่อที่จะให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้จ่ายได้ ส่วนจะจ่ายได้อย่างไรนั้น ต้องรอดูจากคณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ ซึ่งเรื่องนี้ไม่ได้เกี่ยวกับเงื่อนไขเวลา เกี่ยวที่ว่าคณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติจะกำหนดออกมาเมื่อไหร่-อย่างไร

กรณีโซเชียล มีดราม่าถึงการต้อง "พิสูจน์ความจน" พลเอกอนุพงษ์ ระบุว่า มีวิธีคิดได้หลายแบบ ก่อนจะย้อนถามว่า

“ถ้าคนอย่างผมได้ด้วยเนี่ย คุณว่ายุติธรรมหรือไม่ ผมก็เป็นข้าราชการเกษียณแล้ว มีบำนาญ คุณคิดว่าผมควรได้ไหม ผมมีบำนาญ 60,000 กว่าบาท คุณคิดว่าผมควรได้ไหม"

"พลเอกอนุพงษ์" กล่าวต่อว่า นั่นแหละเป็นสิ่งที่เขาจะพิจารณาว่า คนแบบใดไม่ควรได้ คนแบบใดควรได้ จึงย้ำว่าเป็นเรื่องที่คณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติเป็นคนกำหนดเรื่องนี้ มหาดไทย ก็ออกระเบียบให้สอดคล้องกับเขาเท่านั้นเอง อย่ามองด้านเดียวว่าไปตัดสิทธิ์ สรุปแล้วจะตัดหรือไม่ตัดอย่างไร อยู่ที่คณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ จะกำหนดเกณฑ์มา แต่ผมคิดว่าต้องตัด คนอย่างผมไม่ควรจะได้” พลเอกอนุพงษ์กล่าว

พลเอกอนุพงษ์  เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย

ส่วนกรณี"นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร" สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ออกมาแสดงความเห็นเรื่องนี้ว่าเป็นการ "ลักไก่" ทำช่วงรัฐบาลรักษาการ "พลเอกอนุพงษ์" กล่าวว่า ตนก็บอกไปอยู่ว่า ตอนนี้ ยังไม่มี ตอนนี้ยังไม่มีการทำอะไรเลย จนกว่าคณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติจะกำหนดมา

"เพราะฉะนั้นที่พูดเนี่ยเข้าใจผิด ยังไม่มี ตอบได้หรือว่าจะให้หรือไม่ให้ ผมถามใหม่ว่า ถ้าให้เลย ผมได้ด้วยนะ ผมอายุ 70 ก็ได้ 700 ด้วย มันเหมาะสมไหม คนอย่างผมจะได้ เพราะฉะนั้นขอให้ดูผลของเขา ซึ่งเรื่องนี้ยังไม่ยุติ"

ส่วนระหว่างนี้ ก่อนที่จะมีระเบียบจากคณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติออกมา ท้องถิ่นจะทำอย่างไรนั้น พลเอกอนุพงษ์ ระบุว่า ก็ต้องหารือไป ถ้าไปถึงวันนั้นแล้วยังไม่มีระเบียบออกมา ต้องหารือกัน เพราะถ้าจ่ายไปแล้วไปเรียกคืนก็จะวุ่นอีก

“ถ้าบอกจ่ายหมด ผมได้ด้วยนะ ถึงวันนั้นคุณจะมาด่าอีกว่า คนอย่างผมไม่ควรจะได้”  พลเอกอนุพงษ์ กล่าวย้ำ

logoline