svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

"เพื่อไทย" ถก "ลับ" วาง 4 ฉากทัศน์ ก่อนโหวตนายกฯ

31 กรกฎาคม 2566
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

"เพื่อไทย" นัดประชุม 8 พรรคร่วม 2 สิงหาคมนี้  หนักใจแทนลุงป้อม เหตุส่ง "ธรรมนัส" ดีล กังวลกลัวสังคมจัดหนัก จนเดินหน้าตั้งรัฐบาลลำบาก

31 กรกฎาคม 2566  ผู้สื่อข่าวรายงานว่ากรณีที่ "นายภูมิธรรม เวชยชัย" รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงความคืบหน้าการนัดประชุม 8 พรรคร่วม ภายหลังนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ในฐานะประธานรัฐสภา ได้บรรจุวาระการประชุมรัฐสภา เพื่อเสนอชื่อบุคคลซึ่งสมควรได้รับการแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีในวันที่ 4 ส.ค.นี้ว่า เบื้องต้นจะนัดประชุม 8 พรรคร่วม ในวันที่ 2 สิงหาคม ที่พรรคเพื่อไทย

ขณะนี้ทั้ง สส.และ สว. แสดงความเห็นตรงกันว่าพร้อมจะยกมือสนับสนุนแคนดิเดตนายกฯ พรรคเพื่อไทย แต่ต้องไม่มีพรรคก้าวไกล เพราะหากยังมีพรรคก้าวไกลร่วมอยู่ พวกเขายืนยันว่าจะไม่ให้เสียงสนับสนุน และเป็นปัญหาที่พรรคเพื่อไทยประสบในขณะนี้ และจะนำไปหารือกันในที่ประชุมพรรคร่วมต่อไป จากนั้นพรรคเพื่อไทย จะได้นัดประชุม สส.ในวันที่ 3 สิงหาคม ที่รัฐสภา ก่อนที่จะโหวตผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อเป็นนายกฯ ในวันที่ 4 สิงหาคม

ซึ่งตอนนี้แคนดิเดตนายกฯ ของพรรคเพื่อไทยที่วางไว้คือ"นายเศรษฐา ทวีสิน" นั้น หาก สว.และ สส.บางส่วนที่ได้ทาบทามไว้แล้วในการมาเป็นพันธมิตรใหม่ในการตั้งรัฐบาลโดยไม่มีพรรคก้าวไกลนั้น ตอนนี้รอเพียงการพูดคุยระหว่างแกนนำทั้งสองพรรคในชั้นต้น ก่อนที่จะแจ้งให้ 8 พรรค ทราบถึงสถานการณ์ที่พรรคเพี่อไทยได้ไปประสาน สส. และ สว.ไว้ให้ 8 พรรคได้ทราบและมีการวางสมมติฐานว่า

1.หากวันที่ 3 ส.ค. นี้ ศาลรัฐธรรมนูญไม่รับวินิจฉัยคำร้องของผู้ตรวจการแผ่นดิน ก็จะมีการลงมติเลือกนายกฯในวันที่ 4 ส.ค.และหากพรรคก้าวไกลยังไม่ยอมลดเพดานในการร่วมรัฐบาล พรรคเพื่อไทยน่าจะจับมือพรรคก้าวไกลไว้ก่อน แล้วเสนอชื่อของนายเศรษฐา หากนายเศรษฐาไม่ผ่านความเห็นของ สส.และ สว.จะรอประธานรัฐสภานัดประชุมรัฐสภาครั้งที่ 4 อีกครั้ง

2.หากศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้องของผู้ตรวจการแผ่นดินไว้ ต้องรอว่าจะใช้เวลาวินิจฉัยกี่วัน ดังนั้นวันที่ 4 สิงหาคม อาจจะไม่สามารถเลือกนายกฯได้  ตรงนี้พรรคเพื่อไทยจะมีเวลาเจรจากับพรรคต่างๆและ สว.ได้อีกหลายวัน  และยังจะพูดคุยกับแกนนำพรรคก้าวไกลได้มากขึ้น

3.หากพรรค"เพื่อไทย"จะประกาศยกเลิก MOU 8 พรรค เพราะเหตุผลว่าพรรคเพื่อไทยเดินหน้าไม่ได้ จำเป็นต้องยกเลิก MOU 8 พรรค บางคนในพรรคยังกังวลว่าหากเสนอชื่อ"นายเศรษฐา"เป็นนายกฯ อาจโดนสมาชิกรัฐสภาบางส่วนอภิปรายและอาจลงคะแนนในมุมตรงข้ามกับพรรคเพื่อไทย เพราะนายเศรษฐาเคยแสดงตัวชัดว่า หนุนพรรคก้าวไกล และเห็นด้วยกับการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 รวมทั้งเรื่องธรรมาภิบาลของนายเศรษฐาในช่วงที่ทำธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่เริ่มมีกระแสข่าวเกิดขึ้นแล้ว

4.หากนายเศรษฐาไม่ผ่านคะแนนเสียงกึ่งหนึ่งของรัฐสภา (375เสียง) พรรคจะให้พรรคอันดับสามคือพรรคภูมิใจไทยเป็นแกนนำตั้งรัฐบาลและตกลงกันในชั้นต้นว่าพรรคภูมิใจไทยจะเสนอให้นางสาวแพทองธาร ชินวัตร เป็นนายกฯ

แหล่งข่าวจาก พรรคเพี่อไทย กล่าวว่า จริงๆแล้วทุกฝ่ายในสังคมทราบดีว่าพรรค"ก้าวไกล"พยายามยื้อเวลาและยืนยันไม่ลดเงื่อนไขที่ สส.และ สว.ส่วนใหญ่ไม่ยอมรับ โดยพรรคก้าวไกลรอเวลาให้พรรคเพื่อไทยเป็นฝ่ายแจ้งสังคมเอง ว่าทำไมต้องยกเลิก MOU 8 พรรค และจับขั้วใหม่ทางการเมือง โดยต้องไปแตะมือกับพรรคภูมิใจไทย พลังประชารัฐ ชาติไทยพัฒนา  ชาติพัฒนากล้า และพรรคเล็กๆ มาเสริมแทนพรรคก้าวไกล ตอนนั้นพรรคเพื่อไทยจะเป็นฝ่ายเสียเครดิตกับสังคมและอาจเกิดความวุ่นวายทางการเมืองขึ้น

แหล่งข่าว กล่าวว่า ตอนนี้ได้หารือกับแกนนำบางพรรคในฝ่าย 188 สส.เรียบร้อยแล้ว แต่ยังติดขัดกับการชี้แจงกับสังคมว่าทำไมพรรคเพื่อไทยจึงเชิญพรรคเหล่านี้มาร่วมงาน เช่น พรรคภูมิใจไทยที่มีปัญหาความไม่โปร่งใสหลายวาระในกระทรวงคมนาคมและกัญชาเสรี รวมทั้งภาพลักษณ์ของแกนนำพรรคนี้ด้วยที่สังคมไม่ค่อยยอมรับ 

แหล่งข่าวกล่าวว่า ส่วนพรรคพลังประชารัฐนั้นแม้ตอนนี้จะมีการตั้งกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ขึ้นมา และพบว่า ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า เลขาธิการพรรคคนใหม่ พยายามแสดงตนให้สังคมรับรู้ว่า ร.อ.ธรรมนัส คือคีย์แมนคนหนึ่งในการประสานงานตั้งรัฐบาลร่วมกับพรรคเพื่อไทย  ตรงนี้เริ่มมีกระแสโจมตีพรรคเพื่อไทยเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งเรื่อง เพราะอย่าลืมว่าภาพลักษณ์ของ ร.อ.ธรรมนัส ในสายตาสังคมหลายเรื่อง ไม่ใช่คะแนนบวกสำหรับ ร.อ.ธรรมนัสเลย และยังสงสัยว่าเหตุใดพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ จึงมอบหมายให้ ร.อ.ธรรมนัส มาดำเนินการแทน 

"ยอมรับว่าหลังเลือกตั้งเสร็จสิ้น พล.อ.ประวิตรวางตัวน่าเคารพ  เพราะพล.อ.ประวิตร ไม่มีความพยายามตั้งรัฐบาลแข่งขัน แม้พรรคพลังประชารัฐมี 40 ส.ส.และเป็นพรรคอันดับ 4 รวมทั้งมีสายสัมพันธ์ดีกับพรรคอื่นๆและสว.จำนวนมาก"

"กล่าวโดยสรุป คือ พล.อ.ประวิตร เป็นตัวแปรสำคัญหนึ่งทางการเมือง แต่พล.อ.ประวิตรก็ไม่ได้ทำให้การเมืองกระเพื่อม  พล.อ.ประวิตรยึดมั่นในสถาบัน ไม่สนใจตำแหน่งทางการเมือง เพราะสองเดือนที่ผ่านมา มีแต่กระแสข่าวความไม่ลงตัวของพรรคก้าวไกลเป็นหลัก แต่ตอนนี้กระแสข่าวนี้เทน้ำหนักมาที่พรรคเพื่อไทยแทน และเริ่มพาดพิงพฤติกรรมของ ร.อ.ธรรมนัส ในเรื่องราวที่ผ่านมาและเริ่มหนักขึ้น หากเป็นไปได้อยากให้พรรคพลังประชารัฐเปลี่ยนตัวคนประสานงาน เช่น ให้นายสันติ พร้อมพัฒน์ หรือ นายวราเทพ รัตนากร มาประสานงานแทน ร.อ.ธรรมนัส แบบนี้จะเหมาะสมกว่า " แหล่งข่าวกล่าว

รางงานข่าวจากพรรคพลังประชารัฐแจ้งว่า ช่วงหลังเลือกตั้งเสร๋จสิ้น พล.อ.ประวิตร ปรารภกับคนใกล้ชิดว่าจะปกป้องสถาบันจวบจนชีวิตจะหาไม่ และไม่สนใจว่าใครจะมีตำแหน่งทางการเมืองบ้าง เพราะพล.อ.ประวิตร หวังเพียงว่า เมื่อเลือกตั้งเสร็จสิ้นแล้ว จะช่วยดูแลบ้านเมืองให้เข้าสู่ภาวะปกติโดยเร็วที่สุดและยุติความขัดแย้งในสังคมให้ได้ โดยเฉพาะการปกป้องสถาบันที่ต้องดำเนินการไปตลอดเวลา

\"เพื่อไทย\" ถก \"ลับ\" วาง 4 ฉากทัศน์ ก่อนโหวตนายกฯ

 

\"เพื่อไทย\" ถก \"ลับ\" วาง 4 ฉากทัศน์ ก่อนโหวตนายกฯ

logoline