svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

"ที่สุดของนายกฯไทย" เผยวีรกรรมฝ่าด่านหิน ใครจะนั่งเก้าอี้ "นายกฯคนที่ 30"

18 กรกฎาคม 2566
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

พลิกแฟ้มเผยความเป็น"ที่สุดของนายกฯไทย" จับตาโหวตรอบสองลุ้นระทึก "พิธา" ฝ่าด่านหินสภา จะมีโอกาสถึงฝั่งฝันเก้าอี้"นายกฯคนที่ 30" ของประเทศหรือไม่

ภายหลังไม่สามารถฝ่าด่านหินรอบแรก ที่ต้องรวบรวมเสียงโหวตจาก สส. และ สว. ให้ได้รวมกันมากกว่า 376 เสียง ในการประชุมรัฐสภาเมื่อวันที่ 13 ก.ค.ที่ผ่านมา ทำให้ "นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์" สส.บัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ยังไปไม่ถึงฝั่งฝัน ไม่ได้รับความเห็นชอบให้ได้รับการแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี ตามมาตรา 272 ของ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย  

"พิธา ลิ้มเจริญรัตน์"  หัวหน้าพรรคก้าวไกล และแคนดิเดตนายกฯ

ทำให้"นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา" ประธานสภาผู้แทนราษฎรในฐานะประธานรัฐสภา ต้องนัดวันประชุมรัฐสภาใหม่ เพื่อจัดโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี เป็นรอบที่สอง ในวันที่ 19 กรกฎาคม เวลา 09.30 น. 

 

แม้เส้นทางการจะได้มาของผู้ดำรงตำแหน่ง"นายกรัฐมนตรีคนที่ 30" ของประเทศไทย ไม่ใช่เรื่องง่ายดาย แต่หากมองย้อนกลับไปนับตั้งแต่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อปี 2475 จากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เป็นระบอบประชาธิปไตย ประเทศไทยมีนายกรัฐมนตรีแล้ว 29 คน 

แต่ละรายล้วนผ่านสมรภูมิทางการเมืองมาหลายรูปแบบ ทั้งการแต่งตั้ง การยึดอำนาจการปกครองมา รวมถึงผ่านการเลือกตั้งตามกระบวนการระบอบประชาธิปไตย บางรายถูกบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์ทางการเมือง จากเหตุการณ์ชุมนุมทางการเมืองจนมีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก 

มีใครบ้างที่ก้าวขึ้นมาสู่จุดสูงสุดของตำแหน่งหัวหน้าฝ่ายบริหารประเทศ "ทีมข่าวเนชั่น ออนไลน์" ได้รวบรวมรายชื่อของทำเนียบนายกรัฐมนตรี คนที่ 1 – 29  ดังนี้  

พระยามโนปกรณ์นิติธาดา

1. พระยามโนปกรณ์นิติธาดา (ก้อน หุตะสิงห์) เป็นนายกรัฐมนตรีคนแรกของประเทศไทย เริ่มดำรงตำแหน่ง ตั้งแต่ 28 มิถุนายน 2475 – 20 มิถุนายน 2476

2. พันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา (พจน์ พหลโยธิน) เริ่มดำรงตำแหน่ง ตั้งแต่  21 มิถุนายน 2476 – 16 ธันวาคม 2481

จอมพล ป. พิ บูลสงคราม อดีตนายกฯที่ดำรงตำแหน่งยาวนานที่สุด

3. จอมพลป. พิบูลสงคราม (แปลก ขีตตะสังคะ) เป็นผู้นำของไทยที่ดำรงตำแหน่งยาวนานที่สุด  14 ปี 11 เดือน ( 8 สมัย ) เริ่มดำรงตำแหน่ง ตั้งแต่ 16 ธันวาคม 2481 – 16 กันยายน 2500 

4. พันตรี ควง อภัยวงศ์ เริ่มดำรงตำแหน่ง ตั้งแต่ 1 สิงหาคม 2487 – 8 เมษายน 2491

นายทวี บุณยเกตุ  ถือเป็น นายกฯที่มีวาระดำรงตำแหน่งสั้นที่สุด

5. "นายทวี บุณยเกตุ" เริ่มดำรงตำแหน่ง ตั้งแต่  31 สิงหาคม 2488 – 17 กันยายน2488  เป็นนายกฯที่บริหารราชการแผ่นดินสั้นที่สุดเพียง 17 วัน "นายทวี บุณยเกตุ" พ้นจากวงการเมืองโดยมีชีวิตอยู่มาจนถึงแก่อสัญกรรม เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน ปี 2514

ม.ร.ว.เสนีย์  ปราโมช  อดีตนายกฯ ที่มีอายุน้อยที่สุด

6. "หม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช"  เริ่มดำรงตำแหน่ง ตั้งแต่ 17 ก.ย. 2488 – 6 ต.ค. 2519  สำหรับม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช ถือเป็นบุคคลที่เข้าดำรงตำแหน่งนายกฯในขณะที่มีอายุ 40 ปี รองลงมาคือ 44 ปี คือ "นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ" และ "นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร"

นายปรีดี พนมยงค์  อดีตนายกฯ

7. "นายปรีดี พนมยงค์" (หลวงประดิษฐ์มนูธรรม) ถือเป็นอดีตนายกฯ ที่นักเคลื่อนไหวทางการเมือง รวมถึงแวดวงวิชาการด้านรัฐศาสตร์ นิติศาสตร์ พูดถึงบ่อยครั้ง 

โดย"นายปรีดี" เป็นทั้งนักกฎหมาย อาจารย์ นักกิจกรรม นักการเมือง และนักการทูตชาวไทยผู้ได้รับการยกย่องเกียรติคุณอย่างสูง เป็นรัฐบุรุษอาวุโส ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ นายกรัฐมนตรีคนที่ 7 และรัฐมนตรีหลายกระทรวง หัวหน้าคณะราษฎรสายพลเรือน ทั้งนี้ นายปรีดี เริ่มดำรงตำแหน่งนายกฯ ตั้งแต่  24 มี.ค. 2489 – 23 ส.ค. 2489

8. "พลเรือตรี ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์" (หลวงธำรงนาวาสวัสดิ์) เริ่มดำรงตำแหน่ง ตั้งแต่  23 ส.ค. 2489 – 8 พ.ย. 2490

9. "นายพจน์ สารสิน" เริ่มดำรงตำแหน่ง ตั้งแต่ 21 ก.ย. 2500 – 1 ม.ค. 2501

จอมพลถนอม กิตติขจร  อดีตนายกฯที่มีบทบาทในประวัติศาสตร์การเมือง จากเหตุการณ์ วันมหาวิปโยค

10."จอมพล ถนอม กิตติขจร" เป็นอดีตนายทหารระดับสูงที่มีบทบาทสำคัญในประวัติศาสตร์การเมือง เพราะเป็นผู้นำทหารในการยึดอำนาจจนเกิดเหตุการณ์นองเลือด 14 ตุลา 16 หรือเรียกกันว่า "วันมหาวิปโยค"  เป็นเหตุการณ์การปราบปรามผู้ประท้วงบริเวณพระบรมมหาราชวังและถนนราชดำเนินอย่างรุนแรงโดยรัฐบาลนายกรัฐมนตรี"จอมพลถนอม กิตติขจร"  จนมีผู้เสียชีวิตหลายสิบคน บาดเจ็บกว่า 800 คน และมีผู้สูญหายอีกเป็นจำนวนมาก  ทั้งนี้ จอมพลถนอม เริ่มดำรงตำแหน่ง ตั้งแต่ 1 ม.ค. 2501 – 14 ต.ค. 2516

11. "จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์" เริ่มดำรงตำแหน่ง ตั้งแต่  9 ก.พ. 2502 – 8 ธ.ค. 2506

12. "นายสัญญา ธรรมศักดิ์"  เริ่มดำรงตำแหน่ง ตั้งแต่  14 ต.ค. 2516 – 15 ก.พ. 2518

13. "พลตรีหม่อมราชวงศ์ คึกฤทธิ์ ปราโมช" เริ่มดำรงตำแหน่ง ตั้งแต่  14 มี.ค. 2518 – 20 เม.ย. 2519

14. "นายธานินทร์ กรัยวิเชียร" เริ่มดำรงตำแหน่ง ตั้งแต่   8 ต.ค. 2519 – 20 ต.ค. 2520

15. "พลเอก เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์" เริ่มดำรงตำแหน่ง ตั้งแต่  11 พ.ย. 2520 – 3 มี.ค. 2523

พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์  อดีตนายกฯ ประธานองคมนตรี และรัฐบุรุษของไทย

16. "พลเอก เปรม ติณสูลานนท์"  เป็นอีกบุคคลที่แวดวงการเมืองกล่าวขานมาถึงปัจจุบัน เนื่องจากเป็นบุคคลที่มีบทบาทสำคัญทางการเมือง ด้วยแนวนโยบายการบริหารบ้านเมืองเป็นที่ยอมรับ มีลูกศิษย์ลูกหาทางการเมืองมากมายจนเป็นตำนานของการพูดถึง "การเข้าบ้านสี่เสาเทเวศน์" 

"พล.อ.เปรม" เริ่มต้นดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบก ก่อนได้เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และนายกรัฐมนตรีไทยคนที่ 16 (ตั้งแต่ พ.ศ. 2523–2531) หลังจากนั้นเป็นประธานองคมนตรี รัฐบุรุษ และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวช่วงระยะหนึ่งใน พ.ศ. 2559 เริ่มดำรงตำแหน่ง ตั้งแต่  3 มี.ค. 2523 – 4 ส.ค. 2531 

17. "พลเอก ชาติชาย ชุณหะวัณ" เริ่มดำรงตำแหน่ง ตั้งแต่   4 ส.ค. 2531 – 23 ก.พ. 2534

18. นายอานันท์ ปันยารชุน เริ่มดำรงตำแหน่ง ตั้งแต่ 2 มี.ค. 2534 – 7 เม.ย. 2535

19. พลเอก สุจินดา คราประยูร เริ่มดำรงตำแหน่ง ตั้งแต่ 7 เม.ย. 2535 – 10 มิ.ย. 2535

20. "นายชวน หลีกภัย" เริ่มดำรงตำแหน่ง ตั้งแต่  23 ก.ย. 2535 – 17 พ.ย. 2543

21. "นายบรรหาร ศิลปอาชา" เริ่มดำรงตำแหน่ง ตั้งแต่  13 ก.ค. 2538 – 25 พ.ย. 2539

22. "พลเอก ชวลิต ยงใจยุทธ" เริ่มดำรงตำแหน่ง ตั้งแต่  25 พ.ย. 2539 – 8 พ.ย. 2540

ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ที่หลบหนีคดีทุจริตอยู่ในต่างประเทศและรอวันเวลากลับเมืองไทย

23. "นายทักษิณ ชินวัตร"  เริ่มดำรงตำแหน่ง ตั้งแต่ 9 ก.พ. 2544 – 19 ก.ย. 2549  เป็นนายกฯที่ยังมีบทบาทต่อการเมืองไทยในปัจจุบัน เพราะหลังการถูกคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ หรือ คมช.ที่มีพล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน หัวหน้าคมช.ยึดอำนาจ เขาถูกตรวจสอบการทุจริตคอร์รัปชั่นจนต้องหลบหนีไปอยู่ต่างประเทศ

จนกระทั่งการเลือกตั้งเมื่อปี 2566   "ทักษิณ"คาดหวังพรรคเพื่อไทยจะได้รับชัยชนะเลือกตั้งแบบแลนด์สไลด์ เพื่อเปิดโอกาสให้เขาได้กลับประเทศ  แต่สถานการณ์พลิกผันเมื่อพรรคก้าวไกล ชนะเลือกตั้งมาเป็นอันดับหนึ่ง เปิดสิทธิให้เสนอชื่อนายกฯ 

แต่อย่างไรก็ตาม กรณี"นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์" ไม่ผ่านการโหวตรอบสองจะเป็นโอกาสให้พรรคเพื่อไทย เสนอแคนดิเดตนายกฯและหากได้รับการสนับสนุนเป็นนายกฯสำเร็จ ย่อมส่งผลไปถึง"อดีตนายกฯทักษิณ" ตัดสินใจในการเดินทางกลับประเทศ  

24. "พลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์" เริ่มดำรงตำแหน่ง ตั้งแต่ 1 ต.ค. 2549 – 29 ม.ค. 2551  สำหรับพล.อ.สุรยุทธ์  เป็นอดีตผู้บัญชาการทหารบก 

25. "นายสมัคร  สุนทรเวช" เริ่มดำรงตำแหน่ง ตั้งแต่ 29 ม.ค. 2551 – 9 ก.ย. 2551

สมชาย  วงศ์สวัสดิ์  อดีตนายกฯ ที่อยู่ในช่วงเหตุการณ์ พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยปิดล้อมทำเนียบฯ จนไม่สามารถเข้าไปปฏิบัติหน้าที่ได้

26. "นายสมชาย  วงศ์สวัสดิ์"  เริ่มดำรงตำแหน่ง ตั้งแต่ 18 ก.ย. 2551 – 2 ธ.ค. 2551 ในช่วงเข้ามาดำรงตำแหน่งนายกฯ มีเหตุการณ์สำคัญที่ต้องบันทึกไว้ว่าไม่สามารถเข้าทำเนียบฯมาบริหารราชการแผ่นดินได้ เนื่องจากมีกลุ่มผู้ชุมนุมจากพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย(พธม.) ปิดล้อมและเข้ายึดทำเนียบฯ เป็นเวลานานเกือบ 4 เดือน 

\"ที่สุดของนายกฯไทย\" เผยวีรกรรมฝ่าด่านหิน ใครจะนั่งเก้าอี้ \"นายกฯคนที่ 30\"

27. "นายอภิสิทธิ์  เวชชาชีวะ" เริ่มดำรงตำแหน่ง ตั้งแต่ 17 ธ.ค. 2551 – 5 ส.ค. 2554 เป็นบุคคลที่เข้ามาดำรงตำแหน่งนายกฯ ในช่วงคาบเกี่ยวกับเหตุการณ์ชุมนุมของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ(นปช. ) หรือกลุ่มคนเสื้อแดง จนมีการกระชับพื้นที่สลายการชุมนุม มีผู้เสียชีวิต 99 ศพ 

ยิ่งลักษณ์  ชินวัตร อดีตนายกฯ ที่หลบหนีคดีทุจริต อยู่ในต่างประเทศ

28. "นางสาวยิ่งลักษณ์  ชินวัตร" ถือเป็นนายกฯหญิงคนแรกของประเทศไทย และเป็นเลือดเนื้อเชื้อไขในตระกูลชินวัตร โดยเป็นน้องสาวของอดีตนายกฯทักษิณ ปัจจุบันหลบหนีคดีทุจริตอยู่ต่างแดนพร้อมกับพี่ชาย ที่รอวันเวลาจะได้มีโอกาสกลับประเทศไทยเมื่อไหร่ ทั้งนี้ "ยิ่งลักษณ์" เริ่มดำรงตำแหน่ง ตั้งแต่  5 ส.ค. 2554 – 7 พ.ค. 2557 ก่อนถูกคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ยึดอำนาจ 

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา  อดีตหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) และนายกฯคนที่ 29

และ 29. "พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา" เป็นนายกรัฐมนตรีที่มาจากการเป็นหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ เมื่อมีการประกาศเลือกตั้งเมื่อปี 2562  พรรคพลังประชารัฐ เสนอชื่อ พล.อ.ประยุทธ์  และได้รับความเห็นชอบจากที่ประชุมรัฐสภา เริ่มดำรงตำแหน่ง ตั้งแต่ 24 ส.ค. 2557 – 2566  สิริรวมดำรงตำแหน่งมาถึง 9 ปี ก่อนประกาศยุบสภาจัดให้มีการเลือกตั้งเมื่อปี 2566 

หากพิจารณา เส้นทางสาขาอาชีพ ในจำนวนนี้ มีนายกรัฐมนตรีที่มาจากทหาร มากถึง 12 คน ซึ่งเป็นนายกฯ ทหารที่มาจากการรัฐประหารจำนวน 8 คน หลายนายยังได้ดำรงตำแหน่งมากว่า 1 สมัย 

ขณะที่กลุ่มอาชีพอื่นๆ ที่ได้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ข้าราชการตำรวจ มีเพียงคนเดียว คือ "นายทักษิณ ชินวัตร"  ซึ่งขณะนั้นมียศ พันตำรวจโท เข้ามานั่งเก้าอี้ 2 สมัย แต่ในท้ายที่สุดถูกทหารยึดอำนาจจากการถูกทำรัฐประหาร 

นักกฎหมาย 8 คน  คือ  พระยามโนปกรณนิติธาดา , หม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช , นายปรีดี พนมยงค์ ,นาย พจน์ สารสิน ,นายสัญญา ธรรมศักดิ์ , นายธานินทร์ กรัยวิเชียร , นายชวน หลีกภัย , นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์  

นักธุรกิจ  5 คน   คือ หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช ,นายอานันท์ ปันยารชุน ,  นายบรรหาร ศิลปอาชา , นายทักษิณ ชินวัตร  และ นางสาว ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร  

ข้าราชการ ข้าราชการการเมือง 4 คน คือ  ควง อภัยวงศ์ , นายทวี บุณยเกตุ , นายสมัคร สุนทรเวช  และ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ

\"ที่สุดของนายกฯไทย\" เผยวีรกรรมฝ่าด่านหิน ใครจะนั่งเก้าอี้ \"นายกฯคนที่ 30\"

วันที่ 19 กรกฎาคม 2566 นี้ คงต้องจับตาดูอย่างใกล้ชิด ว่าที่สุดแล้ว ความพยายามของ 8 พรรค ในการการเสนอชื่อ "นายพิธา" โหวตนายกฯ รอบ 2  จะสามารถฝ่าด่านที่ประชุมรัฐสภาได้หรือไม่  เนื่องจาก จะมีการอภิปรายทักท้วงขัดต่อข้อบังคับการประชุมสภาที่มีการเสนอญัตติเดิมได้หรือไม่ จนอาจต้องนำไปสู่การโหวต แต่หากผ่านด่านนี้ไปได้ก็ถึงขั้นตอนโหวตเห็นชอบและไม่เห็นชอบอีก

ถ้าไม่สามารถผ่านทั้งสองขั้นตอนนี้ ถึงคราวที่ "พรรคก้าวไกล" ยอมถอยให้ "เพื่อไทย" เสนอ แคนดิเดตนายกฯคนใหม่ และใครจะผ่านกระบวนการรัฐสภาได้เป็นนายกฯคนที่ 30   

logoline