svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

รู้จัก 3 หญิงแกร่งบัลลังก์ตราชั่ง เก้าอี้แห่งความยุติธรรม บนความเท่าเทียม

รู้จัก 3 หญิงแกร่งบนบัลลังก์ตราชั่ง ประมุขสูงสุดของวงการตุลาการ "ประธานศาลฎีกา" เก้าอี้แห่งความยุติธรรม บนความเท่าเทียม

11 กรกฎาคม 2566 จากการประชุมของคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม(ก.ต.) ครั้งที่ 16/2566 เมื่อวันที่ 10 ก.ค.ที่ผ่านมา ที่ห้องประชุมราชบุรีดิเรกฤทธิ์ ชั้น 3 อาคารศาลยุติธรรม ถนนราชดำเนินใน โดยมี นายโชติวัฒน์ เหลืองประเสริฐ ประธานศาลฎีกา เป็นประธานการประชุม พิจารณาและมีมติเห็นชอบ บัญชีโยกย้ายแต่งตั้งข้าราชการตุลาการในวาระโยกย้าย 1 ต.ค.2566 บัญชี 1 เลื่อนชั้น 4 เป็นชั้น 5 โดยที่ประชุมมีมติเลื่อนชั้น นางอโนชา ชีวิตโสภณ ประธานแผนกคดีเยาวชนและครอบครัวในศาลฎีกาขึ้น ดำรงตำแหน่งประธานศาลฎีกา ลำดับที่ 49 ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.66 เป็นต้นไป

นับเป็นผู้หญิงรายที่ 3 ที่ได้เลื่อนชั้นเป็นประมุขศาลฎีกา ซึ่งนับตั้งแต่ปี 2482 ที่ได้เปลี่ยนชื่อตำแหน่งจาก “อธิบดีศาลฎีกา” เป็น “ประธานศาลฎีกา” โดยพระยาวิกรมรัตนสุภาษ (ชม ศุขะวณิช) ดำรงตำแหน่งเป็นท่านแรก เมื่อวันที่ 13 ต.ค.2482 ส่วน “อธิบดีศาลฎีกา” ท่านแรก คือ นายพลตรี พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงพิชิตปรีชากร ดำรงค์ตำแหน่งเมื่อปี 2428

"อโนชา ชีวิตโสภณ" ประธานศาลฎีกาคนล่าสุด สตรีคนที่ 3 ที่ได้ดำรงตำแหน่งนี้

ประวัติ “อโนชา”

ปัจจุบันดำรงตำเเหน่ง ประธานแผนกคดีเยาวชนและครอบครัวในศาลฎีกา จบนิติศาสตรบัณฑิต (เกียรตินิยม) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เนติบัณฑิตไทย รุ่นที่ 33 ,สำนักอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภา ,นิติศาสตรหาบัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เคยดำรงตำแหน่งที่สำคัญ อาทิเช่น ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัดแม่สอด ,ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัดปทุมธานีแผนกคดีเยาวชนและครอบครัว ,ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัดธัญบุรี ,อธิบดีผู้พิพากษาภาค 2ผู้พิพากษาศาลฎีกา ,อธิบดีผู้พิพากษาศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง ,ประธานศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ

เคยได้รับเลือกตั้ง กรรมการบริหารศาลยุติธรรม (ก.บ.ศ.) ,กรรมการตุลาการศาลยุติธรรม (ก.ต.) ผ่านการอบรม หลักสูตรการป้องกันราชอาณาจักร (วปอ.) รุ่นที่ 53 ,หลักสูตร ผู้บริหารกระบวนการยุติธรรมระดับสูง (บ.ย.ส.) รุ่นที่ 20 หลักสูตร การเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตยสำหรับนักบริหารระดับสูง (ปปร.) รุ่นที่ 22 หลักสูตรหลักนิติธรรมเพื่อประชาธิปไตย (นธป.) รุ่นที่ 9

สำหรับผู้หญิงที่สร้างประวัติศาสตร์ในวงการตุลาการของประเทศไทย ดำรงตำแหน่ง “ประธานศาลฎีกา” ท่านแรก ในลำดับที่ 46 คือ “เมทินี ชโลธร” หญิงแกร่งที่เปิดประตูบัลลังก์ตราชั่งได้สำเร็จ และเป็นที่ยอมรับ โดยมีผลงานมากมาย หนึ่งในนั้นคือ เป็นผู้นับหนึ่ง การวางระบบการพิจารณาคดีครบองค์คณะ และต่อเนื่อง ซึ่งเป็นผลมาจากรัฐธรรมนูญปี 2540 ได้กำหนดไว้ ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในระบบการพิจารณาคดีในศาล และใช้มาจนถึงปัจจุบัน

โดยเธอเคยให้สัมภาษณ์ไว้ว่า “ในสมัยก่อนอาจจะมีบ้างที่พูดกันว่าผู้หญิงจะไม่ได้เป็นหัวหน้าศาลจังหวัด แต่กำแพงนั้นได้ถูกทลายไปหมดตั้งแต่บรรพตุลาการ ผู้พิพากษาหญิงหลายคนได้แสดงถึงความเข้มแข็งและความสามารถให้เห็น เป็นที่ยอมรับ ศาลยุติธรรมเราดูกันที่ความสามารถบวกกับอาวุโส ไม่มีเรื่องเพศเข้ามาเกี่ยวข้อง ผู้พิพากษาผู้ชายก็มองเราเป็นผู้พิพากษาคนหนึ่งเหมือนๆ กัน”

ประธานศาลฎีกาคนแรกในประวัติศาตร์ตุลาการ “เมทินี ชโลธร”

ประวัติ “เมทินี ชโลธร”

เกิดวันที่ 3 ธันวาคม พ.ศ. 2498 มีชื่อเสียงจากการเข้าร่วมการชุมนุม กปปส. และเป็นประเด็นถกเถียงในเรื่องความเป็นกลางของข้าราชการตุลาการ

สำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนสามเสนวิทยาลัย, ปริญญาตรีนิติศาสตรบัณฑิต (เกียรตินิยมอันดับ 2) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, ปริญญาโทศิลปศาสตรมหาบัณฑิต (การบริหารงานยุติธรรม) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์,​ ปริญญานิติศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์​ มหาวิทยาลัยรามคำแหง​ และ เนติบัณฑิต สำนักอบรม ศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภา

สมรสกับนายพิริยะ ชโลธร และมีบุตรร่วมกันหนึ่งคนคือ น.ส.ปณตพร ชโลธร

รายละเอียดประวัติ เมทินี คลิกที่นี่

“ปิยกุล บุญเพิ่ม” สตรีคนที่ 2 บนบันลังก์ตาชั่ง

มาถึงประมุขตุลาการสตรีคนที่ 2 ของบัลลังก์ตราชั่ง “ปิยกุล บุญเพิ่ม” เป็นประธานศาลฎีกา ลำดับที่ 47 เมื่อวันที่ 21 ก.ค. 2564 ต่อจาก “เมทินี ชโลธร” ที่สิ้นสุดวาระลง

ประวัติประธานศาลฎีกาคนที่ 47

เกิดวันที่ 28 ต.ค.2499 จบการศึกษานิติศาสตรบัณฑิต เกียรตินิยมอันดับ 2 จากมหาวิทยาลัยรามคำแหง หลักสูตรเนติบัณฑิตไทย, สำนักอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภา นิติศาสตรมหาบัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ด้านการทำงาน ดำรงตำแหน่งประธานศาลอุทธรณ์ ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.63 และเคยดำรงตำแหน่งที่สำคัญในอดีต ปี 2521 นิติกร, ปี 2525 ผู้ช่วยผู้พิพากษา, ปี 2526 ผู้พิพากษาประจำกระทรวง, ปี 2527 ผู้พิพากษา จ.ร้อยเอ็ด, ปี 2530 ผู้พิพากษา จ.ขอนแก่น, ปี 2534 ผู้พิพากษา จ.จันทบุรี ปีเดียวกันผู้พิพากษาหัวหน้าศาลประจำกระทรวง, ปี 2536-2538 ผู้พิพากษา จ.น่าน, ลำพูน และนครสวรรค์, ปี 2540 ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลแพ่งกรุงเทพใต้, ปี 2542 ผู้พิพากษาศาลแรงงานกลาง ปีเดียวกัน เป็นผู้พิพากษาศาลอุธรณ์,

ปี 2549 ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลอุทธรณ์, ปี 2551 ประธานแผนกคดีเลือกตั้งในศาลอุทธรณ์ภาค 1, ปี 2553 รองประธานศาลอุทธรณ์ภาค 1, ปี 2554 ผู้พิพากษาศาลฎีกา, ปี 2558 ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา, ปี 2560 ประธานศาลอุทธรณ์ภาค 1, 2562 ประธานแผนกคดีล้มละลายในศาลฎีกา และ 1 ต.ค.63 ดำรงตำแหน่งประธานศาลอุทธรณ์

รายละเอียดประวัติ ปิยกุล คลิกที่นี่