svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

"ส.ว."เปิดแผล"พิธา"พร้อมแผนรับมือ"ด้อมส้ม"หากกระทำเกินกว่าประชาธิปไตย 

09 กรกฎาคม 2566
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ฝ่ายก้าวไกล และ"ด้อมส้ม" กดดัน ส.ว.อย่างหนัก ทั้ง "แอร์วอร์ - กราวด์วอลล์" คราวนี้ไปดูฝั่ง ส.ว.บ้างว่า พลิกตำรารับมืออย่างไร 

นับถอยหลังเหลือเวลาเพียง 3 วัน ถึงวันสุกดิบ 13 กรกฎาคม 2566 ประชุมรัฐสภาโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี  โดยด่านสำคัญที่"พิธา ลิ้มเจริญรัตน์" จะต้องฝ่าไปให้ได้คือ การรวบรวมเสียงเห็นชอบจากที่ประชุมรัฐสภาให้ได้เกินครึ่งหรือ 376 เสียง โดยเฉพาะการพึ่งพาเสียงจาก"สมาชิกวุฒิสภา" ที่แม้ แกนนำพรรคก้าวไกลจะออกมายืนยันนอนยันว่าได้เสียงส.ว. 64 คนครบแล้ว

"ขณะนี้เสียงได้ครบแล้ว แต่ยังคงต้องทำงานต่อเนื่องเผื่อมีกรณีที่บางท่านอาจเปลี่ยนใจจะได้มีสำรองเอาไว้ เพราะเราไม่มีทางทราบได้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นหน้างาน" 

"นางสาวศิริกัญญา ตันสกุล" รองหัวหน้าพรรคก้าวไกลให้สัมภาษณ์ไว้เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2566 

ศิริกัญญา ตันสกุล รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล

แต่การแถลงดังกล่าวจะเชื่อได้หรือไม่ จะเป็นความมั่นใจทิพย์หรือไม่ เพราะในช่วงสามสี่วันก่อนถึงวันโหวต "พรรคก้าวไกล" ต่างเดินสายพบประชาชนในหัวเมืองจังหวัดสำคัญ พร้อมกับปราศรัยปลุกเร้า ว่า"นายพิธา" จะได้เป็นนายกฯแน่นอน

หากมองอีกด้านหนึ่งเหมือนเป็นการสื่อสารกดดันสมาชิกรัฐสภาต้องสนับสนุน"นายพิธา"ให้เป็นนายกฯสถานเดียว เพราะหากไม่หนุนจะเกิดอะไรขึ้น?!?

แน่นอนหากยึดหลักประชาธิปไตย ย่อมมีทั้งผู้เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย ทุกคนต่างมีสิทธิเสรีภาพเท่าเทียมกันตามกรอบกติกาของรัฐธรรมนูญ ปราศจากการกดดันข่มขู่ ซึ่งก็ไม่ต่างกับฟากฝั่ง ส.ว. ที่มีเหตุผลในการปฏิเสธ "พิธา ลิ้มเจริญรัตน์" ว่าที่นายกฯคนที่ 30 หลายเรื่องด้วยกัน 

หนึ่ง การแก้ไข หรือยกเลิกประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 

สอง แนวคิดแบ่งแยกดินแดน การกระทำที่เกี่ยวข้องยึดโยงกับการแบ่งแยกดินแดน หรือแนวนโยบายที่อันตราย สุ่มเสี่ยงต่อการเปลี่ยนรูปแบบการปกครอง และกระทบต่ออธิปไตยของประเทศ เช่น 

-มีแกนนำพรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาล ไปร่วมหรือสนับสนุนกิจกรรม "ประชามติจำลองเพื่อกำหนดอนาคตตนเองของรัฐปาตานี" ซึ่งหวังผลให้สามจังหวัดชายแดนภาคใต้แยกตัวเป็นเอกราช หรือตั้งรัฐใหม่ 

 

-การจัดเสวนา หรือบรรยายแนวปลุกระดมให้คนชาติพันธุ์ต่างๆ รู้สึกแปลกแยกกับรัฐไทย นำไปสู่การแบ่งแยก โดยอ้างเรื่อง "จังหวัดจัดการตนเอง" หรือ "ท้องถิ่นจัดการตนเอง" เช่น ล้านนา 

-การเสนอทำประชามติ ยกเลิก "ราชการส่วนภูมิภาค" เมื่อผสมกับนโยบายเลือกตั้งผู้ว่าฯ จะทำให้จังหวัดมีสถานะเหมือน "รัฐ" แบบสหรัฐอเมริกา มีอำนาจเบ็ดเสร็จในการบริหาร และหากได้กฎหมาย "จังหวัด หรือท้องถิ่นจัดการตนเอง" อาจทำให้จังหวัด หรือกลุ่มจังหวัด มีสถานะเทียบเท่ารัฐ ส่งผลเปลี่ยนแปลงรูปแบบการปกครองของไทยจาก "รัฐเดี่ยว" เป็น "สหพันธรัฐ" และอาจขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 1 

ประเด็นเหล่านี้ถูกมองเชื่อมโยงกันหมดว่ามีเจตนาเปลี่ยนรูปแบบรัฐ ซ้ำยังเตรียมยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ไม่เว้นหมวด 1 หมวด 2 ซึ่งก็คือ "รูปแบบรัฐ และสถาบันพระมหากษัตริย์" ด้วย 

"ส.ว."เปิดแผล"พิธา"พร้อมแผนรับมือ"ด้อมส้ม"หากกระทำเกินกว่าประชาธิปไตย 

สาม ข้อเสนอเปลี่ยนวันชาติ แม้จะยังไม่ใช่นโยบายของพรรค แต่ทำให้เห็นแนวคิดของคนในพรรค และสอดรับกับข้อ 2 ที่ ส.ว. กับคนไทยจำนวนไม่น้อยมีความกังวล 

สี่ ปฏิรูปกองทัพ หลายฝ่ายมองว่าไม่มีใครปฏิเสธการปฏิรูปกองทัพ แต่แนวทางที่พรรคก้าวไกลจะทำ มุ่งทำให้กองทัพอ่อนแอลง ซึ่งเมื่อนำไปเจือสมกับนโยบายอื่นๆ อย่างในข้อ 2 กับ ข้อ 3 จะทำให้ประเทศทั้งประเทศอ่อนแอ หรือสามารถแก้ไขเปลี่ยนแปลงรูปแบบรัฐได้อย่างง่ายดาย

ห้า คุณสมบัติของ"พิธา" ที่ถูกกล่าวหาหลายเรื่อง ทั้งหุ้นสื่อ หุ้นไอทีวี การขายที่ดินมรดก การถือหุ้นบริษัทซึ่งเป็นกิจการของครอบครัว การมีผู้ถือหุ้นรายใหม่ที่เป็น "สีเทา" ในบริษัทกิจการของครอบครัวที่ตนเองเคยบริหาร ปัญหาการยื่นบัญชีทรัพย์สิน และเงินกู้ กับการค้ำประกันเงินกู้

"เนชั่นทีวีออนไลน์" ยังได้ตรวจสอบเพิ่มเติม เพื่อเป็นการอัปเดต"กลุ่มส.ว."ที่มีจุดยืนชัดเจนตั้งแต่หลังทราบผลเลือกตั้ง 14 พฤษภาคม 2566 ว่า"พรรคก้าวไกล"ได้เป็นแกนนำในการรวบรวมเสียงเป็นรัฐบาลผลักดันให้"พิธา  ลิ้มเจริญรัตน์" เป็นนายกฯ

ผ่านมาจนถึงวันนี้ ( 10 กรกฎาคม 2566 ) ส.ว.กลุ่มดังกล่าว ยังยืนยันเจตนารมย์เดิม ไม่หนุน "พิธา" เป็นนายกฯ  โดยมีการจัดลำดับเหตุผลความสำคัญเพื่อชี้ให้เห็นว่าหาก"พิธา" เป็นนายกฯ จะส่งผลกระทบต่อประเทศชาติอย่างไรบ้าง พร้อมเปิดเผยกระบวนการตัดสินใจของส.ว.หากต้องเผชิญสถานการณ์กดดันทั้งในสภาและนอกสภาไว้ดังนี้

พิธา ลิ้มเจริญรัตน์  หัวหน้าพรรคก้าวไกลและแคนดิเดตนายกฯ

1. ส.ว.กลุ่มนี้ ให้น้ำหนักต่อ ปัญหาความมั่นคงแห่งชาติ เป็นลำดับแรก โดยพิจารณาจากท่าทีของ"พิธา" และ"พรรคก้าวไกล" ในการที่จะเข้ามาปรับเปลี่ยนเชิงโครงสร้างของประเทศหลายอย่าง โดยเฉพาะ การแก้ไข"มาตรา 112" 

2. การที่ "พิธา" และ"พรรคก้าวไกล" อ้างว่า ได้รับชัยชนะเป็นเสียงข้างมากตามระบอบประชาธิปไตยซึ่งโดยข้อเท็จจริงไม่ใช่อย่างนั้น 

3. นโยบายการบริหารประเทศของ"พรรคก้าวไกล"เป็นไปแบบสุดโต่งเกินไป 

4. รัฐธรรมนูญกำหนดการเลือกนายกฯ ต้องใช้เสียงในที่ประชุมรัฐสภา ฉะนั้น การเลือกตั้งทั่วไปผ่านไปแล้ว "พรรคก้าวไกล" ได้151 เสียง "พรรคเพื่อไทย" ได้ 141 เสียง สะท้อนว่า ยังไม่ใช่เป็นเครื่องตัดสิน "พิธา"สมควรเป็น"นายกฯ"  การได้รับเลือกตั้งจึงไม่ใช่เสียงเบ็ดเสร็จเด็ดขาดว่า "พิธา" จะได้เป็นนายกฯ  

5. การเคลื่อนไหวของประชาชนนอกสภาไม่มีสิทธิโหวต ไม่ใช่โหวตเตอร์ หรืออย่างเช่น "สหรัฐ" ยังมีกระบวนการขั้นแรก ขั้นสอง ที่ต้องผ่านโหวตเตอร์  หรือ "electoral vote" ซึ่งในส่วนของไทย electoral vote คือ ส.ส. 500+ส.ว.250 คน 

..................

พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล เดินสายพบประชาชน จ.สุพรรณบุรี เมื่อวันที่ 9 ก.ค.66

ส.ว.กลุ่มนี้ ยังได้เผยกระบวนการวันที่ 13 ก.ค.อย่างน่าสนใจ 

-ส.ว.กลุ่มนี้ ได้กำหนดท่าทีว่า ในการโหวตครั้งแรกเหมือนเป็นการเช็กเสียงและหยั่งเชิงฟากส.ส. 500 คน ก่อน  จึงต้องการเช็กเสียง 8 พรรคจำนวน 312 เสียงยังเหนียวแน่นอยู่หรือไม่ นอกจากเสียงส.ส. 8 พรรค ยังมีเสียงส.ส.ฝ่ายรัฐบาลเดิม คือ 188 เสียง มีความเห็นอย่างไร 

ผลโหวตรอบแรก จะเป็นเครื่องมือชี้วัด เสียงของผู้แทนประชาชน ว่า 312 เสียงเหนียวแน่นตามที่ข่าวนำเสนอจริงหรือไม่ รวมถึงจำนวนเสียงส.ส. จากฟากรัฐบาลเดิมเปลี่ยนใจสนับสนุนพิธาหรือไม่ เพราะหากผ่านด้วยจำนวนเสียงเกินครึ่งก็จบยกแรก ไม่จำเป็นต้องพึ่งพาส.ว.  

-จากนั้น ในการโหวตครั้งที่สอง (กรณีนายพิธาไม่ผ่านการโหวตยกแรก) "นายวันมูหะหมัดนอร์ มะทา" ประธานรัฐสภา วางไทม์ไลน์ไว้แล้ว คือ วันที่ 19 กรกฎาคม เชื่อว่า จะมีการเสนอ ผู้แข่งขันมากกว่า หนึ่งคน หากเดินไปสู่การโหวตรอบสอง  ส.ว.กลุ่มนี้ จะได้ใช้ข้อมูลจากขั้นตอนโหวตครั้งแรกมาประกอบการตัดสินใจในการโหวตครั้งที่สอง 

-ส.ว.กลุ่มนี้ ประเมินสถานการณ์แล้วเดิมมีข้อเสนอ สมควรออกแถลงการณ์ประกาศท่าทีต่อสาธารณชนก่อนโหวต 13 ก.ค. แต่เมื่อพิจารณาแล้ว ไม่จำเป็นต้องมีแถลงการณ์ใดๆ เพราะการออกแถลงการณ์ ส่งผลเสียมากกว่าผลดี 

การไม่ออกแถลงการณ์ประกาศท่าทีใดๆ เพื่อต้องการให้เห็นความเป็นอิสระต่อกัน ไม่มีอำนาจใดแทรกแซง ชักจูงได้ 

บรรดากองเชียร์แฟนคลับ ผู้ให้การสนับสนุน นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล รวมตัวที่ลานเซ็นทรัลเวิลด์ เมื่อวันที่ 9 ก.ค.66

นอกจากนี้ ยังมีการเตรียมการรับมือ "กลุ่มผู้ชุมนุม" กดดันนอกสภาในวันโหวตนายกฯ  

-ประเมินว่า ขึ้นอยู่กับ "ผู้นำชุมนุม" ต้องการสร้างเงื่อนไขให้เกิดความรุนแรงหรือไม่ เพราะการสร้างความรุนแรงกดดัน "ส.ว." ที่มีอิสระ จะเป็นการเข้าข่าย "อนาธิปไตย" ไม่ใช่ประชาธิปไตยรวมถึงการข่มขู่ชักจูงด้วยผลประโยชน์ก็คือ "ธนาธิปไตย" ไม่ใช่ระบอบประชาธิปไตยตามปกติ 

หากกลุ่มผู้ชุมนุม ไม่ได้สิ่งที่ต้องการ กล่าวคือ "นายกฯไม่ใช่พิธา" จนทำให้ผู้ชุมนุมไม่พอใจ สร้างสถานการณ์ความรุนแรง ข่มขู่ กดดัน ส.ว.ด้วยวิธีต่างๆอย่างต่อเนื่อง เป็นเหตุที่ส.ว.จะนำมาอ้างความชอบธรรมว่า ไม่ขอเข้าร่วมประชุม เพราะไม่มีหลักประกันความปลอดภัย โดยเหตุการณ์ความวุ่นวายไม่ได้เกิดขึ้นจาก "ส.ว." แต่เกิดขึ้นจาก "ผู้ชุมนุม" และ"พรรคก้าวไกล" ให้สภาพความเป็นประชาธิปไตย กลายเป็น "อนาธิปไตย"

การเดินเกมนับจากนี้ ไม่ว่าจะฝ่ายใด ภายใต้ระบอบประชาธิปไตย  จึงเป็นไปด้วยความสุขุมคัมภีรภาพยิ่งนัก เพราะบทสรุปคือ "พิธา  ลิ้มเจริญรัตน์" จะได้เป็นนายกฯหรือไม่ 

logoline