svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

ส่องรายได้ "ตัวแทนปวงชนชาวไทย" ส.ส.-ส.ว. สมฐานานุรูปไหม

08 กรกฎาคม 2566
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

มาดูกัน "ตัวแทนปวงชนชาวไทย" ของผู้ทรงเกียรติในรัฐสภา ทั้ง ส.ส.-ส.ว. รับค่าตอบแทนต่อเดือนและสวัสดิการ สมฐานานุรูปไหม

7 กรกฎาคม 2566 วันนี้มีพระราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง ประธานและรองประธานสภาผู้แทนราษฎร หลังจากนี้จะมีการเปิดประชุมสภาฯในวันที่ 13 กรกฎาคม 2566 เพื่อโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี ที่ถูกจับจ้องจากประชาชนในประเทศและต่างชาติที่ต้องการเข้ามาลงทุน

เนื่องจากแนวโน้มของ สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ในการโหวต นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล เป็นนายกรัฐมนตรี คนที่ 30 ของไทย ขณะที่ ส.ว.ส่วนใหญ่ออกมาแสดงจุดยืนชัดเจน ที่จะไม่โหวตให้กับ นายพิธา กับอีกส่วนหนึ่งยังคงสงวนท่าที เนื่องจากไม่เห็นด้วยกับนโยบายของ "พรรคก้าวไกล" ที่ดูเหมือนว่าจะสุดโต่งเกินไป ในนโยบายบางเรื่อง

ส่วน ส.ส.จากพรรคการเมืองอื่นที่ไม่ใช่พรรคร่วมรัฐบาล หรือที่จะเป็นพรรคฝ่ายค้านในอนาคตนั้น ที่จะมาโหวตให้นายพิธา เป็นนายกรัฐมนตรีนั้น แทบไม่ต้องคาดหวัง บางพรรคถึงกับปฏิเสธไปเรียบร้อยแล้ว

ทำให้มีแนวโน้มว่าการโหวตเลือกนายกฯ ทำท่ายืดเยื้อ โดยนายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน ส.ส.เชียงราย พรรคเพื่อไทย ในฐานะรองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 2 ได้ออกมากล่าวว่า ได้วางวันเลือกนายกรัฐมนตรีไว้ในวันที่ 13 ก.ค. ถ้าไม่ได้ก็จะให้เลือกรอบที่ 2 วันที่ 19 ก.ค. และรอบที่ 3 วันที่ 20 ก.ค. คาดว่าทั้ง 3 วันก็น่าจะเพียงพอได้นายกรัฐมนตรี

ทั้งนี้ ตามมาตรา 272 ในบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญ 2560 ส.ว. จะมีอำนาจโหวตนายกฯ จนถึงวันที่ 11 พฤษภาคม 2567 แต่การทำหน้าที่ของ ส.ว. ในเรื่องอื่น ๆ สามารถทำต่อไปได้ และเมื่อถึงเวลาหลังจากวันที่ 11 พฤษภาคม หากมีการเลือกนายกฯ ก็เป็นหน้าที่ของ ส.ส. โดยปราศจาก 250 ส.ว. ไปโดยปริยาย

อย่างไรก็ตาม จากประเด็นการไม่ยอมโหวตให้ นายพิธา เป็นนายกฯ ซึ่งเป็นการขัดใจผู้ที่เลือกตั้งก้าวไกลและบรรดาชาวด้อม เป็นอย่างมาก พยายามออกมากดดัน และมีการตั้งคำถามถึงเงินเดือน รายได้ และค่าตอบแทนของข้าราชการการเมืองในตำแหน่งต่าง ๆ โดยเฉพาะ ส.ว. และ ส.ส. ว่าได้รับกันคนละเท่าไรต่อเดือน

"เนชั่นทีวี" ได้รวบรวมข้อมูลรายได้ของ ส.ส.และ ส.ว. ผู้ทรงเกียรติ ตัวแทนของปวงชนชาวไทยดังนี้ รัฐธรรมนูญปี 2560 มีบทเฉพาะกาลเฉพาะสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ว่าด้วยการทำหน้าที่กลั่นกรองงานของสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) มีวาระ 5 ปี และมีอำนาจที่ต่างจาก ส.ว.จากรัฐธรรมนูญในอดีตคือ การร่วมออกเสียงเลือกนายกรัฐมนตรี

รัฐธรรมนูญปี 2550 ระบุเงินประจำตำแหน่งและประโยชน์ตอบแทนอย่างอื่นของสมาชิกรัฐสภา ซึ่งกำหนดให้จ่ายได้หลังจากวันเข้ารับหน้าที่ ต่อมาในปี 2555 มี พ.ร.ฎ.เงินประจำตำแหน่งและประโยชน์ตอบแทนอย่างอื่น ของสมาชิกรัฐสภาเพิ่ม กำหนดให้ประธานและรองประธานสภาผู้แทนราษฎร ประธานและรองประธานวุฒิสภา ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และสมาชิกวุฒิสภา ได้รับเงินประจำตำแหน่งและเงินเพิ่มเป็นรายเดือนนับแต่วันเข้ารับหน้าที่

  • ประธานสภาผู้แทนราษฎร มีเงินเดือน 75,590 บาท เงินเพิ่ม 50,000 บาท รวม 125,590 บาท
  • รองประธานสภาผู้แทนราษฎร มีเงินเดือน 63,860 บาท เงินเพิ่ม 42,500 บาท รวม 106,360 บาท
  • ประธานวุฒิสภา มีเงินเดือน 74,420 บาท เงินเพิ่มเดือนละ 45,500 บาท รวม 119,920 บาท
  • รองประธานวุฒิสภา มีเงินเดือน 73,240 บาท เงินเพิ่มเดือนละ 42,500 บาท รวม 115,740 บาท
  • ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร มีเงินเดือน 73,240 บาท เงินเพิ่มเดือนละ 42,500 บาท รวม 115,740 บาท
  • สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) มีเงินเดือน 71,230 บาท เงินเพิ่ม 42,330 บาท รวม 113,560 บาท
  • สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) มีเงินเดือน 71,230 บาท เงินเพิ่ม 42,330 บาท รวม 113,560 บาท

สำหรับ ส.ส. ซึ่งดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีด้วย เมื่อได้รับเงินเดือนและเงินประจำตำแหน่งในฐานะรัฐมนตรีแล้ว ไม่มีสิทธิได้รับเงินประจำตำแหน่งและเงินเพิ่มสำหรับตำแหน่ง ส.ส. อีก

นอกจากนี้ สมาชิก ส.ส. กับ ส.ว. แต่ละคน สามารถมีผู้ช่วย 8 คน แบ่งเป็น

  • ผู้เชี่ยวชาญประจำตัว 1 คน มีเงินเดือนเดือนละ 24,000 บาท
  • ผู้ชำนาญการประจำตัว 2 คน มีเงินเดือนเดือนละ 15,000 บาท
  • ผู้ช่วยดำเนินการประจำตัวอีก 5 คน มีเงินเดือนเดือนละ 15,000 บาท

ทั้งนี้ ยังไม่นับสิทธิประโยชน์อื่น ๆ เช่น ค่าเดินทาง ค่าที่พัก ค่าเบี้ยเลี้ยง ค่ารักษาพยาบาล เบี้ยประชุม เป็นต้น

สำหรับสิทธิประโยชน์ ด้านสวัสดิการรักษาพยาบาล

     1. การตรวจสุขภาพประจำปี 7,000 บาท

     2. การรักษาพยาบาลในสถานพยาบาล ของทางราชการและเอกชน

มี 2 กรณี ดังนี้

     1.กรณีการรักษาพยาบาลผู้ป่วยใน

  • ค่าห้องและค่าอาหาร/วัน (ไม่เกิน 31 วัน/ครั้ง) 4,000 บาท
  • ค่าห้อง ไอ.ซี.ยู./ซี.ซี.ยู./วัน (สูงสุด 7 วัน/ครั้ง) 10,000 บาท
  • ค่ารักษาพยาบาลทั่วไป/ครั้ง 100,000 บาท
  • ค่ารถพยาบาล 1,000 บาท
  • ค่าแพทย์ผ่าตัด/ครั้ง 120,000 บาท
  • ค่าแพทย์เยี่ยมไข้/วัน (ไม่เกิน 31 วัน/ครั้ง) 1,000 บาท
  • ค่าปรึกษาแพทย์ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะโรค/ครั้ง 4,000 บาท
  • การรักษาทันตกรรม/ปี 5,000 บาท
  • การคลอดบุตร คลอดธรรมชาติ 20,000 บาท / คลอดโดยการผ่าตัด 40,000 บาท

     2.กรณีการรักษาพยาบาลผู้ป่วยนอก

  • ค่ารักษาพยาบาลทั่วไป/ปี 90,000 บาท-
  • อุบัติเหตุ ฉุกเฉิน/ครั้ง 20,000 บาท

 ยังไม่นับสิทธิประโยชน์อื่น ๆ เช่น ค่าเดินทาง ค่าที่พัก ค่าเบี้ยเลี้ยง เบี้ยประชุม

logoline