"เก้าอี้ประธานสภาฯ คือจุดเริ่มต้นและจุดเปลี่ยนสำคัญของ 8 พรรคร่วมรัฐบาล"
ข้อความข้างต้น เป็นที่รับรู้กันมาตั้งแต่หลังการเลือกตั้ง 66 "พรรคก้าวไกล"ประสบชัยชนะได้จำนวนส.ส. 151 ที่นั่ง เป็นพรรคอันดับหนึ่งเหนือ"พรรคเพื่อไทย" ตามมาเป็นอันดับสอง โดยได้จำนวน ส.ส. 141 เสียง ห่างกันแค่สิบเสียง
แต่ทั้งสองพรรคขวักมือรวบรวมไพร่พลพรรคที่มีอุดมการณ์เดียวกันรวมเป็น 8 พรรค ลงนามเอ็มโอยู จัดตั้งรัฐบาลให้การสนับสนุน"พิธา ลิ้มเจริญรัตน์" เป็นนายกฯรัฐมนตรี
ท่ามกลางการเปลี่ยนผ่านสู่อำนาจไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับพรรคร่วมฝ่ายค้านเดิมที่กำลังจะมาเป็นรัฐบาลใหม่ ต้องเผชิญอุปสรรคตลอดทาง ที่สำคัญอุปสรรคนั้นเกิดขึ้นภายในพรรคร่วมเสียเอง"เป็นความไม่ลงตัวในตำแหน่ง "ประธานสภาฯ" โดย"พรรคก้าวไกล" และ"พรรคเพื่อไทย" ต่างแสดงท่าทีชัดเจน เป็นความชัดเจนผ่านสายตาสาธารณะให้รับรู้ว่า"เก้าอี้ประมุขนิติบัญญัติ" ต้องเป็นของพรรคตน
แม้ฉากหน้าเห็นภาพแกนนำสองพรรค "ก้าวไกล"และ"เพื่อไทย" แสดงบทจูบปากดูดดื่ม ยืนยันนอนยัน พร้อมร่วมหอเคียงกันไปถึงฝั่งฝัน แต่สภาพหลังฉากดูจะตรงข้ามชนิดพร้อมหย่าขาดก่อนแต่งเสียด้วยซ้ำ
จากกระแสข่าวสะพัดเป็นระยะ ถึงการเจรจา"เก้าอี้ประธานสภา"ยังไม่มีใครยอมใคร จากวงในขยายสู่วงนอกผ่านสายตาประชาชน มีตัวจริงเสียงจริงออกมาแสดงความเห็น ทั้งมวยรุ่นเก๋า "อดิศร เพียงเกษ" ขุนพลเมืองหมอแคน
"ภาษิตอีสานบ้านผม บอกว่า ถ้าเอาพระบวชใหม่ มาเป็นเจ้าอาวาสก็ไม่เหมาะสม แต่ส.ส.ทุกคนสามารถเป็นประธานสภาฯได้ทุกคน เพราะประชาชนเลือกมาแล้วก็ถือว่าเป็นคำพิพากษาที่ใหญ่ อย่างไรก็ตามต้องขออภัยพรรคก้าวไกลด้วยเพราะเราสูงไล่เลี่ยกัน"
"อดิศร เพียงเกษ" ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคเพื่อไทย กล่าวเมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2566
แม้แต่ "ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง" อดีตดาวสภาหมัดหนัก กระทุ้งนักการเมืองรุ่นลูกอย่างด้วยการเอ่ยถึงพรรคอักษรย่อ พรรค ก. ไก่ ชนิดที่ไม่ต้องบอกก็รู้ว่า กำลังกล่าวถึงพรรคใด
"อย่าไปใช้คำพูดว่า ประธานสภาฯต้องเป็นพรรคของใคร คนพูดไม่รู้เรื่อง ไม่รู้การเมือง เลอะเทอะ ทำให้คนสับสน ถามว่า คุณเสนอกฎหมายคนเดียว ผ่านได้หรือไม่ ก็ไม่ได้ ดังนั้น ที่พูดมามันโง่ ..."
"ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง" ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย กล่าวเมื่อวันที่ 22 มิ.ย.66
อย่างไรก็ตาม "ผู้ถูกกระทำ" ที่มีผู้มีบารมีนอกพรรคอย่าง"ปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า กดดันแกนนำก้าวไกลแถวสอง ว่าพรรคแกนนำจะสูญเสีย"ตำแหน่งประธานสภาฯ" ไม่ได้เด็ดขาด เพราะประธานสภามีบทบาทสำคัญในการสานภารกิจของพรรคในการเสนอ ชื่อนายกฯขึ้นทูลเกล้าฯ เสนอแก้กฎหมายสำคัญ เสนอแก้ไขรธน. สานฝันสภาเยาวชน และที่สำคัญ ปฏิบัติภารกิจสำคัญผลักดันแก้กฎหมายประมวลวิอาญามาตรา 112 ตามคำมั่นต่อเหล่าสาวกด้อมส้มให้สำเร็จ
ดังนั้น จึงมิอาจปฏิเสธได้เลยว่า การปะทะทางความคิดต่อตำแหน่ง "ประธานสภาฯ" ระหว่างสองพรรค จึงเป็นไปในลักษณะหนักหน่วงตลอดมา โดยมีฝ่ายตบจูบลูบหลังเหมือนหวังดี ดังปรากฎ ลูกหาบสายพิราบ ไม่ว่าเป็น "จาตุรนต์ ฉายแสง" หรือ "ชลน่าน ศรีแก้ว" ทำหน้าที่รับหน้าเสื่อเล่นบทพระเอกพูดคำหวานกับ"ก้าวไกล" อีกเช่นกัน
"เก้าอี้ประธานสภาฯ" เป็นไปด้วยความเรียบร้อยทั้งที่ข้อเท็จจริงไม่ได้เรียบร้อย
ล่าสุด ความพยายามสร้างข่าวสองพรรคยังภักดีต่อกัน ปรากฎอีกครั้งโดยระบุว่า จะมีการหารือในวันที่ 28 มิถุนายน 2566 ถือเป็นการหารือนัดตัดเชือกที่อาจถึงขั้นอ่านสถานการณ์ข้างหน้าได้เลยว่าสองพรรคจะกอดคอไปต่อหรือพอแค่นี้กับเอ็มโอยู"ร่วมกันจัดตั้งรัฐบาล"
ความพยายามซื้อเวลาลากยาว กำลังจะหมดลงแล้ว เนื่องจากกรอบเวลาการประชุมรัฐสภากำหนดไว้เป็นวันที่ 3 ก.ค. จากนั้นกำหนดการเลือก"ประธานสภาฯ"ในวันที่ 4 ก.ค. จะอมพะนำกันไว้อย่างไร สุดท้ายต่างฝ่ายต่างต้องแบไต๋ความในใจของตนเองออกมาสู่สาธารณะภายในไม่เกินสัปดาห์นี้
"ซีรีย์ศึกชิงประธานสภาฯ" จึงใกล้ถึงตอนจบเข้ามาทุกที และภาคจบที่กำลังมาถึงนั้นยังเป็นการโหมโรงชวนให้ติดตามเค้าโครงภาพยนตร์เรื่องต่อไปในตอน "เส้นทางนายกฯใหม่ชื่อ"พิธา"หรือไม่" อีกด้วย
สถานการณ์นับจากนี้ ถือเป็นจุดชี้วัดครั้งสำคัญทางการเมือง ระหว่าง"ก้าวไกล"และ"เพื่อไทย"จะเปิดหน้าไพ่ใบไหนเข้ามาเล่นในกลเกมอันสลับซับซ้อน
กล่าวคือสูตรแรก หาก"ก้าวไกล" ยังต้องการตำแหน่งประธานสภาฯพร้อมกับยอมรับในหลักการด้วยการเจียดสองรองประธานสภาฯให้เพื่อไทย พร้อมล้างไพ่โควต้ารมต.เกรดเอเสียใหม่ จัดสรรให้"พรรคเพื่อไทย"สมน้ำสมเนื้ออย่างมีศักดิ์ศรีที่มีจำนวนเสียงใกล้เคียงกัน
หากเป็นตามสูตรนี้ การไปต่อ สู่ด่านสองว่าด้วยการ"โหวตนายกฯ"อาจเป็นไปด้วยดี พร้อมกับมองการก้าวเดินของก้าวไกลต่อไปด้วยการไปวัดดวงกับจำนวนเสียงส.ว.ที่จะมีมากพอรับรอง"พิธา"เป็นนายกฯหรือไม่
สูตรสอง กรณี"ก้าวไกล" ต้องการประธานสภาฯ แบ่งสองรองประธานสภาให้เพื่อไทย แต่ไม่ยินดีเกลี่ยตำแหน่งรมต.เกรดเอให้เพื่อไทย อาจต้องเจอไพ่ลับของเพื่อไทยที่ถูกซ่อนไว้นำไปชี้ชะตากันในสภา นั่นคือ เกมเปิดฟรีโหวตประธานสภา
แม้ฉากหน้า "เพื่อไทย"พยายามกล่าวผ่านสื่อโดยตลอด "เป็นเรื่องที่พรรคร่วมไม่อยากให้เกิดเหตุการณ์เช่นนั้น" แต่ด้วยกลเกมการเมืองล้วนแต่มีผู้ปรารถนาเข้าสู่อำนาจ พร้อมมีไพ่หลายใบให้เลือกใช้ แม้แต่การวางแผนล่วงหน้า ให้พรรคการเมืองฝ่ายตรงข้ามเสนอชื่อ บุคคลจาก"เพื่อไทย"เข้ามาแข่งขันชิงตำแหน่งประธานสภาฯ กับ"ก้าวไกล"
อย่าได้แปลกใจ ถึงกระแสข่าวที่เล็ดลอดออกมา จึงมีชื่อ "สุชาติ ตันเจริญ" อดีตรองประธานสภาฯ เตรียมเป็นคู่ท้าชิง ด้วยการอาศัยพลังโหวตต่างพรรคร่วมทั้งเสียงจาก "พลังประชารัฐ" หรือแม้แต่ "พรรคภูมิใจไทย"ที่เริ่มออกมาส่งเสียงถึงบุคคลที่สมควรเป็นประธานสภาฯ ต้องมีความรู้ ประสบการณ์ ควบคุมการประชุมได้อย่างน่าเชื่อถือ
อีกประการ หาก"ก้าวไกล"เลือกที่จะเปิดหน้าไพ่ก่อน ด้วยการยืนกรานยึดตำแหน่ง"ประธานสภาฯ" แถมเมินเฉย ต่อข้อเสนอเกลี่ยเก้าอี้รมต.เกรดเอ ผลลัพธ์คงพอคาดเดากันออก สถานการณ์การสูญเสียเก้าอี้ประธานสภาฯต่อเสียงโหวตในสภาไปแล้ว จะซ้ำเติมเผชิญเกมโหดตามสไตล์นักการเมืองเขี้ยวลากดินกันต่ออย่างไร นั่นคือ "การโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี"
เพราะในเมื่อ "ก้าวไกล"สูญเสียการนำในสภา พลาดเป้าจากตำแหน่งประธานสภาฯไปด้วยแล้ว ยังต้องเจอการตรวจสอบ "ว่าที่นายกฯคนใหม่" ที่มีทั้งสมาชิกวุฒิสภาลับมีดเตรียมพร้อมตั้งแต่หัววัน รวมถึงสภาพการณ์ขณะนี้ ความพยายามของ"ก้าวไกล"ในการดีลกับสว.บางส่วนให้ร่วมสนับสนุน"พิธา" ยังไม่ประสบความสำเร็จ
ประเด็นเหล่านี้ พรรคการเมืองทั้งหลายในสภารับรู้ต่อสถานการณ์นี้ดี โดยเฉพาะ"พรรคเพื่อไทย" ที่น่ารู้ดีสุด ใกล้ชิดสุด จึงต้องเล่นบททอดไมตรีแบบรักกันกลืนกินให้มากที่สุด เพราะหากกระบวนการโหวตเลือกนายกฯ "พิธา" ไม่ผ่าน เมื่อถึงจุดนั้น"เพื่อไทย"จึงจะเสนอก้าวไกลเองว่าจะตัดสินใจอย่างไร
ด้วยมารยาททางการเมือง ไม่หักด้ามพร้าด้วยเข่า ไม่เสนอตัวชิงตั้งรัฐบาลโดยทันที ด้วยเหตุเพื่อลดภาพการซ่อนมีดไว้ข้างหลังที่จะมีผลให้เหล่าแฟนคลับด้อมส้มนำไปตีความขยายความขัดแย้ง เกิดสภาพการณ์มวลชนลงถนน มองเพื่อไทยในทางลบ เป็นเกมที่"เพื่อไทย"ต้องวางตัวอย่างสุขุมคัมภีรภาพ"รักษามิตรไม่สร้างศัตรู"
"เพื่อไทยพร้อมเฝ้ารอและเฝ้ารอให้ "ก้าวไกล" เอ่ยปากบอกทางออกการเมืองมาเอง จะอนุญาติให้เพื่อไทยจัดตั้งรัฐบาลได้หรือไม่"
นี่คือสิ่งที่"เพื่อไทย" ต้องการได้ยินจากแกนนำก้าวไกล ท่ามกลางสถานการณ์ที่บ้านเมืองต้องการผู้นำเข้ามาบริหารประเทศ ไม่อาจทอดเวลายืดยาวต่อไปอีกได้แล้ว
หากสถานการณ์เดินมาถึงจุดนี้ คงไม่มีอะไรมากไปกว่า "ก้าวไกล" กำลังสิ้นสุดทางเลือก พร้อมยอมจำนน จะอยู่ร่วมกับการจัดสูตรรัฐบาลฉบับพิสดารโดย"เพื่อไทย"ภูมิใจเสนอ ที่อาจมีพรรคร่วมรัฐบาลเดิมหนึ่งถึงสองพรรคเข้ามาผสมด้วยหรือไม่
หรือ"ก้าวไกล"จะยอมถอยออกมาเอง เพื่อขอเป็น"ฝ่ายค้าน" พร้อมรอกลับมาใหม่ให้ใหญ่กว่าเดิม ในการเลือกตั้งครั้งหน้า