svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

"นโยบายตปท." โจทย์ใหญ่ "ว่าที่นายกฯคนที่30"กำหนดจุดยืนบนเวทีโลกอย่างไร

21 มิถุนายน 2566
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

"ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข" นักวิชาการคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์ฯ มองผ่านเลนส์ "ว่าที่นายกฯคนที่ 30" ต่อการกำหนดนโยบายต่างประเทศ โจทย์ใหญ่ที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วบนเวทีโลก

"โจทย์พวกนี้ ไม่ใช่แค่โจทย์เรื่องการโหวตสงครามยูเครน ยังมีโจทย์เมียนมาร์มารอ แล้วก็มีโจทย์ที่พ่วงเข้ามานั่นคือวิกฤติช่องแคบไต้หวันปัญหาในทะเลจีนใต้ก็มารออยู่อีกเหมือนกัน"

"ศ.กิตติคุณดร.สุรชาติ บำรุงสุข" อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวกับเนชั่นทีวี

ช่วงระยะเวลาที่ผ่านมา มีประเด็นข่าวใหญ่ที่มีผลต่อประเทศไทยกรณี "ดอน  ปรมัตถ์วินัย" รองนายกฯและรมว.ต่างประเทศในรัฐบาล"พล.อ.ประยุทธ์  จันทร์โอชา" ได้ออกหนังสือเชิญรัฐมนตรีอาเซียน ร่วมถกปัญหาเมียนมา เมื่อวันที่ 18-19 มิ.ย. ที่ผ่านมา ขณะที่พรรคก้าวไกลซึ่งคาดว่าจะได้เป็นรัฐบาลออกมาตำหนิถึงความไม่เหมาะสมเช่นเดียวกับสหรัฐอเมริกาก็ติดตามความเคลื่อนไหวดังกล่าว

ไม่เพียงแต่สถานการณ์ประเทศเพื่อนบ้าน แต่การกำหนดบทบาทรัฐบาลรักษาการกับ จีน - สหรัฐ หรือแม้แต่ท่าทีต่อสงครามความขัดแย้ง รัสเซีย - ยูเครน ตกเป็นที่จับจ้อง เมื่อเปลี่ยนผ่านรัฐบาลจะกำหนดบทบาทตนเองบนเวทีโลกอย่างไร   

ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข  อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

"ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข" นักวิชาการคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์ฯ ให้ความเห็นผ่าน"เนชั่นทีวี" ไว้อย่างน่าสนใจ

"ผมตั้งข้อสังเกตมานานแล้ว เพราะว่าโจทก์ไม่ใช่แค่เพื่อนบ้าน วันนี้โจทย์ใหญ่จริงๆ คือ กระแสโลกพลิกผันหลายรอบ เนื่องจากไทยติดกับดักการเมืองภายในอยู่นาน นับตั้งแต่จุดเริ่มต้นความขัดเเย้งในปี 48 สืบเนื่องทอดยาวกันมา"

"การเมืองไทยมีลักษณะเหมือนเดินสะดุดเป็นระยะๆ ตั้งแต่ปี 48 สะดุดใหญ่เมื่อเกิดรัฐประหารในปี 49 จากนั้นการเมืองไทยมีอาการสะดุดหลายรอบและมาสะดุดใหญ่อีกครั้งในการรัฐประหารโดยคสช.ปี 57 จนมาถึงปี 66  รวมระยะเวลาเกือบจะ 20 ปี" 

 

"ห้วงเวลา 20 ปีที่มีอาการสะดุดจากปัญหาการเมืองภายใน โลกเปลี่ยนแปลงไปขนาดไหน ตอบในฐานะคนสนใจการเมืองโลก ผมว่าโลกเปลี่ยนมโหฬารที่เห็นใกล้ตัวเรา คือ สถานการณ์แพร่ระบาดโควิดเมื่อปี63 ทั้งในเวทีโลกและเวทีบ้านเราต้องเปลี่ยนแปลงชุดความคิดครั้งใหญ่ "

ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข  อาจารย์รัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ยุทธศาสตร์ 20 ปีใช้ไม่ได้แล้ว 

"โลกภายใต้เงื่อนไขของการแพร่ระบาดโควิด -19 เป็นต้นมา ทำให้"ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี"ที่เขียนไว้ล้มแล้ว ไม่ต้องคุยกันอีกเลย เพราะหลายประเทศล้มยุทธศาสตร์เก่าๆเกือบทั้งหมด"

"ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ" ฉายภาพต่อไปว่า นับเนื่องจากปี 2020 ขยับมาปี 2022 เราเห็น"สงครามที่ยูเครน" สมมุติคุณสัมภาษณ์เมื่อปี 64 ถามว่า อาจารย์เชื่อหรือไม่จะเกิดสงครามใหญ่ในยุโรป ผมบอกไม่น่าเป็นไปได้ ยังเชื่อว่า"ปูติน"ไม่ตัดสินใจ แต่พอถึงกุมภาฯปี 65 สถานการณ์พลิก เราเห็นรัสเซียเปิดสงครามกับยูเครน แปลว่า "โจทย์ใหญ่ในเวทีโลก" อาจจะต้องยอมรับว่าโลกกลับเข้าสู่สงครามเย็นอีกครั้ง เรากำลังเห็นกำเนิดสงครามเย็นใหม่ "The new Cold War" ที่เป็นผลพวงจากการเเข่งขันระหว่างรัฐมหาอำนาจใหญ่ในเวทีโลก

\"นโยบายตปท.\" โจทย์ใหญ่ \"ว่าที่นายกฯคนที่30\"กำหนดจุดยืนบนเวทีโลกอย่างไร

ต้องหลุดพ้นกับดักวังวนการเมือง 

"ฉะนั้นไทยจะกำหนดบทบาทตนเองไว้ตรงไหน ในขณะที่เราติดกับดักอยู่กับการเมืองภายในตั้งแต่ปี 48 เป็นต้นมา ด้วยเหตุปัจจัย 4 ข้อได้แก่ 1.การเมืองไทยติดกับดักในบ้านตัวเองนานจนลืมไปว่าโลกภายนอกเปลี่ยนเร็ว 2.เมื่อเห็นปัญหาที่ติดอยู่ในบ้านจนละเลยว่ามี"โจทย์ชุดใหญ่"ที่อยู่ข้างนอกแล้วก็กระแทกเรา ผมต้องใช้คำว่ากระแทกนะ ไม่ได้กระทบอย่างที่เรารู้สึกเวลาที่ใช้ภาษาวิชาการ

3.โจทย์ภายนอกเคลื่อนเร็วและส่งผลกระทบใหญ่ต่อสถานะของทุกประเทศทั่วโลก อย่างกรณี"สงครามยูเครน" ใครจะคิดว่าไม่ใช่แค่สงครามในยุโรปแต่นำมาซึ่งวิกฤตเศรษฐกิจ วิกฤตอาหาร จะเห็นผู้นำจากแอฟริกาเดินทางเข้าพบสหภาพยุโรปแล้วกำลังเตรียมจะเดินทางจากโปแลนด์เข้าไปพบ"ซิลินสกี้"ที่คีฟ  เนื่องจากรัฐในแอฟริกาต้องพึ่งธัญพืชจากยูเครน

ผู้นำแอฟริกาชุดนี้ไปเจอปูตินมาเรียบร้อยเเล้วเขาต้องการให้สงครามจบเพราะไม่อย่างนั้นวิกฤตอาหารเป็นเรื่องใหญ่สำหรับพี่น้องในแอฟริกา แปลว่า โจทย์ชุดนี้"ตกลงใครจะเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศคนใหม่ของรัฐบาลไทยในอนาคต ได้คิดถึงประเด็นเหล่านี้หรือยัง" 

"ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ" กล่าวถึงหัวข้อที่4.ว่า ถ้าโจทย์เป็นอย่างนี้ การปรับท่าทีทางการทูตของไทยในเวทีภูมิภาคและเวทีโลกจะทำได้จริงแค่ไหน ต้องยอมรับก่อนว่า การปรับตัวของรัฐในด้านนโยบายต่างประเทศ อย่าคิดว่าปรับได้เร็วเพราะโจทย์ของเราเชื่อมกับรัฐมหาอำนาจใหญ่

ต่อให้เราอยากปรับ ถ้ารัฐมหาอำนาจใหญ่เขายังยืนอยู่ ยกตัวอย่าง เลือกตั้งเสร็จ รัฐบาลจีนเสนอขอซ้อมรบกับกองทัพไทยคุณจะตอบอย่างไร แปลว่า การปรับต้องแสวงหาคำตอบที่เป็นผลประโยชน์ที่ชัดสำหรับประเทศไทยในอนาคต

โดยเฉพาะอย่างยิ่งทั้งหมดพัวพันกับประเด็นเดียวข้อสุดท้าย แล้วตกลงในอนาคตเราจะเดินไปในทิศทางอย่างไรในเวทีโลก คำถามพวกนี้ เราเห็นชัดว่า ปี 48 แทบไม่มีเวทีในต่างประเทศพูดคุยเลยเพราะเรามีข้อจำกัดมาก

โจทย์ข้อต่อไป วันนี้เอเชียไม่ได้ใช้คำว่าเอเชียอย่างเดิมเเล้ว แต่จะได้ยินคำว่า"อินโด-แปซิฟิก"วันนี้มิติของการคิดในพื้นที่ทางรัฐศาสตร์จากเอเชีย-แปซิฟิกแบบเดิมแต่เมื่ออดีตประธานาธิบดีโดนัลดิ์ ทรัมป์ เปลี่ยนยุทธศาสตร์ใช้คำใหม่เป็น"อินโด-แปซิฟิก" ทำให้โจทย์ชุดนี้กำลังเปลี่ยนบริบทของเอเชียอีกแบบ

"คำถามในทางกลับกันประเทศไทยคิดอย่างไรกับ"อินโด-แปซิฟิก"จะจัดวางตัวเองอยู่ตรงไหน อย่างไร เพราะตั้งแต่"อดีตประธานาธิบดีทรัมป์"ประกาศนโยบายชุดนี้ หลายประเทศในเอเชียต้องเปิดเวทีสัมมนาใหญ่ในทางวิชาการเพื่อกำหนดทิศทางว่า จะวางบทบาทรัฐบาลกับ"โจทย์อินโด-แปซิฟิค"อย่างไรในอนาคต"

ศ.กิตติคุณ ดร. สุรชาติ บำรุงสุข  อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

เมื่อรัฐบาลรักษาการไม่เคยพูดถึง ขณะเดียวกันรัฐบาลใหม่ไม่รู้จะเริ่มบริหารเมื่อไหร่  สภาพการณ์แบบนี้ไม่เป็นสุญญากาศระหว่างประเทศหรือ

"ศ.กิตติคุณ ดร. สุรชาติ"  กล่าวว่า ไม่อยากใช้คำนั้นเลย เพราะน่ากลัว ใช้เเล้วเท่ากับตอบเราว่า วันนี้คือสุญญากาศการเมืองไทยอีกแบบ ซึ่ง 1 ในนั้นคือสุญญากาศการต่างประเทศ หรือฝั่งนักธุรกิจ  นักลงทุนอาจจะบอกว่าก็เป็นสุญญากาศทางเศรษฐกิจเพราะปีกที่ต้องลงทุน ปีกที่ต้องทำเรื่องเศรษฐกิจเขาก็ไม่รู้ว่าตกลงเอาอย่างไร วันนี้เราเปิดเวทีคุยอาจจะเกินกว่าประเด็นที่เป็นโจทย์ทุกวันในสื่อ 

อย่างไรก็ตาม"ศ.กิตติคุณ ดร. สุรชาติ" ยอมรับว่า เรายังไม่เห็นนโยบายที่ชัดเจนของรัฐบาลใหม่ แต่สำหรับรัฐบาลเก่ามีความชัด เพราะทิศทางนโยบายเห็นในเก้าปีที่ผ่านมา ทั้งทางด้านการเมืองการทหารแล้วในทางเศรษฐกิจการทหารชัดมาก คือ เรื่องการจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ 

เอาหล่ะ ผ่านไปแล้วก็ไม่ว่ากันแต่รอบนี้ผมว่าดีที่สุดคือทำการเมืองให้อยู่ในระบบแล้วหันมาร่วมมือด้วยกันทุกฝ่ายเพื่อทำให้การเมืองไทยมีเสถียรภาพแล้วก็มีระบบเกิดขึ้นเพราะเป็นอนาคตของประเทศด้วยกันทั้งหมด

รัฐบาลใหม่กำหนดนโยบายต่างประเทศอย่างไร

ส่วนที่มองกันว่า "พิธา" และ"พรรคก้าวไกล" วางนโยบายต่างประเทศเอนไปทางอเมริกาจะมีปัญหาต่อนโยบายความสัมพันธ์ระหว่างประเทศระหว่างชาติมหาอำนาจอย่างไร "ศ.กิตติคุณ ดร. สุรชาติ" กล่าวว่า  เราอาจต้องนั่งทำใจนิ่งๆสักนิดโดยข้อเท็จจริง เรายังไม่เห็นนโยบายของรัฐบาลใหม่ ถ้าจะพูดในความหมายของตัวรัฐบาล  การตั้งรัฐบาลยังไม่เกิดเป็นตัวเป็นตน สิ่งที่ชัดเจน ไม่ใช่นโยบายของพรรคก้าวไกลแต่จะเป็นนโยบายของรัฐบาลใหม่ 

"นักวิชาการท่านนี้" ยกตัวอย่างประเด็นที่เราเห็น เช่นปัญหาชายแดนภาคใต้ ซึ่งมีสามพรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาลเข้าไปเกี่ยว คำถามจะวางจุดยืนอย่างไร หรือแม้กระทั่งคำถามรอบหน้า ถ้ามีรัฐบาลใหม่ที่กรุงเทพ จะโหวตประณามรัสเซียในสงครามยูเครนหรือไม่ นี่คือ โจทย์ใหญ่

"วันนี้ฝั่งแอฟริกาบางส่วนเริ่มเปลี่ยนท่าทีในการโหวตประณามรัสเซียจากเดิมที่เป็นกลาง นี่ของเราถ้าเปลี่ยนรัฐบาลต่างประเทศจะจับตาดูทันทีว่าถ้ามีโหวตในยูเอ็นการลงเสียงรอบหน้า รัฐบาลไทยจะโหวตอย่างไร ก็แปลว่ามีประเด็นต้องคิดแล้ว"

"เราวางตัวเป็นกลาง เราขอสงวนความคิดเห็น คือเป็นภาษาที่แทบจะไม่ตอบอะไร คำว่าวางตัวเป็นกลาง การไม่ลงเสียงในเวทีโลกไม่ใช่เป็นกลาง ซึ่งผมว่า คนไทยเข้าใจผิด เอาหล่ะมีฝั่งตะวันตกโหวตประณามฝั่งที่ Support รัสเซียโหวตค้านไม่รับอีกกลุ่มหนึ่ง แต่มีอีกกลุ่มหนึ่งคือไม่ลง พอไม่ลงถูกตีความในเวทีโลกด้วยสองกระแส

"หนึ่งคุณโหวตตามจีนหรือโหวตในกระแสแอฟริกา แอฟริกาวางตัวเป็นกลางเพราะปัญหาธัญพืชเค้าต้องพึ่งธัญพืช พึ่งปุ๋ย พึ่งอะไรต่างๆหลายอย่างจากทางรัสเซียและยูเครนเขาไม่ต้องการมีปัญหาแต่ในบริบทของพวกเราในเอเชียจะถูกตีความว่าการที่โหวตเป็นกลางอย่างนี้เราเดินตามจีนหรือเปล่าแปลว่าในเวทีโลกเขาไม่ได้ตีความว่าเราเป็นกลางนี่คือตัวอย่างของปัญหา"

การบ้านรอรัฐบาลใหม่

"ศ.กิตติคุณ ดร. สุรชาติ" กล่าวว่า ถ้าเกิดมีการโหวตในยูเอ็น โจทย์นี้เข้ามาแน่ๆ หรือเฉพาะหน้าถ้ามีการโหวตประณามรัฐบาลเมียนมาร์ในเวทีอาเซียนรัฐบาลไทยจะทำอย่างไร ใช่ไหมหลังจากรัฐประหารในเมียนมาร์ ผมว่าเราเห็นท่าทีรัฐบาลไทยมีลักษณะซอฟท์  คือ ค่อนข้างเป็นมิตร ซึ่งผมว่า"รัฐบาลก้าวไกล"จะฉีกไปอีกทาง คำถามหนึ่งที่คุยกันตอนต้นว่าแม้จะผลักนโยบายไปอีกทางได้ก็จริง แต่การปรับตัวด้านต่างประเทศอาจจะมีเงื่อนเวลาพอสมควร แปลว่าเราอาจปรับนโยบายไม่มีลักษณะที่ซอฟท์ หรือเป็นมิตรกับรัฐบาลทหารในเมียนมาร์มากเกินไป แต่จะมีคำถามคาอยู่แล้ว ตกลงไทยจะวางนโยบายอย่างไรก็ยังเป็นคำถาม

"วันนี้ถ้าเราสังเกตบทบาทเรื่องการแก้ปัญหาความรุนแรงในเมียนมาร์หลังรัฐประหาร บทบาทไปตกอยู่กับรัฐมนตรีต่างประเทศของอินโดนีเซียพูดง่ายๆ คือ อินโดนีเซีย ทั้งระดับประธานาธิบดีและรัฐมนตรีเข้ามาเล่นและก็มีบทบาทค่อนข้างมาก คราวนี้ในส่วนของประเทศไทยมีคำถามจะเปลี่ยนหรือไม่ ถ้าเปลี่ยน เปลี่ยนแค่ไหนเป็นสองประเด็นเฉพาะหน้าที่ยังไม่พูดในรายละเอียด"

"โจทย์พวกนี้ ไม่ใช่แค่โจทย์เรื่องการโหวตสงครามยูเครน ยังมีโจทย์เมียนมาร์มารอ แล้วก็มีโจทย์ที่พ่วงเข้ามานั่นคือวิกฤติช่องแคบไต้หวันปัญหาในทะเลจีนใต้ก็มารออยู่อีกเหมือนกัน"

ไม่ต้องพูดเรื่องเศรษฐกิจจากเงื่อนไขสงครามยูเครน ผลกระทบจากโควิดซึ่งยังไม่จบ ผลกระทบจากสงครามยูเครนซึ่งยังเป็นปัญหาใหญ่ ในสายนักวิชาการหลายส่วน เชื่อว่า วิกฤตไม่ได้อยู่ที่ปี 2022 หรือปี 65 แต่วิกฤตอยู่ที่ปี 66 เพราะผลพวงจากปัญหาปี65 จะตกใส่ปี66

\"นโยบายตปท.\" โจทย์ใหญ่ \"ว่าที่นายกฯคนที่30\"กำหนดจุดยืนบนเวทีโลกอย่างไร

อ่านใจว่าที่ผู้นำประเทศต่อการกำหนดนโยบายต่างประเทศ

"ศ.กิตติคุณดร.สุรชาติ" กล่าวว่า มีความเป็นไปได้ที่เขาคงปรับนโยบาย ที่ผมตั้งคำถามว่าการปรับโดยเฉพาะอย่างยิ่งนโยบายใหญ่ๆหลายส่วนคิดเองด้านเดียวไม่ได้ เพราะว่าเราดีลกับ 2,3 มหาอำนาจใหญ่คู่ขนาน เราไม่ได้ดีลฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง แต่มีตัวละครใหญ่พูดกันตรงๆ มีตัวยักษ์ใหญ่หรือพี่เบิ้มอยู่ในภูมิภาคทั้งสองฝ่าย คือ ในการปรับจึงอยู่ฝั่งใดฝั่งหนึ่งไม่ได้ เราก็จะบอกว่าปรับต้องให้เกิดสมดุลย์แต่เอาเข้าจริงๆทางปฏิบัติแค่ไหนอย่างไร

"ศ.กิตติคุณ ดร. สุรชาติ" กล่าวว่า สำหรับปัญหาเฉพาะหน้า 1.อะไรคือตัวนโยบายที่จะปรับ 2.ใครคือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศคนใหม่ แน่นอนไม่ใช่"คุณดอน" เพราะถ้าเป็น"คุณดอน"หรือเป็นรัฐบาลเดิม ผมพูดเสมอว่าเราเดาได้เพราะทิศทางนโยบายเก้าปีให้คำตอบพอสมควรแต่พอเป็น"รัฐบาลใหม่"เราอยากเห็นไม่ใช่เฉพาะแค่ตัวนโยบาย ตัวบุคคลที่จะต้องเป็นคนนำนโยบายไปสู่การปฏิบัติจริง

"อย่างที่ผมพูดเสมอว่าการปรับนโยบาย เราจะปรับบนเงื่อนไขของรัฐ ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับ 2 รัฐมหาอำนาจใหญ่หรืออาจจะ 3 ด้วยซ้ำ ทั้งสหรัฐ จีน รัสเซีย เพราะวันนี้รัสเซียเป็นแหล่งธุรกิจใหญ่สำหรับเราในการท่องเที่ยว ใครไปภูเก็ตจะเห็นนักท่องเที่ยวรัสเซียเยอะขึ้น ในขณะที่ป้ายต้อนรับที่สนามบินเป็นป้ายต้อนรับภาษาจีนน่าแปลกครับ

นโยบายว่าที่รัฐบาลใหม่ เกี่ยวกับเหตุการณ์ทางภาคใต้ 

"ศ.กิตติคุณดร.สุรชาติ"  กล่าวว่า คงต้องรอดูอีกระยะหนึ่ง แต่ถ้าดูจากนโยบายที่ใช้ตอนหาเสียง นโยบายภาคใต้อยู่ในส่วนของการปฏิรูปกองทัพเรื่องถอนทหารออกจากภาคใต้ สมมุติมองภาพใหญ่แล้วปีกพวกนี้ขึ้นมาเป็นรัฐบาลคำถามพื้นๆคือตกลงรัฐบาลใหม่จะทำนโยบายภาคใต้อย่างไร

"สิ่งที่เราอยากเห็นตัวนโยบายจริงๆเพราะเมื่อเป็นรัฐบาลแล้วต้องทำนโยบายในนามรัฐบาลผสม คิดฝั่งเดียวไม่ได้ วันนี้เราเห็นทันทีว่า 3 พรรคที่เข้าไปเป็นแขกรับเชิญในเวทีนักศึกษาตกลง 3 พรรคตอบรับนโยบายอย่างนั้นหรือไม่"

\"นโยบายตปท.\" โจทย์ใหญ่ \"ว่าที่นายกฯคนที่30\"กำหนดจุดยืนบนเวทีโลกอย่างไร

เมื่อเป็นรัฐบาลจริงๆ อาจต้องชั่งน้ำหนัก เพราะสถานการณ์ในภาคใต้มีทั้งปัญหาความมั่นคง ปัญหาเศรษฐกิจ ปัญหาการเมือง และปัญหาที่อยู่นอกเวทีคือปัญหาอาชญากรรมบางเรื่องเช่นกรณีน้ำมันเถื่อน เมื่อเป็นรัฐบาลแล้วต้องเห็นภาพรวมของปัญหา เห็นเพียงเศษเสี้ยวปัญหาหนึ่งไม่ได้ แล้วที่สำคัญคือพื้นที่ ที่อยู่ร่วมกันทั้งพี่น้องมุสลิมและพี่น้องไทยพุทธ

"ฉะนั้น มีคำเตือนอย่างเดียวสำหรับรัฐบาลใหม่ ต้องคิดปัญหาภาคใต้ด้วยความละเอียดอ่อนและรอบคอบ" ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ กล่าวทิ้งท้าย 
 

logoline