svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

นายกฯ ลั่นไม่อาจเพิกเฉยต่อหน้าที่ได้ "ทุกข์ของประชาชน คือทุกข์ของผม"

"ประยุทธ์" โพสต์ "ทุกข์ของประชาชน คือทุกข์ของผม" ลั่น’ไม่อาจละเลย เพิกเฉย ในการทำหน้าที่ให้ดีที่สุด เพื่อประเทศชาติและปชช.

14 มิถุนายน 2566 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีกลาโหม โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก โดยระบุข้อความว่า  พี่น้องประชาชนชาวไทยที่รักครับ

การสร้างความเป็นธรรมในสังคมไทย ถือเป็นโจทย์ใหญ่ที่ผมยึดมั่นว่าจะต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่อง โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ซึ่งในวันนี้ผมมีความยินดีที่จะแจ้งว่า เรามีความคืบหน้าอย่างมาก บรรลุการแก้ปัญหา "การขายฝาก" ที่ไม่ชอบธรรม  เพื่อคุ้มครองพี่น้องประชาชนและเกษตรกร ไม่ให้ถูกเอารัดเอาเปรียบ ใช้ช่องว่างทางกฎหมาย พรากที่ดิน-ที่ทำกิน-ที่อยู่อาศัยไป เพราะความไม่เข้าใจกฎหมาย หรือโดนกลโกง ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้

1. ปัญหาการสูญเสียกรรมสิทธิ์ในที่ดิน-ที่อยู่อาศัยในอดีต มักเกิดจาก...

(1) ประชาชน/เกษตรกรที่เดือดร้อนเรื่องเงิน มักเลือกทำ/ถูกโน้มน้าวให้ทำ  "สัญญาขายฝาก" เพื่อแลกกับเงินจำนวนมากกว่า "สัญญาจำนอง"  แต่เสี่ยงที่จะสูญเสียที่ดินไปง่ายกว่า เพราะต้องส่งมอบทรัพย์สิน/กรรมสิทธิ์ให้ผู้รับซื้อฝากทันที โดยไม่สามารถใช้ประโยชน์จากที่ดิน-ที่อยู่นั้นได้ จนกว่าจะไถ่คืนจนครบจำนวน

นายกฯ ลั่นไม่อาจเพิกเฉยต่อหน้าที่ได้ \"ทุกข์ของประชาชน คือทุกข์ของผม\"

(2) ผู้รับซื้อฝากที่ไม่ซื่อสัตย์ มักใช้กลโกง ในการบ่ายเบี่ยง ไม่รับการจ่ายหนี้ ไม่รับการไถ่ถอน จนประชาชน/เกษตรกร "ผู้ขายฝาก" กลายเป็นผู้ผิดสัญญา  แล้วถูกยึดทรัพย์ขายฝาก หรือไม่ก็ไม่ยอมคืนกรรมสิทธิ์/โฉนดนั้น อย่างไร้เหตุผล แม้จะชดใช้หนี้จนครบแล้วก็ตาม

(3) กฎหมายขายฝาก "ฉบับเดิม" ไม่สามารถคุ้มครองทรัพย์สินของประชาชน/เกษตรกรที่ไม่รู้เท่าทัน ไม่เข้าใจกฎหมายขายฝาก-จำนอง จึงเป็นปัญหาเรื้อรังในสังคมของเราตลอดมา

2. แนวทางการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืนของรัฐบาล คือ การปรับปรุงกฎหมาย-ระเบียบที่เกี่ยวข้อง ที่มุ่งเน้นไปยังกลุ่มเป้าหมาย ที่มักเป็น "เหยื่อ" จากการขายฝากที่ฉ้อฉล ได้แก่
(1) กฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองประชาชนในการทำสัญญาขายฝาก ที่ดินเพื่อเกษตรกรรม หรือที่อยู่อาศัย พ.ศ.2562 และ "ฉบับที่ 2" พ.ศ.2566 

(2) ระเบียบกรมที่ดิน ว่าด้วยการวางทรัพย์อันเป็นสินไถ่ ณ สำนักงานที่ดิน  ตามคำแนะนำของคณะกรรมการพัฒนากฎหมาย  

ตลอดจนสร้างกลไกในการทำงานของสำนักงานที่ดิน เช่น ปรับปรุงหลักเกณฑ์-วิธีการที่เกี่ยวเนื่องกับการขายฝาก, เพิ่มช่องทางการให้บริการ, จัดทำคู่มือและอบรมเจ้าหน้าที่เพิ่มเติม, ทำฐานข้อมูลสัญญาขายฝาก-ผู้ขายฝาก-ผู้รับซื้อฝาก เป็นต้น

3. ผลทางการปฏิบัติที่ปิดจุดอ่อนกฎหมายขายฝากในอดีต โดยยึดหลักการสำคัญ คือ เมื่อ "ผู้ขายฝาก" จ่ายหนี้ครบ สามารถเอาที่ดินคืนได้ทันที แม้ "ผู้ซื้อฝาก" จะไม่ยอมคืนโฉนดก็ตาม ซึ่งมีวิธีการปฏิบัติดังนี้
(1) เมื่อผู้ขายฝากได้ชำระหนี้ หรือวางทรัพย์ที่สำนักงานที่ดินครบแล้ว
(2) เจ้าพนักงานจะมีหนังสือแจ้งผู้ซื้อฝาก ให้มารับเงิน และนำเอกสารสิทธิ์(โฉนด) มา "จดทะเบียนไถ่" จากการขายฝาก
(3) ถ้าผู้ซื้อฝากไม่มาติดต่อ หรือมา แต่ไม่นำเอกสารสิทธิ์มาด้วย ภายใน 30 วัน (นับแต่วันที่ได้รับแจ้ง) เจ้าพนักงานสามารถออก "ใบแทนเอกสารสิทธิ์" ให้แก่ผู้ขายฝากได้ทันที

ทั้งนี้ ผมขอชื่นชมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในความมุ่งมั่นสร้างสังคมที่เป็นธรรม บำบัดทุกข์บำรุงสุขให้กับพี่น้องประชาชนทุกคน ด้วยการแปลงนโยบายของผม และของรัฐบาล ให้บรรลุผลสำเร็จในทางปฏิบัติได้ในที่สุด ซึ่งผมถือว่า "ทุกข์ของประชาชน ก็คือทุกข์ของผม" ดังนั้น ผมและข้าราชการทุกคน จากทุกหน่วยงาน จึงไม่อาจละเลย เพิกเฉย ในการทำหน้าที่ให้ดีที่สุด เพื่อประเทศชาติและประชาชนครับ