svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

"อินทัช" แจ้ง "ไอทีวี" ตรวจสอบข้อเท็จจริงปมบันทึกการประชุมผู้ถือหุ้น

12 มิถุนายน 2566
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

"อินทัช" ออกหนังสือแจ้ง กรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย มอบหมายให้"ไอทีวี"ตรวจสอบข้อเท็จจริงปม บันทึกรายงานการประชุมผู้ถือหุ้น ที่ตกเป็นข่าวแล้ว

12 มิถุนายน 2566   สืบเนื่องจากเมื่อค่ำวันที่ 11 มิถุนายนที่ผ่านมา  ข่าวสามมิติ ทางสถานีโทรทัศน์ช่อง 3 ได้เผยแพร่รายงานข่าว การประชุมผู้ถือหุ้น บริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) โดยในรายการเป็นการเปิดคลิปการประชุม มีผู้ถือหุ้นรายหนึ่งถามว่า "บริษัทไอทีวี มีการดำเนินการด้านสื่อหรือไม่"

โดยคำตอบจากประธานในที่ประชุม ระบุว่า "ตอนนี้บริษัทยังไม่มีการดำเนินการใดๆ รอผลในคดีให้สิ้นสุดก่อน" ซึ่งสวนทางกับเอกสารการประชุมที่เผยแพร่ออกมาก่อนหน้านี้ ระบุคำตอบของประธานฯ ว่า "บริษัทยังดำเนินการอยู่ ตามวัตถุประสงค์ของบริษัท" จนเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ในตอนนี้

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2566  "นายคิมห์ สิริทวีชัย"  กรรมการผู้อำนวยการ บริษัทอินทัช โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) ได้ลงนามในหนังสือถึง กรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศ  เรื่อง แจ้งกรณีที่เป็นข่าวของบมจ.ไอทีวี ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของบริษัท 

โดยมีเนื้อหา ระบุว่า  ตามที่มีข่าวที่เกี่ยวข้องกับ บริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน ) (ไอทีวี ) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่บริษัท อินทัช โฮลดิ้งส์ จำกัด(มหาชน) (บริษัท) ถือหุ้นอยู่ในสัดส่วนร้อยละ 52.92 ปรากฎตามสื่อต่างๆที่เกี่ยวข้องกับการประชุมผู้ถือหุ้นของไอทีวีที่ผ่านมา  ซึ่งเป็นที่สนใจต่อสาธารณชนจำนวนมากในขณะนี้ 

ทางบริษัทได้รับทราบข้อมูล และได้ให้ทางคณะกรรมการและฝ่ายจัดการของไอทีวี ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงในประเด็นดังกล่าวที่เกิดขึ้นและหากมีประเด็นใดๆ ที่จะต้องดำเนินการให้สอดคล้องกับข้อเท็จจริง ทางไอทีวีจะดำเนินการให้เร็วที่สุด เพื่อให้มีความโปร่งใสเป็นไปตามหลักธรรมาภิบาลและกฎหมายต่างๆที่เกี่ยวข้อง 

 

\"อินทัช\" แจ้ง \"ไอทีวี\" ตรวจสอบข้อเท็จจริงปมบันทึกการประชุมผู้ถือหุ้น

 

อย่างไรก็ตาม เมื่อช่วงดึกคืนวันเดียวกัน "นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร" ว่าที่ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ และแกนนำพรรคก้าวไกล โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กและทวิตเตอร์ถึงกรณีดังกล่าว เรียกร้องให้ "ไอทีวี" ชี้แจงกรณีนี้อย่างเร่งด่วน โดยระบุว่า ตามที่ข่าวสามมิติ จะมีการเปิดคลิปวิดีโอบันทึกการประชุมผู้ถือหุ้นไอทีวี ประจำปี 2566 พบประเด็นสำคัญ ในคำถามที่ถามโดยผู้ถือหุ้นว่า บริษัทไอทีวี มีการดำเนินงานเกี่ยวกับสื่อหรือไม่ ปรากฎว่าคลิปวิดีโอ ที่ตอบโดยนายคิมห์ สิริทวีชัย ประธานคณะกรรมการบริษัท ในฐานะประธานในที่ประชุม ตอบอย่างชัดเจนว่า "ตอนนี้บริษัทยังไม่มีการดำเนินการใดๆ นะครับ  ก็รอผลคดีความให้สิ้นสุดก่อนนะครับ" แต่ในรายงานการประชุมผู้ถือหุ้น ที่ลงนามโดยนายคิมห์ สิริทวีชัย ประธานในที่ประชุม กลับบันทึกว่า "ปัจจุบันยังดำเนินกิจการอยู่ ตามวัตถุประสงค์ของบริษัท และมีการส่งงบการเงิน และยื่นแบบภาษีเงินได้นิติบุคคลตามปกติ"

จึงเป็นประเด็นข้อสงสัย ที่ "บริษัทไอทีวี" ต้องชี้แจงต่อสังคมว่า ทำไมรายงานการบันทึกการประชุม ถึงไม่ตรงกับคำตอบ ที่ประธานฯ ตอบในที่ประชุม ใครเป็นคนสั่ง ใครเป็นผู้บงการ ให้ทำรายงานการประชุมแบบนี้ และที่สังคมต้องตั้งคำถามต่อก็คือ พฤติการณ์แบบนี้ เข้าข่ายการทำรายงานการประชุมผู้ถือหุ้นเท็จ เพื่อใช้เป็นเหตุกลั่นแกล้งให้บุคคลอื่นต้องโทษคดีอาญา หรือไม่ ประธานคณะกรรมการบริษัท และกรรมการผู้สอบทานและแก้ไขรายงานการประชุม ตลอดจนคณะกรรมการท่านอื่นๆ จะรับผิดชอบต่อกรณีนี้อย่างไร

"นายวิโรจน์" ระบุด้วยว่า ไอทีวี ควรต้องเร่งชี้แจงข้อสงสัยต่างๆ ข้างต้น ให้สังคมทราบโดยกระจ่าง จะเงียบเนียนไม่ได้ครับ เพราะการกระทำในลักษณะนี้ อาจเข้าข่ายการกระทำความผิดในมาตรา 216 ของ พ.ร.บ.บริษัทมหาชนจำกัด ซึ่งมีโทษจำคุกถึง 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 1 ล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ขณะที่"นายกรุณพล เทียนสุวรรณ" รองโฆษกพรรคก้าวไกล ทวิตข้อความผ่านทวิตเตอร์ ว่า ในวันที่ 12 มิ.ย. 2566 ที่พรรคก้าวไกล จะมีการแถลงข่าวเรื่องดังกล่าว โดยขอบคุณผู้หวังดีที่ช่วยกันลากไส้กลุ่มอำนาจที่เกาะกินประเทศนี้ ที่ทำทุกทางเพื่อรักษาอำนาจและผลประโยชน์ของตัวเองและพวกพ้อง  ถึงเวลาที่ความจริงจะไล่ล่าและขุดเอาข้อมูลทั้งหมดออกมาเปิดเผยว่าใครอยู่เบื้องหลังเรื่องนี้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พระราชบัญญัติ บริษัทมหาชนจำกัด พ.ศ. 2535 มาตรา 94  กรรมการต้องรับผิดร่วมกันเพื่อความเสียหายใด ๆ อันเกิดขึ้นแก่ผู้ถือหุ้นและบุคคลซึ่งเกี่ยวข้องกับบริษัทในกรณีดังต่อไปนี้ เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าตนมิได้มีส่วนในการกระทำความผิดนั้นด้วย

(1) การแจ้งข้อความอันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อความอันควรต้องแจ้งเกี่ยวกับฐานะการเงินและผลการดำเนินงานของบริษัทในการเสนอขายหุ้นหุ้นกู้หรือตราสารการเงินของบริษัท

(2) การแสดงข้อความหรือลงรายการในเอกสารที่ยื่นต่อนายทะเบียนโดยข้อความหรือรายการนั้นเป็นเท็จ หรือไม่ตรงกับบัญชี ทะเบียน หรือเอกสารของบริษัท

(3) การจัดทำงบดุลและบัญชีกำไรขาดทุน รายงานการประชุมผู้ถือหุ้นหรือรายงานการประชุมคณะกรรมการอันเป็นเท็จ

มาตรา 216 บุคคลใดซึ่งรับผิดชอบในการดำเนินงานของบริษัทใด กระทำหรือยินยอมให้กระทำการดังต่อไปนี้

(1) ทำให้เสียหาย ทำลาย เปลี่ยนแปลง ตัดทอน หรือปลอมบัญชี เอกสาร หรือหลักประกันของบริษัท หรือที่เกี่ยวกับบริษัท หรือ

(2) ลงข้อความเท็จ หรือไม่ลงข้อความสำคัญในบัญชีหรือเอกสารของ บริษัท หรือที่เกี่ยวกับบริษัท ถ้ากระทำหรือยินยอมให้กระทำเพื่อลวงให้บริษัทหรือผู้ถือหุ้นขาดประโยชน์ อันควรได้ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งล้านบาท หรือ ทั้งจำทั้งปรับ

logoline