โดยมาจากการอ้าง “สิทธิในการกำหนดอนาคตตนเอง” หรือ Self Determination ตามมติสมัชชาใหญ่สหประชาชาตินั้น กลายเป็นเรื่องการเมืองโดยสมบูรณ์แล้ว โดยมีการกล่าวอ้างซัดทอดกันไปมาว่าเป็นฝีมือของคู่แข่งทางการเมืองที่ต้องการดิสเครดิต
งานนี้ถูกมองเป็นเรื่อง “การเมือง” เพราะในเวทีที่จัดกิจกรรม “ประชามติแยกดินแดน” เมื่อวันที่ 7 มิถุนายน มีสมาชิกพรรคการเมืองระดับแกนนำไปร่วม 2 คน โดยเป็น 2 พรรคจาก 8 พรรคว่าที่รัฐบาลชุดใหม่ด้วย คือ พรรคเป็นธรรม กับพรรคประชาชาติ
พรรคเป็นธรรม คือ "ฮากิม พงติกอ" รองเลขาธิการพรรค ส่วนพรรคประชาชาติ มี "อาจารย์วรวิทย์ บารู" รองหัวหน้าพรรค และว่าที่ ส.ส.ปัตตานี งานนี้มีการถอดเทปสิ่งที่ทั้งสองท่านพูดบนเวทีเสวนา ปรากฏว่าแสดงท่าทีสนับสนุน “การกำหนดอนาคตตนเอง” หรือ “สิทธิในการกำหนดใจตนเอง” อย่างคึกคึก แข็งขัน ถึงขั้นรับรองว่าเป็น “นโยบายพรรค” ของทั้งสองพรรคด้วยซ้ำ
แต่เมื่อเกมพลิก ฝ่าย "กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า" ประกาศดำเนินคดี ทำให้ อาจารย์วรวิทย์ ออกมาบอกว่า ไม่รู้เรื่องการทดลองทำประชามติ แค่ไปพูดเชิงวิชาการ และเป็นเวทีที่คนโหรงเหรงมาก ไม่ค่อยมีใครสนใจ
ส่วนพรรคเป็นธรรม "กัณวีร์ สืบแสง" เลขาธิการพรรค ที่เคยถูกตั้งคำถามว่า สืบเชื้อสายจากปัตตานีจริงหรือไม่ ก็ออกมาปฏิเสธว่า พรรคเป็นธรรมไม่ได้สนับสนุน “ประชามติแยกดินแดน” แค่อยากให้รับรองความปลอดภัย “เสรีภาพในการแสดงความเห็น”
ทางฝั่ง "พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง" เลขาธิการพรรคประชาชาติ ออกมาอธิบายเรื่องที่เกิดขึ้นว่า ทางพรรคไม่ใช่ต้นคิดจัดกิจกรรมครั้งนี้ แต่ได้รับเชิญจากผู้จัด มีหนังสือเชิญชัดเจน เชิญมาที่หัวหน้าหรือเลขาธิการพรรค แต่ทางพรรคได้ส่ง "อาจารย์วรวิทย์" เป็นตัวแทนไป เนื่องจากเป็นว่าที่ ส.ส.เขต 1 ปัตตานี พื้นที่มหาวิทยาลัยที่จัดงาน และยังเคยเป็นรองอธิการบดี ม.อ.ปัตตานี ด้วย
พ.ต.อ.ทวี พูดเอาไว้แค่นี้ และย้ำว่า เป็นเวทีวิชาการจริง ๆ เนื่องจากมี อาจารย์ มารค ตามไท อดีตหัวหน้าคณะพูดคุยเจรจาดับไฟใต้ในยุครัฐบาลคุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นวิทยากรหลัก (จริงๆ คือใช้การซูมเข้ามาบรรยาย)
ส่วนข่าวเชิงลึก ไม่ใช่ข่าวจาก พ.ต.อ.ทวี แต่เป็นข่าวจากพรรคประชาชาติว่า ประธานขบวนการนักศึกษาแห่งชาติ โต้โผที่จัดงานนี้ เป็นลูกชายของ “นักการเมืองดังของพื้นที่” และปัจจุบันสังกัดพรรครัฐบาลรักษาการ มี ส.ส.ในพื้นที่ชายแดนใต้ เชื่อว่าเป็นเกมทำลายเครดิตพรรคร่วมรัฐบาล 8 พรรค เพราะพรรคการเมืองนี้อยู่ตรงกันข้ามกับพรรคประชาชาติ โดยเฉพาะนโยบายกัญชาที่พรรคประชาชาติขัดขวาง
พูดมาขนาดนี้ บอกชื่อเลยก็ได้ คือ นัจมุดดีน อูมา แม่ทัพนราธิวาสของพรรคภูมิใจไทย พาพรรคสู้ศึกเลือกตั้ง ได้ ส.ส.มา 1 คน ที่นราธิวาส และเจ้าตัวลง ส.ส.บัญชีรายชื่อ แต่ไม่ได้รับเลือกตั้ง
“ข่าวข้นคนข่าว” สอบถามไปยัง นัจมุดดีน ได้คำตอบว่า เป็นเรื่องของเยาวชน ตนไม่ทราบรายละเอียด และไม่อยากพูดอะไรในเรื่องนี้ โดยเฉพาะที่พยายามโยงเป็นเรื่องการเมือง
มีรายงานจากฝ่ายการเมืองในพื้นที่ยืนยันว่า นัจมุดดีน ไม่ได้อยู่เบื้องหลังกิจกรรมนี้ มิฉะนั้นคงไม่ให้ลูกชายออกหน้า แต่เบื้องหลังเป็นพรรคการเมืองพรรคอื่นใน 8 พรรคร่วมรัฐบาลนั่นเอง โดยให้สังเกตบางพรรคมีชื่อแกนนำไปร่วม แต่สุดท้ายไม่ได้ไปร่วมแบบกะทันหัน เหมือนรู้ล่วงหน้า หรือเป็นแผนลวงอะไรหรือไม่ ทำให้พรรคอื่นโดนถล่มแทน ฝ่ายการเมืองในพื้นที่ ยังให้ข้อมูลถึง รายชื่อแกนนำนักศึกษาที่ร่วมงาน ได้แก่
ชื่อแรก (เปิดเผยไม่ได้) เป็นประธานขบวนนักศึกษาแห่งชาติ เป็นลูกชายนักการเมืองดังชายแดนใต้ พรรครัฐบาลรักษาการ กล่าวข้างต้นไปแล้วคือ คุณนัจมุดดีน อูมา แต่เจ้าตัว และฝ่ายการเมืองในพื้นที่ ยืนยันว่าไม่ได้เกี่ยวข้อง
ชื่อที่ 2 (เปิดเผยไม่ได้) เป็นหลานชายว่าที่ ส.ส.ปัตตานี พรรคการเมืองเก่าแก่ ซึ่งเคยครองพื้นที่ชายแดนใต้ แต่ปัจจุบันเหลือ ส.ส.แค่คนเดียว
ชื่อที่ 3 (เปิดเผยไม่ได้) เป็นหลานชายหัวหน้าพรรคขวัญใจคนชายแดนใต้ กวาด ส.ส.เป็นกอบเป็นกำ แต่กลับไม่ถูกพูดถึง
ฉะนั้นถ้าจะมองว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องการเมือง ก็ต้องโยงหลายพรรค ไม่ใช่โยงภูมิใจไทยพรรคเดียว
"พล.อ.เอกนิษฐ์ หมื่นสวัสดิ์" สมาชิกวุฒิสภา และอดีตรองแม่ทัพภาคที่ 4 พูดถึงเบื้องหลังคนขับเคลื่อนกิจกรรม ได้บอกว่า เข้าใจว่าเยาวชน นักศึกษาที่จัดกิจกรรม อาจจะได้รับความกดดัน และรู้สึกอึดอัดกับสถานการณ์มานาน สมมติน้อง ๆ เหล่านี้เกิดปี 2547 ปัจจุบันอายุ 19 ปี ก็เรียกว่าอยู่ในความรุนแรงมาตลอด เพราะไฟใต้ปะทุปี 2547 จึงอาจต้องการแสดงความรู้สึก เพราะดูเหมือนสิ้นหวังกับสันติสุข ปัญหายืดเยื้อยาวนานเกินไป
แต่สิ่งที่แสดงออกมากลับล้ำเส้น ผิดกฎหมาย โดยไม่มีใครเตือน จึงเชื่อว่าต้องมีคนยุ ใช้เด็กเป็นเครื่องมือ ทราบว่ามีนักวิชาการจากบางมหาวิทยาลัย และพรรคการเมืองบางพรรคอยู่เบื้องหลัง