svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

เกมโอนหุ้น "พิธา" อยู่หรือไป - "กูรู" เสียงแตก 

08 มิถุนายน 2566
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ยังคงเป็นคำถามสำหรับกรณีการถือหุ้นไอทีวี ของ "พิธา ลิ้มเจริญรัตน์" แม้จะออกมาแจงร่ายยาวถึงรายละเอียดต่างๆ แต่สุดท้ายดูเหมือนจะยังเคลียร์ปมสงสัยยังไม่หมด ขณะที่"กูรู"ยังเสียงแตก เกมนี้สุดท้าย "หัวหน้าพรรคก้าวไกล"จะอยู่หรือไป

ตกเป็นที่จับตาต่อคำร้องของ"เรืองไกร ลีกิจวัฒนะ" ส่งให้กกต.ตรวจสอบ "พิธา  ลิ้มเจริญรัตน์" ถือครองหุ้นสื่อ เข้าข่ายขัดคุณสมบัติลงสมัครรับเลือกตั้งส.ส. หรือไม่ อีกทั้งผู้ถูกร้อง เป็นบุคคลที่ได้รับการสนับสนุนให้ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี คนที่ 30 ของประเทศ จะมีบทสรุปอย่างไร 

บรรดานักกม.ต่างออกมาให้ความเห็นออกไปในหลายทิศทาง ยิ่งล่าสุด "พิธา" ได้ออกมาโพสต์ข้อความชี้แจงการโอนหุ้นเจ้าปัญหาไปให้ทายาทแล้ว ทำให้นักกฎหมายมองพฤติการณ์ของ"พิธา"ไปในหลายทิศทาง 

เรืองไกร ลีกิจวัฒนะ สมาชิกพรรคพลังประชารัฐ 

"เรืองไกร ลีกิจวัฒนะ"  สมาชิกพรรคพลังประชารัฐ  คู่กรณีของ"พิธา" แม้ไม่ได้เป็นคู่กรณีกันโดยตรง แต่เป็นคนยื่นคำร้องพร้อมพยานหลักฐานอีกหลายระลอกส่งให้ กกต. เกี่ยวกับ “หุ้นไอทีวี” 

- ต้องขอบคุณ"พิธา"ที่โพสต์ชี้แจงเป็นลายลักษณ์อักษร  

-ถือเป็นคำชี้แจงจากเจ้าตัวในฐานะ “ผู้ถูกร้อง” เอง ไม่ใช่ให้คนอื่นพูดแทน จึงถือว่ามีน้ำหนัก

-เนื้อหาที่ชี้แจงยังตอบคำถามไม่ได้ทั้งหมด แต่ออกตัวว่า "เราไม่ใช่คนมีอำนาจตัดสิน" 

-คำชี้แจงทั้งหมด ไม่ได้ระบุวันที่โอนหุ้นให้ทายาท และไม่ได้ระบุวันที่แจ้งข้อมูลกับ ป.ป.ช. ทั้งๆ ที่เป็นหลักฐานสำคัญ

-การอ้างสถานะไอทีวีว่าไม่ได้ประกอบกิจการสื่อแล้ว เพราะสัมปทานกลับไปเป็นของ สปน. ต้องรอศาลพิจารณาว่าฟังขึ้นหรือไม่ ซึ่งใช้วิธีคล้ายๆ การชี้แจงเรื่องการโอนหุ้นของนายธนาธร 

-ในขั้นตอนการพิจารณาของศาล น่าจะเรียกทายาทมาสืบพยาน 

 

สมชัย ศรีสุทธิยากร  อดีตกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)

โอนหุ้นพ้นตัว ไม่ส่งผลต่อคดี 

"สมชัย ศรีสุทธิยากร" อดีต กกต. โพสต์ข้อความก่อนที่"พิธา"ชี้แจงในเฟซบุ๊ก มีประเด็นน่าสนใจไม่แพ้กัน 

-การโอนหุ้นหลังการสมัคร ส.ส. ไม่ส่งผลต่อรูปคดี เพราะหากการถือหุ้นผิด ก็ยังคงผิด หากไม่ผิดก็คือไม่ผิด

-การขายหรือโอนหุ้น คล้ายยอมรับว่าน่าจะผิด จึงขายทิ้งหรือโอนก่อนเลือกนายกฯ

-เครื่องจักรของอำนาจเดิมกำลังทำงานอย่างเต็มที่เพื่อต้านทานการเปลี่ยนแปลงของสังคม 

เตือน อย่าประมาทว่าเป็นเครื่องเก่า กำลังผุพัง ล้าสมัย เพราะมันยังทำงานของมัน ไม่เคยหยุดนิ่ง 

จตุพร พรหมพันธุ์  แกนนำคณะหลอมรวมประชาชน

ผู้ชนะหรือถูกพิชิต รอประกาศิต “ศาลรธน.” 

"จตุพร พรหมพันธุ์" แกนนำคณะหลอมรวมประชาชน ยืนยันมาตลอดว่า "พิธา"ไม่มีทางได้เป็นนายกฯ บอกกับ "ข่าวข้นคนข่าว" ถึงกรณีที่นายพิธา โพสต์ชี้แจงปม"หุ้นไอทีวี"ยาวเหยียวด 

- เป็นหน้าที่ของ"พิธา"ที่จะต้องแก้ข้อกล่าวหา ตามขั้นตอนของ กกต.และศาลรัฐธรรมนูญ 

-ผลจะออกมาอย่างไร เป็นดุลยพินิจขององค์กรที่รับผิดชอบ การถือหุ้นสื่อเป็นข้อห้ามที่คุณพิธาต้องไปพิสูจน์ 

-แต่จากประสบการของผมเองที่เคยชี้แจงกับ กกต.และศาลรัฐธรรมนูญ บอกเลยว่ายาก ฉะนั้นใครจะไปบอกว่าถูกหรือผิดล่วงหน้าไม่ได้ ขึ้นอยู่กับกกต.และศาลเท่านั้น

ไพศาล พืชมงคล  อดีตที่ปรึกษารองนายกฯฝ่ายความมั่นคง (พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ)

 “ไพศาล” มั่นใจ “โอนหุ้น” ทำพิธาพ้นบ่วงไอทีวี 

"ไพศาล พืชมงคล" อดีตที่ปรึกษารองนายกฯฝ่ายความมั่นคง (พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ) เจ้าของฉายา "กุนซือสมองเพชร" ให้สัมภาษณ์ในรายการ "คมชัดลึก" เชื่อว่า "พิธา"มีนักกฎหมายมือดี เพราะถ้า"พิธาโอนหุ้น" ให้ทายาทของเจ้าของมรดก (พ่อคุณพิธา) ในฐานะที่"พิธา"เป็นผู้จัดการมรดก และ"พิธา"สละสิทธิ์ในการรับมรดกนั้น จะไปสอดคล้องกับ บัญชีทรัพย์สินที่"พิธา" ยื่นให้ ป.ป.ช.ระบุว่าถือ"หุ้นไอทีวี" ในฐานะผู้จัดการมรดก 

"ไพศาล" เชื่อว่า ทีมกฎหมายน่าจะไปแถลงต่อศาลครอบครัว  เพื่อให้มีหลักฐานชัดเจนว่า โอนหุ้นออกไปแล้ว 

ผลในทางกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ระบุไว้ว่า ทายาทที่ได้สละมรดก ให้มรดกนั้นตกแก่ทายาทอื่น ณ วันที่ เจ้ามรดกตาย (วันที่พ่อนายพิธาเสียชีวิต) เพราะฉะนั้นการที่"พิธา" แจ้งต่อ ป.ป.ช.ว่าถือหุ้นในนามผู้จัดการมรดก จึงคล้อยตามกัน และ"พิธา" ก็ไม่ถือว่าเป็นเจ้าของ"หุ้นไอทีวี"ด้วยตัวเองมาตลอด 16 ปีที่ผ่านมา 

"ไพศาล" อธิบายถ้าเป็นการขยาย ผลจะเกิดขึ้นในเวลานั้น และจะมีข้อสงสัยเรื่องการถือในฐานะผู้จัดการมรดก  แต่ถ้าโอนออกให้ทายาทเจ้าของมรดก ผลจะย้อนกลับไปตั้งแต่วันที่คุณพ่อเสียชีวิต 

โดยสรุปการโอนออก ป้องกันได้ 2 เด้ง ทั้งป้องกัน"ไอทีวี" ฟื้นคืนชีพกลับมาเป็นสื่อในอนาคต และป้องกันการถือหุ้นในอดีตถึงปัจจุบันว่า ถือในนามผู้จัดการมรดก

เกมโอนหุ้น "พิธา" อยู่หรือไป - "กูรู" เสียงแตก 

นักกฎหมายแย้ง “ยิ่งชี้แจงระวังยิ่งพลาด” 

จากคำชี้แจงของ"พิธา" และคำอธิบายของ "ไพศาล พืชมงคล" ที่มองว่า"พิธา" น่าจะใช้วิธีสละสิทธิในหุ้นมรดก  เพื่อให้มีผลย้อนกลับไปถึงวันที่บิดาของ"พิธา" เสียชีวิต ทำให้"พิธา"ไม่เคยเป็นเจ้าของหุ้นมาก่อน  จึงน่าจะรอดคดี"หุ้นไอทีวี"นั้น 

มีความเห็นที่น่าสนใจจากนักกฎหมาย ซึ่งเป็นทนายผู้เชี่ยวชาญคดีมรดก 

1.มองว่า"พิธา" และที่ปรึกษากฎหมายของ"พิธา"เก่งมาก ที่หาช่องชี้แจงในเรื่องนี้ได้ 

2.แต่ประเด็นที่เป็นข้อควรระวัง จากคำชี้แจงที่ยังไม่ชัดเจน คือ 

-สิ่งที่ดำเนินการคือการ "สละมรดก" หรือไม่ (เพราะ"ไพศาล" ก็คาดการณ์ว่าเป็นการสละมรดก หรือสละสิทธิ์ในการรับมรดก โดยไปแจ้งต่อศาล เพื่อให้มีผลกลับไปถึงวันที่บิดาเสียชีวิต) 

-ถ้าเป็นการสละมรดก ทนายท่านนี้บอกว่า ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1612 และ 1613 การสละมรดกนั้น จะกระทำเพียงบางส่วน หรือทำโดยมีเงื่อนไขหรือเงื่อนเวลาไม่ได้  นั่นแปลว่า หากมีการสละมรดกจริง "พิธา"ต้องสละมรดกทั้งหมด จะเลือกบางส่วน บางเวลาไม่ได้  เท่ากับว่า"พิธา"ไม่มีสิทธิ์ในกองมรดกอีกเลย 

3.ผลของการสละมรดก จะย้อนกลับไปตั้งแต่แรก คือวันที่บิดาของพิธาเสียชีวิตทันที 

-ตามกฎหมาย เมื่อเจ้ามรดกเสียชีวิต มรดกจะตกแก่ทายาทโดยธรรมตามกฎหมาย หรือตามพินัยกรรมทันที จนกว่าจะมีการโต้แย้ง หรือตกลงแบ่งมรดกกันในหมู่ทายาท 

-ฉะนั้นการสละมรดกของทายาท จะย้อนกลับไปมีผลตั้งแต่เริ่มต้น 

-ถ้าการสละมรดก หมายรวมถึง"หุ้นไอทีวี" ความหมายคือ"พิธา" ไม่ได้เป็นเจ้าของหุ้นไอทีวี ตั้งแต่ต้น ตามที่"ไพศาล"บอก

4.แต่เรื่องนี้จะเป็นผลดีกับคดี"หุ้นไอทีวี"จริงหรือไม่ ต้องพิจารณาแง่มุมอื่นประกอบด้วย คือ 

-การเป็น "เจ้าของหุ้น" กับการ "มีชื่อเป็นผู้ถือหุ้น" ตามเอกสาร บอจ.5 ของกระทรวงพาณิชย์ เป็นคนละเรื่องกัน 

-การถือหุ้น ในทางกฎหมาย เท่ากับ "มีสิทธิเรียกร้อง" เพราะถือเป็น "เจ้าของหุ้น" ตามกฎหมาย 

เกมโอนหุ้น "พิธา" อยู่หรือไป - "กูรู" เสียงแตก 

-ฉะนั้นถ้า"พิธา"อ้างว่าถือหุ้นแทนทายาท แปลว่าสิทธิเรียกร้องที่แท้จริงอยู่ที่ทายาท แต่นั่นเป็นข้อตกลงภายในครอบครัว หากไม่ได้มีการจดแจ้งในเอกสารที่เป็นทางการ เช่น ใบ บอจ.5 ย่อมไปยันกับบุคคลภายนอกไม่ได้  เพราะเวลารับเงินปันผล ก็จ่ายไปยังตัวผู้ถือหุ้นตามรายชื่อ ส่วนผู้ที่ถือหุ้น จะนำเงินไปมอบต่อให้ทายาท บุคคลภายนอกไม่รับรู้ด้วย (และศาลก็ไม่รับรู้ด้วย) 

ฉะนั้นหากเรื่องนี้นำมาอ้างได้ แล้วศาลฟัง จะทำให้เกิดการอ้างแบบนี้ในคดีอื่นๆ เวลาผู้ถือหุ้นต้องการรับผลประโยชน์ ก็บอกว่าตนเองเป็นผู้ถือหุ้น มีชื่อในเอกสาร แต่ถ้าไม่อยากรับผลประโยชน์ (กรณีไม่มีผลประโยชน์ หุ้นไม่มีราคา แล้วมีปัญหาเรื่องอื่นๆ ตามมา) ก็อ้างว่าตัวเองถือหุ้นแทนคนอื่นสุดท้ายก็จะกลายเป็นช่องทางรับแต่ประโยชน์ ไม่รับผลลบ หรือไม่รับผลทางกฎหมายอย่างอื่นเลย 

5.รัฐธรรมนูญมาตรา 98(3) เขียนแค่ว่า ไม่ได้เป็นเจ้าของหรือถือหุ้นในกิจการสื่อ ไม่ได้บอกจำนวนหุ้น หรือแม้แต่สิทธิในการจัดการหุ้น รวมถึงอำนาจการจัดการในกิจการสื่อนั้น แม้จะมองว่ากฎหมายเขียนไม่ครอบคลุม แต่เมื่อกฎหมายบัญญัติไว้แบบนี้ ยังไม่แก้ไข ก็ต้องปฏิบัติตาม 

สรุปว่าคำชี้แจงของพิธา อาจไม่เป็น “คุณ” กับพิธาก็เป็นได้

logoline